เรื่องนี้มีอยู่ว่า...............ปฐมบทการปฏิบัติธรรม


เมื่ออาจารย์และพระนิสิตไปปฏิบัติธรรมประจำปีณฌาปนสถานบ้านป่าไผ่ – ห้วยบ่อทอง สำหรับพระนิสิตจำนวนมาก การปฏิบัติธรรมในป่าช้าอาจมิใช่เรื่องใหม่แต่สำหรับอาจารย์ฆราวาสทุกคนล้วนตื่นเต้นกังวลเพราะเป็นครั้งแรกสำหรับพวกเราที่ต้องไปถวายการดูแลพระนิสิตระหว่างปฏิบัติธรรมในพื้นที่บริเวณฌาปนสถานหรือป่าช้าเกิดจินตนาการมากมายตามแต่ประสบการณ์เดิมที่เราเคยได้ยินฟังจากการบอกเล่า จากการอ่านหนังสือและการชมภาพยนตร์ ดังนั้นนอกจากเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำเนินงาน ทุกคนต่างอาราธนาพระเครื่องของขลังเพื่อให้คุ้มครองป้องภัย สร้างความอบอุ่นใจในขณะทำงานและด้วยบทบาทของอาจารย์เราต้องควบคุมความคิดที่จะบั่นทอนพลังการทำงานเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายการปฏิบัติธรรมแบบบูรณาการพันธกิจที่เน้นสร้างประโยชน์เกื้อกุลแก่ชุมชนดังพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ที่ตรัสให้พระสงฆ์จาริกเผยแผ่ธรรมสงเคราะห์ประชาชนสำหรับกรอบคิดการทำงานครั้งนี้ใช้หลักการทำงานตามแนวพุทธธรรม แนวคติชนวิทยาและกระบวนการพัฒนาแนววัฒนธรรมชุมชน ทั้งนี้พวกเราตระหนักดีว่าพื้นที่บริเวณป่าช้ามีนัยสำคัญหลายด้านต่อชุมชนและมีความชับช้อนด้านมิติวัฒนธรรมจึงพยายามศึกษาข้อมูลต่าง ๆเกี่ยวกับความเชื่อและวิถีปฏิบัติของคนล้านนาต่อพื้นที่บริเวณป่าช้า รวมทั้งความเชื่อของคนในชุมชน พร้อมชี้แจงแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างความเข้าใจต่อวิถีปฏิบัติร่วมกับพระนิสิตอย่างสม่ำเสมอเพื่อการปฏิบัติตนอย่างงดงามตามสมณเพศ และพระธรรมวินัย

ก่อนการตัดสินใจเลือกดำเนินงานในพื้นที่นายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรีได้พาพวกเราสำรวจพื้นที่บริเวณป่าช้าทราบว่าในอดีตพื้นที่ป่าช้าของหมู่บ้านป่าไผ่และบ้านห้วยบ่อทองจำแนกเป็นสองแบบคือป่าช้าแบบเผาหรือ ป่าช้าแบบฌาปนกิจศพ (การเผาศพแบบเชิงตะกอน) อยู่ตรงข้ามกับเทศบาล ซึ่งใช้ไม้ฟืนจำนวนมากในการเผาและป่าช้าแบบฝังอยู่ด้านข้างเทศบาล ใช้รองรับศพที่เป็นการตายแบบผิดธรรมชาติ เช่น การตายจากอุบัติเหตุ (ตายโหง) แต่ปัจจุบันพื้นทีป่าช้าแบบฝังได้เปลี่ยนสภาพเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์เด็กเล็กก่อนอนุบาลและสนามกีฬาขนาดใหญ่ ในขณะที่ป่าช้าแบบเผา ประกอบด้วยเชิงตะก่อนเผาแบบในอดีต และเมรุเผาสมัยใหม่พื้นที่ป่าช้าแบบเผานี้ประกอบด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ร่มรื่นเย็นสบายดังนั้นคณะกรรมการพระนิสิตที่ร่วมเดินทางสำรวจพื้นที่กับพวกเรา จึงมีความเห็นชอบว่าจะปักกลดบริเวณร่มไม้ในเขตป่าช้า โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆเพื่อการปักกลด ซึ่งก่อนการปลักกลดพระนิสิตแต่ละรูปต่างอธิษฐานจิตบอกกล่าวแก่ผู้ที่ล่วงลับขอพักอาศัยเป็นระยะเวลา10วัน9คน พร้อมเจริญจิตแผ่เมตตาแก่ผู้ล่วงลับนอกจากนั้นยังมีการปฏิบัติตามธรรมเนียนล้านนาคือการนิมนต์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใสเจริญพรบอกกล่าวการเข้ามาใช้พื้นที่ป่าช้าของนิสิตแก่เจ้าที่ผู้ทำหน้าที่ดูแลบริเวณป่าช้า

ป่าช้าบ้านป่าไผ่- ห้วยบ่อทอง สะท้อนสัญลักษณ์ของความยั่งยืนที่รวมจิตวิญญาณของบรรพบุรุษเอาไว้ โลกทัศน์ของคนในชุมชนเชื่อว่าป่าช้าคือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และผีมีความผูกพันกับคน ป่าช้ายังเป็นพื้นที่แห่งชีวิตวัฒนธรรมที่ช่วยขัดเกลาให้คนสงัดจากกามทั้งหลายและสร้างสำนึกร่วมของคนในชุมชน พิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวป่าช้าของชุมชนมีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นตราบปัจจุบัน มีการแสดงความนับถือดวงวิญญาณที่ช่วยปกป้องให้พื้นทีป่าช้าให้อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพ เอื้อประโยชน์ลดต้นทุนชีวิตทำให้คนในชุมชนสามารถมาใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง

ในอดีตเมือร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเริ่มตั้งชุมชนบ้านป่าไผ่ผู้คนได้ร่วมกันกำหนดเขตแดนเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยเป็นพื้นที่ของวัดป่าไผ่ห้วยบ่อทองตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน และป่าช้าซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับคนตาย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หมายถึงการห่างไกลจากความตื่น ชีวิตไม่มีวันฟื้น เหมือนพระอาทิตย์ที่ตกดินไปแล้ว ป่าช้าแห่งนี้จึงมีความเป็นมาพร้อมๆ กับการตั้งหมู่บ้านนั้นเอง

ในระหว่างที่พวกเราปฏิบัติหน้าที่ถวายอำนวยความสะดวกแก่พระนิสิตผู้ปฏิบัติธรรมได้มีโอกาสสอบถามผู้คนในชุมชนเกี่ยวกับเรืองราวความสมบูรณ์ของต้นไม้ในป่าช้าบ้านป่าไผ่ – ห้วยบ่อทอง ทราบว่าการที่ป่าช้ามีต้นไม้จำนวนมากเพราะคนในชุมชนช่วยกันดูแลเพื่อให้เป็นป่าสาธารณประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารที่ช่วยลดต้นทุนชีวิต แหล่งอนุบาลสัตว์ ป่าช้ายังเต็มไปด้วยเห็ดพืชพันธุ์สมุนไพรพื้นถิ่นหลายชนิด ป่าช้าและสร้างสมดุลในชั้นบรรยากาศของชุมชน ก่อเกิดการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้แกคนในชุมชนและพระสงฆ์ใช้ป่าช้าแห่งนี้สำหรับการปริวาสกรรม

โดยนัยเช่นนี้ทำให้พวกเราเชื่อมั่นว่าการที่นิสิตฝึกปฏิบัติธรรมในเขตพื้นที่ป่าช้าจะช่วยข่มนิวรณ์และเป็นการอนุรักษ์ป่าร่วมกับคนในชุมชน นำมาซึ่งความงามและความสุขจากการปฏิบัติ กล่าวคือผลแห่งการปฏิบัติธรรมช่วยอนุรักษ์ป่าให้คงความอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่นงดงาม สร้างประโยชน์แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นวิถีทางรักษาความเป็นชุมชนแห่งศีลธรรม ที่คนยังคงใกล้ชิดกับศาสนาและธรรมชาติผ่านความเป็นและความตาย เพื่อขัดเกลากิเลสและลดความเป็นปัจเจก ซึ่งจะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.....




















หมายเลขบันทึก: 620545เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2016 02:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2016 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท