ผ้าขาวเปื้อนหมึก
กานนา สงกรานต์ กานต์ วิสุทธสีลเมธี

เรื่อง ปัญหาการใช้ภาษาไทยของครูและนักเรียน


บทความ

เรื่อง ปัญหาการใช้ภาษาไทยของครูและนักเรียน

ในวิถีแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารไร้พรมแดน ท่ามกลางสังคมที่มีค่านิยมยอมรับนับถือวัตถุมากกว่าคุณค่าของจิตใจนั้น หลายๆสิ่งกำลังเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังดำดิ่งลงสู่ห้วงเหวแห่งหายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็คือ ความเป็นไทยและภาษาไทย ภาษาชาติของเรานั่นเอง ที่กำลังถูกค่านิยมของคนรุ่นใหม่รุกรานจนแทบไม่หลงเหลือเค้าเดิมอยู่เลย

ปัญหาการใช้ภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆจนในขณะนี้ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ในสถานศึกษาอันเป็นแหล่งหล่อหลอมความรู้ก็มิได้ละเว้น ภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อของผู้เรียน และสุดท้ายผู้เรียนจึงได้รับความรู้แบบงูๆปลาๆที่จะนำไปใช้ต่อไปอย่างผิดๆ หากเราจะแยกปมปัญหาการใช้ภาษาไทยในโรงเรียนนั้น สามารถแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเด็น คือ

๑.ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจาก ครู เนื่องจากครู คือ ผู้ประสาทวิชา เป็นผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ดังนั้นความรู้ในด้านต่างๆ เด็กๆจึงมักจะได้รับมาจากครูเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ครูบางคนนั้นมีความรู้แต่ไม่แตกฉาน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความละเอียดอ่อน และมีส่วนประกอบแยกย่อยอย่างละเอียดลออ เมื่อครูไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างกระจ่าง จึงทำให้นักเรียนไม่เข้าใจตามไปด้วย จนในที่สุดพาลเกลียดภาษาไทยไปในที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน

ความเป็นครูนั้น แน่นอนการสอนย่อมสำคัญที่สุด ครูบางคนมีความรู้อยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่กลับสอนไม่เป็น ซึ่งครูส่วนใหญ่มิได้ยอมรับปัญหานี้ บางคนสักแต่ว่าสอน แต่ไม่เข้าใจเด็กว่าทำอย่างไร อธิบายอย่างไร เด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าข้าวนั้นจะซึมซับเอาความรู้จากท่านไปได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเด็กจึงเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้ภูมิความรู้ที่มีอยู่ในตัวครูเลย ครูจึงควรหันกลับมายอมรับความจริง และพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เหมาะสมกับที่เป็นผู้รู้ที่คนทั่วไปยอมรับนับถือ

๒. ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากนักเรียน ในสังคมยุคไซเบอร์ ซึ่งสามารถเข้าไปใช้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกภาคส่วน “ เด็ก” ซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากลองจึงมิได้ให้ความสนใจเพียงแค่การศึกษาค้นคว้าข้อมูลการศึกษาเท่านั้น หากแต่สนใจกับภาคบันเทิงควบคู่ไปด้วย และโดยแท้จริงแล้ว มักจะให้ความสำคัญกับประเด็นหลังมากกว่าการค้นคว้าความรู้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กนั้นเป็นปมปัญหาสำคัญยิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มลุกลามมาจากโปรแกรมแชทรูมและเกมออนไลน์ ซึ่งดูคล้ายเป็นการสนทนากันธรรมดา แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว มิใช่เลย การสนทนาอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ดังเช่นที่พบตามหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้แก่วงการภาษาไทยด้วย นั่นคือการกร่อนคำ

และการสร้างคำใหม่ให้มีความหมายแปลกไปจากเดิม หรืออย่างที่เรียกว่าภาษาเด็กแนวนั่นเอง ดังจะขอยกตัวอย่าง ดังนี้

สวัสดี เป็น ดีครับ ดีค่ะ

ใช่ไหม เป็น ชิมิ

โทรศัพท์ เป็น ทอสับ

กิน เป็น กิง

จะเห็นได้ว่าคำเหล่านี้ถูกคิดขึ้นและใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเหตุผล ๒ ประการ คือ เพื่อให้ดูเป็นคำที่น่ารัก และพิมพ์ง่ายขึ้น โดยที่ผู้ใช้ไม่คำนึงถึงว่า นั่น คือการทำลายภาษาไทยโดยทางอ้อม เพราะหลายๆคนนำคำเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันเสียด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้ว่า เด็กบางคนนำภาษาเหล่านี้มาใช้ในโรงเรียนจนแพร่หลาย นั่นคือความมักง่ายที่นำพาความหายนะมาสู่วงการภาษาไทยที่ไม่ควรมองข้าม

ปัญหาการใช้ภาษาไทยเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตกลายเป็นไฟลามทุ่งอยู่ทุกวันนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ภาษาไทยอันถือเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยนี้อาจจะบอบช้ำเสียจนเกินเยียวยา การปลูกฝังจิตสำนึกและความตระหนักแก่ทุกคนในชาติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะทุกสิ่งที่มนุษย์ยึดถือปฏิบัติล้วนมาจากจิตสำนึกทั้งสิ้น เมื่อกระทำได้ดังนี้แล้ว ไม่ว่าวิถีชีวิตแบบไหน หรือค่านิยมสมัยใหม่ประเภทใดก็ไม่สามารถทำลายภาษาไทยของเราได้อย่างแน่นอน

ระบบเสียงในภาษาไทย

ระบบเสียงในภาษาไทย แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ เสียงสระ เสียงพยัญชนะและเสียงวรรณยุกต์ เสียงสระ หรือเสียงแท้ คือเสียงที่เปล่งโดยให้ลมออกทางช่องปาก และไม่กระทบหรือถูกปิดกั้น จากอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ในช่องปาก เสียงสระในภาษาไทยแบ่งออกเป็น

1.1 สระแท้หรือสระเดี่ยว มี 18 เสียงดังนี้

ระดับลิ้น (ปลายลิ้น ) สระหน้า (กลางลิ้น) สระกลาง (โคนลิ้น) สระหลัง

ระดับสูง อิ อี อึ อื อุ อู

กลางสูง เอะ เอ เออะ เออ โอะ โอ

กลางต่ำ แอะ แอ - - เอาะ ออ

ต่ำ - - อะ อา - -

1.2 สระเลื่อน หรือ สระประสม มี 3 เสียงดังนี้ สระเอีย (= อี + อา) สระ เอือ (= อือ + อา) และสระ อัว (= อู + อา) สระประสมเกิดจากการเลื่อนของลิ้น ในระดับสูง ลดลงสู่ระดับต่ำ ดังนั้นจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "สระเลื่อน" ในบางตำรา จะเพิ่มสระเลื่อนเสียงสั้น มักเป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติ หรือไม่ ก็เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาอื่น เช่น ผัวะ ยัวะ เปรี๊ยะ เกี๊ยะ เจี๊ยะ

1.3 สระเกิน คือสระที่มีเสียงพยัญชนะประสมอยู่ด้วย ไม่จัดว่าเป็นสระที่แท้จริง คือ ฤ(=ร+อึ) ฤา(=ร+อื) ฦ (=ล+อื) อำ (=อะ+ม) ไอ ใอ (=อะ+ย)

เอา (=อะ+ว)

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องเสียงสระ

1. เสียงสระสั้น - ยาวของเสียงสระเดี่ยว สามารถแยกความหมายของคำให้แตกต่างกัน เช่น มิด - มีด, เข็ด - เขต, อึด - อืด, อุด - อูฐ, หด - โหด

2. ฤ ฤา ฦ ฦา อำ ไอ ใอ เอา ถือเป็นสระเกิน คือสระที่มีเสียงพยัญชนะประสมอยู่ด้วย ดังนั้น สระเกินเหล่านี้ จึงไม่สามารถมีตัวสะกดได้อีก

3. เมื่อประสมคำเข้ากันแล้ว รูปสระอาจจะลดรูปหรือเปลี่ยนรูปได้ เช่น

• ลดรูปวิสรรชนีย์ (สระอะ) เช่น อนุชา พนักงาน ณ ธ

• เปลี่ยนรูปวิสรรชนีย์เป็นไม้ผัด (ไม้หันอากาศ) เมื่อมีตัวสะกด เช่น กัก กัด กัน และเป็นตัว ร หัน เช่น สรร สวรรค์

• เปลี่ยนรูปสระออ ในบางคำ เช่น บ่ จรลี ทรกรรม พร กร (ส่วนมากเป็น ตัว ร สะกด)

• เปลี่ยนรูปสระเอะ แอะ เป็นไม้ใต่คู้ เช่น เล็ก เก็ง แข็ง บางคำเพียงแต่ลดรูป เช่น เพชร เป็นต้น

• ลดรูปสระโอะ เช่น คน กก กง กด กบ ลด นก จด ขด นนท์

• เปลี่ยนรูปสระเอาะ โดยใช้ตัว อ กับไม้ใต่คู้แทน เช่น ล็อคเกต หรือเพียง แต่ลดรูป เช่น นอต เป็นต้น

• เปลี่ยนรูปสระเออ เป็นรูปสระอิแทนรูป อ เช่น เกิน เริง เชิด เพลิง

• ลดรูป อ ในสระเออ ในคำที่สะกดด้วยแม่เกย เช่น เกย เขย เคย (ปัจจุบัน ยังมีคำที่เขียนเต็มรูปอยู่บ้าง เช่น เทอม เทอญ เป็นต้น)

• ลดรูปไม่ผัดในสระ อัว ในคำที่มีตัวสะกด เช่น ควง ขวด เพราะฉะนั้น เวลาพิจารณาเรื่องเสียงสระ ต้องไม่ลืมนึกถึงการลดรูป หรือเปลี่ยนรูปสระด้วย

• เสียงสระบางเสียงใช้รูปสระแทนได้หลายรูป เช่น เสียง ไอ อาจเขียน ใน ไน นัย ทำให้ความหมายต่างกัน

• เสียงสระบางเสียงใช้อักษรแทนได้หลายรูปเช่น เสียง อำ อาจเขียน ทำ ธรรม

ตำแหน่งของเสียงพยัญชนะ ปรากฏได้ใน 2 ตำแหน่ง คือ

1. ตำแหน่งต้นคำ พยัญชนะทุกเสียงในภาษาไทยปรากฏในตำแหน่งต้นคำ โดยปรากฏเพียงตัวเดียวเช่น สวน อ่าง หู และปรากฏ 2 เสียง คือควบเสียง / ร /

/ ล // ว / เป็นเสียงควบกล้ำ เช่น กราด กลาด กวาด

2. ตำแหน่งพยางค์ท้าย เสียงพยัญชนะที่ปรากฏในตำแหน่งพยางค์ท้าย 8 เสียง ได้แก่ / ป / - แม่กบ / ต / - แม่กด / ก / - แม่กก / ง / - แม่กง / น / - แม่กน / ม / - แม่กม / ย / - แม่เกย / ว / - แม่เกอว

พยัญชนะไทยมีทั้งหมด 21 เสียง และแทนด้วยตัวอักษรถึง 44 รูป ในระบบเขียนจึงมักเกิดปัญหาว่า จะใช้อักษรตัวไหนเขียนแทนเสียงนั้น ๆ หากไม่รู้ความหมายเสียก่อน

พยัญชนะต้น

• เสียง / ข / มีรูป ข ค ฆ เช่น ไข่ คน เฆี่ยน

• เสียง / ช / มีรูป ฉ ช ฌ เช่น ฉาน ชาน ฌาน

• เสียง / ถ / มีรูป ฐ ฒ ถ ท ธ (ฑ ในบางคำ) เช่น ฐาน เฒ่า ถุง ท่าน ธง มณโฑ

ตัวสะกด

มาตราแม่ กก ใช้ ก ข ค ฆ สะกดได้ เช่น โกรก เลข อัคนี เมฆ

มาตราแม่ กง ใช้ ง สะกด เช่น หมาง ยุง

มาตราแม่ กด ใช้ จ ฎ ฏ ฐ ฒ ด ต ถ ท ธ ซ ส ศ ษ สะกดได้แก่ อัจฉรา บงกซ กฎ ปรากฏ

มาตราแม่ กน ใช้ น ญ ณ ร ล ฬ สะกดได้แก่ กัน กัญญา ญาณ

มาตราแม่ กบ ใช้ บ ป พ ฟ ภ สะกดได้แก่ อบ บาป

มาตราแม่ กม ใช้ ม สะกด เช่น กรรม

มาตราแม่ เกย ใช้ ย สะกด เช่น ขวย รวย

มาตราแม่ เกอว ใช้ ว สะกด เช่น วาว

รูปพยัญชนะที่ไม่ใช้เป็นตัวสะกดเลย คือ ฉ ฌ ผ ฝ อ ห ฮ

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องเสียงพยัญชนะ

1. เสียงพยัญชนะมี 21 เสียง แต่แทนด้วยรูปพยัญชนะ 44 รูป จึงมีปัญหาเกี่ยวกับการเขียน

2. รูปพยัญชนะมีลักษณะผูกพันกับเสียงวรรณยุกต์ การที่เราจัดอักษรสูง กลาง ต่ำ แสดงว่า ตัวพยัญชนะของเรา เมื่อผสมสระแล้ว จะเกิดเสียงวรรณยุกต์ติดตามมา

3. รูปพยัญชนะบางตัวไม่ออกเสียง

• พยัญชนะที่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับ เช่น สงฆ์ วงค์ จันทร์

• พยัญชนะที่ตามหลังพยัญชนะสะกดบางคำ เช่น สมุทร พุทธ

• ร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอักษรควบไม่แท้ เช่น ทรง ทราบ ทรวง เสด็จ

• ร หรือ ห ที่นำหน้าพยัญชนะสะกดบางคำ เช่น ปรารถนา พรหม

• ห หรือ อ ที่นำอักษรเดี่ยว เช่น หลาย หลาก อย่า อยู่

4. ตัวอักษรเรียงกัน 2 ตัว บางครั้งออกเสียงควบ บางครั้งออกเสียง สระแทรก เช่น จมปลัก ปรักหักพัง

5. ตัว "ว" ทำหน้าที่ได้หลายอย่าง เช่น สระอัว เช่น กลัว รวย

• พยัญชนะควบ เช่น ควาย ขวาด พยัญชนะต้น วูบ วาบ

• อักษรนำ เช่น หวั่น ไหว พยัญชนะท้าย เช่น ราว ร้าว

6. เสียงวรรณยุกต์ หรือเสียงดนตรี คือ เสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่เปล่งออกมาพร้อมกับเปล่งเสียง สระเสียง ต่ำนี้ ทำให้ความหมายต่างกัน เสียงวรรณยุกต์ในภาษาไทย มี 5 เสียง คือ สามัญ เอก โท ตรี และจัตวา

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องเสียงวรรณยุกต์

คำไทยบางคำออกเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์ หรือมีเสียงวรรณยุกต์แต่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ มีหลักสังเกต คือ

1. คำที่ออกเสียงไม่ตรงรูปวรรณยุกต์ คือ อักษรต่ำ คำเป็นและคำขยาย ถ้ามีรูปวรรณยุกต์ เอก

จะออกเสียงเป็นเสียงโท และถ้ามีรูปวรรณยุกต์ โท จะออกเสียงเป็นเสียงตรี

2. คำที่ออกเสียงวรรณยุกต์ แต่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ คือ คำที่เป็นพื้นเสียงของอักษรทั้ง 3 หมู่ ได้แก่

• อักษรสูง คำเป็น พื้นเสียงจัตวา คำตายพื้นเสียง เอก

• อักษรต่ำ คำเป็น พื้นเสียงสามัญ คำตายเสียงยาว พื้นเสียงโท

ฝากบทความนี้ให้นักเรียนไปศึกษา เพื่อปรับพื้นฐานในการเรียนวิชาภาษาไทยก่อน อีกประเด็นหนึ่งเป็นใบความรู้ประกอบรายวิชาภาษาไทย หลักการใช้ภาษา แล้วตอบคำถามท้ายบทเรียน 2 ข้อ (เขียนลงในกระดาษ A4 ที่แจกให้)

  • ปัญหาการใช้ภาษาไทยของครูและนักเรียนเกิดขึ้นได้อย่างไร
  • ระบบเสียงในภาษาไทยมีกี่ชนิด อะไรบ้าง
หมายเลขบันทึก: 617190เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ตุลาคม 2016 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปัญหาการใช้ภาษาไทย การทำลายภาษาไทยทางอ้อม โดยเกิดจากปัจจัยหลักๆ 1เกิดจากครูซึ่งบางท่านความรู้ไม่แตกฉาน เอาแต่สอน ไม่เข้าใจมุมมองเด็ก2.เกิดจากตัวเด็กเอง เนื่องจากยุคนี้มีเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเรามาก ยิ่งการสนทนาในแชท โซเชียล คำบางคำก็ถูกคิดขึ้นมา เพื่อดัดแปลงให้มันเป็นคำน่ารัก และสะดวก พิมพ์ง่ายต่อการสนทนานั้นเอง เลยเกิดทำให้ทำลายภาษาไทยโดยทางอ้อม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท