การประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา1


วันที่ 6 กันยายน 2559 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (ที่จริงก็ไม่น่าจะเชิงนะครับ เพราะส่วนใหญ่แทบไม่ได้ลุกจากที่นั่ง) โดยวิทยากร รองศาสตราจารย์ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ นักวิชาการอิสระ (ส่วนอดีตท่านก็มีประสบการณ์เยอะครับ) โดยส่วนตัวมีความประทับใจท่านมาก ถึงความเข้าใจในข้อเท็จจริงของการจัดการศึกษาของประเทศนี้ และท่านได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมในการที่จะลุกขึ้นมาถ่ายทอดประสบการณ์ในวันนีั้น เพราะปกติเมื่ออบรมเสร็จเมื่อไร มักทิ้งไปกับสายลมและแสงแดด แต่ในช่วงนี้ต้องเรียกว่าต้องทิ้งไปกับสายฝนนะครับ เพราะกว่าที่ผมจะได้เขียนก็เลยมาถึงวันที่ 12 กันยายน 2559 แล้ว ขออนุญาตนำภาพและสไลน์นำเสนอบางส่วนของท่าน มาใช้ด้วยความเคารพนะครับ แต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถสื่อสารได้ตรงประเด็นหรือไม่อย่างไรนะครับ เพราะเป็นการเขียนครั้งแรก จริงๆ

โดยประเด็นที่ผมจะสรุปและนำเสนอความคิดเห็นบางส่วนของตัวเองที่มีอยู่น้อยนิดนี้ มี อยู่ด้วยกัน 3 ประเด็นนะครับ

1.การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพในระบบประกันคุณภาพภายใน

2.ข้อเสนอแนะสำหรับโรงเรียน ในการเตรียมการประเมินคุณภาพภายนอก

3.เป็นครูที่ยิ่งใหญ่ ได้อย่างไร (อันนี้นำของท่านมาถ่ายทอดครับ)

ความตั้งใจครั้งแรกเลย จะสรุปทั้ง3ประเด็นในคราวเดียวกัน แต่ลองนั่งสรุปแล้วไม่สำเร็จครับ ขอสรุปประเด็นแรกก่อน การประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา1 ส่วนหัวข้อที่ 2 และ 3 คงไว้สรุปคราวหน้า เพื่อไม่ให้ยาวเกินไป และประเด็นหลังๆ จะไม่เกิดคุณภาพเท่าที่ควรครับ

การสร้างวัฒนธรรมคุณภาพในระบบประกันคุณภาพภายใน

บันได 7 ขั้น (อันนี้มโนเอาครับ) สู่วัฒนธรรมคุณภาพในการสร้างระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ที่ รองศาสตราจารย์ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ ได้นำเสนอนั้น (ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง) ซึ่งควรต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง โดยตลอดเวลาที่ท่านบรรยาย ท่านชี้ให้เห็นถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) จะต้องมีส่วนร่วมจริงๆ โดยเฉพาะการประชุมของคณะกรรมการสถานศึกษาขัันพื้นฐาน ที่ต้องประชุมอย่างน้อย ปีละ 6 ครั้ง (ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ ประชุมปีละ 2 ครั้ง ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว) เพราะมีเรื่องพิจารณามากมาย ทั้งการประกันคุณภาพภายใน การอนุมัติแผนงบประมาณ การบริหารงานบุคคล ฯลฯ โดยการดำเนินการที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็สอดคล้องตามกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 ในหมวด 2 การประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ข้อ 14 ซึ่งกำหนดแนวปฏิบัติในการดำเนินการ 8 ข้อ (ไม่ขอกล่าวในที่นี้นะครับ) โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้

1.กำหนดมาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายใน อันนี้สำคัญมากครับ โดยเฉพาะต้องประกาศให้มีมีส่วนร่วมทุกคนทราบตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่ประกาศตอนจะประเมิน และที่สำคัญที่สุดประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นผู้ลงนามในประกาศครับ

2.เสริมสร้างสมรรถนะของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ในเรื่องสมรรถนะในการประกันคุณภาพภายในนั้น ผมมองว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วนต้องรับรู้ ตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะต้องปรับแนวคิดของทุกคนให้เข้าใจตรงกันว่า "เป็นการปฏิบัติหน้าที่ปกติของตนเอง มิใช่การเพิ่มภาระแต่อย่างใด" โดยทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน คือผู้เรียนมีคุณภาพ โดยมีการดำเนินงานตามมาตรฐานที่กำหนด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และที่สำคัญควรมีการดำเนินงานตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง(อ้างกันจัง) PDCA เน้นการประเมินผลตามสภาพจริง สภาพที่เป็นจริง(อย่าหลอกตนเอง) และรายงานผล (อันนี้ครูเราไม่ค่อยเก่ง)

3.ส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดทำแผนงาน โครงการ ให้รองรับ สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา ข้อนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่การจัดทำแผนงาน โครงการต้องมีความคม (ท่าน รศ.ดร.สุพักตร์ พิบูลย์ เน้นความคมครับ) หมายความว่า ให้มันตรง สอดคล้องมาตรฐาน ดำเนินโครงการเสร็จเรียบร้อย สามารถสะท้อนผลได้ว่า ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนดหรือไม่ และผมมองว่าส่วนใหญ่ตีโจทย์ยังไม่แตก บางที่มีโครงการ 60 โครงการ ซึ่งมากเกินไป ซึ่งเมื่อไปดูในรายละเอียดเป็นแค่กิจกรรมเท่านั้น(ไม่น่าจะต้องเป็นโครงการ) ข้อนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนากันต่อไป

4.กำกับ ติดตาม นิเทศ เพื่อให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด การกำกับติดตาม นิเทศที่ได้ผลดีที่สุด คือ การสร้างระบบนิเทศภายในที่เข้มแข็ง ร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งผมมองว่า ผู้นิเทศในสถานศึกษาที่สำคัญที่สุดคือ ผู้อำนวยการโรงเรียน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ สิ่งที่ควรได้รับการนิเทศมีอะไรบ้าง เครื่องมือที่ใช่้คืออะไร ยุ่งยากซับซ้อนมากเกินไปหรือไม่ สะท้อนผลได้ตรงแค่ไหน และที่สำคัญคนทำงาน Happy ผมเห็นว่า AAR ก็น่าจะมีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง ไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนเกินไป

5.ประเมินคุณภาพสถานศึกษาตามมาตรฐานที่กำหนด เป็นหน้าที่ของสถานศึกษา และหน่วยงานต้นสังกัดที่ต้องร่วมกันทำงานอย่างเข็มแข็ง ท่านก็แนะนำว่า ควรแบ่งระดับคุณภาพของสถานศึกษาในการประเมิน เพื่อให้เกิดการประลองบ่อยๆ จะได้เก่ง เช่น สถานศึกษาที่ต้องช่วยเหลือเป็นพิเศษ ควรประเมินภาคเรียนละ 1 ครั้ง ไม่น่าเป็นห่วงก็ปีละ 1 ครัั้ง 2 ปีต่อครั้ง หรือ 3 ปีต่อครั้ง ตามความเหมาะสม

6.พัฒนาฐานข้อมูลแบบสั่งสมผลงานและองค์ความรู้ Best Practice เพื่อสนับสนุนให้สถานศึกษาเกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้ง ประเด็นนี้ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ ที่จะสั่งสมผลงานในรูปแบบของ Electronics การจัดทำรายงานเป็น E-Books การจัดทำการนำเสนอเป็นไฟล์วีดีโอแล้ว Upload ขึ้นไปยัง Youtube จะทำให้เราไม่ต้องสิ้นเปลืองในการทำเป็นเล่ม paper ซึ่งในปัจจุบันมีอุปกรณ์และเครือข่ายที่พร้อมแล้ว

7.เกิดวัฒนธรรมคุณภาพ หากมีการดำเนินการดังที่กล่าวมาแล้ว เชื่อว่าวัฒนธรรมคุณภาพจะเกิดแน่นอนครับ ซึ่่งวงจรนี้ควรจะเกิดแบบไม่สิ้นสุด หมุนวนไปเรื่อยๆ ผมมองว่าทำอย่างไรจะทำให้ทุกคนเชื่อว่าเป็นการปฏิบ้ติหน้าที่ปกติ มิใช่ภาระหน้าที่ที่เพิ่มเข้ามา

ค่อยพบกันใหม่ในตอนต่อไป ขอบคุณครับ



หมายเลขบันทึก: 613778เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2016 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2016 13:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท