​ครูกับการละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพ


​ครูกับการละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพ

สภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องครูในปัจจุบันอยู่ท่ามกลางการการเปลี่ยนแปลงของสังคม วัฒนธรรม ค่านิยมและความเจริญทางด้านวัตถุ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม จึงทำให้ครูมีความตระหนักในจรรยาบรรณวิชาชีพลดน้อยลง อันเป็นเหตุ ให้ทุกวันนี้ครูบางคนมีปัญหาพฤติกรรมการละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งมีให้เห็นตามข่าวในสังคมมากมาย ได้แก่ ข่าวจากหนังสือพิมพ์ ข่าวจากเว็บไซต์ทางการศึกษาต่างๆ ข่าวจากโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่เผยแพร่ข่าวในเรื่องความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของครูที่ถือว่าผิดต่อ จรรยาบรรณวิชาชีพในหลายกรณี เช่น ครูสอนไม่เต็มที่หรือสอนไม่เต็มความสามารถ ครูปฏิบัติตนเสมือนเป็นแค่ “ผู้มีอาชีพครู” หมายความว่าสอนไปตามหน้าที่เท่านั้นและคิดแค่ว่าครูเป็นแค่อาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับตนเอง ครูใส่ใจในเรื่องการสอนพิเศษเพื่อหารายได้ให้ตนเองแต่ไม่รับผิดชอบในหน้าที่การสอนในห้องเรียน ครูห่วงแต่การเปิดสถาบันกวดวิชาของตนเอง ครูใช้เวลาในการสอนไปทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งเป็นเหตุให้ครูไม่ค่อยมีเวลาดูแลนักเรียน ไม่ค่อยมีเวลาสอนและสอนได้ไม่เต็มที่ ครูใช้วาจาไม่สุภาพรุนแรง และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในโรงเรียน ครูเล่นการพนัน ติดสุรา แต่งกายไม่เรียบร้อยและวางตัวไม่เหมาะสม ทำร้ายร่างกายนักเรียน ลงโทษนักเรียนเกินกว่าเหตุ และครูวางตัวใกล้ชิดนักเรียนเกินขอบเขตจนนำไปสู่ปัญหาชู้สาว และการล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ

ปัญหาความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของครูบางคน ส่งผลให้อาชีพครูเสื่อมเสีย ทำให้ในสายตาประชาชนมองอาชีพครูไม่ดี และทำให้ผู้ปกครองของนักเรียนขาดความเชื่อใจ และความเชื่อมั่นในตัวของครู ไม่ให้เกียรติคนเป็นครู และมองว่าอาชีพครูใครๆ ก็เป็นได้ และยังมีข้อสงสัยที่ว่า “ครูจะสามารถสอนลูกของเขาได้อย่างไร ในเมื่อตัวของครูเองยังเป็นแบบอย่างที่ดีไม่ได้” เพราะว่าผู้ปกครองทุกท่านนั้นมีคาดหวังในตัวครูสูงมาก เขาคิดว่าครูต้องสามารถสอนลูกของเขาให้เป็นคนเก่ง เป็นคนดี มีความสุข และสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ และปัญหาความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของครูยังส่งผลต่อพฤติกรรมของ นักเรียนด้วยโดยตรง เช่น กรณีครูแต่งกายไม่สุภาพ นุ่งกระโปรงสั้น นักเรียนอาจคิดว่า ครูนุ่งกระโปรงสั้นได้ แล้วทำไมเขาจะทำไม่ได้ ฯลฯ

จากปัญหาความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของครูบางคน และความคาดหวังของผู้ปกครองในตัวครู จึงทำให้ครูทุกคนต้องมีสติไม่หลงใหลกับ การเปลี่ยนแปลงของสังคม ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นที่น่าเคารพนับถือ และที่สำคัญที่สุดครูต้องให้ความสำคัญหรือ มีความตระหนักในเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพมากขึ้น คือ ครูต้องมีจรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ จรรยาบรรณต่อ ผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และจรรยาบรรณต่อสังคม ดังนี้

จรรยาบรรณต่อตนเอง คือ ครูต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ คือ ครูต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ คือ ครูต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ศิษย์และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่โดยเสมอหน้าครูต้องส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามแก่ศิษย์และผู้รับบริการ ตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจครูต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์และผู้รับบริการ และครูต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาค โดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ โดยมิชอบ

จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ คือ ครูต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคี ในหมู่คณะ

จรรยาบรรณต่อสังคม คือ ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ครูควรทำตัวให้เหมาะสมกับคำกล่าวที่ว่า “ครู เปรียบได้กับแม่พิมพ์ของชาติ วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวิชาชีพชั้นสูง ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมมาตั้งแต่อดีต บทบาทพื้นฐานที่สำคัญสำหรับผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครู คือ การอบรม สั่งสอน ฝึกฝนศิษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ ครูต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม มีความมุ่งมั่นที่จะประกอบกิจการงานต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ มีวินัยใน ต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงมีจิตสำนึกสาธารณะ พร้อมที่จะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ครูเป็นวิชาชีพที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาแนวคิดของเด็กและเยาวชน และครูต้องมีจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณของวิชาชีพครู เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กและเยาวชนต่อไป

จากที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น ก็เพื่อจะสื่อถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของครูบางคนที่ละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งเป็นปัญหาในสังคมปัจจุบัน เพื่อให้ครูตระหนักถึงความสำคัญของจรรยาบรรณวิชาชีพมากขึ้น

“จรรยาบรรณวิชาชีพครูนั้น เขียนให้ดูดี สวยหรู เลิศเลอเพียงใดก็ได้

จะมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าก็ขึ้นอยู่กับว่าครูได้มีการนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติอย่างจริงจังหรือไม่



เอกสารอ้างอิง

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. 2556. มาตรฐานการประกอบวิชาชีพ. (ออนไลน์). สืบค้นจาก :

http://www.ksp.or.th/ksp2013/content/view.php?mid=136&did=254&tid=3&pid=6. สืบค้นวันที่ 5 พฤศจิกายน 2559.

หมายเลขบันทึก: 618391เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2016 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2016 00:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท