ชุมชนงิ้วรายกับความทรงจำร่วมช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ในบทความ รศ.จารุวรรณ ขำเพชร (ฉบับย่อ)


บทความเรื่องนี้ รศ.จารุวรรณ ขำเพชร ได้นำเสนอเรื่องเล่า และประสบการณ์ความทรงจำของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนงิ้วราย ที่เป็นชุมชนริมแม่น้ำนครชัยศรี อยู่ที่ตำบลงิ้วราย หรือชื่อเดิมคือตำบลท่าเรือ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน 2 ประเด็น คือ ความทรงจำเรื่องเศรษฐกิจของพื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองอย่างมากของตลาดงิ้วราย และความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่เกี่ยวกับสถานีรถไฟ สัญญานเตือนภัย การหลบภัย การระเบิดสะพานเสาวภา

บทความเรื่องนี้ได้ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนให้มีความกระชับ จากบทความของ รศ.จารุวรรณ ขำเพชร ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชนงิ้วรายในอดีตยุคเจริญรุ่งเรืองได้อย่างละเอียด ในการนำเสนอครั้งนี้เป็นบทความที่ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนให้มีความกระชับ (หนังสืออีกเล่มที่กล่าวถึงชุมชนงิ้วรายในอดีตคือมังกรพลัดถิ่น ของ ช.ศรีงิ้วราย) หากต้องการอ่านบทความต้นฉบับสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOS/article/v...

หรือเปิดดูต้นฉบับบทความ ngiurai_swu_4778-15628-1-PB.pdf

พื้นที่และความทรงจำร่วมเกี่ยวกับสงครามโลก ครั้งที่ 2 ของชุมชนงิ้วราย

The Space and Social Memory of Ngew-Rai Community about the World War II

จารุวรรณ ขำเพชร, รองศาสตราจารย์ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ที่มา:วารสารสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่17 ฉบับเดือนมกราคม-ธันวาคม 2557. หน้า261-273. (http://ejournals.swu.ac.th/index.php/JOS/article/viewFile/4778/4587)

บทคัดย่อ

บทความเรื่องนี้ นำเสนอเรื่องเล่า และประสบการณ์ความทรงจำของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนงิ้วราย ที่เป็นชุมชนริมแม่น้ำนครชัยศรี อยู่ที่ตำบลงิ้วราย หรือชื่อเดิมคือตำบลท่าเรือ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน 2 ประเด็น คือ ความทรงจำเรื่องเศรษฐกิจของพื้นที่ที่เคยรุ่งเรืองอย่างมากของตลาดงิ้วราย และความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่เกี่ยวกับสถานีรถไฟ สัญญานเตือนภัย การหลบภัย การระเบิดสะพานเสาวภา จากความทรงจำที่สัมพันธ์กับพื้นที่ดังกล่าว พบว่า ทั้งความทรงจำ และประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์กันความทรงจำเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ส่วนประวัติศาสตร์ คือ การฟื้นภาพหวนคิดในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตการฟื้นคืนของความทรงจำ คือ การค้นหาบางสิ่งในอดีตดังที่ชุมชนงิ้วรายได้ร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์ช่วงหนึ่งของสงครามโลก ครั้งที่ 2

คำสำคัญ:พื้นที่และความทรงจำ,สงครามโลก ครั้งที่ 2 ,งิ้วราย, นครชัยศรี

Abstract

This article presents narrates memories and experiences of peopleliving in the Ngew-Rai Community, located at Ngew Rai Sub-district which was formerly called Ta-Rua Sub-district. During the Second World War, this area was use dasa center for armament transportation to Kanchanaburi Province.The article presents memories of the villagerson two issues. The first is sueis the memories on the community’secono my which was prosperous in the past, as Ngew-Rai was an important center for trade sandtransportations.The second issue is the memory on the Second World War regarding trainstations,alarmingsignals,and Saowapa Bridge explosion.It was revealed that the informants’memories and the community’s history are relevant. Memories are situations truly happened, while histories arer ecalled image soft hepast.There covery of memories is to look for something in the past as the people of Ngew-Rai community together recalled theevents during the Second World War.

Keywords: space and memory, World War II, Ngew-Rai Community, Nakhon-Chai Sri

สถานีรถไฟวัดงิ้วราย ในอดีตเป็นสถานีที่คึกคัก มีผู้ขึ้นเรือเพื่อต่อรถไฟไปกรุงเทพฯหรือลงภาคใต้กันมาก


บทนำ

บทความเรื่องพื้นที่และความทรงจำร่วมเกี่ยวกับสงครามโลก ครั้งที่ 2 ของชุมชนงิ้วรายนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเสนอประวัติศาสตร์ของความทรงจำของคนในพื้นที่ชุมชนงิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์สงครามโลก ครั้งที่ 2 ในครั้งที่ทหารต่างชาติทั้งญี่ปุ่นและทหารจากฝ่ายสัมพันธมิตรใช้พื้นที่งิ้วรายเป็นทางผ่านในการลำเลียงกำลังพลอาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารไปสู่จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว ทั้งนี้บทความมิได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อรื้อฟื้นเรื่องเล่าแห่งความทรงจำที่เจ็บปวดของผู้คนแต่ละชาติแต่ละภาษาเกี่ยวกับสงคราม แม้จะมีข้อความบอกเล่าบางประการที่อ้างถึงสงครามก็ตามการนำเสนอจะเรียงลำดับจากชุมชนในอดีตไปสู่ชุมชนในปัจจุบัน และสุดท้ายเป็นเรื่องความทรงจำของผู้คนในชุมชนเกี่ยวกับสงครามโลก ครั้งที่ 2 ที่สัมพันธ์กับพื้นที่ในชุมชน

ชุมชนตำบลงิ้วรายเป็นชุมชนเก่า ตั้งอยู่ในอำเภอนครชัยศรี จากที่ตั้งของนครชัยศรีเป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ริมแม่น้ำ และมีคูคลองที่เชื่อมต่อการค้าขายไปยังแหล่งชุมชนอื่น การมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำนี่เองที่เชื่อมต่อนครชัยศรีเข้ากับชุมชนอื่นมาแต่โบราณส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจการค้า(ธิดา สาระยา,2545:4-8 จากการศึกษาข้อมูลของเดวิด บรูซ จอห์นสตัน(2530) ที่ศึกษาเรื่องสังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ.2423-2473 ได้อธิบายถึงข้อเขียนของปาลเลอกัวซ์ ว่าเขามีความประทับใจกับการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมที่นครชัยศรี ว่ามีโรงงานน้ำตาลกว่า 20 โรง และคนงานราว 200-300 คน และโรงงานน้ำตาลส่งผลให้มีการขุดคลองภาษีเจริญและคลองดำเนินสะดวกทางตะวันตกของกรุงเทพ แต่ธุรกิจโรงงานน้ำตาลพลิกผันด้วยความคาดการณ์ที่ผิดพลาดและปัจจัยธรรมชาติที่คาดไม่ถึงทำให้การพัฒนาหันเหจากอุตสาหกรรมน้ำตาลมาเป็นโรงสีข้าว นับจากการตกต่ำของภาวะเศรษฐกิจลงมาในทศวรรษ 2413 และข้าวกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการลงทุนมากกว่า โรงสีข้าวในชุมชนงิ้วรายยังคงปรากฏหลักฐานให้เห็นเพียงปล่องโรงสีเท่านั้น โรงสีข้าวมีขั้นตอนนึ่งตากและสีเพื่อส่งออกไปต่างประเทศธุรกิจค้าข้าวการทำโรงสีข้าวส่งผลให้มีการขุดคลองทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ดังข้อมูลที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้ขุดคลองโดยใช้แรงงานจีนขุดคลองจากคลองบางกรวยไปออกแม่น้ำนครชัยศรีที่ตำบลงิ้วราย ขุดเสร็จเมื่อพ.ศ.2403 เดิมเรียกว่า“คลองวัดไชยพฤกษ์”หรือคลองขุดบางขวาง ต่อมาในปีพ.ศ.2405 รัชกาลที่ 4 ทรงออกประกาศพระราชทานนามใหม่ว่า“คลองมหาสวัสดิ์”(วิชญดา ทองแดง,2555:34) ในปัจจุบันตำบลงิ้วรายมีพื้นที่ทั้งหมด7.67ตารางกิโลเมตร แต่เดิมชื่อว่าตำบลท่าเรือ แต่เปลี่ยนมาเป็นตำบลงิ้วรายเพื่อให้ตรงกับชื่อวัดงิ้วรายที่มีต้นงิ้วเรียงรายขึ้นอยู่จำนวนมากในวัดงิ้วราย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี งิ้วรายที่เอ่ยถึงในบทความนี้จะมีความหมายถึงหมู่ที่ 3 ที่เรียกว่าบ้านกลาง เพราะเป็นแหล่งรวมความเติบโตทางเศรษฐกิจมาแต่อดีตสภาพของหมู่ที่ 3 จะมีตลาดเป็นห้องแถวไม้เรียงยาวไปจนจรดแม่น้ำนครชัยศรีหรือท่าเทียบเรือการขนส่งในสมัยก่อน และอีกด้านของตลาด คือ สถานีรถไฟงิ้วรายซึ่งทั้ง 2 สถานที่ล้วนมีผลต่อความทรงจำของผู้คนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเส้นทางคมนาคมลำเลียงทหาร และอาหารไปสู่ค่ายทหารที่จังหวัดกาญจนบุรี ภายในพื้นที่ตำบลงิ้วรายยังมีการระลึกถึงความทรงจำ โดยมีบ้านของผู้ชื่นชอบของโบราณได้รวบรวมสิ่งของมีค่าในอดีตที่เกี่ยวกับพื้นที่ เช่น ตั๋วรถไฟ รูปภาพเก่าของตลาด ภาพเรือในแม่น้ำ เป็นต้น พื้นที่และความทรงจำร่วมของชุมชนงิ้วรายความทรงจำ คือ สิ่งที่สะท้อนถึงเหตุการณ์ในอดีต เป็นการย้อนหวนคืนถึงการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยความรุ่งเรืองของชุมชนงิ้วรายได้ช่วยเผยความทรงจำของผู้คนที่เกี่ยวกับพื้นที่ต่างเรื่องราวต่างเวลากัน โดยการนำเสนอนี้ จะกล่าวถึงความทรงจำในเรื่องเศรษฐกิจที่เจริญถึงขีดสุดของชุมชน เมื่อครั้งยังมีท่าเรือเพื่อใช้สัญจรนับแต่พ.ศ.2485 และมาต่อรถไฟ โดยประกอบไปด้วยความทรงจำเรื่องโรงฝิ่น โรงนึ่งปลาทู ตลาด บริษัทการเดินเรือ กระทั่งตลาดเริ่มซบเซาในปีพ.ศ. 2510 อีกประการหนึ่งคือความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.248 2เรื่อยมาถึงพ.ศ. 2488 ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรวางระเบิดสะพานเสาวภาและทหารญี่ปุ่นที่ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นทางผ่านไปยังกาญจนบุรี แม้ทั้ง 2 เรื่องจะมีช่วงระยะเวลาที่ต่างกัน แต่เป็นสิ่งที่คนในชุมชนงิ้วรายระลึกถึงได้อย่างแจ่มชัด

1.เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของชุมชน

1.1ตลาดงิ้วรายตลาดงิ้วรายเติบโตอย่างมาก มีความเป็นมาหลังจากสงครามสิ้นสุดลงในปีพ.ศ.2488 ทหารญี่ปุ่นถูกควบคุมตัว และส่งกลับประเทศ และมีคำบอกเล่าว่ามีสิ่งของรวมทั้งทรัพย์สินที่ทหารญี่ปุ่นทิ้งไว้มากมาย ทั้งเครื่องแต่งกาย มุ้ง และจากคำบอกเล่า คือ หีบใส่เงิน หีบใส่เงินจะมีจริงหรือไม่ แต่การพูดคุยกับทายาทตลาดและทายาทผู้ก่อตั้งบริษัทเดินเรือ ให้ข้อมูลว่าหีบเงินมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเจริญให้ตลาดงิ้วราย เกิดเป็นบริษัทเรือเมล์สุพรรณขนส่ง และทำให้ตลาดงิ้วรายมีความคึกคักเป็นอย่างมาก ความคึกคักของตลาดงิ้วรายมีความสืบเนื่องจากการเป็นชุมทางในการค้าขายการขนส่งสินค้า และการเดินทางการเดินทางไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อครั้งนั้นยังไม่มีรถโดยสารหรือเส้นทางคมนาคมทางบก ผู้คนต้องนั่งเรือมาตามลำน้ำนครชัยศรี และสิ้นสุดการเดินทางที่ชุมชนแห่งนี้ และจึงเดินทางต่อด้วยรถไฟไปยังสถานที่เป้าหมายของตน ไม่ว่าจะเข้าไปพระนคร สิ้นสุดการเดินทางโดยทางรถไฟลงสถานีบางกอกน้อย หรือการเดินทางไปสุพรรณบุรีการ เป็นชุมทางในการขนส่งสินค้าโดยสินค้าที่ต้องการขนถ่ายจากภาคใต้ที่มากับรถไฟไปยังสมุทรสาคร ต้องมาลงเรือต่อที่นี้ หรือสินค้าจากสมุทรสาครประเภทเกลือ ปลาเค็ม กะปิ น้ำปลา ก็ต้องมาลงที่นี้ เพื่อกระจายไปยังสุพรรณบุรี อยุธยา นครปฐม ท่าเตียน พระนครต่อไป การคมนาคมเมื่อก่อนจะไปสุพรรณบุรี อยุธยา จะไปทางใต้ หรือขึ้นไปบางกอก ท่าเตียน จะต้องใช้ชุมทางงิ้วรายเป็นที่ต่อรถไฟและต่อเรือทั้งสิ้น รถไฟจะออกจากสถานีงิ้วรายได้ต้องรอเรือให้มาถึงก่อน จึงจะสามารถเดินขบวนได้ เนื่องจากผู้โดยสารเดินทางด้วยเรือและมาต่อรถไฟเพื่อไปกรุงเทพฯและผู้ที่เดินทางมาด้วยรถไฟมาขึ้นเรือเพื่อเดินทางไปจังหวัดอื่น การเป็นชุมทางการค้าและศูนย์กลางการเดินทางทำให้การค้าขายในตลาดเติบโตมากกว่าการค้าในชุมชน นอกจากคนจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในตลาดค้าขายแล้ว ชาวบ้านต่างนำสินค้าพืชผลทางเกษตรประเภทผัก และผลไม้ต่างๆ ที่มีชื่อมาแต่เดิม เช่น ส้มโอ มะพร้าว กล้วย อ้อย ละมุด ที่เป็นสินค้าพืชสวนมาขาย หรือผลไม้จากทางใต้ เช่น ชุมพรขึ้นมาด้วย และการขายอาหารทะเลที่รับมาจากสมุทรสาคร โดยเฉพาะปลาทูที่นำปลามาจากเรือแถวมหาชัยถึงขนาดมีโรงนึ่งปลาทูในชุมชน เป็นแหล่งกลางในการกระจายปลาทูไปทั่วบริเวณนี้ เมื่อย้อนไปในปีพ.ศ.2485พื้นที่ตลาดนี้คึกคักมาก คนในตลาดเป็นชาวจีนที่ออกเดินทางมาโดยเรือสำเภาจากประเทศจีนมาปลูกห้องแถว 1-2 ชั้นหันหน้าเข้าหากัน เว้นทางเดิน ความยาวตลาดประมาณ 150 เมตร ห้องแถวนั้นสร้างด้วยชาวจีนกวางตุ้งที่มารับจ้างซ่อมเรือต่อเรือที่อู่ต่อเรือ การค้าขายประจำวันจากความทรงจำของชาวบ้านว่าขายดีมากๆ หยิบจับส่งขายแทบไม่ทัน จากคำสัมภาษณ์ที่ว่า “การเดินทางสุพรรณบุรีในสมัยก่อนไม่มีรถ ต้องมาทางเรือที่งิ้วราย ตลาดงิ้วรายเป็นตลาดที่เจริญที่สุด ร้านที่เปิดนั้นในสมัยก่อน เป็นร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟเยอะแยะไปหมด แล้วของอร่อยๆ ทั้งนั้น ขายดีด้วย การหากินเมื่อก่อนทำการค้าขาย ข้าวแกงมีข้าวแกงจานละบาท ขนมถ้วยละห้าสิบสตางค์ แล้วข้าวสารสมัยนั้น อย่างสวยสุดถังละ 22 บาท ไข่ไก่ก็ 3 ฟอง 1 บาท ของถูก” การเป็นศูนย์กลางการเดินทางหรือการจับจ่าย ทำให้มีอาชีพเสริมสำหรับเด็ก แม้อายุไม่กี่ขวบก็สามารถหาเงินได้ โดยรับจ้างยกสิ่งของรอบละ 1 บาท ที่มีผลไม้ใส่ในชะลอม 2-3 ชะลอมต่อเที่ยว หรือการบริการกางร่มให้ผู้โดยสารที่ขึ้นทางเรือต้องไปต่อรถไฟ แต่ฝนตกการกางร่มก็ครั้งละ 1 บาท เป็นต้น การทำงานเมื่อทำหลายเที่ยวก็จะได้วันละหลายบาท การค้าขายยังรวมไปถึงการขายของบนขบวนรถไฟ ด้วยการตะโกนขายของ ดังเช่น “อ้อยควั่นถั่วต้มกล้วยหอมส้มโอลูกโตๆ จ้า”

1.2 โรงปลาทู ปลาทูเป็นสินค้าที่สำคัญของชุมชนประเภทหนึ่ง ที่คนในชุมชนมีความทรงจำและมักเอ่ยถึง เพราะเป็นอาชีพที่คนสูงอายุหลายคนมักเคยทำมาก่อน โรงปลาทูสำหรับผู้อายุมากกว่า 60 ปี ยังเอ่ยถึง รองจากการเดินเรือ ปลาทูนี้ไม่ใช่จับได้ในพื้นที่นี้แต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากแหล่งนี้ไปสู่เมือง

1.3 โรงฝิ่น โรงฝิ่นในชุมชนงิ้วรายอยู่ในตลาด ใกล้กับอู่ต่อเรือของบริษัทสุพรรณขนส่ง และลูกค้าก็คือคนจีนที่เข้ามาทำงานเป็นกรรมกรต่อเรือ โรงฝิ่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจและการค้าของชุมชนเกิดการเคลื่อนไหว ปัจจุบันโรงฝิ่นคงเหลือเพียงเรื่องเล่าของผู้อาวุโสที่ชี้ให้คนรุ่นหลังรู้จักและจดจำว่าบริเวณข้างตลาดเป็นโรงฝิ่น การยกเลิกการสูบฝิ่น และนำอุปกรณ์ทั้งหมดไปเผาที่สนามหลวงตามคำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2502 เวลา 01.00 น. ถือเป็นการยุติการสูบฝิ่นในชุมชนไปด้วย

1.3 บริษัทสุพรรณขนส่ง บริษัทสุพรรณขนส่งเป็นเจ้าของกิจการเดินเรือเจ้าเดียวมีเรือกว่า 100 ลำ และตั้งชื่อเรือตามตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่น เรือชื่อพระไวยวรนาถเป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดถึง 73 ฟุต เรือโดยสาร 2 ชั้น เช่นเรือชื่อขุนแผน เรือขุนช้าง เรือแก่นแก้ว เรือนางบัวคลี่ เป็นต้น ที่สามารถจุผู้โดยสารได้มากถึง 200 คน ส่วนเรือขนาดเล็กเป็นเรือลากจูง เรือขนของและมีความสำคัญระดับรองลงมาชื่อ พลายชุมพล พลายยง พลายเพชร เป็นต้น

กิจการเดินเรือที่รู้จักกันว่าเรือแดง เริ่มโดยหุ้นส่วน 3 ตระกูลคือ ตระกูลทองสิมา ตระกูลวิภารัตน์และตระกูลนุชสิรี ผู้ก่อตั้งคือ ปรีชา วิภารัตน์ ร่วมกับ เคลือบ นุชสิรี และ วุ่น ทองสิมา อู่ต่อเรือมีชาวกวางตุ้งหรือโฮวเล้ง เป็นผู้ต่อเรือโดยใช้มือ และไม่ใช้ตะปูเป็นชิ้นส่วน บริษัทสุพรรณขนส่งเป็นบริษัทเดินเรือแห่งเดียวที่มีเส้นทางการเดินเรือถึง 9 สาย รับส่งผู้โดยสารที่จะไปสุพรรณบุรีจากสถานีงิ้วรายไปถึงสุพรรณบุรีใช้เวลาเกือบ 8 ชั่วโมง สินค้าและผู้คนจะมาถ่ายสินค้าและต่อเรือที่ท่างิ้วรายแห่งนี้ สินค้าเช่น ปลาจากสมุทรสาคร กะปิ น้ำปลา ก่อนจะส่งไปกรุงเทพ รวมทั้งปลาทูที่มีโรงนึ่งในตลาด และยังเป็นท่าขึ้นข้าว เรือจากท่าเตียนจะนำข้าวสารและน้ำตาลมาลงที่ตลาดเพื่อส่งไปขายยังจังหวัดต่างๆ ความยิ่งใหญ่ของการคมนาคมทางน้ำแห่งลุ่มน้ำนครชัยศรีนี้มีเส้นทางการเดินเรือจากงิ้วราย-สุพรรณบุรี, งิ้วราย-มหาชัย, งิ้วราย-สมุทรสาคร เรือโดยสารที่ไปสุพรรณบุรีออกเดินทางรอบแรกจากงิ้วราย เวลา 8.00 น. มีรอบ 10-11.00 น รอบ 13.00 น.รอบสุดท้าย 18.00 น. และเรือโดยสารจากสุพรรณบุรีจะเดินทางมาถึงตลาดงิ้วรายเที่ยวแรกเวลา 03.30 -04.00 น. ฉะนั้นพ่อค้าแม่ขายจะตั้งของขายตั้งแต่เวลา 02.00 น.ของทุกวันเพื่อให้ทันกับผู้โดยสารเที่ยวแรก เรือเที่ยวสุดท้ายจากสุพรรณบุรีจะไปงิ้วราย ออกเวลาประมาณ18.30 น ฉะนั้นบริเวณท่าเรือจึงมีการให้ที่พักค้างรอเรือสำหรับผู้โดยสารหรือคนรู้จักก็จะพึ่งพิงเพื่อรอการโดยสารเรือในเที่ยวต่อไป วนเวียนเป็นวัฎจักรเช่นนี้จนถึงกาลเวลาสิ้นสุดของการเดินทางโดยทางเรือ ต่อมาเมื่อการก่อสร้างถนนทำให้การเดินทางโดยทางเรือซบเซาลงและมีเรือจากบริษัทส่งเสริม หรือที่เรียกว่า เรือขาวใช้ระยะเวลาในการเดินทางน้อยกว่าเรือสุพรรณขนส่งถึงครึ่งหนึ่งคือ 4 ชั่วโมงเพราะสมรรถนะเครื่องยนต์ ส่วนการเดินทางโดยทางรถใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมงการเดินทางทางเรือของบริษัทสุพรรณขนส่งจึงต้องยกเลิกกิจการไปในที่สุด

2. ความทรงจำเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2

ด้วยชุมชนงิ้วรายมีเส้นทางรถไฟเป็นทางผ่านไปยังภาคใต้ และมีเส้นทางแยกไปจังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ชาวชุมชนยังระลึกได้ถึงชนกลุ่มอื่น ที่มิใช่ชาวบ้านแบบตนมีทั้งฝรั่งและคนญี่ปุ่น

2.1 เส้นทางรถไฟ รถไฟสายใต้เริ่มก่อสร้างใน พ.ศ.2441 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย ถึงเพชรบุรี โดยใช้รางรถไฟขนาด 1เมตร และสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2445 และสร้างสถานีรถไฟงิ้วรายเมื่อ พ.ศ. 2477 และช่วงระยะเวลาสงครามโลกครั้งที่สอง พ.ศ. 2484-2488 การเดินทัพของทหารญีปุ่นได้ใช้ทางรถไฟนี้เป็นเส้นทางเดินทัพ เพราะเส้นทางรถไฟเป็นเส้นทางที่ใกล้พม่ามากที่สุด ชาวชุมชนงิ้วรายยังจดจำภาพที่ทหารญี่ปุ่นเดินทางผ่านหมู่บ้านได้อย่างดี ว่าพวกเขาใส่ชุดทหารที่ไม่ใหม่นัก มาซื้ออาหารแต่ไม่มีการพูดคุยกันเพราะฟังไม่รู้เรื่อง ชาวบ้านก็ยังคงหวาดกลัวแต่ได้นำอาหารประเภท กล้วย มะพร้าวไปขายให้ และมักได้ราคาดีเพราะทหารมักให้เงินเกินราคาที่ขาย แม้บางครั้งชาวบ้านก็ให้ไปโดยไม่คิดราคา ด้วยความรู้สึกสงสาร โดยเฉพาะกล้วยหอม

2.2 สัญญาณเตือนภัยและการหลบภัย ด้านข้างตลาดจะมีหอเตือนภัยหรือ ประภาคารหรือหอยามอากาศ เมื่อจะมีการทิ้งระเบิด ชาวบ้านจะได้รับสัญญาณเตือนภัยจากเสียงประกาศและสัญญาณไซเรนของทหารไทยที่ดูแลชาวบ้านละแวกนี้ หรือมีใบปลิวมาโปรยแจกด้วย โดยหอยามอากาศแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณโรงฝิ่นเดิม

2.3 สะพานเสาวภา ถัดจากชุมชนงิ้วรายไปสักเล็กน้อยมีความทรงจำเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดที่สะพานเสาวภา ในเช้าวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2488 มีการทิ้งระเบิดจนทำให้สะพานขาด ชาวบ้านยังจำได้เมื่อสะพานพังก็จะเกิดมีอาชีพอื่นคือพายเรือขนสิ่งของข้ามฟาก และมีคนหาบของอีก เพราะเมื่อสะพานขาดทหารญี่ปุ่นจำเป็นต้องลำเลียงสัมภาระ และทหาร โดยนั่งเรือข้ามฟากและจ้างคนไทย วิธีการโดยผูกคนไทยติดกับทหารญี่ปุ่นและสิ่งของเพื่อป้องกันการขโมยของ เพราะมีการขโมยสิ่งของประจำทั้ง ปืน น้ำมัน และอาหาร ทำให้มีคนเสียชีวิตด้วยการลงโทษของทหารเช่นกัน

2.4 ศาลาขาว ศาลาขาวสำหรับคนรุ่นใหม่อาจไม่คุ้นเคยนัก ศาลาขาวนี้จากคำบอกเล่าเคยเป็นที่พักริมทางของทหารที่เดินทางผ่านชุมชนไปยังกาญจนบุรี บริเวณศาลาขาวจะมีตุ่มใส่น้ำวางไว้ให้ผู้สัญจรไปมาได้แวะดื่มกิน พื้นที่แต่เดิมของศาลาขาวเป็นเนินดินกว้างประมาณ 10 ตารางเมตร และมีเจดีย์ขาวที่ชาวบ้านเคยเห็นว่ามีต้นไม้ปกคลุมรกเรื้อมาก แต่ปัจจุบันไม่เห็นแล้ว

ความทรงจำของชุมชนงิ้วรายเป็นการถูกยึดโยงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสงครามโลก ผูกพันมาถึงความเติบโตของเศรษฐกิจชุมชนการเป็นแหล่งการคมนาคมในที่สุดความทรงจำบางเรื่องก่อให้เกิดความรู้สึก รักหวงแหน โหยหา แต่ความทรงจำบางอย่างก่อให้เกิดความวังเวง สูญเสีย เศร้าหมอง แต่ความทรงจำช่วยให้มนุษย์ได้ระลึกย้อนและปรับวิธีคิดและการใช้ชีวิตในโลกร่วมสมัยต่อไป

สะพานเสาวภา สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำนครชัยศรี ยุทธศาสตร์สำคัญสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2


เอกสารอ้างอิง

จอห์นสตัน, เดวิด บรูซ (2530). สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ.2423-2473.

แปลโดย พรภิรมณ์ เอี่ยมธรรม กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ธิดา สาระยา. (2545). ทวารวดี ต้นประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ

นากามูระ,อาเคโตะ. (2555). ผู้บัญชาการชาวพุทธ ความทรงจำของนายพลนากามูระเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : มติชน.

วิชญดา ทองแดง. (2555). ชุมทางตลิ่งชัน ย่านเก่า (ก่อน). กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. (2521). ฝิ่นเฮโรอีน. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.

สุขสันต์ วิเวกเมธากร. (2540). สงครามฝิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ: เลิฟแอนด์ลิพ เพรส.

Alfred, W Mc Coy. (2537). พิสิฐ วงศ์วัฒนา (แปล). การเมืองและเฮโรอีนบนถนนสู่อำนาจสายเดียวกัน. กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ.

Nora, Pierre .1989. Between Memory and History: Les Lieux de Memoire.Presentation 26 Spring 1989 .The Regents of the University of California.

ผู้ให้ข้อมูล สุรพล ทองสิมา อดีตผู้ใหญ่บ้าน, เชาวน์ ปานกลิ่นพุฒ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้วราย, มานัส เหล่าสุวรรณหยก, พเยาว์ ยิ้มมาก,

มานะ สมัครกิจ, พรกมล รุ้งไสว, สมัชชา ทองสิมา (นายก อบต.งิ้วราย), ชยะพล เทศนาบูลย์

หมายเลขบันทึก: 618436เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2016 13:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2016 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท