นั่งเล่นบน wheelchair (แต่ไม่ได้เล่นๆเลย)


บ่ายวันที่ 8 กันยายน 2559 และแล้วการเรียนวิชา ADL ก็มาถึง วันนี้เป็นการเรียนเกี่ยวกับเรื่องการใช้วีลแชร์ ซึ่งในการเรียนนั้น ทำให้ฉันรู้ว่าวีลแชร์มีอะไรมากกว่าที่ฉันคิดและทำให้รู้ถึงเทคโนโลยีของวีลแชร์ในปัจจุบัน รวมถึงขีดความสามารถของวีลแชร์กับผู้ป่วยโรคต่างๆด้วย

หลังจากเรียนทฤษฎีแล้ว อาจารย์จึงให้พวกเราลงมือปฏิบัติกัน โดยให้จับคู่และคิดพยาธิสภาพมาคู่ละ 1 พยาธิสภาพ พยาธิสภาพที่พวกเราเลือกคือ Stroke แล้วให้ผลัดกันในขาไปหรือกลับตามสถานที่ที่อาจารย์ได้กำหนดไว้ให้ ซึ่งคู่ของฉันได้ไปที่ธนาคารกรุงไทย ก่อนจะไปพวกเรามีการวางแผนกันว่าจะไปทางไหนบ้างและคิดถึงอุปสรรคที่อาจจะต้องเจอ พวกเราจึงได้รับบทบาทจากนักศึกษามาเป็นบทบาทในขาไป ฉันเป็นนักกิจกรรมบำบัดและเพื่อนเป็น Stroke(อ่อนแรงด้านซ้าย) ที่ต้องการจะไปทำธุรกรรมการเงินที่ธนาคารและไปถ่ายรูปตามที่อาจารย์ได้มอบหมายงาน

ฉันได้สลับกับคู่ของฉันในขากลับ ในตอนแรกที่ลองนั่งวีลแชร์ แล้วจะต้องเป็นผู้ป่วย stroke ที่อ่อนแรงข้างซ้าย รู้สึกว่ามีความยากลำบากที่จะเข็นวีลแชร์ไปด้วยตัวเอง เพื่อนของฉันจึงบอกให้ใช้เทคนิคที่อาจารย์บอกมาคือใช้เท้าช่วย ลองใช้เท้าช่วยก็ทำให้ไปได้เร็วขึ้น

ทางแรกที่จะต้องผ่านก็คือ ทางลาดหน้าธนาคาร ซึ่งไม่มีราวจับ และมีกรวยตั้งขวางอยู่ ตอนนั้นรู้สึกว่ากลัวว่าจะตกรถเข็น อยากให้มีคนมาช่วย และกลัวว่าจะลงทางลาดไม่ได้ พอจะลงก็มี รปภ.มาช่วยเอากรวยออกให้ แล้วจึงลองเข็นด้วยตัวเองก่อน แต่ก็มีเพื่อนคอย support อยู่ด้านหลังเพื่อกันวีลแชร์ไหลไป ทั้งที่ในใจก็แอบกลัวว่าเพื่อนจะ support ไม่ไหว แต่เพื่อนก็ช่วยพูดให้เราอุ่นใจขึ้น สร้างความไว้วางใจกับฉัน ทำให้ฉันหายกลัว


แต่พอลงจากทางลาดธนาคารแล้วก็พอดีกับที่นักศึกษาเปลี่ยนที่เรียน ตอนนั้นรู้สึกกลัวว่าจักรยานจะชนและจะไปเกะกะขวางทางคนอื่น จึงให้เพื่อนช่วยเข็นไป เมื่อมาถึงตึกบัณฑิตก็มีปัญหาตรงบริเวณทางขึ้น ตอนแรกเพื่อนจะเข็นให้ แต่ฉันก็ยังอยากลงด้วยตัวเอง สุดท้ายก็ต้องให้เพื่อนช่วยเข็นจนได้ จนมาถึงทางใต้ตึกบัณฑิต ก็มีทางขรุขระเล็กน้อยแต่ก็ยังพอผ่านไปได้




ทาง L ซึ่งมีความเรียบเหมาะกับการใช้วีลแชร์ฉันจึงเข็นเอง สักพักก็เริ่มเหนื่อย แต่ก็มีเพื่อนที่ชวนกันพูดคุยและให้กำลังใจ ทำให้ลืม ความเหนื่อยไปได้บ้าง



แต่ทางต่อมาคือข้างคณะสิ่งแวดล้อมซึ่งพื้นผิวมีความขรุขระมาก ทางลาดมีความชัน และมีรถวิ่งผ่านไปมา และไม่มีทางขึ้นฟุตบาทและฟุตบาทแคบเกินไปทำให้ต้องเข็นที่ถนนร่วมกับรถยนต์ เมื่อมาถึงปากซอย มีทางลาด ทำให้สามารถเข็นขึ้นไปได้ด้วยตนเองแต่ก็กลัวว่าจะตกจากวีลแชร์บ้างเพราะทางลาดมีความชันพอสมควร




เมื่อมาถึงทางฝั่งตรงข้ามคณะก็สามารถเข็นรถเองได้ แต่พอข้ามถนนและถึงทางข้างคณะศิลปศาสตร์ก็ให้เพื่อนช่วยบ้างเพราะเริ่มเหนื่อยและล้าแล้ว จนถึงคณะกายภาพบำบัด แต่การเข็นวีลแชร์ของฉันก็ยังไม่เร็วพอ เพราะถึงเป็นคู่สุดท้าย


จากการได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ป่วย stroke ทำให้ฉันรู้ว่าเขาจะต้องมีความยากลำบากอย่างไรบ้าง อะไรที่เขาจะต้องออกมาเจอในโลกของความเป็นจริงที่ไม่ได้มีแต่ที่บ้านและโรงพยาบาลที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม ความรู้สึกของเขาที่จะต้องไปไหนมาไหนให้ได้ ต้องผ่านไปให้ได้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด เพราะในชีวิตจริงเขาต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด ส่วนนักกิจกรรมบำบัดนั้นก็มีหน้าที่ปรับและแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้สามารถผ่านไปได้ด้วยขีดความสามารถของผู้ป่วย ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีการสร้างความไว้ใจ เพราะความไว้ใจและกำลังใจจะทำให้ผู้ป่วยสามารถที่จะผ่านทุกอย่างไปได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น......

หมายเลขบันทึก: 613949เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2016 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2016 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท