​ถั่วลิสง (จากการปฏิบัตินำสู่ปรัชญาการเรียนรู้)



เรื่องนี้เกิดขึ้นตอนผมอยู่ ม.2 ในวิชา การงานอาชีพ ห้องเรียนของเรามีนักเรียนทั้งหมด 30 คน คุณครูประจำวิชาให้แบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มละ 3 คน โดยได้มอบหมายภาระงานให้เราว่า ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มปลูกถั่วลิสงลงแปลงดินบริเวณหลังโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่เตรียมดินเองไปจนถึงการดูแลรักษาและเก็บผลผลิต โดยคุณครูไม่ได้บอกวิธีการปลูกแก่พวกเราแต่อย่างใด บอกเพียงว่าให้แต่ละกลุ่มค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเองในอินเตอร์เน็ต และครูมีเพียงอุปกรณ์ในการปลูกให้เท่านั้น จากนั้นผมและเพื่อนก็ได้แบ่งหน้าที่กันว่าใครจะรับผิดชอบส่วนไหน

อาทิตย์ต่อมากลุ่มเราเข้าห้องเรียนพร้อมกับเอกสารข้อมูลที่แต่ละคนแยกย้ายไปค้นคว้ามาจากอินเตอร์เน็ตหลายปึกกว่ากลุ่มอื่น โดยข้อมูลที่ได้มาเรียกได้ว่าละเอียดมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเตรียมดิน ว่าต้องมีค่า PH เท่าไร ไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวผลผลิต เรียกได้ว่าข้อมูลกลุ่มเราเอามาข่มขวัญเพื่อนกลุ่มอื่นได้มากทีเดียว

มาถึงขั้นตอนการลงมือทำจริงๆ กลุ่มเราทั้งสามคนไม่เคยมีใครเคยปลูกมาก่อน เราเจอปัญหาตั้งแต่การขุดดิน เพราะว่าเราขุดไม่เป็น รู้เพียงแค่ว่าต้องเอาจอบเจาะลงไปที่ดินแล้วก็ดึงออกมเท่านั้น แต่เมื่อลงมอทำจริงๆ มันไม่ง่ายเลย มันไม่มีทฤษฎีส่วนไหนอธิบายวิธีการขุดดินไว้ เราต้องใช้เพียงการลองทำจริง เพื่อหาองศาการขุดให้ได้เองเท่านั้น เมื่อขุดไปสักพักมันจึงเริ่มเข่าท่าเข้าทาง การขุดของเราจึงง่ายขึ้น ไม่ใช่เพียงการเอาจอบเจาะดินแบบครั้งแรก

เมื่อเราขุดดินเตรียมแปลงเสร็จ ก็เป็นขั้นตอนการลงเมล็ดและรดน้ำ กลุ่มเราได้ใช้นิ้วจิ้มลงไปในดินให้เป็นรูตามทฤษฎีที่อ่านมา จากนั้นก็หยอดเมล็ดลงไปหลุมละ 1 เมล็ด เสร็จแล้วจึงกลบดินและรดน้ำ เราแบ่งหน้าที่กันมารดน้ำทุกเช้าและก่อนกลับบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปประมาน 3 อาทิตย์ ผลปรากฏว่าถั่วของเรางอกพ้นดินออกมาประมาน 30 - 40 % เท่านั้น เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นซึ่งงอกมากที่สุดประมาน 60 – 80 % เลยทีเดียว เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้ว สมาชิกในกลุ่มเราจึงมานั่งคุยกันว่าเพราะเหตุใด ถั่วลิสงของกลุ่มเราจึงงอกน้อยมาก ทั้งที่เราได้ทำตามขั้นตอนที่เราไปศึกษามาอย่างดีที่สุดแล้ว เราจึงเริ่มค้นข้อมูลอีกครั้งจากในอินเตอร์เน็ตอีกครั้งซึ่งก็ได้เพียงข้อมูลที่ไกลตัวและเราคิดว่าไม่น่าจะใช้ได้กับแปลงถั่วเล็กๆของเรา เราจึงไปถามเพื่อนกลุ่มที่ปลูกสำเร็จ จึงได้ความว่าขั้นตอนบางขั้นตอนที่เราทำมันไม่จำเป็น เทคนิคที่เพื่อนบอกเรามาแล้วเรานึกไม่ถึงคือ เพื่อนกลุ่มอื่นใส่เมล็ดลงหลุมไป 3 – 5 เมล็ดต่อหลุม ซึ่งทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกเพิ่มมากขึ้น และเราเองก็นึกไม่ถึงเทคนิคนี้เช่นกัน เราได้มาทราบทีหลังว่าเพื่อนที่ปลูกได้เขาเคยปลูกมาก่อนหน้านี้ แต่ไมได้ปลูกถั่วลิสงเพียงแต่นำทักษะและกระบวนการมาประยุกต์ใช้ด้วยกันเท่านั้น สุดท้ายกลุ่มของพวกเราจึงตัดสินใจปลูกถั่วรุ่นใหม่เพิ่มตามเทคนิคของเพื่อนที่แนะนำ เพื่อให้ได้คะแนนเท่ากับกลุ่มอื่น

จากวันนั้นถึงวันนี้ เมื่อผมลองมองย้อนกลับไปการปลูกถั่วในครั้งนั้นได้สอนอะไรผมหลายอย่างด้วยกัน ประการแรกคือ การที่เรามีข้อมูลหรือทฤษฎีเยอะๆนั้นไม่ได้การันตีความสำเร็จของเราแต่อย่างใด ข้อมูลเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของความสำเร็จเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดผมมองว่าเป็นเรื่องของประสบการณ์และทักษะในการทำงาน ที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของความสำเร็จของผู้เรียนมากกว่า เพราะฉะนั้นแล้วการจัดการเรียนรู้ของครูจึงควรมุมเน้นการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนให้มากที่สุดเป็นประเด็นสำคัญ

ประเด็นที่สอง คือ ในตอน ม.2 นั้น ผมมองว่าทำไมคุณครูท่านนี้ไม่ยอมสอนอะไรเราเลยแต่กลับให้เราหาข้อมูลในเอง ทำเองทุกอย่าง ครูมีเพียงอุปกรณ์ให้เราเท่านั้น ในเวลานั้นผมไม่ชอบวิชานี้เลย แต่ความไม่ชอบทำไมผมจึงจำวิชานี้ไม่เคยลืม สิ่งนี้เองเมื่อเวลาผ่านไปผมกลับตกผลึกความคิดได้ว่า สิ่งที่คุณครูท่านนี้สอนเราคือ ท่านสอนให้เรารู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักแก้ปัญหา และรู้จักสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยที่มีครูเป็นคนคอยอำนวยความสะดวกให้เท่านั้น มันจึงเกิดเป็นความรู้และทักษะที่ติดตัวผมมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากวิชานี้เป็นวิชาที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทางในการทำงาน เราได้เจอปัญหาและได้ค้นหาวิธีการแก้ไขพร้อมลงมือทำด้วยตนเอง สิ่งนี้ทำให้เราในฐานะผู้เรียนได้เกิดการสร้างความรู้ด้วยตนเองและกลายเป็นความรู้ที่คงทนถาวร ถ้าหากวันนั้นคุณครูพาพวกเราทำทั้งหมด บอกทุกขั้นตอน เราเองก็คงจะจำไม่ได้ว่าการปลูกถั่วทำอย่างไร ต้องแก้ปัญหาอย่างไร และก็คงลืมไปเองหลังเรียนจบวิชามาเท่านั้น

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ผมได้ข้อคิดในการทำหน้าที่ในฐานะครูคนผู้สร้างองค์ความรู้ให้แก่เด็กว่า เราเปรียบเสมือนคนที่คอยให้อาหารแก่เด็ก ครูจะต้องเป็นคนที่ไม่ยื่นอาหารให้เด็กโดยตรง แต่ต้องสอนให้เด็กรู้จักการหาอาหารด้วยตนเอง เพราะเมื่อเขาหิวเมื่อไรเขาจะได้รู้จักวิธีการหาอาหารด้วยตนเอง ไม่ใช่รอเราป้อนให้เพียงฝ่ายเดียว หากทำได้เช่นนั้นแล้ว นักเรียนของเราจะเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 619660เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2016 15:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2016 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท