ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว The Lime Blue


ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว The Lime Blue

เป็นผีเสื้อกลางวันที่มีชื่อคล้ายกันกับ ผีเสื้อหนอนมะนาว The lime butterfly เป็นหนอนที่กินใบพืชตระกูลส้ม เช่น มะนาว มะกรูด เหมือนกัน สิ่งที่แตกต่างกันคือ ขนาด รูปร่าง สีสัน ของไข่ หนอน และตัวผีเสื้อ


ลุงชาติพบว่ามีผีเสื้อมาวางไข่ไว้ที่ยอดอ่อนของมะนาวและมะกรูด มีไข่อยู่หลายฟองเหมือนกัน





อีกสองวันต่อมา หนอนตัวน้อยก็ออกมาจากไข่ หนอนในระยะแรกที่ออกจากไข่ ตัวจะมีสีเขียวอ่อนค่อนข้างไปทางสีเหลือง แล้วจะค่อยๆมีสีเขียวเข้มขึ้นทีละนิดไปตามอายุ เป็นหนอนตัวเล็กมาก ในภาพนี้หนอนมีขนาดยาวเพียงแค่ประมาณ 2 มิลลิเมตรเท่านั้น การถ่ายภาพชุดนี้ต้องใช้วิธีถ่ายภาพแบบมาโคร ใช้กำลังในการขยายภาพสูงมาก เพื่อให้เห็นหนอนตัวโตขึ้น การถ่ายภาพจึงต้องเน้นในเรื่องการโฟกัสภาพอย่างมาก เล็งผิดพลาดนิดเดียว ภาพจะหลุดโฟกัสไปเลย





หนอนจิ๋วตัวทางด้านซ้าย มีขนาดโตขึ้นอีกนิด ตอนนี้ตัวยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ในภาพเป็นตอนกำลังยืดตัวไปกัดกินใบมะนาว จึงดูเหมือนว่าตัวยาว ส่วนหนอนตัวทางด้านขวา(ก็คือตัวเดียวกันแต่ถ่ายคนละวัน) มีอายุมากกว่าตัวทางด้านซ้ายอยู่หนึ่งวัน ตัวยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร เป็นช่วงที่นอนพักอยู่ตามปกติ ไม่ได้ยืดตัว จึงดูเหมือนตัวจะสั้น ที่จริงแล้วตัวยาวกว่าตัวทางซ้าย





ตอนนี้เจ้าหนอนมีอายุได้ 4 วัน และ 5 วัน ตัวยาวขึ้นเป็นประมาณ 6 มิลลิเมตร นับว่าเป็นหนอนผีเสื้อที่ตัวเล็กมากๆเท่าที่เคยถ่ายภาพมาเลย มิหนำซ้ำ เฝ้าคอยที่จะถ่ายให้เห็นส่วนหัว ส่วนปากได้ยากมาก เพราะเวลาหนอนคว่ำ ส่วนหัวจะถูกบังจนมองไม่เห็น ต้องรอให้ได้จังหวะตอนที่หนอนเอียงตัว หรือตะแคงตัวกัดกินอาหาร





วันนี้หนอนมีอายุได้ 6 วัน มันเริ่มหยุดกินอาหารแล้ว มันเดินไปทั่วเพื่อสำรวจหาที่เหมาะๆที่จะใช้เป็นที่เข้าระยะดักแด้ เมื่อเลือกที่ได้ มันก็เริ่มสร้างใยเส้นเล็กๆ ยึดติดที่ใบมะนาว ครั้งแรกมันสร้างใยยึดที่บริเวณใกล้ๆก้านใบ แล้วจึงหันตัวเอง เอาส่วนก้นไปยึดติดกับใยนั้นไว้





กระบวนการเข้าระยะดักแด้ของหนอนผีเสื้อนั้น ใช้ระยะเวลาในการทำงานและเปลี่ยนแปลงร่างกายไปอย่างช้าๆ กินเวลาข้ามวัน จนหนอนมีอายุได้ 7 วัน มันจึงเสร็จสิ้นการสร้างเส้นใยเพื่อยึดร่างกายของมันให้ติดอยู่กับใบมะนาว และร่างกายของหนอนก็ดูเหมือนหยุดนิ่ง แต่ที่จริง ร่างกายของมันเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ผิวภายนอกค่อยๆเปลี่ยนรูปร่างไป





เมื่อเวลาผ่านไปมากขึ้น หนอนผีเสื้อก็กลายเป็นดักแด้อย่างสมบูรณ์ หนอนตัวนี้เลือกเข้าดักแด้อยู่ใต้ใบ ไข่สีเหลืองที่อยู่ใกล้ๆนั้น เป็นไข่ของผีเสื้อหนอนมะนาว เป็นผีเสื้อต่างชนิดกันกับดักแด้ตัวนี้





มีหนอนผีเสื้ออีกหลายตัวที่เข้าดักแด้อยู่ต่างที่ต่างใบกัน แล้วแต่ว่าหนอนจะเลือกเองว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหน มีตัวนี้ที่แปลกกว่าเพื่อน มาเข้าดักแด้อยู่บนดิน จะว่าตกลงมาก็คงเป็นไปได้ยาก หาร่องรอยไม่เจออะไร คงต้องเฝ้าดูกันต่อไป ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่าที่ผิวดินนั้น ยังมีแมลงตัวเล็กๆจิ๋วๆหากินอยู่บนผิวดินอีกมากมายทีเดียว ถ้าไม่ได้ถ่ายภาพด้วยวิธีมาโคร หรือไม่สังเกตดีๆ คงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแน่ๆ





ภาพนี้เปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงร่างกาย จากตัวหนอนกลายมาเป็นดักแด้ ภาพทางซ้ายเป็นช่วงเริ่มต้นที่หนอนเริ่มชักใยออกมายึดติดกับใบมะนาว ส่วนภาพทางขวา เป็นช่วงที่หนอนกลายมาเป็นดักแด้แล้ว กระบวนการนี้ใช้เวลาเปลี่ยนแปลงร่างกายอย่างช้าๆ และใช้เวลาไปถึง 1 วันเต็มๆ (24 ชั่วโมง)





หนอนผีเสื้อเป็นดักแด้มาได้ 5 วัน สีของดักแด้ก็เปลี่ยนไปแล้ว เริ่มเห็นร่องรอยของลำตัวและปีกชัดเจนขึ้น ใกล้เวลาที่ดักแด้จะกลายเป็นตัวผีเสื้อเข้ามาแล้ว





ดักแด้มีอายุได้ 6 วัน เมื่อร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนได้ระยะเวลาที่จะออกมาเป็นตัวผีเสื้อ ภาพนี้เป็นวินาทีแรกที่ผีเสื้อได้ออกมาจากเปลือกดักแด้ โดยเปลือกโครงดักแด้ตรงส่วนหัวปริแยกออก ผีเสื้อก็โผล่หัวออกมาและได้คลานออกมาภายนอกโครงดักแด้ แล้วมันก็เริ่มออกเดินเพื่อหาที่เกาะเพื่อทำการขยายปีก





เมื่อหลุดออกมาจากเปลือกดักแด้แล้ว เจ้าผีเสื้อก็เดินเพื่อหาที่เกาะ ในขณะที่มันเดิน ปีกก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดเจนว่าปีกบนมีสีเหลือบๆเป็นสีฟ้า





ผีเสื้อเดินมาจนได้ที่เกาะ ตอนนี้มันจะเกาะอยู่เฉยๆนิ่งๆ จะขยับปีกบ้างเป็นบางครั้ง และบางช่วงก็จะขับถ่ายของเสียออกมาเป็นน้ำ ส่วนใหญ่ผีเสื้อจะออกจากดักแด้ในช่วงดึกๆก่อนสว่าง มันจะเกาะนิ่งอยู่อย่างนี้เพื่อรอเวลาให้ร่างกายสูบฉีดจนปีกแข็งแรงดี และรอจนสว่าง มันเป็นผีเสื้อที่หากินตอนกลางวัน ฟ้าสว่างเมื่อไร ผีเสื้อตัวนี้ก็จะได้บินไปในธรรมชาติตามวิถีชีวิตของมัน ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว





ดักแด้ตัวนี้ก็มีอายุได้ 6 วันเหมือนกัน เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจนได้เวลาที่พอเหมาะ เจ้าผีเสื้อก็ได้ออกมาจากเปลือกดักแด้ในตอนตีสอง พอออกมา มันก็เกาะอยู่ที่ใบมะกรูดเหนือคราบดักแด้นั้น





เจ้าผีเสื้อตัวนี้มันเกาะอยู่เฉยๆนิ่งๆบนใบมะกรูด มันจะขยับปีกบ้างเป็นบางครั้ง เมื่อกางปีกออกกว้างสุด จะมีขนาด ( Wingspan) 20-30 มม. และบางช่วงมันก็จะขับถ่ายของเสียออกมาเป็นน้ำ ดังที่เห็นเป็นคราบอยู่บนใบมะกรูดตรงส่วนก้นของผีเสื้อ เพราะตอนที่มันเป็นดักแด้อยู่ มันจะไม่ได้ขับถ่ายเลย





คืนนี้เจ้าผีเสื้อตัวนี้ก็คงจะเกาะพักอยู่อย่างนี้ รอให้ปีกแข็งแรง รอเวลาสว่าง มันเป็นผีเสื้อที่หากินตอนกลางวัน ฟ้าสว่างเมื่อไร ผีเสื้อตัวนี้ก็จะได้บินไปในธรรมชาติตามวิถีชีวิตของมัน ตามเจ้าตัวอื่นๆในกลุ่มของมัน ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว





สำหรับดักแด้ตัวนี้ เป็นตัวเดียวในหลายๆตัวที่ติดตามถ่ายภาพ ที่เหมาะสมที่สุดที่จะถ่ายภาพต่อเนื่องให้เห็นว่าผีเสื้อออกจากคราบดักแด้อย่างไร เพราะตัวนี้สามารถมองเห็นส่วนสำคัญๆทั้งหมด คว่ำอยู่ด้านบนของใบไม้ด้วย ไม่ต้องมุดไม่ต้องนอนหงายนอนตะแคงถ่ายภาพ ตั้งปลุกมาถ่ายตั้งแต่ตีสี่ ถ่ายต่อเนื่องมาจนถึงภาพนี้(ภาพทางซ้าย) ผมมั่นใจแล้วว่าอีกไม่เกิน 10 หรือ 15 นาที ผีเสื้อจะออกมาแน่นอน อากาศทั้งร้อน ทั้งยุงกวน หิวน้ำ เดินเข้าไปหยิบขวดน้ำในตู้เย็น แล้วเดินถือน้ำออกมา พอมาถึงกล้อง หมดแรงเลย เพราะสิ่งที่เห็นเป็นดังภาพทางขวา ผีเสื้อออกมาห้อยอยู่ข้างๆคราบดักแด้ซะแล้ว เลยอดได้ภาพที่ค่อยๆคลานโผล่หัวออกมา...วัยรุ่นเซ็งงงงงง





ไม่ได้ภาพที่ตั้งใจก็ไม่เป็นไร เฝ้าติดตามดูต่อไป ผีเสื้อตัวนี้เกาะห้อยอยู่สักพัก ก็เดินใต่ขึ้นไปที่ยอดมะกรูด แล้วก็เกาะนิ่งอยู่ตรงนั้น พฤติกรรมก็เหมือนกันกับตัวอื่นๆทั่วไป มันเกาะนิ่งอยู่อย่างนี้เพื่อรอเวลาให้ร่างกายสูบฉีดจนปีกแข็งแรงดี และรอจนสว่าง ฟ้าสว่างเมื่อไร ผีเสื้อตัวนี้ก็จะได้บินไปในธรรมชาติตามวิถีชีวิตของมัน ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว





ดักแด้ตัวนี้ก็เป็นอีกตัวที่พยายามจะถ่ายให้ได้ภาพตอนที่ผีเสื้อเริ่มต้นออกจากคราบดักแด้ แต่ก็พลาดไป ไม่ได้ภาพนั้น ได้แต่คราบดักแด้เปล่าๆ ฮี่ๆๆ ปลอบใจตัวเองว่า ถ่ายติดวิญญาณอย่างสวยเลย ฮ่าๆ ตอนตีสี่กว่าๆ งัวเงียดีจัง แล้วตัวผีเสื้อไปอยู่ไหน..





เจ้าผีเสื้อมาเกาะอยู่ที่ไม้ที่ใช้ปักค้ำกิ่งมะนาวเอาไว้ พฤติกรรมโดยทั่วไปก็เหมือนๆกันกับตัวอื่น รอเวลาให้ร่างกายสูบฉีดจนปีกแข็งแรง





เมื่อฟ้าเริ่มสว่าง

ดวงอาทิตย์เริ่มฉายแสง

บรรดาเหล่าผีเสื้อก็เริ่มคึกคัก

ต่างขยับเนื้อขยับตัว





บางตัวขยับปากขยับหนวด เตรียมตัวทำมาหากิน ตอนที่เป็นตัวหนอน มันมีปากเป็นชนิด ปากกัด สำหรับกัดกินใบไม้ แต่พอร่างกายเปลี่ยนมาเป็นผีเสื้อ ปากของผีเสื้อได้เปลี่ยนมาเป็นชนิด ปากดูด สำหรับดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้ ผีเสื้อบางตัวก็ขยับร่างกายออกมารับแสงแดด เตรียมบินออกไปสู่ธรรมชาติ





เมื่อปีกแข็งแรง ร่างกายพร้อม เหล่าผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาวก็โบยบินออกไปสู่ธรรมชาติ ตามวิถีชีวิตที่ควรจะเป็น เมื่อครั้งที่มีร่างกายเป็นตัวหนอน อาหารของมันคือใบพืชตระกูลส้ม ครั้นพอเปลี่ยนมาเป็นผีเสื้อ อาหารก็เปลี่ยนไป มันกินน้ำหวานจากดอกไม้เป็นอาหาร ธรรมชาติช่างสวยงามและน่าทึ่งจริงๆ





ผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาว ออกมาหากิน

ใช้ชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้สักระยะหนึ่ง

ก็ถึงวัยเจริญพันธุ์

ผีเสื้อก็จะจับคู่ ผสมพันธุ์กัน





วงจรชีวิตของผีเสื้อฟ้าหนอนมะนาวนั้น หลังจากที่ผสมพันธุ์กันเสร็จแล้ว ตัวผู้ก็จะตายจากไป ส่วนตัวเมียยังมีชีวิตอยู่ เพื่อรอให้เชื้อเจริญเติบโต และเมื่อถึงเวลา ตัวเมียก็จะวางไข่ไว้ที่ใบไม้ที่จะให้ลูก(หนอน)กินเป็นอาหาร เมื่อวางไข่เสร็จผีเสื้อตัวเมียก็จะตายจากไป วงจรชีวิตก็เริ่มต้นใหม่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวหนอน หนอนกินอาหารสะสมพลังงานจนเข้าสู่ระยะดักแด้ จนเจริญเติบโตออกจากดักแด้เป็นผีเสื้อตัวเต็มวัย แล้วผสมพันธุ์กันเริ่มวงจรชีวิตใหม่





ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจที่ดีเสมอมา

ขอบคุณ gotoknow

ที่ให้พื้นที่ในการแบ่งปันความสุข

ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 618594เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2016 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2016 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวยมาก ๆ ค่ะ ขำคุณลุง .... วัยรุ่นเซ็ง รุ่นหนายยยยย

@ ธนิตย์ สุวรรณเจริญ

  • ภาพสวยจัง..
  • ขอบคุณความรู้ครับ


  • สวัสดีครับคุณ ธนิตย์ สุวรรณเจริญ
    ขอขอบคุณสำหรับคำชม
    ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนกันนะครับ




    @ ธิ

    สวยมาก ๆ ค่ะ ขำคุณลุง .... วัยรุ่นเซ็ง รุ่นหนายยยยย


    สวัสดีครับคุณหมอ
    ขอขอบคุณสำหรับคำชมครับ
    ฮ่าๆ...โดนคุณหมอแซว
    ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนกันนะครับคุณหมอ


    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท