เรื่องเล่าจากการประชุมประจำปีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยครั้งที่ 1


ปิดฉากลงไปแล้วอย่างสมบูรณ์และน่าประทับใจครับสำหรับงานประชุมวิชาการประจำปีของเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN-Thailand Annual Conference) ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้องาน “การแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาไทย”ที่ศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา นครปฐม เมื่อวันที่ 28 และ29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 การประชุมดังกล่าวถือเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของสถาบันอุดมศึกษาไทยในการพยายามที่จะปรับตัวเองให้รองรับต่อสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคการศึกษาประเทศ ซึ่งอยากจะเขียนเล่าแบ่งปันให้หลายๆท่านที่สนใจในกิจกรรมของเครือข่ายฯได้รับทราบดังนี้ครับ


วันแรกของงานเริ่มต้นด้วยพิธีเปิดการประชุม ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมในฐานะเจ้าบ้าน ตัวผมเองในฐานะประธานเครือข่ายฯคนแรกได้รับเกียรติให้กล่าวเปิดการประชุม ภายหลังพิธีเปิดเราได้รับเกียรติจากคุณโชค บูลกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นบรรยายพิเศษในหัวข้อ การพัฒนาอย่างยั่งยืนของอุดมศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 คุณโชค กล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจถึงความจำเป็นของภาคสถาบันการศึกษาไทยที่ต้องปรับตัวให้อยู่รอดและอย่างยั่งยืนภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นควรจะนำไปใส่ในทุกๆมิติของการดำเนินงานไม่เพียงแค่การศึกษา แต่รวมถึงการวิจัย การเงินการคลัง และระบบกายภาพด้วย ช่วงที่สองของงานเป็นเวทีเสวนาภาคภาษาอังกฤษจากวิทยากรรับเชิญต่างชาติจำนวน 4 ท่าน ได้แก่

Ms. Mari Nishimura, Programme Officer in the Cities and Lifestyles Unit, United Nations Environment Programme (UN Environment), Economy Division (Paris Office)

Dr. Mario T. TabuCanon, ESD Programme, UNU Institute for the Advanced Study of Sustainability

Assoc.Prof. Yikiko Yoshida, Department of Environment and Energy Management, Osaka University

Prof.Dr. Takayuki Nakamura, President, National Institute of Technology. Fukushima College (NIT-FC)

โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.เอกชัย มหาเอก รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม การออกแบบ และการดำเนินงานทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำหน้าที่เป็น moderator ของเวที วิทยากรทั้ง 4 ท่านได้นำเสนอตัวอย่างและแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ได้อย่างน่าสนใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะประเด็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาเพื่อรองรับต่อผู้เรียนในยุคปัจจุบันและอนาคตที่มีรูปแบบการดำรงชีวิต (Life style) ที่แตกต่างไปจากผู้เรียนในอดีตอย่างสิ้นเชิง

ภาคบ่ายของวันแรกเป็นเวทีระดมสมอง (Roundtable Discussion) โดยแบ่งเป็น 3 sections โดยได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายฯทำหน้าที่เป็น moderator ในแต่ละ section ได้แก่ หัวข้อนโยบายและแผนการดำเนินงาน ได้รับเกียรติจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อการสร้างความตระหนัก ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และหัวข้อตัวชี้วัดความยั่งยืนได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยตัวผมเองทำหน้าที่สรุปผลที่ได้จากเวทีระดมสมองในช่วงสุดท้าย ปิดวันแรกของการประชุมด้วยมื้อค่ำที่แสนเรียบง่ายที่ห้องอาหารเรือนเครือวัลย์รีสอร์ทและสปา

การประชุมในวันที่สองเริ่มต้นในช่วงเช้าด้วยการบรรยายพิเศษหัวข้อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดย คุณลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเราได้รู้ถึงแผนการดำเนินงานตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยที่จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกับระดับภูมิภาคและระดับโลก ท่านยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ภาคสถาบันอุดมศึกษาถือเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยประเทศขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินงานตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ที่ว่าด้วยเรื่องของคุณภาพทางการศึกษาที่เชื่อมโยงสู่เป้าหมายที่ 3 เรื่องสุขภาพ เป้าหมายที่ 8 เรื่องของการเติบโตด้านเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่ 13 ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หลังจากบรรยายพิเศษเป็นเวทีเสวนาหัวข้อ “Sustainability Best Practice in Higher Education of Thailand ” ซึ่งได้รับเกียรติจากหัวหน้าส่วนอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ผู้อำนวยการสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผู้อำนวยการกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากรร่วมเสวนาบนเวที โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ ดร. วิริยะ เตชะรุ่งโรจน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดลทำหน้าที่เป็น moderator ของเวทีเสวนา สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเวทีเสวนานี้ก็คือ การพัฒนาระบบกายภาพของมหาวิทยาลัยมักจะเกิดขึ้นจากความพยายามแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อม ณ ปัจจุบันที่แต่ละมหาวิทยาลัยต้องเผชิญอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกเหนือจากนั้นเป็นความพยายามต่อยอดให้เกิดความสะดวก สวยงาน และมีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด

ภาคบ่ายของวันที่สองเป็นการนำเสนอบทความของผู้เข้าร่วมประชุม และการประชุมครั้งที่ 4 ของเครือข่ายฯประจำปี 2559 สำหรับผลการประชุมมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

  • ที่ประชุมมีมติรับรองสมาชิกใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สรุปจำนวนสมาชิกเครือข่าย ณ ปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 22 มหาวิทยาลัย
  • ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์มอบให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายครั้งที่ 2 และประธานเครือข่ายฯในปี พ.ศ.2560
  • ที่ประชุมมีมติรับรองเจ้าภาพจัดประชุมครั้งที่ 1-3 ของเครือข่าย โดยมอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยประสานมิตรวิทยาเขตองค์รักษ์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเดือนพฤษภาคม และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเดือนสิงหาคม
  • ที่ประชุมมีมติรับหลักการการเข้าเป็นเครือข่ายร่วมกับเครือข่าย sustainable campus network of Japan และ Asia sustainable campus network

การประชุมประจำปีของเครือข่ายฯครั้งที่ 1 ปิดลงด้วยการมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงาน และการส่งมอบภาระหน้าที่การเป็นเจ้าภาพและประธานปี 2560 ให้กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปยอดผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมครั้งที่ 1 นี้มีจำนวนทั้งสิ้น 170 คน มีบทความที่ผ่านขั้นตอนการ review และได้นำเสนอแบบปากเปล่าในที่ประชุมรวมทั้งสิ้น 37 บทความ นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทยที่น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับตัวผมเองก็จะหมดภาระหน้าที่ของประธานเครือข่ายฯลงอย่างสมบูรณ์ในสิ้นที่ปี 2559 นี้ พบกันใหม่ในการประชุมครั้งที่ 2 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีหน้าครับ

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต

ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ปี 2559




หมายเลขบันทึก: 620112เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท