การเรียนรู้ที่สัมผัสได้


“การเรียนรู้ที่ลงมือทำด้วยตัวเอง คือ ความรู้สึกที่สัมผัสได้”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายนที่ผ่านมานี้ ดิฉันได้เรียนหัวข้อการพิจารณาเลือกใช้รถนั่งคนพิการ(ล้อเข็น) และการประเมินทักษะการฝึกใช้รถล้อเข็น(Wheelchair) ซึ่งชั่วโมงแรกเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับลักษณะรถเข็นและการเลือกใช้ จากนั้นอาจารย์ให้จับคู่กับเพื่อนสองคนเพื่อแสดงบทบาทเป็นผู้ที่มีพยาธิสภาพต่างๆ เพื่อเรียนรู้การใช้รถเข็นและการแก้ปัญหาต่างๆที่พบเจอ อาจารย์ให้เลือกพยาธิสภาพเอง ดิฉันกับเพื่อนก็ไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร แต่พอได้ดูตัวเลือกของอาจารย์เพื่อนสนใจโรคไบโพล่าร์(Bipolar disorder) ระยะมาเนีย(Mania) ดิฉันก็รู้สึกว่าน่าสนใจดีเพราะเป็นลักษณะโรคที่เกี่ยวกับจิตใจ อารมณ์ ความคิด การรับรู้ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเห็นผู้ที่ใช้รถเข็นเป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จึงรู้สึกน่าสนใจเหมือนกัน

ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะจะได้สัมผัสด้วยตัวเอง โดยขาไปเพื่อนเป็นไบโพล่าร์ ส่วนดิฉันเป็นนักกิจกรรมบำบัด ลักษณะของโรคจะชอบคิดฟุ้งซ่าน คิดว่าตัวเองสามารถทำได้ทุกอย่าง มีความมั่นใจสูง แต่วางแผนการเดินทางไม่ได้ สามารถเข็นรถได้ด้วยตัวเอง และมีความต้องการเอารถเข็นไปซ่อม จึงเลือกไปที่ตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพราะมีเพื่อนที่รู้จักอยู่ที่นั่น นักกิจกรรมบำบัดจึงเป็นคนบอกเส้นทางในการเดินทางไปและคอยกระตุ้นและถามระหว่างเดินทางว่าเราจะไปไหนกัน ไปทำอะไร เป็นการประเมินความคิดและการรับรู้ไปด้วย และให้ผู้รับบริการไม่คิดไปไกล เส้นทางที่ใช้ไปต้องมีการข้ามถนนด้วยนักกิจกรรมบำบัดจึงเป็นคนเข็นและดูรถให้ขณะข้ามถนน ทางที่ใช้เป็นทางร่วมกับรถจักรยานและคนเดิน แต่มีความกว้างมากพอ นักกิจกรรมบำบัดจึงให้ผู้รับบริการเข็นรถให้ชิดทางไว้ทางหนึ่ง ในขณะที่เข็นไปก็มีการพูดคุยกันตลอดทาง และคอยกระตุ้นถามเสมอเพื่อไม่ให้ผู้รับบริการคิดไปไกล นอกจากนั้นอากาศก็ร้อนนักกิจกรรมบำบัดก็พูดให้กำลังใจและรู้สึกเห็นใจ บางช่วงจึงมีการเข็นให้ผู้รับบริการบ้าง “ทำให้รู้ว่า นักกิจกรรมบำบัดต้องเข้าหาผู้รับบริการให้ได้ ต้องมีความเห็นใจ และทำให้ผู้รับบริการไว้วางใจ”


เมื่อถึงบริเวณตึกคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นทางที่ใช้ร่วมกับรถยนต์ และมีลูกระนาด จึงให้เข็นชิดขอบทางแต่ก็มีที่กั้นอยู่ตลอดทาง ซึ่งเป็นด้านหลังของตึกและไม่พบใครเลย นักกิจกรรมบำบัดจึงต้องคอยระวังและดูความปลอดภัย พร้อมทั้งให้กำลังใจ และหาทางลาดที่ใช้ขึ้นตึกจึงเข้าไปถามลุงที่รักษาความปลอดภัย ลุงก็บอกว่ามีทางลาดตรงนี้ซึ่งชันมากและไม่มีที่กั้น ลุงรีบขยับรถจักรยานที่จอดขวางทางขึ้น และจะช่วยเข็นขึ้นให้แต่ผู้รับบริการบอกไม่ต้องช่วย พอผู้รับบริการจะเข็นขึ้นเองก็ไม่ไหว ลุงรีบมาช่วยเข็นขึ้นให้ “ดิฉันรู้สึกดีมากๆที่มีลุงที่มีน้ำใจและมีความเห็นใจ ช่วยเหลือพวกเราโดยที่ไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือ ดิฉันและเพื่อนกล่าวขอบคุณคุณลุงด้วยใจจริง” พอขึ้นมาบนตึกผู้รับบริการรู้สึกดีใจมาก ยิ้มแย้ม และให้นักกิจกรรมบำบัดถ่ายภาพไว้ให้ จากนั้นก็ลงทางลาดซึ่งมีความชันน้อยกว่าและมีที่กั้น นักกิจกรรมบำบัดคอยกันและดูด้านหน้าขณะที่ผู้รับบริการเข็นลง “ทำให้รู้ว่าบริบทและสิ่งแวดล้อมมีผลต่อความสามารถในการใช้รถเข็นของผู้รับบริการ”




เมื่อลงมาจากตึกก็พบกับคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันตอนปี1กับผู้รับบริการ นักกิจกรรมบำบัดจึงเข้าไปหาเพื่อให้ดูรถเข็น ผู้รับบริการดีใจและได้พูดคุยกับเพื่อน ได้คุยถึงเรื่องที่มียายของเพื่อนคนหนึ่งก็ใช้รถเข็นเหมือนกัน ถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันและได้แสดงความเป็นเพื่อนที่มีต่อกัน จากนั้นดิฉันและเพื่อนก็ได้สลับบทบาทกันเพื่อกลับไปยังห้องเรียน ความรู้สึกแรกที่ดิฉันได้นั่งบนรถเข็นรู้สึกกังวลว่าจะสามารถควบคุมรถเข็นได้มั้ย และคิดว่าคนที่ใช้รถเข็นได้จนคล่องเขาต้องมีความพยายามอย่างมากเพื่อบังคับทิศทางของรถให้เป็นไปตามต้องการ

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการรับบทบาทเป็นนักกิจกรรมบำบัด คือ นักกิจกรรมบำบัดต้องเข้าหาผู้รับบริการ สร้างสัมพันธภาพที่ดีก่อน ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกไว้วางใจ ต้องมีความน่าเชื่อถือ นักกิจกรรมบำบัดต้องมีความเห็นใจ และความปลอดภัยของผู้รับบริการเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการใช้รถเข็น คือ ผู้รับบริการต้องอาศัยทักษะในการใช้รถเข็นในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของร่างกาย การควบคุมอารมณ์ ความคิด การรับรู้ รวมทั้งบริบทและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความสามารถในการใช้รถเข็น

หมายเลขบันทึก: 613797เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2016 19:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2016 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท