​“ครู” มืออาชีพ หรือ อาชีพ “ครู”


“ครู” มืออาชีพ หรือ อาชีพ “ครู”



“ครู” ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ระบบการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ต่อไปในอนาคต ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของครูให้มีสมรรถนะและมีความสามารถที่เพียงพอต่อการเป็นหนึ่งใน “เสาหลัก” แห่งการพัฒนาประเทศ

ครูมืออาชีพ คืออะไร ?

- ครูที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนมีความรู้ ทักษะความสามารถในการจัดกิจกรรมให้แก่ผู้เรียนและได้รับการยกย่อง

- ครูที่มีสมรรถนะในด้านความสามารถในการจัดการเรียนการสอน การประเมินองค์รวมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนาและประเมินหลักสูตร การศึกษาค้นคว้าวิจัย การเป็นผู้นำ การส่งเสริมและแก้ปัญหาของผู้เรียน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์และร่วมมือกับชุมชน

ลักษณะของครูมืออาชีพ

1) สอนดี

- จัดกระบวนการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ

- จัดสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด ความต้องการและตามสภาพของผู้เรียน

- จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้คิด ปฏิบัติและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง

- จัดการเรียนรู้ที่เน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรมและกระบวนการเรียนรู้

- จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสาถานที่ สามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้

- จัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองจากเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

2) มีคุณธรรมและวินัย

- ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูและจรรยาบรรณครู

- ปฏิบัติตามระเบียบ วินัยข้าราชการครู

3) ใฝ่ก้าวหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

- พัฒนาตนเอง ศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนทักษะและมีเจตคติที่ดีในการปฏิบัติงาน

- พัฒนาการเรียนการสอน จัดกระบวนการเรียนรู้ที่บ่งชี้ว่า สอนดี อย่างต่อเนื่อง

- พัฒนาผู้เรียน มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้ ดี เก่ง และมีสุข

อาชีพครู คืออะไร ?

อาชีพครู คือ ครูที่ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพ ไม่ได้เป็นครูด้วยความรักสมัครใจ ครูประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้วิชาครู ไม่จำเป็นต้องมีความเข้าใจวิชาที่ตนสอนมากนัก แค่สอนจบไปวัน ๆ หนึ่งก็พอแล้ว ศิษย์จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ช่างศิษย์ ไม่สนใจ ขอให้มีเงินเดือนตามวิทยฐานะก็พอ

ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่าง “อาชีพครู” กับ “ครูมืออาชีพ” คงหนีไม่พ้น "ครูมืออาชีพ" หมายถึง ครูที่เป็นครูด้วยใจรัก มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านที่จะเป็นครู ประพฤติตัวดี วางตัวดี เอาใจใส่และดูแลศิษย์ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู แม้ว่าปัจจุบันจะมีบุคคลที่ได้ชื่อเป็นเพียงผู้ประกอบ “อาชีพครู” แอบแฝงในแวดวงครูอยู่บ้าง เพราะในสังคมปัจจุบันภาวะวิกฤตคุณธรรม วัตถุนิยมพัฒนาไปอย่างรวดเร็วสวนทางกับจิตใจที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ และในระยะหลังมักจะมีข่าวที่ไม่ดีนักเกี่ยวกับบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงข่าวเกี่ยวกับครูที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูที่ดีทั้งหลายได้รับผลกระทบจากการดูถูกดูแคลนจากสังคมเป็นอย่างมาก

การสร้างจิตสำนึกและวิญญาณครู

จุดเริ่มต้นน่าจะอยู่ที่การสร้างศรัทธา คำว่า “ศรัทธา” ในที่นี้มีความหมาย 3 มิติ คือ

ประการที่หนึ่ง คือ ศรัทธาต่อตนเอง ต้องเชื่อและศรัทธาในความรู้ความสามารถของตนเองว่าจะเป็นครูที่ดีได้เป็นตัวอย่างให้กับสังคมได้กระตุ้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และวิเคราะห์คัดสรรความรู้มาใช้ประโยชน์ได้ และมีความเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถสร้างภาพลักษณ์ของครูที่ดีได้

ประการที่สอง คือ ศรัทธาต่ออาชีพครู รักษาเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นครูที่เป็นวิชาชีพชั้นสูง เห็นคุณค่าของวิถีชีวิตที่เป็นครู

ประการที่สามคือ ศรัทธาต่อองค์กร รักษาชื่อเสียงของสถานศึกษาและองค์กรวิชาชีพครู ประพฤติและปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพครู

ถ้าครูทุกคนและครูของครูทุกคนมีความศรัทธาเป็นจุดเริ่มต้นจิตสำนึกและวิญญาณของความเป็นครู และสิ่งที่ดีที่เป็นแบบอย่างของสังคมได้ก็จะขยายและถ่ายทอดไปสู่เยาวชนชั่วลูกชั่วหลาน


ดังแนวพระราชดำริด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชดำริถึงครูว่า “… ครูจะต้องเป็นผู้ประพฤติตนดีทั้งด้านวิชาการคือ ต้องฝึกฝนตนให้มีความชำนาญในด้านความรู้และวิธีสอน ส่วนด้านความประพฤติจะต้องเป็นคนที่พร้อมทั้งในด้านจิตใจและการปฏิบัติเพื่อที่จะเป็นแบบอย่างแก่ผู้พบเห็น เมื่อลูกศิษย์ได้เห็นและประทับใจในความสามารถและความดีของครูก็จะประพฤติตนตามแบบอย่าง…..”



ขอขอบคุณ

http://www.moe.go.th/main2/article/article-somsak/...

หมายเลขบันทึก: 619232เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2016 02:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2016 02:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท