วงจรชีวิตผีเสื้อขาวแคระ




วงจรชีวิตผีเสื้อขาวแคระ

ผีเสื้อขาวแคระกินใบชุนฉ่ายและใบกวางตุ้ง


ผีเสื้อขาวแคระเป็นผีเสื้ออยู่ในวงศ์ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ มีขนาดเล็ก ปีกกางกว้าง 3.5 - 5 เซนติเมตร เป็นผีเสื้อตัวเล็กที่สุดในสกุลเดียวกัน เพราะมีเพียงสองชนิดเท่านั้นในประเทศไทย ลักษณะเด่นคือ เวลาเกาะ ปีกหุบดูคล้ายหยดน้ำ หรือ ดูราวกับเทพธิดาตัวน้อยสรวมกระโปรงสุ่มตัวบาน สีขาวครีมประลายเล็กๆ จึงเป็นที่มาของชื่อสามัญว่า Psyche (ไซคี) ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาในเทพนิยายกรีกโบราณที่เป็นคู่รักกับกามเทพ


ผีเสื้อตัวเมียมาวางไข่ที่ต้นชุนฉ่ายที่ลุงชาติปลูกเอาไว้ พืชอาหารของหนอนผีเสื้อชนิดนี้คือพืชผักที่เราใช้ทำอาหารหลายชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ กวางตุ้ง ส้มเสี้ยน ชุนฉ่าย เป็นต้น ภาพนี้เป็นภาพของไข่ที่เพิ่งวางแปะไว้ที่ต้นชุนฉ่ายเป็นวันแรก เห็นมีใข่อยู่หลายฟอง ที่ต้นกวางตุ้งก็มี ไข่เป็นรูปวงรีสีฟ้าเข้ม





เวลาผ่านไปสามวัน หนอนตัวน้อยก็ออกมาจากไข่ เมื่อหนอนออกมาจากเปลือกไข่แล้ว มันกินเปลือกไข่ของตัวเองจนหมด แล้วจึงได้เริ่มกัดกินใบชุนฉ่าย หนอนตัวเล็กมาก มีความยาวไม่เกิน 4 มม.





วันนี้หนอนมีอายุได้สองวัน ไม่รู้เหมือนกันว่าหนอนคลานพลาดได้อย่างไร อยู่ๆมันก็ร่วงลงมา แต่หนอนมีสัญชาติญาณเอาตัวรอดได้ดีมาก มันสามารถปล่อยเส้นใยเล็กๆออกมาช่วยดึงตัวเองให้โหนต่องแต่งอยู่กลางอากาศ แล้วมันก็พยายามดึงตัวเองขึ้นข้างบน มันใช้เวลาอยู่นาน 6 นาที (เช็คเวลาจากข้อมูลที่บันทึกฝังไว้ในไฟล์ภาพ) จึงปีนขึ้นไปนอนพักอยู่บนใบชุนฉ่ายได้สำเร็จ ผมถ่ายภาพต่อเนื่องมา แล้วนำภาพมาซ้อนเลเยอร์กัน เพื่อให้เห็นพฤติกรรมในการช่วยตัวมันเอง วันนี้หนอนตัวยาวประมาณ 5 มม.





หนอนกัดกินใบชุนฉ่ายเก็บสะสมพลังงานต่อมา วันนี้มีอายุได้สี่วันแล้ว ตัวอ้วนกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 มม. ลำตัวยาวประมาณ หนึ่งเซนติเมตรกว่าๆ ตัวมีสีเขียวเข้มขึ้น ที่ผิวลำตัวเห็นมีขนอ่อนคล้ายเส้นใยอยู่ทั่วไป





วันนี้หนอนมีอายุได้หกวัน ตัวใหญ่และยาวขึ้นมากกว่าเดิม ลำตัวอ้วนมากกว่า 2 มม.แล้ว ตัวยาวประมาณ 2 เซนติเมตร สังเกตุเห็นว่าที่ขนที่ดูคล้ายเส้นใยนั้นมีเพิ่มมากขึ้น ยาวขึ้น และมีปุ่มคล้ายหยดเหนียวๆติดอยู่ที่ปลายขน





เมื่อหนอนมีอายุได้ 7 วัน มันก็คลานหาที่เพื่อที่จะเข้าดักแด้ หนอนตัวนี้เลือกเอาบริเวณแกนกลางของใบชุนฉ่ายเป็นที่เข้าดักแด้ มันเริ่มคายเส้นใยออกมายึดบริเวณแกนผักให้ติดกับตัวมัน ภาพทางด้านซ้ายบน เป็นพฤติกรรมในช่วงแรกๆของการชักใยเพื่อยึดตัวเอง ส่วนภาพทางด้านขวาล่าง เป็นช่วงที่ยึดตัวเองแน่นหนาปลอดภัยดีแล้ว เป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงร่างกายจากสภาพหนอนตัวกลมให้มีส่วนปีกเพิ่มขึ้นมา พฤติกรรมทั้งหมดในช่วงเริ่มชักใยจนสิ้นสุดการเปลี่ยนแปลงเป็นดักแด้นี้ ใช้เวลาทั้งสิ้น 23ชั่วโมงกว่าๆ สรุปคือ 1วันเต็มๆ





เนื่องจากมีหนอนที่กินใบชุนฉ่ายที่ต้นนี้อยู่หลายตัว และต้นชุนฉ่ายก็ยังเป็นต้นเล็ก จึงโตไม่ค่อยทันให้หนอนกิน โดนกัดกินมากๆเข้าก็เริ่มเหี่ยวเฉา ใบพับลงมาแปะติดอยู่กับกิ่งไม้ที่ปักค้ำพยุงเอาไว้ ภาพเล็กด้านบนขวา เป็นดักแด้ผีเสื้อที่เข้าดักแด้มาแล้ว 4 วัน ส่วนภาพทางด้านซ้ายล่าง ดักแด้มีอายุเข้าวันที่5แล้ว เริ่มมองเห็นลวดลายจุดของปีกผีเสื้อจางๆแล้ว ดักแด้เริ่มเปลี่ยนสีออกมาทางสีเหลืองมากขึ้น





ภาพเล็กด้านบนขวา เป็นดักแด้ผีเสื้อที่เข้าดักแด้มาแล้ว 5 วันเต็ม ส่วนภาพทางด้านซ้ายล่าง ดักแด้มีอายุเข้าวันที่ 6 แล้ว ตั้งนาฬิกาปลุกมาเตรียมถ่ายตอนตีสอง เพราะคิดแล้วว่าผีเสื้อน่าจะออกมาจากดักแด้ภายในคืนนี้ มีหนอนที่ยังหากินใบชุนฉ่ายบนต้นนี้อยู่ผ่านมา ตอนนี้ใบชุนฉ่ายต้นนี้หมดต้นไปแล้ว หนอนที่เหลืออยู่ ได้ทยอยย้ายที่หากินไปยังผ้กต้นอื่น ซึ่งก็คือต้นกวางตุ้งที่อยู่ใกล้กัน





ภาพเล็กด้านบนขวา เป็นดักแด้ผีเสื้อที่เข้าดักแด้มาเป็นวันที่ 6 ภาพนี้ถ่ายในเวลา 03:03:35 น. ส่วนภาพทางด้านซ้ายล่างถ่ายในเวลา 03:43:36 น. ซึ่งนั่งรออยู่40นาที เพียงแค่ละสายตาไปนิดเดียว ผีเสื้อก็ได้ออกมาจากคราบดักแด้แล้ว





ตอนที่ผีเสื้อออกจากดักแด้ใหม่ๆ มันจะเกาะอยู่เฉยๆนิ่งๆ จะขยับปีกบ้างเป็นบางครั้ง และบางช่วงก็จะขับถ่ายของเสียออกมาเป็นน้ำ ส่วนใหญ่ผีเสื้อจะออกจากดักแด้ในช่วงดึกๆก่อนสว่าง มันจะเกาะนิ่งอยู่อย่างนี้เพื่อรอเวลาให้ร่างกายสูบฉีดจนปีกแข็งแรงดี และลองสังเกตุ ลักษณะเด่นตามที่บอกไว้ตั้งแต่ต้นดูสิ เวลาเกาะ ปีกหุบดูคล้ายหยดน้ำ หรือ ดูราวกับเทพธิดาตัวน้อยสรวมกระโปรงสุ่ม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามัญว่า Psyche (ไซคี) ซึ่งเป็นชื่อเทพธิดาในเทพนิยายกรีกโบราณที่เป็นคู่รักกับกามเทพ





ผีเสื้อเกาะคราบดักแด้อยู่สักพัก มันออกเดินมาจนได้ที่เกาะใหม่ ตอนนี้มันจะเกาะอยู่เฉยๆนิ่งๆ จะขยับปีกบ้างเป็นบางครั้ง มันจะเกาะนิ่งอยู่อย่างนี้เพื่อรอเวลาให้ร่างกายแข็งแรงดี และรอจนสว่าง มันเป็นผีเสื้อที่หากินตอนกลางวัน ฟ้าสว่างเมื่อไร ผีเสื้อตัวนี้ก็จะได้บินไปในธรรมชาติตามวิถีชีวิตของมัน เราจะพบเห็นผีเสื้อขาวแคระได้ตามป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ชายป่า ไร่นา บริเวณหมู่บ้าน มักจะบินให้เห็นตามสุมทุมพุ่มไม้เตี้ยๆ บินต่ำเพียง 10 - 50 เซนติเมตรเท่านั้น





มาดูหนอนที่หากินอยู่บนต้นกวางตุ้งบ้าง หนอนตัวนี้มีอายุ 5 วัน ตัวกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม. ตัวยาวใกล้เคียง 2 เซนติเมตร ตัวสีเขียวเข้ม





เมื่อหนอนมีอายุได้ 7 วัน มันก็คลานหาที่เพื่อที่จะเข้าดักแด้ หนอนตัวนี้เลือกเอาบริเวณแกนกลางของใบกวางตุ้งที่ตัวมันเองกินใบจนหมดเป็นที่เข้าดักแด้ มันเริ่มคายเส้นใยออกมายึดบริเวณแกนผักให้ติดกับตัวมัน ภาพทางด้านบนขวา เป็นพฤติกรรมในช่วงแรกๆของการชักใยเพื่อยึดตัวเอง ส่วนภาพทางด้านล่างซ้าย เป็นช่วงที่ยึดตัวเองไปด้วย ร่างกายก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย หนอนบิดตัว เคลื่อนย้ายตัวเองเพื่อคายเส้นใยออกมายึดตัวมันกับก้านใบกวางตุ้ง





ภาพทางด้านขวาบน เป็นพฤติกรรมในช่วงท้ายของการชักใยเพื่อยึดตัวเอง ส่วนภาพทางด้านซ้ายล่าง เป็นช่วงที่ยึดตัวเองแน่นหนาปลอดภัยดีแล้ว เป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงร่างกายจากสภาพหนอนตัวกลมให้มีส่วนปีกเพิ่มขึ้นมา พฤติกรรมทั้งหมดในช่วงเริ่มชักใยจนสิ้นสุดการเปลี่ยนแปลงเป็นดักแด้นี้ ใช้เวลาทั้งสิ้น 25ชั่วโมงกับอีก 10 นาที





ภาพเล็กด้านบนขวา เป็นดักแด้ผีเสื้อที่เข้าดักแด้มาแล้ว 1 วันเต็ม ตัวดักแด้ยังใสอยู่ แต่มีสีออกไปทางสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนภาพทางด้านซ้ายล่าง ดักแด้มีอายุ 5 วัน เริ่มเห็นลวดลายชัดเจนขึ้นมาแล้ว





ดักแด้อายุ 6วันเต็ม ร่างกายก็เปลี่ยนแปลง คืนนี้ คาดว่าผีเสื้อน่าจะออกจากดักแด้แล้ว การติดตามถ่ายดักแด้ผีเสื้อตัวนี้ ก็ยังคงต้องใช้วิธีเดิม คือตั้งนาฬิกาปลุกขึ้นมาถ่าย เพราะมันมักจะเลือกเวลาออกจากดักแด้ตอนดึกๆใกล้สว่าง ภาพเล็กด้านบนขวา ถ่ายในเวลา 01:41:22 น. แล้วก็นั่งเฝ้ารอถ่าย และถ่ายภาพเก็บไว้ทุกครึ่งชั่วโมง ตีสามก็ผ่าน ตีสี่ก็ผ่านไป ตัวนี้อึดจัง ยังไม่ยอมออกมา คนถ่ายก็เริ่มงัวเงีย มีแอบหลับตาบ้าง จนกระทั่งเวลา 05:57:31 น.ภาพทางด้านซ้ายล่าง เจ้าผีเสื้อได้โผล่ออกมาจากดักแด้ และได้มาเกาะห้อยที่กิ่งไม้เหนือคราบดักแด้ซะแล้ว





ภาพเล็กด้านบนขวา ผีเสื้อออกจากดักแด้ใหม่ๆ มันจะเกาะอยู่เฉยๆนิ่งๆ จะขยับปีกบ้างเป็นบางครั้ง มันจะเกาะนิ่งอยู่อย่างนี้เพื่อรอเวลาให้ร่างกายสูบฉีดจนปีกแข็งแรงดี ภาพทางด้านซ้ายล่าง ผีเสื้อขับถ่ายของเสียออกมาเป็นน้ำ เพราะตอนที่มันเข้าดักแด้นั้น ผีเสื้อจะไม่ได้ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายเลย





ตามปกติ ผีเสื้อขาวแคระมักจะหุบปีกเวลาเกาะ นานๆครั้งจึงจะเห็นกางปีก เพราะการเกาะแบบกางปีกนั้นอันตรายมากเกินไป ต้องเสี่ยงกับศตรูมากมาย มีทั้งนก และสัตว์อื่นอีกมาก ภาพนี้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างตอนที่ผีเสื้อเกาะแบบหุบปีก และตอนที่เกาะแบบกางปีกกว้าง





ผีเสื้อจะเกาะนิ่งอยู่อย่างนี้เพื่อรอเวลาให้ร่างกายแข็งแรงดี และรอจนสว่าง มันเป็นผีเสื้อที่หากินตอนกลางวัน ฟ้าสว่างเมื่อไร ผีเสื้อตัวนี้ก็จะได้บินไปในธรรมชาติตามวิถีชีวิตของมัน





ส่วนหนอนตัวอื่นๆที่หากินอยู่บนต้นกวางตุ้ง เมื่อมีอายุได้ 7 วัน ก็คลานหาที่เพื่อที่จะเข้าดักแด้ ใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงร่างกายจากหนอนตัวกลมเปลี่ยนมาเป็นดักแด้สมบูรณ์ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 1วัน จากนั้นก็เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงร่างกายอย่างช้าๆในช่วงระยะดักแด้





เข้าระยะดักแด้อยู่ 7 วัน ผีเสื้อก็จะออกมาจากดักแด้ ผีเสื้อจะออกจากดักแด้ในช่วงดึกๆก่อนสว่าง ส่วนใหญ่ออกมาหลังเวลาตีสองไปแล้ว





ผีเสื้อบางตัวก็จะเกาะอยู่ที่คราบดักแด้นั้นจนสว่าง บางตัวก็จะเปลี่ยนที่เกาะ ที่มันคิดว่าปลอดภัย มันจะเกาะอยู่เฉยๆนิ่งๆ จะขยับปีกบ้างเป็นบางครั้ง มันจะเกาะนิ่งอยู่อย่างนี้เพื่อรอเวลาให้ร่างกายแข็งแรงดี และรอจนสว่าง ฟ้าสว่างเมื่อไร ผีเสื้อก็จะได้บินไปในธรรมชาติตามวิถีชีวิตของมัน





เมื่อมีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ส่องมา ผีเสื้อขาวแคระเหล่านี้ก็จะได้ใช้ชีวิตของมันในระบบนิเวศน์ที่แตกต่างจากตอนเป็นตัวหนอนต่อไป ผีเสื้อออกมาหากิน ใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติอยู่ในระบบนิเวศน์ได้สักระยะหนึ่ง ก็ถึงวัยเจริญพันธุ์ ผีเสื้อก็จะจับคู่ ผสมพันธุ์กัน หลังจากที่ผสมพันธุ์กันเสร็จแล้ว ตัวผู้ก็จะตายจากไป ส่วนตัวเมียยังมีชีวิตอยู่ เพื่อรอให้เชื้อเจริญเติบโต





และเมื่อถึงเวลา ตัวเมียก็จะวางไข่ไว้ที่ใบไม้ที่จะให้ลูก(หนอน)กินเป็นอาหาร เมื่อวางไข่เสร็จผีเสื้อตัวเมียก็จะตายจากไป วงจรชีวิตก็เริ่มต้นใหม่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน หนอนกินอาหารสะสมพลังงานจนเข้าสู่ระยะดักแด้ จนเจริญเติบโตออกจากดักแด้เป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย แล้วผสมพันธุ์กันเริ่มวงจรชีวิตใหม่


สรุปวงจรชีวิต ผีเสื้อขาวแคระ ที่เฝ้าติดตามถ่ายภาพชุดนี้

ระยะวางไข่ ใช้เวลา 3 วัน ไข่ก็ฟักออกมาเป็นตัวหนอน

หนอนกินอาหารสะสมพลังงาน 7 วันจึงเข้าระยะดักแด้

หนอนเข้าเป็นดักแด้อยู่ 6 - 7 วัน จึงออกมาเป็น ผีเสื้อ





เพลงประกอบวิดีโอที่เลือก

Season Of Life No.1



ขอเชิญท่านชมวิดีโอบนยูทูบ

วงจรชีวิตผีเสื้อขาวแคระ




แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อๆไปนะครับ


ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจที่ดีเสมอมา

ขอขอบคุณ gotoknow

ที่ให้พื้นที่ในการแบ่งปันความสุข

ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 620620เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2016 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ธันวาคม 2016 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท