สมเด็จย่ากับงานสังคมสงเคราะห์ ep3


มูลนิธิถันยรักษ์

มูลนิธิถันยรักษ์ (Breast Foundation) เป็นมูลนิธิสุดท้ายที่สมเด็จย่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 ด้วยทรงตระหนักว่าผู้หญิงไทยที่เป็นมะเร็งเต้านมมีจำนวนสูงมาก และต้องทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และใช้เวลานาน เป็นการบั่นทอนกำลังกายและกำลังใจของผู้ป่วยและครอบครัว ถ้าผู้หญิงไทยมีโอกาสได้เข้าใจถึงอันตรายจากโรคมะเร็ง และรู้จักวิธีดูแลป้องกันตัวเองให้ถูกต้อง สามารถค้นพบก้อนมะเร็งและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็สามารถจะลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ได้ ทำให้ผู้หญิงไทยมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น

ดังนั้น สมเด็จย่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจาก “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” จำนวน 12 ล้านบาท เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิ พระราชทานชื่อว่า “ถันยรักษ์” และรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ โดยทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธาน มูลนิธิถันยรักษ์ ได้จัดตั้งศูนย์ถันยรักษ์ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2538 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม เป็นศูนย์อิสระที่ดำเนินงานโดยใช้เงินจากมูลนิธินี้ และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลศิริราชเรื่องสถานที่และแพทย์จากคณะต่างๆ คือ รังสีแพทย์ ศัลยแพทย์และพยาธิแพทย์ มูลนิธิฯ ได้นำเงินพระราชทานและเงินบริจาคไปจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านม แมมโมแกรม (Mammogram) เครื่องอุลตราซาวด์ (Ultrasound) และเครื่องตรวจเจาะชิ้นเนื้อ (Stereotactic Core Biopsy) ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น และนำแพทย์และเจ้าหน้าที่เทคนิคผู้เชี่ยวชาญเรื่องตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมจากต่างประเทศมาฝึกสอนรังสีแพทย์และเจ้าหน้ารังสีเทคนิคของโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นอกจากนี้ ศูนย์ถันยรักษ์ยังได้เผยแพร่ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเองและร่วมมือกับโรงพยาบาลในการพัฒนาคุณภาพของการตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับเต้านมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ฝึกอบรมรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคทั่วประเทศ ตามพระราชปณิธานที่จะให้ผู้หญิงไทยรอดพ้นอันตรายจากโรคมะเร็งเต้านม โดยได้รับความรู้ความเข้าใจและการป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง รวมทั้งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากศูนย์ถันยรักษ์โดยเท่าเทียมกัน

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

การเสด็จประพาสหัวเมือง เพื่อทรงเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนและประชาชนใน พ.ศ. 2507 ทำให้สมเด็จย่าทรงพบเห็นการขาดแคลนโรงเรียนสำหรับเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และได้ทรงทราบถึงโครงการจัดตั้งโรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคมที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 5 ค่ายดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 เพื่อให้เยาวชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลคมนาคม ได้รับการศึกษาตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา เฉพาะในพื้นที่ที่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการประถมศึกษาโดยตรงยังเข้าไปดำเนินการไม่ถึง ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคมรู้หนังสือไทย รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทย และให้มีความสำนึกว่าเป็นคนไทย
สมเด็จย่าทรงพระดำริว่า การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงทรงรับโครงการ โรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคม ไว้ในพระอุปถัมภ์ในปลายพ.ศ. 2507 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลแก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อนำไปจัดสร้างโรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคมกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศเป็นจำนวนถึง 185 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นโรงเรียนที่สร้างจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 29 แห่ง เป็นต้นว่า โรงเรียนอานันท์ โรงเรียนสระปทุม โรงเรียนสว่างวัฒนา โรงเรียนมหิดล โรงเรียนสังวาลย์วิทยา โรงเรียนทัศนาวลัย ฯลฯ ส่วนโรงเรียนพระราชทานที่สร้างจากเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานชื่อโรงเรียนตามชื่อบุคคลหรือชื่อหน่วยงานของผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เช่น โรงเรียนสมาคมศิษย์เก่าราชินี โรงเรียนเบ็ตตี้ ดูเมน โรงเรียนจุฬา – ธรรมศาสตร์ โรงเรียนสุทธสิริโสภา โรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช โรงเรียนสื่อมวลชนกีฬาและโรงเรียนโรตารี่กรุงเทพ เป็นต้น

โรงเรียนพระราชทานแต่ละแห่งนอกจากจะมีอาคารเรียนแล้ว ยังมีบ้านพักครูรวมอยู่ด้วยอีก 1 หลัง เพื่อให้ครูมีที่อยู่อาศัยที่สะดวกสบายพอสมควร เมื่อโรงเรียนแต่ละแห่งสร้างเสร็จ สมเด็จพระบรมราชชนนีจะเสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงเรียนพระราชทานเหล่านั้น ด้วยพระองค์เองทุกแห่ง อีกทั้งยังได้พระราชทานอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นต่างๆ เป็นอันมาก ที่สำคัญก็คือ ได้พระราชทานแนวพระดำริในอันที่จะปลูกฝังความเป็นไทย และความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันจะยังผลให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ให้แก่เยาวชนของชาติเสียตั้งแต่เยาว์วัย เหมือนดังที่ทรงปลูกฝังพระโอรสธิดาได้รับความสำเร็จมาแล้ว สมเด็จย่าทรงพระกรุณาพระราชทาน พระพุทธรูป ภปร. พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และธงชาติ ประจำไว้ทุกโรงเรียน โรงเรียนละหนึ่งจุด ธงชาติเป็นเครื่องหมายเตือนตาเตือนใจให้เด็กนักเรียนได้คุ้นเคยและจดจำสิ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติ พระพุทธรูปเป็นเครื่องสอนให้ระลึกเสมอว่า ศาสนาประจำชาติของตนคือพระพุทธศาสนา ที่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา พระบรมฉายาลักษณ์ ย่อมเตือนตาเตือนใจเด็กนักเรียน ให้จดจำรำลึกถึงองค์พระประมุขของชาติ แม้ว่าพวกเขาอยู่ห่างไกลไม่มีโอกาสได้เฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด แต่พวกเขาก็สามารถรู้จักและจดจำพระองค์ได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในโรงเรียน เป็นการเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อองค์พระประมุขของชาติ นอกจากนี้ยังพระราชทานวิทยุสำหรับรับฟังข่าวสารไว้ทุกโรงเรียนอีกด้วย สิ่งที่สมเด็จย่าทรงมีแนวพระราชดำริจะปลูกฝังเด็กไทยตามแนวชายแดนเหมือนดังที่ทรงปลูกฝังพระโอรสธิดาทุกพระองค์ครั้งทรงพระเยาว์และทรงอยู่ในวัยเรียนก็คือ การเรียนรู้เรื่องแผนที่ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้กองอุปกรณ์การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่พอประมาณ โดยตัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ เน้นเฉพาะจังหวัดชายแดนต่างๆ พร้อมทั้งมีหมุดติดไว้ที่ส่วนนั้นๆ ให้สามารถดึงออกมาได้ เป็นการสะดวกต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนว่าจังหวัดของเขาอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศไทย เป็นการเน้นให้นักเรียนโรงเรียนชายแดนทุกแห่งทราบว่าตนเองเป็นคนไทย มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งๆ ที่บางแห่งพูดภาษาถิ่นแตกต่างกันไปตามภูมิภาคก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 620085เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2016 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท