ไม่ใช่แค่มีอาชีพครู...แต่ต้องเป็นครูมืออาชีพ


"ไม่ใช่แค่มีอาชีพครู...แต่ต้องเป็นครูมืออาชีพ"



"ครู" ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ระบบการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต หากประเทศใดที่มี “ครู” ที่มีคุณภาพ ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้ถึงแนวโน้มในการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ…

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของครูให้มี สมรรถนะและมีความสามารถที่เพียงพอต่อการเป็นหนึ่งใน “เสาหลัก” แห่งการพัฒนาประเทศ ได้มีการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะครู คณาจารย์ และบุคลากรการศึกษา รวมอยู่ด้วย โดยเป็นการปฏิรูปครูทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบการผลิตครู การพัฒนาครู การควบครูวิชาชีพ และการบริหารงานบุคคล

ส่วนของระบบการ ผลิตครูนั้น ได้มีการปรับหลักสูตรที่ใช้ในการผลิตครูที่เป็นผู้สอนในระดับการศึกษาขั้น พื้นฐาน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเริ่มใช้หลักสูตร 5 ปี ครั้งแรก

และ ณ วันนี้ จากการสิ้นสุดการอบรมด้วยหลักสูตรดังกล่าวนอกจากจะทำให้ได้ “ครูรุ่นใหม่” จำนวนถึง 2,041 คนแล้ว การอบรมที่เข้มงวดตลอดระยะเวลา 5 ปี ยังทำให้ระบบการศึกษาไทยได้บุคคลที่ประกอบ “อาชีพครู” ที่เป็น “ครูอาชีพ” อีกด้วย

ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่าง “อาชีพครู” กับ “ครูอาชีพ” คงหนีไม่พ้น “ครูอาชีพ” คือ ครูที่มีความรู้ ความสามารถ ความเมตตากรุณา จิตวิญญาณของความเป็นครูในการอบรมสั่งสอนนักเรียนอย่างสุดความสามารถ โดยไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย แม้ว่าปัจจุบันจะมีบุคคลที่ได้ชื่อเป็นเพียงผู้ประกอบ “อาชีพครู” แอบแฝงในแวดวงครูอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าครูรุ่นเก่า

หรือแม้แต่ครูรุ่นใหม่ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 5 ปีนั้น ส่วนใหญ่ต่างมีความเป็น “ครูอาชีพ” อย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน…

อย่าง ไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายนั้น ย่อมส่งผลให้ “ครู” ถูกคาดหวังจากสังคมในการทำหน้าที่เป็น “เบ้าหลอม” แห่งการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นทั้งคนดี คนเก่ง และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม

จากความคาดหวังที่สังคมมีต่อ “ครู” ในขณะนี้ ส่งผลให้ “ครูมืออาชีพ” จำเป็นต้องมีการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาความสามารถด้านการสอน โดยการจัดการองค์ความรู้ที่จะสอนอย่างมีคุณภาพ ทั้งในแง่การพัฒนาความรอบรู้ ในเนื้อหาสาระของวิชาที่จะสอนอย่างลึกซึ้ง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ โดยเน้นการอบรมสั่งสอนที่พัฒนาทักษะชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพจิต เพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้อย่างมีระบบ การจัดกิจกรรมเพื่อให้ผูเรียนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาได้ มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี สารสนเทศ เพื่อการจัดการความรู้ และมีการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนจากผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง

ครูต้องระลึกถึงความรับผิดชอบงานในหน้าที่ของตนคือ ต้องมีความสามารถทำงานตามหน้าที่ ด้วยความตั้งใจในการปฏิบัติงาน และมีความปรารถนาหาความรู้เพิ่มเติม ค้นคว้า ทำตัวให้ทันสมัยกับเหตุการณ์อยู่เป็นนิจและที่สำคัญยิ่งคือต้องมีน้ำใจรักศิษย์ อยากเห็นศิษย์มีความเจริญก้าวหน้า ช่วยอุ้มชูสั่งสอนให้ศิษย์เป็นคนดี คนฉลาด เป็นพลเมืองดีมีคุณภาพและประสิทธิภาพของประเทศ ด้วยบทบาทและหน้าที่สำคัญของครูคือ การจัดกระบวนการและเนื้อหาในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรม และการสร้างภูมิปัญญาให้แก่สังคม นี้เองประกอบกับภาวะปัจจุบันที่ สังคมโลกกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงโดยการเปลี่ยนจากยุคทุนนิยมเคลื่อนเข้าสู่การเป็นสังคมแห่งความรู้ ซึ่งประเทศต่าง ๆ กำลังแข่งขันด้านคุณภาพของมนุษย์ โดยอาศัยฐานความเข้มแข็งของปัญญาเป็นหลัก ซึ่งลักษณะของบุคคลที่เป็นต้องการในยุคโลกาภิวัฒน์คือ คนที่มีความรับผิดชอบ เข้าใจงานของตน ว่าประกอบด้วยงานของคนอื่นอย่างไร ต้องสามารถปฏิบัติงานใหญ่ได้ โดยสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงและคนรอบข้างได้ คนในยุคใหม่จึงต้องเป็นคนมีความสามารถทำงานที่ซับซ้อน มีความเป็นตัวของตนเอง หรือมีอิสระแห่งตน จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำคัญบุคคลการทางการศึกษาโดยเฉพาะครูว่า ทำอย่างไรในระบบสังคมอนาคตเราจะทำให้เด็กของเรามีความเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ เปราะบาง เพื่อจะสามารถต่อสู้ในระบบแข่งขัน และอยู่ได้ดี โดยได้รับประโยชน์จากความเจริญ จากเทคโนโลยีต่าง ๆ และจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุขและสมดุล

การที่ครูจะสามารถจัดการเรียนที่มีความสุขได้นั้น ควรเริ่มต้นจากการที่ครูจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างแท้จริง เพื่อจะนำไปสู่พื้นฐานการจะเข้าใจศิษย์อย่างแท้จริง โดยปราศจากความขัดแย้งทั้งการคิดและการกระทำ เพราะจากบทบาทของครูในฐานะผู้กระตุ้น รับผิดชอบ วินิจฉัยศิษย์และกระบวนการเรียนรู้ ครูจึงเป็นนักจัดการเรียนรู้และผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ซึ่งหากครูมีความเข้าใจถึงบทบาทของตนแล้วย่อมก่อให้เกิด ความจริงใจ ความรัก และความหวังดีกับศิษย์โดยบริสุทธิ์ใจ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมบทเรียน การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน การกระตุ้นผู้เรียน การเสริมแรง หรือให้กำลังใจแก่ศิษย์โดยเฉพาะการให้กำลังใจซึ่งจะเป็นพลังให้ศิษย์เกิดความเชื่อมั่นในตนเองในการกระทำหรือละเว้นจากการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คาดหวัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้

ความจริงใจที่ครูมีต่อตนและศิษย์จะช่วยให้ครูเป็นผู้รับฟังที่มีประสิทธิภาพ จากการรับฟังในสิ่งที่ศิษย์พูด คิดและทำ ด้วยความเข้าใจ และยอมรับศิษย์ในสภาพที่เขาเป็นอยู่ ในฐานะบุคคล เกิดเจตคติที่ดีในการมองศิษย์อย่างมีคุณค่า วางใจและเชื่อใจในศักยภาพของเขา ว่า ทุกคนสามารถพัฒนาได้ หากได้รับโอกาสและเวลา ความรู้สึกจริงใจและสนใจที่ครูมีต่อศิษย์โดยคิดว่า ศิษย์คือ เพื่อน บุตร ญาติพี่น้อง จะทำให้ครูมีความเอื้ออาทรต่อศิษย์เพิ่มขึ้นและจะพยายามเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้บุคคลมีความแตกต่างกันเช่น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม พฤติกรรม วัย วุฒิภาวะ การอบรมสั่งสอน ฐานะทางสังคม เศรษฐกิจ ถิ่นกำเหนิด ศาสนา และอิทธิพลของกลุ่ม ซึ่งเมื่อผู้สอนเข้าใจและยอมรับศิษย์ จะทำให้การสอนเป็นไปโดยราบรื่น เกิดความพยายามสร้างให้ศิษย์มีความสุข สะดวกสบายในการเรียนรู้ มีความฉลาด ปฏิภาณ ไหวพริบ รวมทั้งมีทักษะในการสื่อสารระหว่างบุคคล และสร้างศิษย์มีคุณลักษณะที่ดีให้ติดตัวคงทนถาวร ทั้งด้านความสามารถทางด้านความรู้ ทักษะ สติปัญญา และความต้องการในการที่จะมุ่งมั่นพัฒนาตนเองให้มีคุณค่าในการทำงาน ในขณะเดียวกันยังสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุขเพื่อการก้าวไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และสิ่งสำคัญในการที่ครูจะสามารถประความสำเร็จในการอบรมสั่งสอนเพื่อให้ศิษย์มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์นั้น ครูจะต้องสร้างให้ศิษย์เกิดความรักใคร่ศรัทธาในครูด้วยการให้ความรักและเป็นแบบอย่าง

การสร้างสรรค์การเรียนรู้สำหรับยุคโลกาภิวัฒน์นี้ มิได้ต้องการครูที่เก่งกาจเกินมนุษย์แต่อย่างใด แต่ต้องการครูที่ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของคำว่า “ครู (TEACHERS)” ครูที่มีสัมผัสที่ดีกับศิษย์ เข้าใจธรรมชาติของศิษย์ และทำให้ศักยภาพที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มที่ในตัวศิษย์แต่ละคนได้ฉายแววออกมาอย่างเต็มที่ ซึ่งครูทุกคนทุกระดับสามารถพัฒนาตนเองเป็นครูมืออาชีพได้ หากครูมีการตื่นตัวในการพัฒนาตนและเตรียมความพร้อมเพื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลง เปิดใจให้กว้าง มีใจเป็นกลาง พยายามเรียนรู้อย่างเท่าทันและรอบรู้ มีมุมมองอย่างเชื่อมโยง ในการสังเคราะห์ วิเคราะห์ ถึงความเป็นจริงในสังคม มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล และความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ ที่สำคัญยิ่งอีกประการสำหรับครูยุคใหม่คือจะต้องมีความอดทน เพราะผลงานของครูจะบังเกิดผลแก่ศิษย์และ งานที่ยิ่งใหญ่ของครูคือ การสอนคนซึ่งเป็นงานเพื่อสังคมมนุษย์ ด้วยภาระที่หนักหน่วงเช่นนี้ ผู้เป็นครูจึงควรเชื่อและนับถือตนเอง เชื่อในคุณค่าของสิ่งที่ครูกำลังพยายามทำให้สำเร็จนั้น คือ สอนให้ผู้อื่นได้เรียนรู้เพื่อจะสามารถปฎิบัติตนได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ทั้งหลายทั้งปวง และพึงระลึกเสมอว่า นอกจากการที่ผู้เรียนจะเรียนรู้หรือจดจำเนื้อหาได้มากน้อยต่างกันตามแต่บุคคลไปแล้วนั้น สิ่งที่ผู้เรียนจะยังคงจำได้คือ ครูและความเป็นครู ของครูนั้นเอง


ที่มา : http://primary1-3.blogspot.com/2012/06/blog-post.h...

หมายเลขบันทึก: 619346เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2016 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2016 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท