เล่าเร้าพลังถึงฟันเฟืองข่าวสาร มช.รอบสัปดาห์


สร้างฐาน สร้างความสุขในภารกิจเครือข่ายประชาสัมพันธ์ มช.

 

 

(Storytelling ก่อนการนำเสนอผลงานเข้าร่วมโครงการ CMU-KM DAY ประจำปี 2559 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันพุธที่ 14 กันยายน 2559 ประเภท การนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ ภายใต้หัวข้อ แนวทางและประสบการณ์การพัฒนาส่วนงานสู่มหาวิทยาลัยแห่งความสุข)

เพราะงานประชาสัมพันธ์ได้รับคำเชื้อเชิญให้ไปร่วมนำเสนองานด้านการจัดการความรู้ในมหกรรม CMU-KM DAY ที่จัดเป็นครั้งแรก และคาดว่าจะมีจัดในครั้งต่อไป อย่างน้อยปีละครั้ง และเพราะเห็นว่าเป็นครั้งแรก ไม่น่าจะมีกฎเกณฑ์อะไร ไม่มีผิด ไม่มีถูกในการนำเสนอ และมีเวลามากเพียงพอที่จะลงมือทำงานเพื่อนำเสนอผลปฏิบัติงานที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง พัฒนา ปรับปรุงอยู่เป็นระยะๆ แต่ถามทีมงานเห็นด้วยหรือไม่ที่จะถึงเวลาของการแสดงออก เปิดเผยตัวตนของตนเอง หลายเสียงตอบเห็นด้วย แต่...จะเอาเวลาที่ไหนมาทำ... แต่สุดท้ายงานก็ออกมาดังที่เห็น ขอบคุณการเนรมิตแผ่นภาพโปสเตอร์ในรูปแบบ Infographic ของ น.ส.เมธาพร เฉลิมเขตต์ ทีมงานผู้คลุกคลีด้านการสร้างแบนเนอร์ และแอนิเมชั่น

วงจรชีวิตข่าวสาร มช.รอบสัปดาห์ ไม่ได้มีเพียงการทำงานวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ ภายใต้กระบวนการผลิตงานข่าวสาร ผลิตภัณฑ์ชิ้นสำคัญของผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ ถูกผลิตป้อนให้กับกลุ่มเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันมีหลากหลายไลฟ์สไตล์ จึงได้มีกระบวนการออกแบบทางความคิดสร้างสรรค์และสัมพันธภาพที่ดีร่วมกันภายในเครือข่ายผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านประชาสัมพันธ์ภายในองค์กรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ข่าวสารเปรียบเสมือนอาหารสมองที่เติมเต็มความรู้ ความคิด ต่อยอด สั่งสมเพื่อขยายนวัตกรรม และเพื่อประโยชน์อีกนานัปการ มีความรู้ฝังลึกในงานวิจัย อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการแขนงต่างๆ หรือผลงานเด่นได้รับรางวัลของบุคลากร นักศึกษา เป็นอาทิ และข่าวสารคือผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ (packaging) ให้เหมาะสมก่อนส่งถึงผู้บริโภค

ดังนั้นในวงจรชีวิตของการผลิตข่าวสาร มช. เป็นรายสัปดาห์ จึงมีวงล้อของการดำเนินการมากกว่า 1 วงล้อใหญ่ และมากกว่า 1 วงล้อเล็กๆ รายล้อมวงล้อใหญ่ ในวงล้อใหญ่ยังบรรจุวงล้อเล็กบ้าง กลางบ้าง ล้วนมีผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่หรือเรียก Data Owner ร่วมทำงานหมุนวนเป็นฟันเฟืองของการออกแบบสื่อเพื่อหุ้มห่อผลิตภัณฑ์ข่าวสาร ก่อนส่งกระจายผ่านช่องทางต่างๆ (สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียง สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่อใหม่หรือ New Media) ขณะเดียวกันในทุกวงล้อมีภารกิจกระบวนการภายในตัวเองด้วย เพื่อการปรับปรุงพัฒนา เพิ่มคุณภาพการทำงาน การค้นหาแนวทางปฏิบัติใหม่ที่จะสามารถลดต้นทุนในมิติเวลา งบประมาณ และนำเข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เมื่อดำเนินการไปแล้วค้นพบนวัตกรรม ความรู้ใหม่

วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ข่าวสาร มช. รอบสัปดาห์ได้เติบโตพัฒนาขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีและการสร้างเสริมความแข็งแกร่งของบุคลากร สื่อและช่องทางการสื่อสาร กระบวนการผลิตข่าวสาร มช.รอบสัปดาห์จึงเกือบมีชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ผ่านเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ในคณะและส่วนงาน และเจ้าหน้าที่งานประชาสัมพันธ์เปรียบเป็นฟันเฟืองคอยขับเคลื่อนงานตรงกลาง

แต่เพราะองค์กรมิใช่เครื่องจักร การบริหารจัดการจึงมีรูปแบบกระบวนทัศน์ใหม่ๆ อยู่เสมอ การได้รับจัดสรรอัตรากำลัง การถือนโยบายปักคนลงงานที่เหมาะสม เครื่องมือการทำงานถูกนำมาใช้ เช่น การจัดสุนทรียสนทนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมงานเครือข่าย ส่งต่อระบบความสัมพันธ์ในแนวราบระหว่างกันแน่นแฟ้นขึ้น ขณะเดียวกันการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมได้สร้างอิสระในความคิดแก่คนทำงานเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์พร้อมหีบห่อให้ดูสวยงาม เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งนี้จึงเป็นที่มาของกระบวนการทำงานในงานประจำที่มีรากฐานการสร้างคนทำงาน สร้างสรรค์งานตามความถนัดของคน และสร้างสัมพันธภาพอันงดงามในระหว่างกลุ่มเป้าหมายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders: เครือข่ายผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชน)

ตามอ่านบันทึก ดีใจมีโอกาสนำเสนอโปสเตอร์งาน CMU-KM Day เพิ่มเติมได้ที่ Blog "บันทึกเรื่องดี บัญชีมีสุข">> https://www.gotoknow.org/posts/614947
 

โปรดติดตามในบันทึกถัดไป

หมายเลขบันทึก: 613602เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2016 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2021 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท