“Make the Pattern Fit”


เมื่อเราประเมินผู้ป่วยให้พยายามมองหาแบบแผนของอาการและอาการแสดง--- “make the pattern fit”

สองวันนี้ได้พักใจจากเรื่องอื่นๆในชีวิต ได้กลับมาเป็นนักเรียนน้อย เพลิดเพลินกับการฟังการฝึกสิ่งใหม่ๆหลายอย่างที่ยังไม่เคยรู้ รวมทั้งสิ่งที่พอจะรู้มาบ้างแล้ว แต่บางอย่างก็พบว่ารู้แบบครึ่งๆกลางๆถูกบ้างผิดบ้าง จนอดนึกขำตัวเองไม่ได้ คิดว่าฉันช่างโชคดีได้มาเรียนรู้วิธีคิดของ Prof. Gwendolen Jull ซึ่งเป็นทั้งครู นักวิจัย และนักปฏิบัติ เป็นทุกอย่างที่ฉันอยากจะเป็น จึงเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขยิ่ง

ครูพูดย้ำหลายครั้งหลายคราวตลอดเวลาที่สอนว่า ในฐานะนักกายภาพบำบัด เมื่อเราประเมินผู้ป่วยให้พยายามมองหาแบบแผนของอาการและอาการแสดง “make the pattern fit” ทำให้ฉันนึกถึงครูนักปฏิบัติท่านอื่นๆ ที่สร้างและเผยแพร่แนวคิดทางกายภาพบำบัดที่เป็นแบบแผนทางคลินิก (Clinical Patterns) ทำให้เราได้ชื่นชมทักษะและเข้าใจลักษณะของความเชี่ยวชาญทางคลินิก ที่ตกผลึกเป็นองค์ความรู้อันทรงคุณค่า

เมื่อสิ้นสุดวัน และได้ทบทวนสิ่งที่เรียนรู้ ฉันรู้สึกทึ่งมากที่พบว่า Patterns of Neck Disorder ที่ได้เรียนรู้จาก Gwendolen Jull มีส่วนประสานกันอย่างดีกับ Movement Impairment Patterns of Shoulder อันน่าทึ่งของ Shirley Sahrmann (สารภาพว่าแสนตื่นเต้นที่จะได้เจอตัวจริงปีหน้า)

นอกจากนั้นหากมองให้ลึกซึ้ง ก็น่าแปลกใจนักที่วิธีคิดเรื่องแบบแผนทางคลินิกหลายอย่างของท่านทั้งสองกลมกลืนกับกรอบแนวคิดของครูผู้ล่วงลับหลายท่าน เช่น

- Three dimensional Scoliosis Treatment Patterns ของ Katharina Schroth ผู้ประกาศแนวคิดแสนกล้าหาญว่า วิธีการทางกายภาพบำบัดสามารถเปลี่ยนโครงสร้างอันบิดเบี้ยวของร่างกายมนุษย์ให้กลับมาสู่ปกติได้

- Mechanical Diagnosis and Treatment Patterns ของ Robin McKenzie ที่นำเสนอแนวคิดอันชาญฉลาดและช่วยให้คนมากมายไม่ต้องขึ้นเตียงผ่าตัด

- Muscles Testing and Function, with Posture and Pain ในหนังสือที่เป็นตำนานของ Florence Kendall ที่กล่าวถึงแบบแผนของกล้ามเนื้อ โครงสร้าง และการเคลื่อนไหวของมนุษย์อย่างแสนละเอียดปราณีตจนน่าทึ่ง

- Muscle Imbalance Patterns ของ Vladimir Janda ที่เป็นต้นกำเนิดของแนวคิดการรักษาด้วยการเคลื่อนไหวที่หลากหลายในฝั่งยุโรปตะวันออก

และยังมีแนวคิดทรงคุณค่าของครูกายภาพบำบัดท่านอื่นๆอีกมากที่ฉันไม่ได้กล่าวถึง

สิ่งหนึ่งที่บันดาลใจให้ฉันอยากเป็นนักกายภาพบำบัดและอยากเป็นครู ก็คือครูเหล่านี้ที่ฉันได้พบหรือศึกษางานของท่าน ตั้งแต่ครูกายภาพบำบัดคนแรกที่บอกฉันเมื่อ 20 กว่าปีก่อนว่า คุณดูสิกล้ามเนื้อมันไม่ได้อ่อนแรงหรอก มันแค่ลืม คุณก็ต้องสอนให้มันเคลื่อนไหวใหม่อีกครั้ง บอกร่างกายว่าการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องคืออะไร ทั้งๆที่ตอนนั้นแนวคิดเรื่อง motor control and learning ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทยและยอมรับกันทั่วไปเหมือนเดี๋ยวนี้ ครูที่บอกฉันว่า มันไม่ได้มีแบ่งตายตัวหรอกว่า คุณน่ะเป็นนักกายภาพบำบัดทางออร์โธฯหรือนิวโรฯ คุณเข้าใจร่างกายมนุษย์ คุณรักษาได้ทุกคน จะปวดหลังหรืออัมพาตครึ่งซีก คุณก็ต้องเข้าไปค้นหาเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือสิ่งที่ขาดหายบกพร่อง ทำให้คนไข้เคลื่อนไหวไม่ได้

ตั้งแต่จบจากโรเรียนกายภาพบำบัด ฉันได้พบครูคนแล้วคนเล่า โลกของฉันในวิชาชีพนี้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ขอบคุณตัวเองที่มีนิสัยช่างอ่าน ช่างสงสัย และสนุกกับการสังเกตวิธีคิดของผู้คน จึงทำให้สนใจและอยากเรียนรู้แนวคิดๆของผู้คนที่แตกต่างอยู่เสมอ

เชื่อหรือไม่ นำมาใช้หรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่การได้ศึกษาแนวคิดของผู้รู้ของวงวิชาชีพ เป็นเรื่องที่เติมเต็มให้ชีวิตของฉันเสมอ

ด้วยจิตคารวะครูทุกท่าน



หมายเลขบันทึก: 619531เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2016 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2016 06:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท