เดินหน้าปฏิรูปครู พฤติกรรมการสอนของ ครู 59


เดินหน้าปฏิรูปครู พฤติกรรมการสอนของ ครู 59

โดย เพชร เหมือนพันธุ์


อาฟเตอร์ช็อกลูกที่สองที่กำลังจะติดตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ คือการปฏิรูปครู และวิธีการสอนของครู คลื่นลูกนี้จะไหลตามมาแต่รู้สึกว่าแรงค่อนข้างจะแผ่วลงแล้วเพราะขาดแรงกระตุ้นจากแหล่งกำเนิดของนโยบาย ครูก็เหมือนกับช่างก่อสร้าง แม้พิมพ์เขียวรูปแบบรายการของสิ่งประดิษฐ์จะเขียนออกมาได้สวยงามถูกแบบวิศวกรรมเพียงใด แต่ถ้าได้ช่างที่ไร้ฝีมือมาก่อสร้าง ผลงานที่ออกมาก็จะเป็นหายนะได้

วันนี้คุณภาพการศึกษาไทยในทุกระดับได้เดินทางมาถึง "จุดวิกฤต" ที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี ความจริงได้ตกต่ำมาตั้งแต่ก่อนเกิด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 แล้ว ใน ขณะที่วันนี้โลกกำลังเดินทางมาถึง "จุดพลิกผัน" ที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นโลกในยุคดิจิตอล ที่ความรู้วิทยาการต่างๆ เปลี่ยนสถานที่อยู่ จากครูไปอยู่ใน Google ไปอยู่ในก้อนเมฆ (Cloud) แต่คุณภาพการศึกษาไทยจากการทดสอบของ สทศ.พบว่าคะแนนเฉลี่ยตกเกือบทุกรายวิชา (ยกเว้นวิชาภาษาไทยวิชาเดียว ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 56.65) ในรายวิชาที่สอบตก คะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับ 20-30 คะแนน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศธ. บอกว่าเท่ากับเด็กไม่มีความรู้อะไรเพิ่มขึ้นมาจากการเรียนเลย

เยธัมมา เหตุ ปัปภวา ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ "เหตุเกิดที่ไหนให้แก้ที่นั่น" คำถามว่า หลักสูตรไม่ดี เด็กไม่มีความรู้ ครูสอนไม่เป็น หรือข้อสอบไม่ดี ไม่ลองดำน้ำลงไปดูเพื่อให้รู้ว่าตาข่ายดักปลาที่เอาไปดักติดตั้งไว้ใต้น้ำนั้นปลาหนีรอดไปได้อย่างไร

ในสมัยก่อนคนที่จะเป็นครูต้องเก่ง ต้องไปเรียนเป็นเด็กประจำนอนหอพักวิทยาลัย ต้องผ่านการปลูกฝัง สายเลือดของความเป็นครูตลอด 24 ชั่วโมง ได้ผ่านการฝึกสอนในสถานศึกษาจริง มีการคัดเลือกเอานักเรียนเก่งหัวกะทิในระดับจังหวัดให้ไปเรียนครู เป็นเด็กประจำอยู่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพฯ โดยมีทุนการศึกษาให้ คนที่เรียนจบครูมาในสมัยนั้น หลายท่านได้ตำแหน่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯ มีหลายท่านที่ไปทำงานตำแหน่งใหญ่ในหน่วยงานอื่นระดับประเทศ เช่นเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี การผลิตครูอยู่ในสมัยนั้น อยู่ในสถาบันการศึกษาของรัฐเท่านั้นสถาบันเอกชนไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตครู

พ.ศ.2513-2535 ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการขยายการศึกษาภาคบังคับถึง ม.3 รัฐบาลได้ผลักดันส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง กระทรวงศึกษาธิการ วิทยาลัยครูและสถาบันทั้งรัฐและเอกชนต่างต้องผลิตครูเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เปิดเรียนครูภาคค่ำ (Twilight) คนที่มาสมัครเรียนครูผ่านการคัดกรองที่หยาบมาก เราจึงได้คนที่ไม่เก่งจริงมาเป็นครู การบริหารโรงเรียนในช่วงนั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ครูขาดองค์ความรู้ทางวิชาครู ขาดอุดมการณ์ของการเป็นครู ขาดความรับผิดชอบ ขาดจิตสำนึกของความเป็นครูสูง

เมื่อกระทรวงศึกษาฯเริ่มโครงการคุรุทายาท โครงการช้างเผือก โครงการครูพันธุ์ใหม่ โครงการครู 5 ปี ความหวัง ของผู้บริหารโรงเรียนเริ่มกลับมาใหม่ ครูในโครงการเหล่านี้มีคุณภาพแตกต่างจากครูบางกลุ่มอย่างเห็นเป็นที่ประจักษ์ ปัจจุบันครูในกลุ่มนี้ทำงานอย่างมีความก้าวหน้า เริ่มเป็นผู้บริหาร เริ่มเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นถึงระดับดอกเตอร์หลายคน เรายังพอหวังที่จะฝากผีฝากไข้ของประเทศชาติได้จากครูกลุ่มนี้ ดังนั้นการปฏิรูปครูต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกคนมาเป็นครู ได้คนเก่งมาเป็นครู ผ่านการฝึกอบรมวิชาครู จรรยาบรรณครู ผ่านการฝึกสอนมาอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากให้ดำรงโครงการอย่างนี้เอาไว้

ครูในศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง จากที่ครูเป็นผู้แสดง เป็นแหล่งความรู้ ไปเป็นโค้ช นั่งดูอยู่ขอบสนาม เป็นผู้คอยปรบมือให้กำลังใจ เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ ให้คำแนะนำ เปลี่ยนเป็นให้เด็กเป็นผู้แสดง ให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจ เกิดแรงบันดาลใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนได้เอง ครูได้เรียนรู้ แบบร่วมมือไปพร้อมกับเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา ผ่านสื่อนวัตกรรม สามารถสืบค้นหาความรู้จากแหล่งข้อมูลได้ด้วยตนเอง ให้ไปหาความชำนาญการได้เองผ่านการฝึกฝนทักษะใช้เครื่องมือที่ทันสมัยสืบเสาะหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ให้ได้ไปเผชิญปัญหา แก้ปัญหาด้วยตนเอง สร้างแนวทางแก้ปัญหาของตนเองเต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล สามารถทำงานแบบเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมได้ นำเอาองค์ความรู้ที่ได้เรียนมาไปสร้างเป็นโครงงาน ให้รู้จักตั้งคำถามที่ฉลาด ได้เรียนรู้ผ่านการทดลอง เรียนรู้ผ่านการค้นพบ ให้รู้จักสำรวจ ให้เรียนรู้ผ่านการแสดง (Drama as pedagogy)

การสอนแบบนี้เรียกว่า Teach 21


ประเทศสิงคโปร์กำหนดวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาว่า Teach Less Learn More ซึ่งตรงกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของประเทศไทย แต่นัยที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของ "วลี" นี้มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการตีความตามตัวอักษร เป้าหมายของนโยบายนี้คือต้องการให้ครูปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการสอนใหม่เท่านั้น ไม่ได้ลดปริมาณของหลักสูตรหรือลดความเข้มของเนื้อหาที่จำเป็นในหลักสูตรออกไป หรือข้าม หรือตัดทิ้งบางส่วนของหลักสูตร แต่ให้เปลี่ยนกิจกรรมการสอนจากครูเป็นผู้แสดง เป็นนักเรียนเป็นผู้แสดงครูไม่ใช่ผู้ที่จะลงสนามการแข่งขัน นักเรียนคือผู้เล่นตัวจริง กรอบความคิดในการปฏิรูปการศึกษาของสิงคโปร์มีอยู่ 4 ระดับ คือ (1) วิสัยทัศน์เพื่อชาติ "โรงเรียนนักคิด ประเทศแห่งการ เรียนรู้" (2) วิสัยทัศน์เพื่อการศึกษา "สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น" (3) วิสัยทัศน์เพื่อการปฏิบัติที่มีความยืดหยุ่น "ตึง หย่อน ตึง" และวิสัยทัศน์เพื่อความร่วมมือ ได้แก่ "ชุมชนการเรียนรู้เพื่อการอาชีพ" (PLC : Professional Learning Community) ยุทธศาสตร์การสอนที่เปลี่ยนแปลงคือ

(1) ใช้ยุทธศาสตร์การสอนแบบโต้ตอบที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น พัฒนาความเข้าใจ ใช้การสัมมนาแบบ "โสเครติส" โดยเน้นการตั้งคำถามให้คิดหาคำตอบ เน้นให้เรียนรู้จากปัญหา ให้เรียนรู้จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ให้สร้างความคิดใหญ่

(2) มีการสอนทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างชัดเจน คือ มีจิตสำนึกต่อโลก มีความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ มีความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง มีความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ มีความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเชิงวิชาการ ได้เผชิญปัญหา ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ได้แก้ปัญหาในสถานการณ์จริง

(3) ให้นักเรียนรู้จักใช้โอกาสอันมากมายที่จะถ่ายโอนการเรียนรู้ไปสู่สถานการณ์ใหม่ได้

(4) ครูต้องใช้การประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบระดับความเข้าใจเรื่องแนวคิดและทักษะของนักเรียนและปรับความเร็วและระดับการสอนให้สอดคล้อง

(5) ปรับโครงสร้างโรงเรียน ให้สามารถจำลองสังคมภายนอกเข้ามาอยู่ในห้องเรียนได้ สามารถจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ในศตวรรษ ที่ 21

เมื่อเดือนเมษายน 2558 ผู้เขียนได้ไปดูโรงเรียนที่ไม่มีครู ในเยอรมนี ที่เมืองคอนสแตนท์ ชื่อโรงเรียน เกบห์ ฮาร์ด ชูเลอะ (Gehardschule) ในมลรัฐบาเดนเวอร์เทมแบรด มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียนประมาณ 800 คน การจัดสอนแบบไม่มีครูสอนในระดับเกรด 5-10 บุคลากรในโรงเรียนประมาณ 80 คน เขาไม่เรียกบุคลากรในโรงเรียนว่าครู (Teacher) แต่เขาใช้คำว่า ผู้ร่วมเรียน ผู้ช่วยเรียน ทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นโค้ช (Coach) ไม่ให้ทำหน้าที่สอน แต่ให้เป็นผู้ร่วมเรียน ร่วมวางแผนการเรียนรายคนกับผู้ปกครองของนักเรียน เด็กจะเป็นผู้เลือกระดับความยากง่าย เพื่อให้เด็กสามารถเลือกที่จะเรียนตามที่เขาเห็นว่าเหมาะสมที่สุดสำหรับตัวเขาได้ เป้าหมายของการจัดการเรียนแบบนี้คือ เพื่อสร้างแรงจูงใจ (Motivation) เพราะในโลกยุคนี้ เขาถือว่าแรงจูงใจเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจสำคัญกว่าความรู้ ผู้บริหารโรงเรียนจึงต้องทำงานหนัก ต้องร่วมกิจกรรมกับผู้เรียนเหมือนเป็นโค้ชนักกีฬา

ขณะนี้ทดลองทำมาในเยอรมนีได้ประมาณ 5 ปีแล้ว อยู่ในช่วงของการประเมิน อย่าลอกเขามาทั้งหมด

ผู้เรียนคือ ผู้เล่นตัวจริง ครูเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นโค้ช เป็นผู้เรียนร่วม หรือเป็นผู้ช่วยเรียน กิจกรรมการเรียน คือ ให้ทฤษฎี ฝึก ลงมือปฏิบัติ ให้นักเรียนเกิดทักษะ เกิดความชำนาญการ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เพราะการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาด้วยสื่อเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ที่ผู้เรียนสามารถใช้เพียงปลายนิ้วสัมผัสก็อาจทำให้ได้ข้อมูลแล้ว เป้าหมายของการเรียนคือให้ผู้เรียนมีความสามารถในการรู้จักนำเอาความรู้ทั้งหลายมาประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาชีวิต มาสร้างโครงงาน มาสร้างสถานประกอบการได้เอง จึงจะถือเป็นความสำเร็จ กิจกรรมการสอนของครูผ่านโครงงาน ผ่านการฝึกประสบการณ์ ผ่านการสืบค้นทางออนไลน์ ผ่านการนำเสนอรายงาน โครงงาน ผ่านการเข้าค่าย เข้าชมรมกิจกรรม ฯลฯ จึงเป็นนวัตกรรมการสอนที่จะก้าวเข้ามา ในยุคนี้

นักวิชาการชาวอเมริกันบอกว่า นิสัยสำคัญกว่าความรู้ บุคลิกภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่จะต้องมีรูปแบบเป็นสากล ผ่านการอบรมบ่มนิสัยตามหลักคุณธรรมของศาสนา มีมารยาทสากล มีระเบียบ มีวินัย มีความรับผิดชอบ การรู้จักบาป บุญ คุณ โทษ รู้ถูก รู้ผิด มีความกตัญญู มีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมโลก โอบอ้อมอารี แรงบันดาลใจ (Inspiration) จะทำให้ผู้เรียนมีความหลงใหล อยากรู้ อยากเรียน อยากเห็น อยากเป็น อยากได้ หิวกระหายอยู่ตลอดเวลา สามารถต่อยอดความรู้ได้เองตลอดชีวิต ในแผนการสอนของครูต้องระบุกิจกรรมให้ ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติให้ได้ ได้ฝึกซ้อมเพื่อหาทักษะ หาความชำนาญ ได้เผชิญปัญหา ได้แก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง ในแต่ละชั่วโมง ในแต่ละวัน ในแต่ละปีที่เด็กมา โรงเรียนเด็กจะต้องได้ทักษะ ได้ความรู้ใหม่ ได้ความชำนาญการ กลับไป เพื่อไปฝึกฝนตนเองให้เขาสามารถขับเคลื่อนตัวเองไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตัวอย่างบุคคลที่ประสบผลสำเร็จ เช่น สตีฟ จ๊อบส์ มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก หรือแจ็ค หม่า อาลีบาบาแห่งประเทศจีน คนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ล้วนเกิดจากมีแรงบันดาลใจที่สามารถไปฝึกฝนเรียนรู้ต่อเนื่องได้เท่านั้น

ขอขอบคุณที่มา : เพชร เหมือนพันธุ์. 2559. เดินหน้าปฏิรูปครู พฤติกรรมการสอนของ ครู 59 (ออนไลน์). http://www.kroobannok.com/78397. 23 ตุลาคม 2559


หมายเลขบันทึก: 617370เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2016 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2016 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท