งานสังคมสงเคราะห์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ตอนที่1


สมเด็จย่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์มาตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังมิได้มีพระราชอิสริยยศเป็นที่ปรากฏ ด้วยมีพระราชดำริว่า สตรีไทยที่เป็นแม่บ้านก็สามารถจะให้ความช่วยเหลือในกิจการสังคมสงเคราะห์ได้ พระองค์ท่านได้จัดตั้ง “มูลนิธิถันยรักษ์” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 ด้วยทรงตระหนักว่าผู้หญิงไทยที่เป็นมะเร็งเต้านมมีจำนวนสูงมาก และต้องทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และใช้เวลานาน เป็นการบั่นทอนกำลังกายกำลังใจของผู้ป่วยและครอบครัว ถ้าผู้หญิงไทยมีโอกาสได้เข้าใจถึงอันตรายจากโรคมะเร็ง และรู้จักวิธีดูแลป้องกันตัวเองให้ถูกต้อง สามารถค้นพบก้อนมะเร็งและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็สามารถจะลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ได้ ทำให้ผู้หญิงไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ดังนั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินจากทุนการกุศลสมเด็จย่า จำนวน 12 ล้านบาท เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิ พระราชทานชื่อว่า ถันยรักษ์ และรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ โดยทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธาน

มูลนิธิถันยรักษ์ ได้จัดตั้งศูนย์ถันยรักษ์ขึ้นที่ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อปี 2538 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม เป็นศูนย์อิสระที่ดำเนินงานโดยใช้เงินจากมูลนิธินี้ และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลศิริราชเรื่องสถานที่และแพทย์จากคณะต่างๆ คือ รังสีแพทย์ ศัลยแพทย์ และพยาธิแพทย์ มูลนิธิฯ ได้นำเงินพระราชทานและเงินบริจาคไปจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านมแมมโมแกรม เครื่องอุลตราซาวด์ และเครื่องตรวจเจาะชิ้นเนื้อ ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นและนำแพทย์และเจ้าหน้าที่เทคนิค ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมจากต่างประเทศมาฝึกสอนรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคของโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนอกจากนี้ ศูนย์ถันยรักษ์ยังได้เผยแพร่ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และร่วมมือกับหลายโรงพยาบาลในการพัฒนาคุณภาพของการตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับเต้านมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ฝึกอบรมรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคทั่วประเทศ ตามพระราชปณิธานที่จะให้ผู้หญิงไทยรอดพ้นอันตรายจากโรคมะเร็งเต้านม โดยได้รับความรู้ความเข้าใจและการป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง รวมทั้งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากศูนย์ถันยรักษ์โดยเท่าเทียมกัน

คำสำคัญ (Tags): #สังคมสงเคราะห์
หมายเลขบันทึก: 620107เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 16:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท