ผ้าขาวเปื้อนหมึก
กานนา สงกรานต์ กานต์ วิสุทธสีลเมธี

ภาษาไทยกับอุปสรรคในการแต่งเพลง


ภาษาไทยกับอุปสรรคในการแต่งเพลง

posted on 10 Dec 2004 17:56 by 9tawan in Music

เคยสังเกตเล่น ๆ ว่า ทำไมเพลงไทยเพราะ ๆ กับ เพราะฝรั่งเพราะ ๆ (และเพลงชาติอื่นเพราะ ๆ) เนี่ย วิธีการเล่นเสียงมันแตกต่างกัน เพลงไทยต้องร้องแบบว่า "เรียบร้อย" คือ ทำเสียงแบบเดี๋ยวสูงเดี๋ยวต่ำไม่ได้ บางช่วงน่าจะสูงมันดันสูงไม่ได้ บางช่วงมันน่าจะต่ำก็ลงต่ำไม่ได้

คำตอบ น่าจะเป็นเพราะว่า ภาษาไทย เป็น ภาษาที่ดันมีระดับเสียง (Pitch) อยู่ในตัวภาษาด้วย บางคนบอกว่าเป็นภาษาที่เหมือนเป็นดนตรี ก็ คงไม่เถียงล่ะนะ แต่ไอ้ความที่มันมีระดับเสียงอยู่แล้ว การใช้คำมันก็จะลำบากขึ้นไปอีก เพราะ ต้องใช้คำที่มีระเดียบเสียงที่เหมาะสมกับตัวโน๊ตทีอยู่ตรงนั้นด้วย

อย่างเอาคำง่าย ๆ ละกัน คำว่า "ลา" นะครับ ลองร้องด้วยทำนองเพลงที่คุณชอบ แต่ทุกคำให้เปลี่ยนเป็นคำว่า "ลา" ให้หมดเลย ร้อง ๆ ไปแล้วพยายามจำไว้นะครับว่าร้องเสียงอะไรออกไป อย่างของผมจะลองเพลงนี่ละกัน ....

"ลา ลา ลา หล่า ล๊า ลา หล่า " .... ธรรณีกรรแสงอ่ะ (พอเดาออกมั้ยครับ )

นี่ละ อุปสรรคอย่างนึงของภาษาไทยในการแต่งเพลงล่ะ หุหหุ

ลักษณะแปลก ๆ ของเพลงไทยในปัจจุบัน (พวกเพลงป๊อบ) คือ คำร้องต้องฟังง่าย ฟังแล้วต้อง "อ๋อ" ขึ้นมาว่าเพลงต้องการจะสื่ออะไร แถมถ้าไม่ใช่เพลง "รัก" ก็จะขายไม่ออกอีกต่างหาก ผมมีโอกาสได้ฟังเพลงพวกเพลงญี่ปุ่น แล้ว ลองไปค้น ๆ หาความหมายดู แปล ๆ แล้วก็อ่านตลกดีด้วยนะ แต่ ถ้ามาอ่านดูดี ๆ จะได้เห็นความหมายที่อยู่ข้างในลึก ๆ (ซึ่งต่างจากเพลงไทยที่ตรงไปตรงมา) ซึ่งในส่วนนี้ผมคิดว่าของเค้า "สวย" กว่าเพลงไทยจริง ๆ นะ หรือว่าเพราะในไทยมีปัญหาเรื่องนายทุนที่ไม่เข้าใจงานศิลปะ งานดี ๆ เลยไม่ค่อยได้ออกมาสักเท่าไหร่

^^'

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงแบบไม่น่าพึงประสงค์ พร้อมพระราชทานกระแสรับสั่งทุกฝ่ายถึงการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ฟังแล้วแปลก “ป๋าเปรม” วิงวอนให้ทุกคนตระหนักถึงกระแสรับสั่ง ออกโรงเตือนสติคนไทยทุกคนให้ภูมิใจในภาษาไทย ชี้แนะให้ดำรงและอนุรักษ์ภาษาถิ่นฐานให้ยั่งยืน รวมถึงกระตุ้นคนไทยรักหวงแหนและภูมิใจภาษาแม่ หวั่นภาษางอกทำภาษาไทยวิบัติ ด้าน “บิ๊กแอ้ด” รับเพิ่งรู้ความหมาย “แอ๊บแบ๊ว” สมาคมครูฯ แนะทุกฝ่ายช่วยปลูกฝังภาษาไทยให้เยาวชน

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ก.ค. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาระดับชาติ เรื่องการแก้วิกฤติภาษาไทย ซึ่งจัดการสัมมนาโดยสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย และกล่าวปาฐกถานำเรื่องภาษาไทยบนแผ่นดินไทยว่า การสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการร่วมมือร่วมใจในการทำสิ่งที่สำคัญยิ่งเพื่อชาติบ้านเมืองของเรา และเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่สมควรได้รับการยกย่อง ชมเชยโดยทั่วกัน ตนไม่ใช่ผู้รู้ภาษาไทยที่แตกฉาน แต่สนใจภาษาไทยอย่างมาก ทั้งในการอ่าน พูด เขียน เพราะรักภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่ของพวกเรา ตนถนอมและหวงแหนภาษาไทย เกรงว่าอาจจะมีผู้นำภาษาไทยไปสู่ความวิบัติ ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าใจผิด

"ผมมักจะตำหนิในใจอยู่เสมอ เมื่อมีผู้ใหญ่ที่ผมหวังว่าจะใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องกลับใช้ผิด คนไทยทุกคนหรือแม้แต่คนที่ไม่ใช่คนไทยทราบดีว่า ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ และเรามีภาษาประจำชาติภาษาเดียวคือภาษาไทย และไม่มีปัญหาในการสื่อสารซึ่งกันและกัน ไม่เหมือนในบางประเทศที่มีภาษาสื่อสารกันมากกว่า 1 ภาษา ทำให้เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร ในประเทศเรายังมีภาษาที่เราเรียกว่าภาษากลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นการพูดกันระหว่างกลุ่ม แต่ไม่น่าจะถือว่าเป็นอุปสรรค ขอให้คนไทยทุกคนพึงภูมิใจในภาษาของเราที่เรามีภาษา พยัญชนะ สระ ตัวเลข ของเราเอง เราเป็นเจ้าของภาษาของเราเองที่พ่อขุนรามประดิษฐ์คิดค้น ขึ้นมา ทำให้คนไทยสื่อสารกันได้ และทำให้เราเป็นคนไทยเลือดเนื้อเดียวกันโดยไม่ต้องมีคำอธิบาย" พล.อ.เปรม กล่าว

พล.อ.เปรม กล่าวต่อว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องดำรงและอนุรักษ์ภาษาถิ่นให้มั่นคงและยั่งยืน เพราะภาษาถิ่นเป็นการแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ของชาวถิ่นนั้น ๆ ที่รักและหวงแหนมากเช่นเดียวกัน อย่างตนเป็นคนใต้ ซึ่งตนมีความภูมิใจในความเป็นคนใต้ มีความรักและหวงแหนภาษาใต้ รวมทั้งพยายามอนุรักษ์ภาษาใต้เอาไว้ แต่ทำได้ค่อนข้างยาก และขณะนี้คนใต้จะแหลงใต้เฉพาะสำเนียง แต่คำที่ใช้เป็นภาษากลางความจริงภาษาถิ่นใช้ในเฉพาะกลุ่มและในการละเล่นต่าง ๆ เช่น โนราห์ในภาคใต้ แต่การสอนนักเรียนในโรงเรียนจะใช้ภาษากลางหรือบางคนเรียกว่าภาษากรุงเทพฯ

ประธานองคมนตรี กล่าวว่า ในเมื่อภาษาไทยเป็นภาษาหลัก พลเมืองไทยทุกคนจะต้องเรียนรู้ภาษาไทยให้ดีที่สุด ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน แต่ในขณะนี้การศึกษาภาษาไทยในทุกระดับยังไม่บรรลุผล ซึ่งอาจจะมาจากระบบการศึกษาของเราเปลี่ยนแปลงบ่อย จนจับหลักไม่ได้ หรือเกิดจากการลอกเลียนแบบจากต่างประเทศ แล้วแต่ผู้รู้จบมาจากสถาบันการศึกษาจากประเทศใด แต่สำหรับภาษาไทยตนคิดว่าลอกใครไม่ได้ จะต้องคิดปรับปรุงและพัฒนาเอง บางครั้งอาจจะต้องหวนกลับไปหาบรรพบุรุษ อย่างการสอนให้ท่องจำนั้นไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์แต่สามารถนำมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะการเรียนภาษาไทย อีกสาเหตุหนึ่งคือเรามีสาขาวิชาให้เลือกมาก ทำให้เด็กเลือกสาขาที่ชอบและภาษาที่เหมาะกับการประกอบอาชีพของตัวเองเท่านั้น จึงใช้ภาษาไทยถูกบ้างผิดบ้าง เพราะไม่ได้ทำให้การประกอบอาชีพของเขามีอุปสรรค และเด็กให้ความสำคัญกับภาษาต่างประเทศมากขึ้น

พล.อ.เปรม กล่าวต่อว่า ในความคิดส่วนตัวเห็นว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่เรียนรู้ให้แตกฉานได้ยากมาก เพราะภาษาไทยมีความกว้างขวาง ละเอียด ลึกซึ้ง ไวยากรณ์ยาก หลายคำมาจากภาษาบาลีและสันสกฤต คำหลายคำเขียนอย่างหนึ่ง อ่านอย่างหนึ่งและบางคำเขียนอย่างเดียวกันแต่อ่านออกเสียงได้สองอย่าง หรือบางคำออกเสียงโดยใช้ไม้ไต่คู้กำกับ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงความห่วงใยที่ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าพึงประสงค์ และเคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่าการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์สูงขึ้นเรื่อย ๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา ทำให้ฟังแล้วแปลก ตนหวังว่าทุกคนจะตระหนักถึงกระแสรับสั่ง

พล.อ.เปรม กล่าวอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของภาษาเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่ควรเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จงใจ ขณะนี้ทราบว่าราชบัณฑิตยสถานมีความคิดที่จะเก็บคำที่เกิดขึ้นใหม่ ที่อาจจะเกิดจากสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ เช่น "เด็กแนว" "เด็กซิ่ล" เมื่อเป็นอย่างนั้นภาษาไทยคงจะงอกขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีเป็นจำนวนมาก ตนมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นคนไทยมีความรู้เหมือนตน เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะรักษาภาษาไทยของเราให้บริสุทธิ์ สะอาด สง่างาม และปรารถนาที่จะเห็นคนไทยพูดภาษาไทยอย่างถูกต้องและชัดเจน

ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนเพิ่งทราบความหมายของคำว่า "แอ๊บแบ๊ว" แล้ว โดยได้ขอคำอธิบายจาก นางกาญจนา นาคสกุล นายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทยแล้ว โดยคำว่า "แอ๊บแบ๊ว" มาจากคำภาษาอังกฤษว่า "abnormal" บวกกับคำว่า "บ้องแบ๊ว"

นางกาญจนา นาคสกุล นายกสมาคม ครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย กล่าวถึง กรณีการ นำโอวาท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ ได้ปาฐกถาไปสานต่อว่า ลำดับแรกจะนำคำพูด ของ พล.อ.เปรมไปถอดเทปเพื่อเผยแพร่ไปยังประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบว่า พล.อ.เปรมมี แนวคิดอย่างไรกับภาษาไทยและความสำคัญของการใช้ภาษาไทย ภาษาถิ่น ซึ่งศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาฯ และคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รมว.วัฒนธรรมที่อยู่ในห้องประชุมสัมมนา ทั้งสองท่านจะได้รับลูกเพื่อดำเนินการต่อ อย่างน้อยด้านการจัดการศึกษาหรือการถ่ายทอดความคิดให้สังคมได้รับทราบก็คงจะได้มีการดำเนินการต่อไปได้เรื่อย และแนะทุกฝ่ายช่วยปลูกฝังภาษาไทยให้เยาวชน

เรื่องปัญหาการใช้ภาษาไทยของครูและนักเรียน

โดยนางสาวน้ำฝนทะกลกิจ

ในวิถีแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารไร้พรมแดน ท่ามกลางสังคมที่มีค่านิยมยอมรับนับถือวัตถุมากกว่าคุณค่าของจิตใจนั้น หลายๆสิ่งกำลังเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังดำดิ่งลงสู่ห้วงเหวแห่งหายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็คือ ความเป็นไทยและภาษาไทย ภาษาชาติของเรานั่นเอง ที่กำลังถูกค่านิยมของคนรุ่นใหม่รุกรานจนแทบไม่หลงเหลือเค้าเดิมอยู่เลย

ปัญหาการใช้ภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆจนในขณะนี้ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ในสถานศึกษาอันเป็นแหล่งหล่อหลอมความรู้ก็มิได้ละเว้น ภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อของผู้เรียน และสุดท้ายผู้เรียนจึงได้รับความรู้แบบงูๆปลาๆที่จะนำไปใช้ต่อไปอย่างผิดๆ หากเราจะแยกปมปัญหาการใช้ภาษาไทยในโรงเรียนนั้น สามารถแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้๒ ประเด็น คือ


๑.ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจาก ครู เนื่องจากครู คือ ผู้ประสาทวิชา เป็นผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ดังนั้นความรู้ในด้านต่างๆ เด็กๆจึงมักจะได้รับมาจากครูเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ครูบางคนนั้นมีความรู้แต่ไม่แตกฉาน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความละเอียดอ่อน และมีส่วนประกอบแยกย่อยอย่างละเอียดลออ เมื่อครูไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างกระจ่าง จึงทำให้นักเรียนไม่เข้าใจตามไปด้วย จนในที่สุดพาลเกลียดภาษาไทยไปในที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน


ความเป็นครูนั้น แน่นอนการสอนย่อมสำคัญที่สุด ครูบางคนมีความรู้อยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่กลับสอนไม่เป็น ซึ่งครูส่วนใหญ่มิได้ยอมรับปัญหานี้ บางคนสักแต่ว่าสอน แต่ไม่เข้าใจเด็กว่าทำอย่างไร อธิบายอย่างไร เด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าข้าวนั้นจะซึมซับเอาความรู้จากท่านไปได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเด็กจึงเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้ภูมิความรู้ที่มีอยู่ในตัวครูเลยครูจึงควรหันกลับมายอมรับความจริง และพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เหมาะสมกับที่เป็นผู้รู้ที่คนทั่วไปยอมรับนับถือ


๒. ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากนักเรียน ในสังคมยุคไซเบอร์ ซึ่งสามารถเข้าไปใช้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกภาคส่วน “ เด็ก” ซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากลองจึงมิได้ให้ความสนใจเพียงแค่การศึกษาค้นคว้าข้อมูลการศึกษาเท่านั้น หากแต่สนใจกับภาคบันเทิงควบคู่ไปด้วย และโดยแท้จริงแล้ว มักจะให้ความสำคัญกับประเด็นหลังมากกว่าการค้นคว้าความรู้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กนั้นเป็นปมปัญหาสำคัญยิ่งที่ไม่ควรมองข้าม


ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มลุกลามมาจากโปรแกรมแชทรูมและเกมออนไลน์ ซึ่งดูคล้ายเป็นการสนทนากันธรรมดา แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว มิใช่เลย การสนทนาอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ดังเช่นที่พบตามหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้แก่วงการภาษาไทยด้วย นั่นคือการกร่อนคำ
และการสร้างคำใหม่ให้มีความหมายแปลกไปจากเดิม หรืออย่างที่เรียกว่าภาษาเด็กแนวนั่นเอง ดังจะขอยกตัวอย่าง ดังนี้

สวัสดี เป็น ดีครับ ดีค่ะ
ใช่ไหม เป็น ชิมิ
โทรศัพท์ เป็น ทอสับ
กิน เป็น กิง


จะเห็นได้ว่าคำเหล่านี้ถูกคิดขึ้นและใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเหตุผล ๒ ประการคือเพื่อให้ดูเป็นคำที่น่ารัก และพิมพ์ง่ายขึ้น โดยที่ผู้ใช้ไม่คำนึงถึงว่า นั่น คือการทำลายภาษาไทยโดยทางอ้อม เพราะหลายๆคนนำคำเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันเสียด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้ว่า เด็กบางคนนำภาษาเหล่านี้มาใช้ในโรงเรียนจนแพร่หลาย นั่นคือความมักง่ายที่นำพาความหายนะมาสู่วงการภาษาไทยที่ไม่ควรมองข้าม


ปัญหาการใช้ภาษาไทยเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตกลายเป็นไฟลามทุ่งอยู่ทุกวันนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ภาษาไทยอันถือเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยนี้อาจจะบอบช้ำเสียจนเกินเยียวยา การปลูกฝังจิตสำนึกและความตระหนักแก่ทุกคนในชาติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะทุกสิ่งที่มนุษย์ยึดถือปฏิบัติล้วนมาจากจิตสำนึกทั้งสิ้น เมื่อกระทำได้ดังนี้แล้ว ไม่ว่าวิถีชีวิตแบบไหน หรือค่านิยมสมัยใหม่ประเภทใดก็ไม่สามารถทำลายภาษาไทยของเราได้อย่างแน่นอน

หมายเลขบันทึก: 616487เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 21:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท