เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพมีลักษณะอย่างไร?


ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพจะแตกต่างกันไปตามลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ ความผิดปกติของระบบประสาท (Neurological conditions) ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal conditions) และความผิดปกติทางสุขภาพอื่นๆ (Other health impairments)

ความผิดปกติของระบบประสาท (Neurological conditions) เกิดจากความเสียหายของระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) หรือสมองและไขสันหลัง โดยปัญหาหลักอันสืบเนื่องมาจากความผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) โรคลมชัก (Epilepsy) โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) ซึ่งเป็นความบกพร่องของไขสันหลังที่มีมาแต่กำเนิด โดยไขสันหลังยื่นออกมานอกกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เด็กมีอาการอัมพาตบางส่วน หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตทั้งตัว และอาจเกิดจากการบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) อีกด้วย ทั้งนี้ความบกพร่องอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความผิดปกติทางระบบประสาทมักมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงอันตราย และอาจส่งผลต่อความสมรรถภาพทางร่างกาย สติปัญญา การพูดและภาษา รวมถึงประสาทสัมผัส

ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal conditions) ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophy) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis) ภาวะแขนขาขาดหรือถูกตัดทิ้ง (Amputation) และความทุพพลภาพรูปแบบอื่นๆ ของกล้ามเนื้อหรือกระดูก ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเคลื่อนไหว เดิน ยืน นั่ง หรือทำให้ไม่สามารถใช้มือและเท้าได้อย่างปกติ

ความผิดปกติทางสุขภาพ (Health impairments) ได้แก่ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อและปัญหาเรื้อรัง เช่น เบาหวาน (Diabetes) โรคหืด (Asthma) โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) ซึ่งรวมถึงการได้รับเชื้อ HIV และโรคเอดส์ รวมไปถึงโรคเลือดออกไม่หยุด (Hemophilia) โรคกลุ่มอาการของทารกที่เกิดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol syndrome) และการทำงานไม่ปกติ หรือล้มเหลวของอวัยวะสำคัญ

เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพบางคนอาจไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้หรือทำกิจกรรม ในขณะที่เด็กที่มีความบกพร่องดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์และความช่วยเหลือในการศึกษาเล่าเรียนอย่างใกล้ชิด ปัญหาทางด้านร่างกายสามารถขัดขวางความสามารถในการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ในการทำงานของอวัยวะ ความแข็งแรง การสื่อสาร หรือความสามารถในการเรียนรู้ จนถึงระดับที่เด็กไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เป็นโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) โดยทั่วไปจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กบกพร่อง รวมถึงมีปัญหาในการพูดและการสื่อสารร่วมด้วย ในขณะที่เด็กบางคนอาจมีความบกพร่องทางร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งนำไปสู่ความบกพร่องทางสติปัญญา รวมไปถึงความพิการซ้ำซ้อนอื่นๆ ซึ่งก่อให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย หรือเด็กบางคน แม้จะมีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ แต่ก็มีระดับสติปัญญาตามเกณฑ์หรืออาจถึงระดับสูง โดยสามารถเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติได้

หมายเลขบันทึก: 619742เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2016 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2016 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท