ทฤษฏีจิตวิเคราะห์


แนวความคิดตามทฤษฎีจิตวิเคาระห์ของฟรอยด์ ซักมัน ฟรอยด์ (Sigmund Freud)

เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา เสนอแนวคิดเกี่ยวกับบุคลิกภาพดังนี้

1.โครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of Personality) เชื่อว่าบุคลิกภาพของมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 ส่วน

1.1 อิด (Id) = มีมาตั้งแต่กำเนิด อยู่ในจิตไร้สำนึก ประกอบด้วยสัญชาตญาณในการดำรงชีวิต ได้แก่ สัญชาตญาณทางเพศ แรงผลักดันทางชีววิทยา เช่น ความหิว ความกระหาย

การทำงานของอิด จะเป็นไปตามหลักของความพอใจ (Pleasure Principle) เป็นการเสาะแสวงหาความสุขความสบาย หลีกเลี่ยงความเจ็บปวด และต้องการได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างทันทีทันใดไม่คำนึงถึงผู้อื่น

1.2 อีโก้ (Ego) อีโก้พัฒนามาจากอิด หน้าที่สำคัญคือ ตอบสนองความต้องการหรือความพึงพอใจให้กับอิด ภายใต้หลักความเป็นจริง

1.3 ซูเปอร์อีโก้ (Superego) เป็นบุคลิกภาพที่พัฒนาเมื่อเด็กอายุ 5-6 ขวบ เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมที่เป็นมาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อแม่หรือผู้ใกล้ชิดในสังคม ซูเปอร์อีโก้จะอยู่ในจิตสำนึกและจิตไร้สำนึกซึ่งแบ่งได้ 2 ส่วน ส่วนแรก คือ มโนธรรม ส่วนของความละอายและเกรงกลัวต่อการทำผิด ส่วนที่สอง คือ อุดมคติแห่งตน ส่วนของความคาดหวังในสิ่งที่ดีงาม

ดังนั้นสรุปได้ว่าการทำงานของโครงสร้างทั้ง 3 ส่วนมีความสัมพันธ์กันและผสมผสานกัน ซึ่งอิดกับซูเปอร์อีโก้จะทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะอย่าง ส่วนอีโก้ทำหน้าที่ประสานการทำงานของระบบทั้งหมด อิดแสวงหาความพึงพอใจให้แก่ตนเอง ซูปเปอร์อีโก้เป็นผู้คอยควบคุมให้เกิดการกระทำในสิ่งที่ดี และอีโก้เป็นส่วนทำให้บุคคลมีชีวิตอยู่ในสั่งคมเพื่อรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันโดยทำให้อิดและซูปเปอร์อีโก้อยู่ในภาวะสมดุล หากการทำงานของทั้ง 3 ระบบไม่ประสานกันจะทำให้โครงสร้างบุคลิกภาพอยู่ในภาวะเสียสมดุลบุคลิกภาพที่แสดงออกมาก็จะตกอยู่ใต้อำนาจของโครงสร้างนั้นๆ

2. ขั้นพัฒนาการของบุคลิกภาพ แบ่งออกเป็น 5 ขั้น ตามช่วงวัยต่างๆดังนี้

1. ขั้นปาก (Oral Stage)

2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage)

3. ขั้นเพศ (Phallic Stage)

4. ระยะแฝง (Latence Stage)

5. ขั้นพัฒนาการทางเพศ (Genital Stage)

1) ขั้นปาก (0-18 เดือน) ฟรอยด์เรียกขั้นนี้ว่า เป็นขั้นออรอล เพราะความพึงพอใจอยู่ที่ช่องปาก เริ่มตั้งแต่เกิด เด็กอ่อนจนถึงอายุราวๆ 2 ปี หรือวัยทารก เป็นวัยที่ความพึงพอใจ เกิดจากการดูดนมแม่ นมขวด และดูดนิ้ว เป็นต้น ในวัยนี้ความคับข้องใจ จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "การติดตรึงอยู่กับที่" (Fixation) ได้และมีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ เรียกว่า "Oral Personality" มีลักษณะที่ชอบพูดมาก และมักจะติดบุหรี่ เหล้า และชอบดูด หรือกัดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีความเครียด บางครั้งจะแสดงด้วยการดูดนิ้ว หรือดินสอ ปากกา ถ้ามีลักษณะแบบนี้อาจจะชอบพูดจาถากถาง เหน็บแนม เสียดสีผู้อื่น

2) ขั้นทวารหนัก (18 เดือน – 3 ปี) ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กวัยนี้ได้รับความพึงพอใจทางทวารหนัก คือ จากการขับถ่ายอุจจาระ และในระยะซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง และความคับข้องใจของเด็กวัยนี้ เพราะพ่อแม่มักจะหัดให้เด็กใช้กระโถน และต้องขับถ่ายเป็นเวลา เนื่องจากเจ้าของความต้องการของผู้ฝึก และความต้องการของเด็ก เกี่ยวกับการขับถ่ายไม่ตรงกันของเด็ก คือความอยากที่จะถ่ายเมื่อไรก็ควรจะทำได้ เด็กอยากจะขับถ่ายเวลาที่มีความต้องการ กับการที่พ่อแม่หัดให้ขับถ่ายเป็นเวลา บางทีเกิดความขัดแย้งมาก อาจจะทำให้เกิด Fixation และทำให้เกิดมีบุคลิกภาพนี้เรียกว่า Anal Personality ผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ อาจจะเป็นคนที่ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นพิเศษ และค่อนข้างประหยัด มัธยัสถ์ หรืออาจมีบุคลิกภาพตรงข้าม คืออาจจะเป็นคนที่ใจกว้าง และไม่มีความเป็นระเบียบ เห็นได้จากห้องทำงานส่วนตัวจะรกไม่เป็นระเบียบ

3) ขั้นเพศ (3-5 ปี) ความพึงพอใจของเด็กวัยนี้อยู่อวัยวะสืบพันธุ์ เด็กมักจะจับต้องลูกคลำอวัยวะเพศ ระยะนี้ ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กผู้ชายมีปมเอ็ดดิปุส (Oedipus Complex) ฟรอยด์อธิบายการเกิดของปมเอ็ดดิปุสว่า เด็กผู้ชายติดแม่และรักแม่มาก และต้องการที่จะเป็นเจ้าของแม่แต่เพียงคนเดียว และต้องการร่วมรักกับแม่ แต่ขณะเดียวกันก็ทราบว่าแม่และพ่อรักกัน และก็รู้ดีว่าตนด้อยกว่าพ่อทุกอย่าง ทั้งด้านกำลังและอำนาจ ประกอบกับความรักพ่อ และกลัวพ่อ ฉะนั้นเด็กก็พยายามที่จะเก็บกดความรู้สึก ที่อยากเป็นเจ้าของแม่แต่คนเดียว และพยายามทำตัวให้เหมือนกับพ่อทุกอย่าง ฟรอยด์เรียกกระบวนนี้ว่า Resolution of Oedipal Complex เป็นกระบวนการที่เด็กชายเลียนแบบพ่อ ทำตัวให้เหมือน "ผู้ชาย" ส่วนเด็กหญิงมีปมอีเล็คตรา (Electra Complex) ซึ่งฟรอยด์ก็ได้ความคิดมาจากนิยายกรีก เหมือนกับปมเอ็ดดิปุส ฟรอยด์อธิบายว่า แรกทีเดียวเด็กหญิงก็รักแม่มากเหมือนเด็กชาย แต่เมื่อโตขึ้นพบว่าตนเองไม่มีอวัยวะเพศเหมือนเด็กชาย และมีความรู้สึกอิจฉาผู้ที่มีอวัยวะเพศชาย แต่เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ยอมรับ และโกรธแม่มาก ถอนความรักจากแม่มารักพ่อ ที่มีอวัยวะเพศที่ตนปรารถนาจะมี แต่ก็รู้ว่าแม่และพ่อรักกัน เด็กหญิงจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกป้องกันตน โดยเก็บความรู้สึกความต้องการของตน (Represtion) และเปลี่ยนจากการโกรธเกลียดแม่ มาเป็นรักแม่ (Reaction Formation) ขณะเดียวกันก็อยากทำตัวให้เหมือนแม่ จึงเลียนแบบ สรุปได้ว่าเด็กหญิงมีความรักพ่อ แต่ก็รู้ว่าแย่งพ่อมาจากแม่ไม่ได้ จึงเลียนแบบแม่ คือ ถือแม่เป็นแบบฉบับ หรือต้นแบบของพฤติกรรมของผู้หญิง

4) ระยะแฝง (Latency Stage) เด็กวัยนี้อยู่ระหว่างอายุ 6-12 ปี เป็นระยะที่ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กเก็บกดความต้องการทางเพศ หรือความต้องการทางเพศสงบลง (Quiescence Period) เด็กชายมักเล่น หรือจับกลุ่มกับเด็กชาย ส่วนเด็กหญิง ก็จะเล่น หรือจับกลุ่มกับเด็กหญิง

5) ขั้นพัฒนาการทางเพศ (Genital Stage) วัยนี้เป็นวัยรุ่นเริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป จะมีความต้องการทางเพศ วัยนี้จะมีความสนใจในเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของวัยผู้ใหญ่

ฟรอยด์กล่าวว่า ถ้าเด็กโชคดี และผ่านวัยแต่ละวัย โดยไม่มีปัญหาก็จะเจริญเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพปกติ แต่ถ้าเด็กมีปัญหา ในแต่ละขั้นของพัฒนาการ ก็จะมีบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่งฟรอยด์ได้ตั้งชื่อตามแต่ละวัย เช่น "Oral Personalities" เป็นผลของ Fixation ในวัยทารกจนถึง 2 ปี ผู้ใหญ่ที่มี Oral Personality เป็นผู้ที่มีความต้องการที่จะหาความพึงพอใจ ทางปากอย่างไม่จำกัด เช่น สูบบุหรี่ กัดนิ้ว ดูดนิ้ว รับประทานมาก มีความสุขในการกิน และชอบดื่ม คนที่มี Oral Personality อาจจะเป็นผู้ที่เห็นโลกในทางดี (Optimist) มากเกินไป จนถึงกับเป็นคนที่ไม่ยอมรับความจริงของชีวิต หรืออาจจะเป็น คนที่แสดงตนว่าเป็นคนเก่ง ไม่กลัวใคร และใช้ปากเป็นเครื่องมือ เช่น ชอบพูดเยาะเย้ย ถากถางและกระแนะกระแหนผู้อื่น

ฟรอยด์เชื่อว่าพัฒนาการทางบุคลิกภาพจะไม่มีอีกต่อไปเมื่อมนุษย์ย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คือ อายุประมาณ 20 ปี หรือถ้ามีการพัฒนาก็จะมีน้อยมาก ขั้นของพัฒนาการที่สำคัญที่สุดคือ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3

หมายเลขบันทึก: 615311เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2016 06:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2016 06:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท