กองทุนงานบุญปลอดเหล้า (ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา


กองทุนงานบุญปลอดเหล้าภาคสมัครใจตำบลปาฝา

งาน

  • เรื่องราวดีดี ที่ปาฝา ตอนที่ 1
  • “กองทุนงานบุญปลอดเหล้า (ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด
    โดย... เชวง บุริวัฒน์*1โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปาฝา

    ปฐมบท : ในแวดวงนักเลงสุราในระดับพื้นที่ ผู้เขียนนับได้ว่าเป็นนักดื่มตัวยงไม่แพ้ใคร หากแต่จะเป็นการดื่มในโอกาสสำคัญสังสรรค์ในกลุ่มเพื่อน ครอบครัว และมารยาททางสังคมบางโอกาสเท่านั้น วันหนึ่งในเดือนกันยายน ๒๕๕๕ ผู้เขียนได้มาอยู่เวรปฏิบัติงานนอกเวลาราชการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปาฝา ซึ่งการอยู่เวรในช่วงนั้นจะเป็นเวรเรียกตาม หรือเวร Oncall ที่เจ้าหน้าที่ต้องอยู่รอรับการให้บริการตลอดคืน ตั้งแต่ 16.30 น.ไปจนถึง 08.30 น. ในวันรุ่งขึ้น จนท.เราจึงต้องขนข้าวของ พาครอบครัวมาอยู่บ้านพักที่ รพ.สต. เป็นช่วงๆสลับกันไป ปกติผู้เขียนเป็นคนที่หลงใหลในรสชาติ และสุนทรีย์ของการดื่มชามาก ในช่วงเย็นจึงมักที่จะน้ำพืชสมุนไพรหลากชนิดมาตากเป็นชา และชงดื่มเสมอ จึงมักจะมีเพื่อนฝูงทั้งผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต.และ อสม.แวะเวียนมาจิบน้ำชา ทักทายพุดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุกดิบ ข่าวคราวสถานการณ์บ้านเมือง และเรื่องสัปเพเหระ กันเสมอ จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสภาน้ำชาตำบลปาฝาก็ว่าได้ ในเย็วันหนึ่ง สภาน้ำชาของเราก็เริ่มต้นอย่างออกรส ผู้เขียนจำได้ว่าสมาชิกในวันนั้นประกอบด้วยพี่ผู้ใหญ่พัด (กำนันตำบลปาฝาในปัจจุบัน) ผู้ใหญ่ทองพูล ผู้ใหญ่พงษ์พันธ์ พี่ผู้ช่วยอุทัย พี่หำน้อย ประธาน อสม.ตำบลปาฝา ขณะกำลังแลกเปลี่ยน วิเคราะห์ข่าวสารบ้านเมืองอยู่นั้น นายค่อม สมาชิกที่ใหม่ที่พวกเราไม่พึงประสงค์ กลับจากงานศพในชุมชน เดินโซซัด โซเซผ่านหน้าบ้านพักผู้เขียน เห็นพวกเรากำลังเปิดสภาน้ำชา จึงแวะเวียนขอร่วมแลกเปลี่ยนกับเราโดยมิได้รับเชิญ ขณะที่พวกเราจิบชา และสนทนากันไปพรางนั้น ค่อมกลับเลือกที่จะจิบวิสกี้ไทย(เหล้าขาว)ไปด้วย พร้อมสนทนาตลอดเวลา ทำตัวเป็นประธานสภาคุยคนเดียวทุกเรื่อง พูดจาเสียงดัง เอะอะโวยวาย อีกทั้งเทียวหยอกล้อและสะกิดคนนั้นคนนี้อยู่ตลอดเวลา ไหนจะปัสสาวะเรี่ยราดในบริเวณแถวนั้น และยังอาเจียนฝากเป็นที่ระลึกพี่หำน้อย ประธาน อสม.ช่วยเคลียร์ให้อีกด้วย ปรากฏว่าวันนั้นเกือบวงแตก ถ้าค่อมไม่น็อคหลับไปซะก่อนจึงเป็นหน้าที่ของพี่อุทัยกับผู้ใหญ่พงษ์พันธ์ ต้องช่วยกันหามค่อมไปส่งบ้าน สอบถามได้ความว่าค่อมไปเมามาจากงานศพในชุมชน แล้วไปเอะอะโวยวายทะเลาะวิวาทกับขี้เมาเจ้าถิ่นอีกคนหนึ่ง ญาติๆของเจ้าภาพเขาจึงตะเพิดกลับ ประเด็นที่พวกเราหยิบยกขึ้นมาเสวนากัน ในสภาน้ำชาวันนั้นก็คือ “ค่อมโมเดล”ขี้เมากับงานบุญในชุมชนเป็นของคู่กัน และมีให้เห็นเป็นประจำในชุมชนตำบลปาฝา ซึ่งงานศพที่ก้อมไปเมามานั้น เจ้าภาพค่อนข้างมีฐานะยากจน ขาดแคลนและอัตคัด ผู้ตายไม่มีหลักประกันคุ้มครองใดๆไม่ว่าจะเป็น ธกส.หรือ สหกรณ์เพื่อการเกษตร ในวงเสวนาของพวกเราจึงเกิดประเด็นคำถามเป็นการบ้านให้พวกเราได้ไปคิดต่อว่าเจ้าภาพต้องเดือดร้อนกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้ในการจัดงานหรือไม่ เราจะมีวิธีการอย่างไรให้งานบุญต่างๆในชุมชนมีความเรียบร้อย ทำอย่างไรให้เจ้าภาพมีค่านิยมไม่จัดเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญ และจะทำอย่างไรให้คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญให้น้อยลง

สืบเนื่องจากนโยบาย : พี่ผู้ใหญ่พัดเล่าให้พวกเราฟังว่ากระทรวงมหาดไทยโดยกรมพัฒนาชุมชน มีนโยบายงานศพปลอดสุราและอบายมุข ขึ้น โดยกำหนดให้บ้านดอนเกษมเป็นหมู่บ้านนำร่องในโครงการดังกล่าว เนื่องจากบ้านดอนเกษมเป็นหมู่บ้านของกำนัน (กำนันถวิล ในสมัยนั้น) พวกเราตื่นเต้นและสนใจโครงการดังกล่าวมาก ผู้ใหญ่ทองพูลจึงสอบถามต่อไปว่างานศพที่บ้านดอนเกษม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ พี่ผู้ใหญ่พัดบอกว่าเจ้าภาพเขาไม่สนใจไม่ให้ความร่วมมือ และยังมีการจัดเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดงานอีกด้วย และงานก่อนหน้านั้นก็ยังมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่เช่นเคย และเราได้เคยสอบถามพื้นที่อื่นที่ใช้นโยบายดังกล่าวส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเท่าที่ควร มีการจัดเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานเช่นเคย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเพราะหน่วยงานรับผิดชอบไม่ได้กำกับติดตามอย่างเข้มข้น

แนวคิดเรื่องความสมัครใจ ไอเดียสู่ความยั่งยืน : พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าการใช้นโยบายบังคับไม่ให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในงานบุญต่างๆ มักไม่ได้รับความร่วมมือ และไม่ได้ผลเท่าที่ควร ทางออกของปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างกระแสในชุมชนให้เห็นความสำคัญของโครงการ งานบุญที่จะปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เจ้าภาพจำเป็นต้องมีความพร้อม มีความตั้งใจ และสมัครใจเข้าร่วมโครงการงานบุญปลอดเหล้า อีกทั้งควรมีการประกาศเกียรติคุณยกย่องเชิดชูเกียรติแก่เจ้าภาพที่จัดงานบุญปลอดเหล้าฯ รวมถึงควรสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลสนับสนุนบ้างเล็กน้อย

พวกเราเห็นว่าการขับเคลื่อนแนวคิดการงดดื่มเหล้าในงานบุญต่างๆเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน และต้องเป็นมติร่วมกันทั้งตำบล พวกเราจึงเห็นชอบให้มีการประชุมระดมความคิดเพื่อจัดตั้งกองทุนงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา ขึ้น

เหล็กร้อนต้องรีบตี : เมื่อสุมไฟให้แรงเหล็กร้อนแดงให้เร่งตี บทบาทของนักสาธารณสุขอย่างผู้เขียนไม่รีรอที่จะประสานท่านถวิล ฉันวิจิตร (กำนันตำบลปาฝา ในขณะนั้น) ช่วยเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อน ผู้เขียนมีมุมมองส่วนตัวว่าผู้นำชุมชนฝ่ายท้องที่ซึ่งได้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คือพันธมิตรของนักสาธารณสุขชุมชนที่แนบแน่นเสมือนเพื่อนแท้ ผู้เขียนมีความสุขและอบอุ่นเสมอเมื่อร่วมงานกับฝ่ายท้องที่ ร่วมงานกันด้วยใจไม่ได้เกี่ยงว่ามีงบประมาณหรือไม่ ให้เกียรติหน่วยงานจากทุกกระทรวง ทบวงกรม ดังนั้นกลไกการขับเคลื่อนโครงการงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ)ตำบลปาฝา ในระยะแรกผู้เขียนจึงเน้นฝ่ายท้องที่เข้ามาเป็นแกนหลัก และประสานเชิญภาคีเครือข่ายอื่นในชุมชน ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นตัวแทนครูและผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำทางศาสนา เครือข่าย อสม. เข้ามาร่วมประชุมระดมความคิด รับทราบสถานการณ์ปัญหา และร่วมกันจัดตั้งกองทุนงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ)ตำบลปาฝา ดังนั้นภารกิจสำคัญของผู้เขียนก็คือ การค้นคว้าข้อมูลสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์นำเสนอต่อภาคีเครือข่าย ให้น่าสนใจ มองเห็นสภาพปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น

ประชาคมเวทีแรก :ในเดือนกันยายน 2555 เราเชิญทุกภาคส่วนร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนโครงการงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ)ตำบลปาฝา โดยเราได้รับความเมตาจาก พระครูสุตวิมลพระคุณเจ้าเจ้าคณะตำบลปาฝา เขต ๒ เป็นประธานที่ปรึกษา สมาชิกสภาจังหวัด(เขต อ.จังหาร) ประธานสภา อบต.ปาฝา นายก อบต.ปาฝา ผอ.โรงเรียนบ้านม่วงน้ำ และสาธารณสุขอำเภอจังหาร เป็นที่ปรึกษา และภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมประชุมอีกมากมายเช่น ครู กศน. นักพัฒนาชุมชน ตัวแทนครู ปลัด อบต. ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. อสม. ผู้เขียน และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ปาฝารวมทั้งสิ้น ๖๐ คน โดยท่านสาธารณสุขอำเภอ ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมฯ บรรยากาศในการประชุมนัดแรกนี้ เริ่มต้นที่ผู้เขียนได้นำเสนอภาพรวมสภาพปัญหาและสถานการณ์การการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน โดยมีประเด็นนำเสนอต่อที่ประชุม พอสังเขปดังนี้

1)การจัดงานบุญต่างๆในชุมชนมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยงานละประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท

2)งานบุญขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อย เกิดความวุ่นวายเนื่องจากคนเมาสุรา สร้างปัญหารบกวน

3)การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังเกิดผลกระทบต่างๆตามมาอีกมากมาย ได้แก่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เกิดผลกระทบด้านสุขภาพ เช่นปัญหาโรคมะเร็งตับ โรคกระเพราะและลำไส้ เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เช่นสิ้นเปลือง ขาดรายได้ เป็นต้น เกิดผลกระทบด้านสังคม เช่นการดื่มเหล้ามักนำสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เกิดเหตุทะเลาะเบาะแว้ง ผิดศีลธรรม เป็นต้น

จึงเป็นโจทย์ให้พวกเราร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรงานบุญต่างๆในชุมชนของเราจึงจะปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างยั่งยืน ที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันว่าต้องเกิดจากความสมัครใจของเจ้าภาพ โครงการงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ)ตำบลปาฝา จึงน่าจะตอบโจทย์ในเรื่องนี้ดีที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันคือ

  • เพื่อลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญต่างๆในชุมชน
  • เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดงานบุญต่างๆในชุมชน
  • เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระแก่เจ้าภาพที่จัดงานบุญต่างๆในชุมชน
  • เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่เจ้าภาพงานบุญที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ
  • เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เพื่อให้การจัดงานบุญเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท

จากนั้นจึงมีการระดมความคิดร่วมกันกำหนดระเบียบกองทุนงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา ฉบับแรกขึ้น พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนงานบุญปลอดเหล้า (ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา ชุดที่ 1 (ปีงบประมาณ ๒๕๕๖-2557) โดยมีการแบ่งโครงสร้างคณะกรรมการ ออกเป็น ๓ คณะ ดังนี้

๑) คณะกรรมการที่ปรึกษา ๕ คน ๒) คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ๒๕ คน
๓) คณะกรรมการดำเนินงานกองทุนฯ(คณะทำงาน) จำนวน ๑๓ คน

หลักเกณฑ์ ขั้นตอนการสมัครเข้าร่วมโครงการงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ)ตำบลปาฝา

  • งานบุญที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการต้องเป็นงานศพ งานบุญกฐิน งานอุปสมบท งานทำบุญอุทิศ งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรืองานแต่งงาน และจัดขึ้นในพื้นที่ตำบลปาฝาเท่านั้น
  • เจ้าภาพงานบุญที่จะเข้าร่วมโครงการ ต้องยื่นคำร้องแสดงเจตจำนงเข้าร่วมโครงการ
  • กรรมการตรวจสอบข้อมูลและรับสมัคร พร้อมชี้แจง กติกา ให้เจ้าภาพรับทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
  • คณะกรรมการกองทุนฯ มอบป้ายประชาสัมพันธ์งานบุญปลอดเหล้า สำหรับติดในบริเวณงานบุญ 4 แผ่น
  • คณะกรรมการออกสุ่มตรวจประเมิน โดยสงวนสิทธิ์ไม่แจ้งให้เจ้าภาพทราบล่วงหน้า
  • หากคณะกรรมการรับรองให้งานบุญผ่านการประเมิน ก็จะมีการมอบเงินสนับสนุนค่าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ จำนวน ๑,๐๐๐ บาทต่องาน และมอบประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติแก่เจ้าภาพอีกด้วย
    • กองทุนสวัสดิการชุมชน 5,000 บาท
    • เงินสวัสดิการรพ.สต.ปาฝา 2,000 บาท
    • งบผ้าป่าสามัคคีพัฒนา รพ.สต.ปาฝา ๑๐,000 บาท
    • กองทุนสวัสดิการชุมชน 5,000 บาท
    • เงินบริจาค (คุณพ่อกฤษณัย กุดโอภาส) 2,000 บาท
    • จัดผ้าป่ากองทุนงานบุญปลอดเหล้า (ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา 31,000 บาท
    • กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลปา ๑๕,๕๒๕ บาท
    • สจ.อาคม เฉลิมแสน สนับสนุนเสื้อฟอร์มคณะกรรมการกองทุนฯ ๑๐,๐๐๐ บาท
    • จัดผ้าป่ากองทุนงานบุญปลอดเหล้า (ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา 30,958 บาท
    • จัดผ้าป่ากองทุนงานบุญปลอดเหล้า (ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา ๒๒,๒๕๐ บาท

การระดมทุนจัดตั้งกองทุนงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา

ปี ๒๕๕๖ เริ่มก่อตั้งกองทุนได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นเงิน ๑๗,๐๐๐ บาท ดังนี้

ปี ๒๕๕๗ ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นเงิน ๖๓,๕๒๕ บาท ดังนี้

  • ปี ๒๕๕๘ ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ เป็นเงิน 5๓,208 บาท ดังนี้

ผลการดำเนินงานกองทุนงานบุญปลอดเหล้า(ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา

  • ปีงบประมาณ ๒๕๕๖ มีเจ้าภาพสมัครเข้าร่วมโครงการ ๑๖ ราย ผ่านการประเมิน ๑๔ ราย
  • ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ มีเจ้าภาพสมัครเข้าร่วมโครงการ ๓๐ ราย ผ่านการประเมิน ๒๘ ราย
  • ปีงบประมาณ ๒๕๕๗ (1 ตุลาคม 2557- 30 เมย.58) มีเจ้าภาพสมัครเข้าร่วมโครงการ 14ราย ผ่านการประเมิน ๒๘ ราย
  • เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของชุมชน โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินงานโครงการคาดว่าเจ้าภาพงานบุญ ทั้ง ๔๒ งาน ได้ประหยัดเงินค่าใช้จ่ายในการจัดงานบุญไปได้ร่วมหนึ่งล้านบาท

5)เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพของทุกภาคส่วนในชุมชน ๕) ประชาชนมีความพึงพอใจโครงการ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ : โดยสรุปโครงการงานบุญปลอดเหล้า (ภาคสมัครใจ) ตำบลปาฝา สามารถทำให้ประชาชนตำบลปาฝา ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญต่างๆ ช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจัดงานบุญ อีกทั้งโครงการนี้ยังได้ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระแก่เจ้าภาพที่จัดงานบุญอีกด้วย ถือเป็นการสร้างต้นแบบที่ดีของชุมชน และช่วยให้การจัดกิจกรรมงานบุญในชุมชนเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งประเด็นสำคัญที่เป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จ มี 2 ประการหลักๆคือ “ความสมัครใจ” หมายถึง การที่เจ้าภาพงานบุญต่างๆมีความตั้งใจ และเจตนาที่จะทำให้งานบุญของพวกเขาเกิดความเรียบร้อย ประหยัดค่าใช้จ่าย และที่สำคัญได้รับอานิสงส์จากงานบุญที่พวกเขาจัดขึ้น เป็นเครื่องยืนยันว่าเจ้าภาพและญาติมีความสมัครใจเข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว ส่วนคณะกรรมการตรวจประเมินนั้นเป็นเพียงเครื่องมือการันตีและยืนยันให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น และปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จอีกประการหนึ่ง คือ “ความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายต่างๆในชุมชน” กล่าวคือโครงการนี้เกิดขึ้นจากความต้องการเห็นสังคมดีงามของกลุ่มผู้นำชุมชนและเครือข่ายต่างๆ จึงเกิดการมีส่วนแก้ไขปัญหาของชุมชนตั้งแต่กระบวนการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล เป็นการร่วมมือกันของหลายภาคส่วนที่ไม่ได้เอางบประมาณเป็นตัวตั้งหากแต่เอาหัวใจและการประสานงานแนวราบขับเคลื่อนโครงการซึ่งจะเห็นได้จาก การร่วมกันเป็นกรรมการ การระดมงบประมาณ การร่วมกันขับเคลื่อนโครงการเป็นต้น

ข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการต่อไป

1.เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโครงการ เจ้าภาพสมัครใจเข้าร่วมโครงการโดยความตั้งใจอย่างแท้จริง การดำเนินงานโครงการในระยะต่อไป อาจมีการตัดเงินสนับสนุนเงินค่าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ๑,๐๐๐ บาทแก่เจ้าภาพออกไป แต่อาจปรับเปลี่ยนเป็นการให้เจ้าภาพร่วมจ่ายค่าตอบแทนแก่คณะกรรมการตรวจประเมิน แต่ในส่วนของประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติควรมีไว้เช่นเดิม

2.เพิ่มความเข้มข้นในการประชาสัมพันธ์เชิดชูเกียรติคุณแก่เจ้าภาพที่เป็นแบบอย่างที่ดีของชุมชนในหลายๆเวที เพื่อให้เป็นกระแสนิยมให้เกิดความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ

1 ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลปาฝา , สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต(การจัดการระบบสุขภาพ)


หมายเลขบันทึก: 619096เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2016 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2016 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท