บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย


สุชีพ ปุญญานุภาพ (13 เมษายน พ.ศ. 24604 พฤษภาคม พ.ศ. 2543) เป็นนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับทั้งจากพุทธศาสนิกชนและคณะสงฆ์ไทยอย่างกว้างขวาง ในฐานะที่สมบูรณ์ด้วยวิชาความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเยี่ยมยอด หาใครเทียมได้ยาก ในเวลาเดียวกัน ก็มีความประพฤติที่ดีงาม สุภาพอ่อนโยน ระหว่างที่ท่านเคยบวชเป็นพระอยู่ในชื่อว่า สุชีโว ภิกขุ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด เพราะประการแรก ท่านเชี่ยวชาญพระพุทธศาสนาเป็นเลิศ ประการที่สอง ท่านรอบรู้วิชาการสมัยใหม่อย่างเยี่ยม ประการที่สาม ท่านเป็นพระภิกษุไทยรูปแรกที่บรรยายธรรมเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดการติดต่อระหว่างชาวพุทธในต่างประเทศกับประเทศไทย แม้ว่าท่านจะมีภาระงานมากมาย แต่ท่านก็เป็นนักเขียน ที่ผลิตงานเขียน ทั้งในรูปหนังสือและตำราเผยแพร่ความรู้ด้านพุทธศาสนา

บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย

สมัยเป็นพระภิกษุอยู่วัดกันตมาตุยาราม ท่านเปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนาควบคู่กับวิชาทางโลกสมัยใหม่ให้ศิษยานุศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและสามเณร รวมทั้งประชาชนทั่วไป ต่อมา พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร ได้แนะนำให้ท่านรื้อฟื้นมหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยุบกิจการไปนานแล้ว หลังจากประสบปัญหาต่างๆ และเสนอแนะให้ท่านมาใช้สถานที่ในวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านจึงพาลูกศิษย์มาขอใช้สถานที่ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเริ่มเปิดเรียนเป็นกิจลักษณะ แม้จะมีการต่อต้านจากพระสงฆ์ผู้ใหญ่มาก เพราะถือว่าวิชาความรู้สมัยใหม่ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นเดรัจฉานวิชา แต่ท่านก็สู้อดทน วัตถุประสงค์ก็คือ ต้องการสร้างบุคลากรที่สามารถประยุกต์ พุทธธรรม ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่ จนกระทั่ง ได้รับการสนับสนุนจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งได้ออกโรงสนับสนุนด้วยพระองค์เอง โดยมีพระบัญชาให้ประกาศเพื่อตั้งสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัยเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไทยในยุคใหม่

หลายสิบปีผ่านไป แม้จะถูกวิจารณ์ว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์เถื่อนเพราะรัฐบาลไม่ยอมรับรอง แต่พระสงฆ์ก็เรียกร้องรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ปีพุทธศักราช 2527 รัฐบาลก็ตรากฎหมายรับรอง และในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก็ได้รับการรองรับให้เป็น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ อย่างสมบูรณ์ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพมักห้ามศิษยานุศิษย์มิให้กล่าวหรือเขียนยกย่องท่านในที่สาธารณะ ตามนิสัยถ่อมตัวและรักสันโดษของท่าน จึงไม่ค่อยมีคนทราบประวัติและความดีที่ท่านทำอยู่เบื้องหลังการก่อตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์เท่าใดนัก เนื่องในงานประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกครั้งที่ 4 จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่ มหามกุฏราชวิทยาลัย และองค์กรพุทธชาวญี่ปุ่นร่วมเป็นเจ้าภาพจัด ระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมาและมีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วทุกมุมโลก ดร. ปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ ได้นำเสนอบทความว่าด้วยประวัติและผลงานของท่านอาจารย์สุชีพ เป็นครั้งแรกที่มีเขียนประวัติท่านเป็นภาษาอังกฤษค่อนข้างละเอียด โดยได้เชิญชวนให้บรรดาผู้นำชาวพุทธทั่วโลกที่มาร่วมชุมนุมร่วมยกย่องท่านอาจารย์สุชีพเป็น "บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย"(The Father of Modern Buddhist University in Thailand) เพื่อประกาศเกียรติคุณของท่านให้ปรากฏ

คำว่า บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย เพื่อยกย่องอาจารย์สุชีพนี้ดร.ปฐมพงษ์ริเริ่มนำมาใช้ในบทความชื่อ Sujib Punyanubhab: His Life and Work เป็นบทความขนาดยาว รวมอยู่ในหนังสือ Buddhist Unity in the Globalisation Age ซึ่ง มหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาได้จัดพิมพ์เมื่อคราวจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกนั่นเอง บทความดังกล่าวเชิญชวนให้บรรดาชาวพุทธระดับผู้นำซึ่งมาประชุมพร้อมกันได้รับรู้ถึงคุณูปการที่ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้กระทำต่อพระพุทธศาสนาในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ กล่าวคือสมัยศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นช่วงที่วัฒนธรรมวัตถุนิยมใหลบ่าเข้าสู่ประเทศไทยมาก ประชาชนทั่วประเทศกำลังเบนเข็มไปพัฒนาประเทศในแนววัตถุนิยม หลงลืมพระพุทธศาสนา หลายคนพูดไทยปนฝรั่ง ในขณะที่พระสงฆ์ก็เทศน์คำไทยปนคำบาลีสันสกฤต ไม่มีความรู้ในวิชาการทางโลกพอจะเข้าใจชาวบ้าน พระสงฆ์ถูกมองว่าเป็นพวกไดโนเสาร์ของประเทศ การศึกษาของสงฆ์ไม่สัมพันธ์กับสังคมที่เปลี่ยนไป ฯลฯ

เมื่อสังคมมีแนวโน้มที่จะเชื่ออย่างนี้ สุชีโว ภิกฺขุ (หรือ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ) ได้พยายามรื้อฟื้นมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งสถาปนาขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถูกยุบไปใหม่ แรกเริ่มท่าน ได้เปิดสอนวิชาพระพุทธศาสนาแนวประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ที่วัดกันตมาตุยาราม ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับเยาวราช ให้แก่พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา หลังจากนั้น พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ ป.ธ.๖) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารได้นิมนต์ท่านให้มาใช้สถานที่ของวัดบวรนิเวศวิหารเพื่อเปิดสอนให้เป็นกิจจะลักษณะในรูปวิทยาลัย พร้อมทั้งแนะให้รื้อฟื้น มหามกุฏราชวิทยาลัย ด้วย

ท่านสุชีโว ภิกขุจึงพาลูกศิษย์ที่สนใจเรียนด้วยมาเปิดเรียนที่ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยใช้อาคารตึก มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถานที่เรียน พระสงฆ์สามเณรที่สนใจประยุกต์หลัก พุทธธรรม ก็พากันมาเรียนกับท่านสุชีโว ภิกขุเป็นจำนวนมาก แต่พอมีข่าวว่าท่านสุชีโว ภิกขุจะรื้อฟื้นวิทยาลัยสงฆ์แล้วเปิดการสอนในรูปแบบมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าบรรดาพระเถรานุเถระระดับเจ้าอาวาสวัดทั่วประเทศจำนวนมากต่อต้าน บอกว่าวิชาสมัยใหม่เป็นเดรัจฉานวิชา ขณะเดียวกัน ก็พากันห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรในวัดออกไปร่วมกิจกรรมกับสุชีโว ภิกขุ พระเถระผู้ใหญ่หลายท่านอ้างว่าการไปเรียนวิชาสมัยใหม่จะทำให้พระสงฆ์สามเณรสึกหาลาเพศกันมากขึ้น ทำให้จำนวนพระภิกษุสามเณรลดลง ตัวท่านเองเป็นเป้าของการติฉินนินทานานัปประการ ถูกมองว่าจะนำความเสื่อมเสียมาสู่พระพุทธศาสนาก็มี

สุชีโว ภิกขุจึงพยายามอย่างหนักที่จะทำความเข้าใจ กับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ซึ่งมีจำนวนน้อยมากที่เห็นด้วย ขณะเดียวกัน ก็พยายามบรรยายและปาฐกถาให้บรรดาข้าราชการไทยที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่เห็นคุณค่า แต่กระแสสังคมในสมัยนั้น คล้อยตามพระเถรานุเถระผู้ใหญ่สูงมาก แนวคิดของท่านจึงถูกต่อต้านหลังจากพยายามอยู่หลายปี ในที่สุด ท่านสุชีโว ภิกขุจึงเข้าไปกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นส่วนตัว โดยมี พระมหาเจริญ สุวฑฺฒโน วัดบวรนิเวศวิหาร (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน ช่วยอธิบายให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ฟังด้วย สุชีโว ภิกขุได้อธิบายว่า

  1. พระสงฆ์ที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์ล้วนแต่หนักแน่นในพระพุทธศาสนาเพราะต่างได้เปรียญสูงๆ กันมาแล้ว การเปิดมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาจะช่วยให้พระสงฆ์ได้มีความรู้ในการประยุกต์หลัก พุทธธรรม ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่
  2. ศาสตร์สมัยใหม่ทั้งหลายมีประโยชน์ในการเป็นบันไดหรือรางรถไฟให้พระพุทธศาสนา (ซึ่งท่านเปรียบเหมือนตัวรถไฟ) ได้วิ่งไปโดยสะดวก
  3. ถึงพระสงฆ์ที่บวชเรียนและจบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์จะสึกหาลาเพศไป ก็จะเป็นศาสนทายาท ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาในหน่วยงานของตนๆ ได้

หลังจากทรงทราบรายละเอียด อันรวมทั้งวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการแล้ว สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ก็ทรงออกหน้าให้ความอุปถัมภ์ เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ทรงเห็นชอบขึ้นมา คณะสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหารก็เห็นชอบด้วย, ให้ความอุปถัมภ์จนถึงช่วยชี้แจงให้พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไปเข้าใจด้วย ในที่สุด มหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกก็เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2488 โดยมีสุชีโว ภิกขุ เป็นเลขาธิการท่านแรก เมื่อเห็นมหามกุฏราชวิทยาลัยสามารถเปิดสอนได้ ฝ่ายคณะสงฆ์มหานิกายก็รื้อฟื้น มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขึ้นตามมาในปี พ.ศ. 2490 ประเทศไทยเราจึงมีมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่สร้างศาสนทายาทถึง 2 แห่งซึ่งขณะนี้ ได้ขยายวิทยาเขตไปทั่วประเทศเพราะความมานะบากบั่นริเริ่มของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ โดยแท้ บทความได้สรุปว่าคุณูปการที่อ.สุชีพได้กระทำเหล่านี้ สมควรที่ชาวพุทธจะร่วมกันเชิดชูเกียรติท่านอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ไว้ในฐานะ บิดาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย ในบันทึกประวัติศาสตร์เพื่อให้ชาวพุทธรุ่นหลังได้รับรู้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 616908เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2016 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2016 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท