“ทำอย่างไร จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล หรือประชาคมเหล่านี้ให้มีสุขภาวะอยู่เย็นเป็นสุข”


จัดทำโดย นาย รุจิกร วัฒนนิเวศ เลขที่15 5823015 PTOT

OPEN BOOK AND TAKE HOME EXAM

“ทำอย่างไร จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล หรือประชาคมเหล่านี้ให้มีสุขภาวะอยู่เย็นเป็นสุข”

1. ผู้สูงวัยติดเตียงยากจน มีปัญหากลืนลำบาก หกล้มจนปวดหลังรุนแรง และไม่มีคนดูแล

ตอบ เนื่องจากผู้สูงวัยที่ติดเตียง จะเกิดความขี้เกียจขยับเขยื้อนร่างกายจนทำให้กล้ามเนื้อของตนเองไม่ถูกใช้งานเท่าที่ควร อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ และร่างกายอ่อนเพลียอยู่บ่อยๆ ทำให้ไม่อยากที่จะทำกิจกรรมอะไร เพราะรู้สึกเหนื่อยง่าย นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อความเครียดจากผลกระทบที่ตามมาอีกด้วย นักกิจกรรมบำบัดจึงควรส่งเสริมกระตุ้นให้ผู้สูงอายุลุกออกจางเตียงเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง ให้ร่างกายได้ขยับเขยื้อน โดยนักกิจกรรมบำบัดอาจจะปรับพฤติกรรมให้ผู้สูงวัยนั้นหันมาออกกำลังกายเหมาะสมกับวัย และสภาพที่เขาเป็นอยู่ เพราะการออกกำลังกายเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่าได้ จนอยากทำกิจกรรมอื่นๆ โดยอาจชี้ให้ผู้สูงวัยเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย หรือเห็นว่าการออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน รวมทั้งชี้ให้เห็นโทษของการขาดการออกกำลังกาย เพื่อให้ผู้สูงวัยได้ตระหนักถึง หากผู้สูงวัยมีอาการปวดหลังร่วมด้วย ควรให้ออกกำลังกายแบบยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลัง หรือออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อ แขน ขาและมือ แทนในท่าที่ถูกต้อง เมื่อมีอาการเจ็บหลังมากๆ ควรหยุดพักบ้าง ซึ่งการนอนราบบนเตียงช่วยลดปวดขั้นพื้นฐานได้ แต่การนอนพักบนเตียงนานๆ ไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปวดหลัง เพราะการนอนพักบนเตียงเป็นระยะเวลานานมากกว่า 2 สัปดาห์ จะยิ่งเพิ่มอาการปวดหลัง และอาการปวดร้าวลงขา ดังนั้น หากปวดหลังมาก การนอนพักในช่วงแรกจึงไม่ควรเกิน 2-3 วัน แล้วหลังจากนั้นให้ปฏิบัติกิจกรรมเบาๆ ตามสมควรจึงจะถูกต้อง นอกจากนี้อาการอ่อนเพลียอาจเป็นผลมาจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือผู้สูงวัยทำกิจกรรมที่ทำแต่ละวันค่อนข้างน่าเบื่อเหมือนเดิมทุกๆ วัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง นักกิจกรรมบำบัดจึงควรให้ความรู้การโภชนาการที่ควรเพิ่ม หรือปรับเปลี่ยน และหากิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สูงวัยสนใจทำ หรือผู้สูงวัยทำแล้วเกิดความสนุกสนาน ช่วยผ่อนคลายความเครียด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงวัยลดการติดเตียงลง สำหรับปัญหาการกลืนลำบากในกรณีของผู้สูงวัย นักกิจกรรมควรฝึกการกระตุ้นกลืนให้ผู้สูงวัยอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามในกรณีนี้ผู้สูงวัยมีปัญหาความยากจน และไม่มีคนดูแล รวมถึงอาการปวดหลังนั้นรุนแรงมาก ดังนั้นนักกิจกรรมบำบัดควรส่งต่อผู้สูงวัยรายนี้ให้พบแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด เพื่อบำบัดรักษาต่อไป นอกจากนี้ควรติดต่อขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิบ้านพักคนชรา หรือมูลนิธิอื่นๆ ที่สามารถให้ความช่วยเหลือ ดูแลความปลอดภัย และสุขภาวะที่ดีแก่ผู้สูงวัยรายนี้ได้ในระยะยาว

2. วัยทำงานมีภาวะซึมเศร้า และไม่มีงานทำ ต้องให้พ่อแม่ผู้สูงวัยเลี้ยงดู

ตอบ วัยทำงานมีภาวะซึมเศร้า และไม่มีงานทำ นักกิจกรรมบำบัดควรส่งเสริมให้เขาหันกลับไปหางานทำ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของพ่อแม่ผู้สูงวัยที่ต้องคอยเลี้ยงดู สิ่งที่นักกิจกรรมบำบัดควรส่งเสริม คือ ให้เขาเปลี่ยนความคิดที่จดจ่อกับความรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ หรือเสียใจ และหมดกำลังใจ โดยหากิจกรรมที่เขาทำแล้วรู้สึกดี สนุกสนาน เพลิดเพลิน หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นดีกว่าที่จะให้เขาอยู่คนเดียว ควรเป็นกิจกรรมเบาๆ เช่น ออกกำลังกายเบาๆ การชมภาพยนตร์ ฟังเพลงเบาๆ เป็นต้น เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียดลง จากนั้นให้นักกิจกรรมบำบัดร่วมพูดคุยปรับทุกข์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ร่วมกันไขแก้ปัญหากับเขา โดยเน้นให้เขาคิดหาทางออกได้ด้วยตนเองว่าควรทำอย่างไรต่อไปกับปัญหาไม่มีงานทำ หรือปัญหาอื่นที่ทำให้เขาเกิดความเครียด จนมีภาวะซึมเศร้าเช่นนี้ รวมทั้งนักกิจกรรมบำบัดควรส่งเสริมกำลังใจ ไม่ให้เขาท้อแท้ หรือหมดกำลังใจในชีวิต ให้เขาเห็นคุณค่าของชีวิต จนกลับมารักตนเองมากขึ้น อาจจะให้ฝึก SELF-TALK เป็นประจำทุกวันเช้า-เย็น ประโยคละ 3-10 รอบ ว่า “ วันนี้ฉันมีสุขภาพกาย และจิตใจดีตลอดทั้งวัน ”“ วันนี้ฉันคิดบวกตลอดทั้งวัน ” เป็นต้น เพื่อสั่งจิตให้เขาคิดบวก ไม่จดจ่อกับความคิดเดิมๆ ที่ทำให้เครียด หรือเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองมากขึ้นก็ได้ กรณีนี้นักกิจกรรมบำบัดควรชี้ให้เขาเห็นความรักของพ่อแม่ผู้สูงวัยที่ท่านต้องทำงานหนัก คอยเลี้ยงดูเราด้วย หรือสร้างแรงบันดาลใจให้เขาหาอาชีพ โดยไม่ให้เขาตั้งเป้าหมายที่ใหญ่เกินตัวจนเกินไป เพราะอาจพลาดพลั้ง และผิดหวังมากกว่าเดิมหากไม่เป็นดังที่เขาวางเป้าหมายไว้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เขาเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ผู้สูงวัยที่ต้องเลี้ยงดู จนมีความรู้สึกมีกำลังใจในการหางานทำเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว และดูแลพ่อแม่ผู้สูงวัยได้ อย่างไรก็ตามหากเขามีภาวะซึมเศร้าขั้นรุนแรงมาก นักกิจกรรมบำบัดควรส่งต่อให้จิตแพทย์เป็นผู้บำบัดรักษาต่อไป

3. วัยรุ่นไม่ไปโรงเรียน ย้ำคิดย้ำทำ ผลัดวันปะกันพรุ่ง และติดเกม

ตอบ นักกิจกรรมบำบัดควรหาสาเหตุที่วัยรุ่นไม่ไปโรงเรียนให้พบ โดยอาจสอบถามกับผู้ปกครองของเด็กถึงปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เขาไม่ไปโรงเรียน หรือสอบถามเพื่อนในกลุ่มของเด็กเหล่านั้นว่าเขาทำกิจกรรมอะไรบ้าง ที่ไหน ที่ทำให้เขาไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะหากทราบสาเหตุวัยรุ่นไม่ไปโรงเรียน จะช่วยให้นักกิจกรรมบำบัดสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากขึ้น แต่จากกรณีนี้วัยรุ่นติดเกมด้วย จึงคาดว่านี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้วัยรุ่นไม่ไปโรงเรียน เพราะวัยรุ่นอาจใช้เวลาอยู่ร้านเกมแทนที่จะไปโรงเรียนก็เป็นได้ ซึ่งการติดเกมน่าจะส่งผลให้เขาผลัดวันปะกันพรุ่งต่องาน หรือไม่ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายตามสมควร จะเห็นว่าวัยรุ่นติดเกมน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นไม่ไปโรงเรียน และผลัดวันปะกันพรุ่ง ดังนั้นนักกิจกรรมบำบัดควรส่งเสริมให้วัยรุ่นเลิกติดเกม ด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเด็กก่อนเริ่มการปรับพฤติกรรมโดยควรตกลงกติกากันให้ชัดเจนก่อนอนุญาตให้เด็กเล่นเกม พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้กับเด็ก เช่น หากกำลังปรับลดชั่วโมงการเล่นเกม ก็ควรหากิจกรรมที่น่าสนใจมาทดแทนการเล่นเกมทันที และถ้าวัยรุ่นทำได้ก็ควรชม หรือให้กำลังใจ หรือให้รางวัล แบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างสม่ำเสมอ และเข้มงวด พร้อมทั้งนักกิจกรรมบำบัดควรให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองให้เข้าใจ และดูแลพฤติกรรมวัยรุ่นอย่างใกล้ชิดเพราะผู้ปกครองเป็นคนที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมากที่สุด กรณีนี้หากทำให้วัยรุ่นเลิกติดเล่นเกมลง อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้วัยรุ่นกลับไปโรงเรียนได้ นักกิจกรรมบำบัดควรเข้าใจ และวิเคราะห์ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นไม่ไปโรงเรียน แล้วประเมิน และวางแผนการรักษาอย่างละเอียดก่อนการนำวัยรุ่นกลับเข้าสู่โรงเรียน สำหรับการรักษาอาจใช้หลายวิธีผสมผสานกัน (multimodal treatment) เน้นแก้ไขสาเหตุ ร่วมกับการรักษาด้วยวิธี พฤติกรรมบำบัด (behavior therapy) หรือ การบำบัดพฤติกรรมและการรู้คิด (cognitive behavioral therapy) เป็นต้น ซึ่งหัวใจสำคัญของการรักษานี้ คือ ให้วัยรุ่นกลับเข้าสู่โรงเรียนเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เมื่อวัยรุ่นกลับไปโรงเรียนแล้ว นักกิจกรรมบำบัดควรแนะนำวิธีการเลี้ยงดูบุตรที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครองเพื่อขจัดนิสัยผลัดวันปะกันพรุ่งของตัววัยรุ่น โดยให้ผู้ปกครองคอยกระตุ้น และเตือนว่ามีสิ่งใดที่เขาควรทำให้เสร็จตรงเวลาบ้าง สร้างนิสัยให้วัยรุ่นกำหนดเวลา และเป้าหมายในการทำงาน หรือกิจกรรมต่างๆ ให้ชัดเจน รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการไม่ผลัดวันปะกันพรุ่งร่วมด้วย เป็นต้น ส่วนการย้ำคิดย้ำทำนั้นนักกิจกรรมบำบัดอาจรักษาด้วยวิธีพฤติกรรมบำบัด ให้วัยรุ่นเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวเป็นเวลานานๆ (exposure) เมื่อเวลาผ่านไปความกลัวที่เกิดขึ้นจะค่อย ๆ ลดลงเอง เพราะเราจะเกิดความชินชาขึ้น (habituation หรือ desensitization) ขณะฝึกให้งดเว้นการย้ำทำในขณะฝึกด้วย (response prevention) ฝึกซ้ำทุกวัน เพราะการย้ำคิดย้ำทำเกิดจากการวิตกกังวล และความกลัวเป็นหลัก กรณีที่มีอาการรุนแรงนักกิจกรรมบำบัดควรส่งวัยรุ่นต่อให้จิตแพทย์เพื่อบำบัดรักษาทางการแพทย์ต่อไป หากสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดได้จะทำให้สังคมมีสุขภาวะอยู่เย็นเป็นสุข ผู้ปกครองไม่เดือนร้อน หรือกังวลในพฤติกรรมของบุตรหลาน รวมทั้งบุตรหลานก็จะเป็นพลเมืองที่ดีสืบต่อมาในสังคม สามารถกลับไปทำหน้าที่ และบทบาทของตนได้อย่างดีเยี่ยม

4. วัยเด็กสมาธิสั้น ก้าวร้าว ตีคนแปลกหน้า และไม่ชอบออกจากบ้าน

ตอบ นักกิจกรรมบำบัดควรเข้าใจพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้น ทำการวางแผนบำบัดรักษา และบำบัดรักษาให้เด็กหันมามีสมาธิจดจ่อกับสิ่งรอบตัว หรือสิ่งแวดล้อมตรงหน้าได้นานยิ่งขึ้น โดยให้คำแนะนำการเลี้ยงดูบุตรให้ถูกวิธีว่าควรส่งเสริมพัฒนาการอะไรบ้างแก่ผู้ปกครอง รวมทั้งให้ผู้ปกครองไปฝึกกระตุ้นพัฒนาการของเด็กต่อที่บ้านด้วย เพราะผู้ปกครองใช้เวลาอยู่กับบุตรหลานมากที่สุด การก้าวร้าว ตีคนแปลกหน้าเป็นผลมาจากอาการสมาธิสั้นร่วมด้วย หากฝึกให้เด็กมีสมาธิจดจ่อมากขึ้นจะช่วยลดปัญหานี้ลงได้บ้าง หลังจากนั้นนักกิจกรรมบำบัดควรพูดคุยกับตัวเด็กปรับความเข้าใจถึงสาเหตุที่เด็กแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น แล้วให้เด็กสามารถคิดได้ในเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง และสอนการเลี้ยงดูบุตรที่ถูกต้องแก่ผู้ปกครองให้ผู้ปกครองดูแลบุตรอย่างใกล้ชิด ถ้าเด็กทำร้ายตนเอง คนแปลกหน้า หรือข้าวของให้หยุดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยความสงบ หนักแน่น เอาจริง เช่น จับมือเด็กไม่ให้ปาของ หรือตีคนอื่น ซึ่งผู้ปกครองต้องร่วมแก้ไข ด้วยการไม่ควรลงโทษเด็กรุนแรง แต่ควรจะปราม เตือน และสอนอย่างสม่ำเสมอ ว่าพฤติกรรมใดไม่เหมาะสม และพฤติกรรมใดเหมาะสม เปิดโอกาสให้เด็กได้แก้ไขด้วยตนเอง เช่น ลงโทษเมื่อทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน หรือเมื่อเด็กขว้างปาสิ่งของ ก็ให้เด็กไปเก็บสิ่งของนั้นเข้าที่ใหม่ด้วยตนเอง พร้อมทั้งควรให้ความสนใจ และชื่นชม เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เช่น ไม่ทำข้าวของเสียหาก หรือตีคนแปลกหน้า หรือเชื่อฟังคำสั่งสอนมากขึ้น หากเด็กทำผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจ ควรใช้คำพูดปลอบใจ ท่าทีเห็นใจ แนะนำวิธีแก้ไข เป็นต้น สำหรับพฤติกรรมที่เด็กไม่ชอบออกจากบ้าน อาจเป็นเพราะมีปัญหากลัวสังคม นักกิจกรรมบำบัดอาจบำบัดโดยวิธี CBT (Cognitive behavior therapy) หรือการบำบัดด้วยการรับรู้ และพฤติกรรม อาจจะแนะนำให้เข้ารับการบำบัดแบบกลุ่มฝึกฝนทักษะการเข้าสังคม เรียนรู้วิธีการตอบโต้บทสนทนา และทักษะการกล้าแสดงออกทุกชนิด รวมทั้งให้ผู้ปกครองสอนเด็กให้เล่น ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น หรือพาเด็กออกไปเที่ยวข้างนอกบ่อยๆ หลังจากทำการบำบัดแล้ว อย่างไรก็ดีหากพบอาการรุนแรงนักกิจกรรมบำบัดควรส่งต่อเด็กให้จิตแพทย์ เพื่อบำบัดรักษาต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ไม่ปรากฏนาม. อยากนอนบนเตียงทั้งวัน ไม่นึกอยากทำอะไร รู้ไหมว่าเข้าข่ายอาการทางจิต Clinomania !. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

http://health.kapook.com/view138936.html

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

โรงพยาบาลกรุงเทพ. โรคปวดหลัง และอาการปวดร้าวลงขา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

https://www.bangkokhospital.com/index.php/th/disea...

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่. การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

http://www.med.cmu.ac.th/hospital/nintmed/2012/int...

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

โรงพยาบาลมนารมย์. จิตแพทย์แนะ 9 วิธี ต้านซึมเศร้า. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

http://www.manarom.com/article-detail.php?id=66667...

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (school refusal). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

http://med.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/...

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

นพ. จิตริน ใจดี. ปัญหาเด็กติดเกม วิธีสังเกต ป้องกันและแก้ไข. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

https://www.it24hrs.com/2014/problem-of-game/

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

พันธ์ศักดิ์ พรมอินถา. การจัดการกับการผลัดวันปะกันพรุ่ง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

https://www.gotoknow.org/posts/481128

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. โรคย้ำคิดย้ำทำ อาการทางจิต คิด-ทำซ้ำ ๆ อันเกิดความจากกลัว.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

http://health.kapook.com/view3146.html

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. เรียนรู้และเข้าใจเด็กสมาธิสั้น. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

http://www.happyhomeclinic.com/a05-ADHD%20care.htm

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

ไม่ปรากฏนาม. โรคกลัวการเข้าสังคมคืออะไร อาการแบบไหนถึงจะเข้าข่ายป่วย ?. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :

http://health.kapook.com/view84729.html

(วันที่สืบค้นข้อมูล : 29 กันยายน 2559)

หมายเลขบันทึก: 616292เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2016 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2016 15:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท