R2P EMS จากวิจัยสู่ Policy


R2P EMS จากวิจัยสู่ Policy

การเดินทางเริ่มต้นจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด ขับรถไปขึ้นเครื่องที่สนามบินนานาชาติอุบลราชธานี ถึงสนามบินดอนเมืองประมาณแปดโมง แท็กซี่สนามบินไม่ได้รอนานรับบัตรคิวแล้วก็เดินไปขึ้นรถเลย คนขับแท็กซี่เป็นเด็กหนุ่มอายุ 24 ปีท่าทีสุภาพ เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานีทำงานหาเงินเลี้ยงแม่และน้องๆ พ่อเสียชีวิตแล้ว ระหว่างทางแนะนำแท็กซี่ให้ไปทางลัดทำให้ไปถึงกระทรวงสาธารณสุขเก้าโมงพอดีใช้เวลาประมาณสี่สิบนาที

ทันทีที่เปิดประตูเข้าไปท่าน อ.นพ.วิทยา ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินเอ่ยทักทาย รวมไปถึงอาจารย์ท่านอื่นๆ เป็นความพอดีที่ทำให้ได้ทันการฟังการนำเสนอโครงร่างงานวิจัยเรื่องแรก แต่ละเรื่องต่างมีความแตกต่างกัน เทคนิคส่วนตัวที่ใช้คือ การฟังและการทำความเข้าใจ พร้อมใช้กรอบของการทำวิจัยเป็นแนวทางในการทำให้เกิดความเข้าใจในงานนั้นๆ มากขึ้น

ในส่วนของความลึกซึ้งในทฤษฎีเนื้อหาจะเป็นอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญกว่าช่วยมองและพิจารณาให้ชัดเจน

จากการมีโอกาสได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนคิด (Reflection) ในวงประชุม R2P EMS ณ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีอีกครั้งของการเรียนรู้ในชีวิต มีผู้ขอทุนทำการวิจัยมาเป็นจำนวนมาก แต่พิจารณาจากรอบแรกคัดเหลือประมาณ 9-10 เรื่อง และเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ได้มีการเชิญอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมและช่วยกันเกลางานวิจัยให้คมและชัดเจน

ชื่นชมฝ่ายวิจัยของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เห็นความสำคัญที่ไม่ใช่เพียงแค่ให้ทุนแต่ให้ความช่วยเหลือแก่ทีมวิจัยที่มาขอทุนด้วย

        • รอบแรกคัดกรอง
        • รอบที่สองเกลาโครงร่างการวิจัยให้คมชัด

ผลงานวิจัยส่วนหนึ่งเป็นการศึกษา หรืออธิบายปรากฏการณ์ หรือพรรณาถึงเรื่องราวเกี่ยวกับทางการแพทย์ฉุกเฉิน และเป็นงานที่เกี่ยวกับการคัดกรองอยู่สองสามเร่ือง และถือเป็นหัวใจสำคัญของการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินก็จะมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับแนวทางการทำงานการปฏิบัติ ถือเป็นต้นแบบในการนำไปใช้ในอนาคตต่อพื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

โครงร่างงานวิจัยที่นำมาเสนอ ถือได้ว่าเป็นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปขยายผลและใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ผลักดันไปสู่ระดับนโยบายต่อไป

ปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ที่ได้สัมผัส คือ ความเป็นกัลยาณมิตรและความมีเมตตาจากอาจารย์ทุกท่านที่ช่วยกันมองงานวิจัยและให้ความช่วยเหลือนักวิจัย เพื่อที่จะให้การทำวิจัยดังกล่าวสามารถเดินต่อไปได้ สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายตามนโยบายของการแพทย์ฉุกเฉิน

ในหนึ่งวันกับผลงานที่มาร่วม 8 เรื่อง ... ทำให้ได้เกิดการเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่นักวิจัยคิด

ได้เกิดการเรียนรู้วิธีคิดและมุมมองของอาจารย์แต่ละท่านที่มีต่อผลงานวิจัยต่างๆ

การนั่งอยู่ในวง การสร้างความรู้สึกเหนือกว่าหรือกดข่มแทบไม่มี เห็นแต่ความพยามยามของการช่วยคิด มิตินี้สะท้อนได้ถึงหัวใจของความเป็นครูของอาจารย์แต่ละท่าน

ถามตนเองว่าได้เรียนรู้อะไรจากการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้

“ได้เรียนรู้การก้าวเข้าไปของความเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ ... เพราะเมื่อไรก็ตามถ้าไปด้วยหัวใจเช่นนี้ จะทำให้เรารู้สึกนอบน้อม ไม่อหังการ และที่สำคัญทำให้มองเห็นความไม่รู้ที่มีขึ้นในตัวเองได้อย่างมากมาย"

“การเรียนรู้ที่ได้จากทั้งอาจารย์หลายๆ ท่านและการเรียนรู้จากผู้วิจัยเอง ทุกคนเสมือนเป็นครู ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่แทบลงทุนน้อยมาก เพียงมีเทคนิคของการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)และใจที่เปิดกว้างก็จะทำให้เราเก็บเกี่ยวอะไรได้อย่างมากมาย"


และสิ่งที่เกินความคาดหมายคือ การได้ทราบถึงเรื่องราวที่สงสัยได้อย่างกระจ่างชัดขึ้น ได้เห็นมิติของอาจารย์ผู้ใหญ่ที่มองไกล กว้าง และลึกซึ้ง เรียนรู้วิธีการทำงานที่น่าชื่นชม นำมาครุ่นคิดและพิจารณากับตนเอง

ในหนึ่งวันมีความคุ้มค่าและอิ่มเอมทางปัญญา...

การเดินทางกลับถึงบ้านดึกพอสมควร แต่ความเหนื่อยเพลียก็ไม่ปรากฏ แต่มีพลังกลับมาสร้างสรรค์งานได้อีกมากมาย

...

2 พฤศจิกายน พ.ศ.2559








หมายเลขบันทึก: 617857เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2016 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2016 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท