ข้อค้นพบในการจัดทำโครงการเครือข่ายการผลิตอาหารปลอดภัยในโรงเรียน


ข้อค้นพบในการจัดทำโครงการเครือข่ายการผลิตอาหารปลอดภัยในโรงเรียน

โครงการเครือข่ายการผลิตอาหารปลอดภัยในโรงเรียนของโรงเรียนซำสูงพิทยาคม ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่อำเภอซำสูงเป็นแหล่งปลูกผักปลอดสารพิษที่ขึ้นชื่อภายใต้แบรนด์“ซำสูง” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอกชนที่มีส่วนช่วยในการผลิต การบริหารจัดการ ตลอดจนการกระจายสินค้าที่ปลอดภัยส่งถึงมือผู้บริโภค ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษเกิดความมั่นใจในระบบการตลาด จึงผลิตผักที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตามที่กำหนด โรงเรียนซำสูงพิทยาคม เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของนักเรียนจึงได้จัดทำโครงการเครือข่ายการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อให้นักเรียนมีทักษะทางวิชาชีพ ได้รับการฝึกอบรมการผลิตอาหารปลอดภัยในโรงเรียนร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้นำความรู้และประสบการณ์จากการเรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

วิธีการดำเนินงาน โดยใช้กิจกรรมการให้ความรู้การผลิตอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสินค้าเกษตร จำนวน ๒ รุ่น กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนที่ผ่านการฝึกอบรมร่วมกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) จำนวน ๒๕๐ คน ผู้ปกครองและชุมชนที่สนใจ จำนวน ๒๐ คน ทั้งนี้ได้จัดอบรม สัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ผลิตผักปลอดสารพิษที่บ้านสว่าง ซำโองกับผู้เข้ารับการอบรม เพื่อให้นำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพราะที่นี่ขึ้นชื่อในเรื่องการผลิตผักปลอดภัยในยี่ห้อ “ซำสูง” ส่งขายให้ท็อปซุปเปอร์มาร์เกต และเซนทรัล

หลังจากผ่านการอบรมได้จัดให้นักเรียนได้ศึกษาภาคทฤษฎี โดยให้สมาชิกที่ผ่านการอบรมแล้วเป็นแกนหลักในการดำเนินงานด้วยการแบ่งนักเรียนให้จัดทำโครงงานกลุ่มละ ๕-๗ คน โดยแบ่งพื้นที่ให้กับสมาชิกในกลุ่มๆ ละ ๑.๕ *๘ เมตร ส่วนผู้ปกครองและชุมชนแบ่งพื้นที่ให้คนละ ๑ แปลงมีกระบวนการดำเนินการดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ ขั้นตอนการเตรียมพื้นที่หรือการเลี้ยงดิน

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการปลูกพืชให้ปลอดภัยจากสารเคมีจริงๆ คุณถนอมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาสินธุ์ ได้เป็นผู้ให้แนวคิดว่าการที่จะไม่ใช้สารเคมีในแปลงเพาะปลูกเลยจะต้องเลี้ยงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เสียก่อน เช่น ไส้เดือนดิน จุลินทรีย์ สิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ในดินซึ่งขั้นตอนนี้ทำแปลงให้ได้ขนาดตามต้องการ ใช้ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกที่กลุ่มนักเรียนได้นำมาจากบ้านและทำเองใช้เป็นปุ๋ยรองพื้น จากนั้นนำใบไม้ ใบหญ้าแห้งที่หาง่ายในโรงเรียนใช้เป็นวัสดุคลุมดิน เพื่อป้องกันวัชพืชและรักษาความชื้นในแปลง (เมื่อปลูกพืชแล้วก็ห้ามเอาออกปล่อยให้ย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุในแปลง) รดด้วยน้ำผสมกับน้ำหมักชีวภาพ ทิ้งไว้ ๑ สัปดาห์

ขั้นตอนที่ ๒ การปลูก

นำพืชที่สนใจหรือตลาดมีความต้องการมาปลูกในแปลง หากเป็นต้นกล้า หรือพืชหัว หรือเมล็ดก็ทำเป็นแถวหรือร่องปลูกแทรกลงไปในแปลงเลย ห้ามเอาวัสดุที่คลุมดินออกเช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า ผักชี บวบ หอมแบ่งพืชก็จะงอกเจริญเติบโตแทรกขึ้นมาได้เอง หลังปลูกใช้น้ำหมักผสมกับน้ำรดให้ชุ่ม

ขั้นตอนที่ ๓ การบำรุงรักษา

การลงแปลงทุกวันเป็นการสังเกตการเจริญเติบโต กำจัดวัชพืช หรือโรค แมลงที่จะมาทำลาย โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มได้วางแผนบริหารจัดการเอง การใช้พืชสมุนไพรเช่น สะเดา ตะไคร้หอมการรดน้ำมีการนำน้ำหมักชีวภาพมาผสมให้รดแปลงผัก และนำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้เป็นธาตุอาหารห้ามใช้สารเคมีทุกชนิด ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญจะได้ผลผลิตมีมาตรฐานตามที่ต้องการหรือไม่นอกจากนี้การทำงานในแต่ละครั้งได้มีการจดบันทึกการปฏิบัติงาน การสังเกต ข้อค้นพบในแปลงเป็นระยะด้วย

ขั้นตอนที่ ๔ การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวพืชเป็นไปตามระยะเวลาของพืช หรือตามความต้องการของผู้บริโภคหากเก็บเกี่ยวช้าอาจจะรสชาติเปลี่ยนไป นำมาทำความสะอาด ตกแต่ง และบรรจุภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ

ขั้นตอนที่ ๕ การตลาดและจำหน่าย

การตลาด ได้นำผลผลิตไปใช้ในการบริโภคในครัวเรือน จำหน่ายภายในโรงเรียน งาน

มหกรรมวิชาการระดับโรงเรียน และให้สมาชิกนำไปจำหน่ายที่ตลาดขอนแก่นกรีนมาร์เก็ตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

ขั้นตอนที่ ๖ การเผยแพร่ผลงานและการสร้างเครือข่าย

กิจกรรมการเผยแพร่ความรู้นำความรู้ที่ได้จัดทำเป็นแผ่นพับ จัดทำสมุดเล่มเล็กจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยซำสูง น้ำหมักชีวภาพ จุลินทรีย์จาวปลวก และงานเปิดโครงการส่งเสริมการทำนาเชิงอุตสาหกรรม อำเภอซำสูง (นาแปลงใหญ่)นิทรรศการแสดงผลงานในงานเปิดบ้านวิชาการ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ที่โรงเรียนซำสูงพิทยาคม

เครือข่ายการเรียนรู้การผลิตอาหารปลอดภัย ในท้องถิ่นประกอบด้วย

๑.กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษบ้านสว่าง ซำโองตำบลห้วยเตย

๒.กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษบ้านอ้อคำ ตำบลกระนวน

๓.โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน ๑๙ โรงเรียน

๔.โรงเรียนชุมชนบ้านงัวบา ตำบลงัวบา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

๕.โรงเรียนบำรุงพงศ์อุปถัมถ์ตำบลโชคชัย อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร

๖.กรมวิชาการเกษตร

๗.กรมส่งเสริมการเกษตร

๘.สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

ผลสำเร็จในการดำเนินงานตามโครงการนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตนักเรียนได้ฝึกการปฏิบัติหลากหลายกิจกรรมในการเป็นทักษะอาชีพที่ติดตัวนักเรียนไปตลอดสอดรับกับนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างความตระหนักให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ตลอดจนชุมชน ผู้ปกครองได้รับรู้ เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการผลิตอาหารปลอดภัย และสามารถนำไปต่อยอดขยายเครือข่ายการเรียนรู้ไปยังชุมชนของตนเองและชุมชนอื่นๆ ได้ เช่น ชาวบ้านอ้อคำที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน ๒๐ คน สามารถขยายเครือข่ายผู้ผลิตผักปลอดสารพิษเพิ่มขึ้นถึง ๘๕ ราย กรมวิชาการเกษตร ได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เครือข่ายเกษตรกร เป็นต้น จากการดำเนินโครงการผลิตอาหารปลอดภัยในโรงเรียน คณะทำงานได้ข้อสรุปและข้อค้นพบ ระบบการผลิตอาหารปลอดภัยของนักเรียนและเกษตรกรที่ร่วมโครงการได้ตั้งชื่อเป็นนวัตกรรมการผลิตอาหารปลอดภัยชื่อ “นวัตกรรมซำสูงโมเดล” (SAMSUNG Model)ซึ่งประกอบด้วย

S : Systematic หมายถึง ระบบที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันทำงานเพื่อจุดประสงค์อันเดียวกัน ประกอบด้วยครู นักเรียน เครื่องมือ เครื่องใช้ วัสดุ วิธีการ เป็นต้น

A : Attitude หมายถึง เจตคติที่ดี มีความพร้อมทางจิตใจในการทำงาน

M : Management หมายถึง การจัดการกิจกรรมหรือการศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในอันที่จะเชื่อมั่นได้ว่ากิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปในแนวทางที่จะบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

S : Synchronous หมายถึง ประสานเวลา การเกิดขึ้นในจังหวะเดียวกันหรือพร้อมๆ กัน เพราะนักเรียนที่มาโรงเรียนต้องเรียนรู้หลายวิชาในแต่ละวันต้องจัดสรรเวลามาดูแลกิจกรรมของตนเอง

U : Uniform หมายถึง แบบฉบับเป็นของตนเอง

N : National หมายถึง ความเป็นสากลมีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

G: Groupหมายถึง การรวมกลุ่ม การทำงานเป็นทีม


หมายเลขบันทึก: 615185เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2016 18:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2016 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท