บนเส้นทางรถเข็นของผู้พิการ(จำเป็น)


แรงใจ ขับเคลื่อน แรงกาย

มื่อวันที่8 กันยายน 2559 ดิฉันและเพื่อนนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่3 ได้มีโอกาสเรียนเรื่องรถนั่งสำหรับคนพิการ(Wheelchair) ในรายวิชา กิจวัตรประจำวันและการฟื้นฟูสมรรถภาพ ในวันนั้น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบต่างๆของรถเข็น การตรวจสอบความปลอดภัย รวมถึงวิธีการใช้รถเข็น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทดลองใช้รถเข็น ไปยังสถานที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม โดยดิฉันและเพื่อนต้องสวมบทบาทเป็นผู้ป่วยแผลไฟไหม้ ช่วงขาท่อนล่าง ที่ใช้รถเข็นเดินทางไปยังห้องสมุด โดยดิฉันเป็นผู้ป่วยแผลไฟไหม้ ส่วนเพื่อนเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่ช่วยดูแล

การเดินทางบนรถเข็นของดิฉันในครั้งนี้ เริ่มจากหน้าคณะกายภาพบำบัด โดยมีทางลงไปยังถนน เป็นทางลาดชันที่ค่อนข้างแคบ พื้นผิวของผนังด้านข้างขรุขระ ดิฉันควบคุมรถเข็นได้ยากลำบาก จนรถเข็นเคลื่อนที่ลงไปข้างล่างอย่างรวดเร็ว และเอียงไปด้านหนึ่ง ทำให้ถูกผิวของผนังข่วนเล็กน้อย ซึ่งหากผู้พิการใช้รถเข็นแล้วไม่มีการควบคุมทิศทางและความเร็วที่ดี อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หลังจากนั้น ก็เดินทางออกมาจากคณะ โดยใช้ทางของจักรยาน ซึ่งเป็นทางเรียบ เมื่อผ่านถนนใหญ่ เพื่อนที่เป็นคนช่วยดูแล ก็ดูทางรถผ่านบนถนนให้ ดิฉันพยามใช้แรงและกำลังในการข้ามถนนอย่างรวดเร็ว การเดินทางยังคงดำเนินต่อไป จนถึงถนนที่ใกล้กับหอสมุด พบว่าเส้นทางบริเวณนั้นไม่มีทางเรียบสำหรับรถเข็นและจักรยาน ทำให้ต้องคอยหลบรถยนต์ที่ขับผ่าน เมื่อถึงหน้าหอสมุด ก็ยังพบอีกว่า ที่จอดสำหรับรถเข็นผู้พิการ มีรถยนต์จอดทับบริเวณนั้น ทำให้ปิดทางเข้าสู่หอสมุด ดิฉันต้องพยายามเข็นรถ ผ่านช่องที่ค่อนข้างแคบ จากนั้นก็มีทางลาดที่ค่อนข้างชัน เป็นทางเชื่อมขึ้นไปยังหอสมุด ดิฉันพยายามใช้กำลังและแรงทั้งหมดที่มี เคลื่อนรถเข็นขึ้นไป ด้วยความยากลำบาก รู้สึกเจ็บข้อไหล่ และเหน็ดเหนื่อยกับระยะทางที่ค่อนข้างไกล จนกระทั่งถึงประตูหอสมุด ซึ่งเป็นประตูแบบ ดึง/ผลัก 2 ประตู มีพี่ในหอสมุดจะพยายามช่วยเปิดประตูให้ แต่ดิฉันอยากลองพยายามเปิดเอง แต่ไม่สำเร็จ เพื่อนเลยเป็นผู้ช่วยเปิดประตูให้ และเข้าสู่สถานที่เป้าหมายคือ บริเวณภายในหอสมุด ซึ่งมีทางเดินที่เรียบ กว้าง และสะดวกในการใช้บริการ แต่ความสูงของหน้าเคาท์เตอร์ อาจไม่เหมาะสมต่อการใช้บริการของผู้ที่ใช้รถเข็นมากนัก ส่วนตอนเดินทางกลับไปยังคณะ ดิฉันกับเพื่อนก็สลับบทบาทกัน ให้เพื่อนได้นั่งรถเข็น ดิฉันเป็นผู้ช่วยดูแล

ในการเรียนรู้การเดินทางบนรถเข็นครั้งนี้ ทำให้ดิฉันได้เข้าใจถึง อารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการของผู้ที่ต้องใช้รถเข็นแทนขาทั้งสองข้าง ในการก้าวเดินไปยังที่ต่างๆมากยิ่งขึ้น แม้ว่าตัวดิฉันเอง เป็นบุคคลที่ไม่มีความบกพร่องทางร่างกายใดๆ ยังมีความรู้สึกถึง ความยากลำบาก ความท้อแท้ที่เกิดขึ้น ในทุกระยะเส้นทางของการเดินทาง สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนกลับไปนึกถึงผู้รับบริการและเกิดการตั้งคำถามว่า พวกเขาจะดำรงชีวิตได้อย่างเป็นอิสระด้วยตัวของเขาเองและมีความสุขได้อย่างไร ในฐานะการเป็นนักกิจกรรมบำบัดในอนาคต ดิฉันจึงคิดว่าสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง คือสภาวะจิตใจของผู้รับบริการ เราควรพูด/แนะนำเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ในความสามารถของผู้รับบริการ กระตุ้นให้เกิดความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างให้เกิดขึ้น เพิ่มสมรรถนะทางด้านร่างกาย เช่น การเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลักที่ใช้ออกแรงในการเคลื่อนรถเข็น การแนะนำวิธีการจัดท่าทางที่เหมาะสม เพื่อทุ่นแรงหรือสงวนพลังงานในการใช้รถเข็นให้แก่ผู้รับบริการ แนะนำวิธีการควบคุมรถเข็น ในการเคลื่อนลงและขึ้นทางลาดอย่างถูกต้อง จากนั้นดูสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่ม Leg rest ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มการSupport ขาของผู้รับบริการแผลไฟไหม้ ที่ไม่สามารถงอขาที่มีแผลได้ การปรับสถานที่ที่เหมาะสมต่อการใช้รถเข็น เพื่อสะดวกต่อการเดินทางและมีความปลอดภัยมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือ การทำให้ผู้รับบริการมีความสามารถกลับไปดำรงชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งมีสภาวะทางกายและใจที่เป็นสุข เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีได้


หมายเลขบันทึก: 613758เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2016 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2016 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท