ระเบียบวันลาข้าราชการ ควรรู้


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการลาของข้าราชการ

การลาป่วย

ข้าราชการที่เจ็บป่วยและประสงค์จะลาหยุดราชการเพื่อรักษาตัวต้องดำเนินการดังนี้
1. ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่กรณีจำเป็นให้ส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ
2. กรณีที่ป่วยจนไม่สามารถลงชื่อในลาได้จะให้ผู้อื่นลาแทนก็ได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้ว ให้จัดส่งใบลาโดยเร็ว
3. ในปีหนึ่งข้าราชการมีสิทธิลาป่วยโดยได้รับเงินเดือนไม่เกิน 60 วันทำการ เว้นแต่ผู้บังคับบัญชาเห็นสมควร จะให้จ่ายเงินเดือนต่อไปอีกก็ได้แต่ไม่เกิน 60 วันทำการ
4. การลาป่วยตั้งแต่ 30 วันขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์แนบพร้อมใบลา กรณีจำเป็นหรือเห็นสมควรผู้มีอำนาจอนุญาตจะสั่งให้ใช้ใบรับรองแพทย์ที่ผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นสมควรแทนก็ได้
5. กรณีลาป่วยไม่ถึง 30 วัน ไม่ว่าเป็นการลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ถ้าผู้มีอำนาจอนุญาตเห็นสมควร จะสั่งให้มี ใบรับรองแพทย์ประกอบใบลาก็ได้หรือสั่งให้ผู้ลาไปรับการตรวจจากแพทย์ทางราชการเพื่อประกอบการพิจารณา อนุญาตได้

การลาคลอดบุตร

ข้าราชการที่ประสงค์จะลาคลอดบุตรจะต้องดำเนินงานดังนี้
1. ต้องส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อน หรือในวันลา เว้นแต่ไม่สามารถลงชื่อ ในใบลาได้จะให้ผู้อื่นลาแทนก็ได้แต่เมื่อสามารถลงชื่อในใบลาได้ให้ส่งใบลาโดยเร็ว
2. การลาคลอดบุตรโดยได้รับเงินเดือนครั้งหนึ่ง ได้ 90 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ และจะลาในวันที่คลอดก่อน หรือหลังวันที่คลอดบุตรก็ได้แต่รวมวันลาแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน
3.การลาคลอดบุตรคาบเกี่ยวกับการลาประเภทใดซึ่งยังไม่ครบกำหนดวันลาของการลาประเภทนั้น ให้ถือว่าการลา ประเภทนั้นสิ้นสุดลง และให้นับเป็นการลาคลอดบุตรตั้งแต่วันเริ่มวันลาคลอด

การลากิจส่วนตัว

ข้าราชการที่ประสงค์จะลาหยุดราชการเพื่อทำกิจธุระ จะต้องดำเนินการดังนี้
1. ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถรอรับอนุญาตได้ทัน จะส่งใบลาพร้อมระบุเหตุจำเป็นไว้แล้วหยุดราชการก่อนก็ได้ แต่ต้องชี้แจง เหตุผลให้ผู้มีอำนาจอนุญาตทราบโดยเร็ว
2. กรณีที่มีเหตุพิเศษไม่อาจส่งใบลาได้ ให้ส่งใบลาพร้อมด้วยเหตุผลความจำเป็นในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการ
3. ข้าราชการมีสิทธิลากิจส่วนตัวโดยได้รับเงินเดือนปีละไม่เกิน 45 วันทำการ
4. ข้าราชการที่ลาคลอดบุตรแล้ว หากประสงค์จะลากิจเพื่อเลี่ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงบุตรต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรโดนไม่ไดรับเงินเดือนระหว่างลาได้อีก 150 วันทำการ
5. ในระหว่างที่ได้รับอนุญาตให้ลากิจส่วนตัว ยกเว้นการลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ยังไม่ครบกำหนด หากมีราชการจำเป็นเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาจะเรียกตัวกลับมาปฏิบัติราชการก็ได้

การลาพักผ่อน

ข้าราชการมีสิทธิลาพักผ่อนปีละ 10 วันทำการ โดยจะต้องดำเนินการดังนี้
1. ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงหยุดราชการได้ การอนุญาตให้ลาพักผ่อน ผู้มีอำนาจอนุญาตจะอนุญาตให้ลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้โดยมิให้เสียหายแก่ราชการ
2. ในระหว่างลาพักผ่อนและหยุดราชการไปยังไม่ครบกำหนด หากมีราชการจำเป็นเกิดขึ้นผู้บังคับบัญชา จะเรียกตัวกลับมาปฏิบัติราชการก็ได้
3. ปีใดข้าราชการผู้ใดมิได้ลาพักผ่อน หรือลาพักผ่อนแต่ไม่ครบ 10 วันทำการ ให้สะสมวันที่มิได้ลาในปีนั้น รวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้ แต่วันลาพักผ่อนสะสมรวมกับวันลาพักผ่อนในปีปัจจุบันจะต้องไม่เกิน 20 วันทำการ สำหรับผู้ที่รับราชการติดต่อกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธินำวันลาพักผ่อนสะสมรวมกับวันลาพักผ่อนปัจจุบันได้ไม่เกิน 30 วันทำการ
4.สำหรับข้าราชการที่
- ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นครั้งแรก
- ลาออกจากราชการเพราะเหตุส่วนตัวแล้วต่อมาได้รับการบรรจุเข้ารับราชการอีก
- ลาออกจากราชการเพื่อดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแล้วต่อมาได้รับการบรรจุเข้ารับราชการอีกหลัง 6 เดือนนับแต่วันออกจากราชการ
- ถูกสั่งให้ออกจากราชการในกรณีอื่น ยกเว้นกรณีไปรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และกรณีไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการแล้วต่อมาได้รับบรรจุเข้ารับราชการอีก
ถ้าหากข้าราชการดังกล่าว ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการยังไม่ถึง 6 เดือนไม่มีสิทธิลาพักผ่อน
5. ข้าราชการประเภทใดที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษาแล้วมีวันหยุดภาคการศึกษา หากได้หยุดราชการ ตามวันหยุด ภาคการศึกษาเกินกว่าวันลาพักผ่อนตามระเบียบนี้ ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน

การลาอุปสมบทหรือการลาไปประกอบพิธีฮัจย

ข้าราชการที่ประสงค์จะลาอุปสมบท หรือข้าราชการที่นับถือศาสนาอิสลามประสงค์จะลาไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมือง เมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย จะต้องดำเนินการดังนี้
1. ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต ก่อนวันอุปสมบท หรือวันเดินทางไปประกอบฮัจย์ไม่น้อยกว่า 60 วัน ในกรณีที่มีเหตุพิเศษไม่อาจส่งใบลาตามกำหนดดังกล่าวได้ ให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นประกอบการลาและให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ลาหรือไม่ก็ได้
2. เมื่อได้รับอนุญาตให้ลาแล้ว จะต้องอุปสมบทหรือออกเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ภายใน 10 วัน นับแต่วันเริ่มลา และต้องกลับมารายงานตัวเข้าปฏิบัติราชการภายใน 5 วันนับแต่วันที่ลาสิกขา หรือเดินทางกลับประเทศไทย หลังจากการไปประกอบพิธีฮัจย์
3. หากปรากฏว่ามีปัญหาอุปสรรคทำให้ไม่สามารถอุปสมบทหรือไปประกอบพิธีฮัจย์ได้ จะต้องรายงานตัว
กลับเข้าปฏิบัติราชการและขอถอนวันลาให้ผู้มีอำนาจอนุญาต อนุญาตให้ถอนวันลาดังกล่าวได้ โดยให้ถือว่าวันที่ได้หยุดราชการไปแล้วนั้นเป็นวันลากิจส่วนตัว

การลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับเตรียมพล

การเข้ารับการตรวจเลือก หมายถึง การเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อรับราชการเป็นทหารกองประจำการ
การเข้ารับการเตรียมพล หมายถึง เข้ารับการระดม เข้ารับการตรวจสอบพล เข้ารับการฝึกวิชาทหาร หรือเข้ารับการทดลองความพรั่งพร้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้ารับราชการทหาร
1. ข้าราชการที่ได้รับหมายเรียกเข้ารับการตรวจเลือก ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาก่อนวันเข้ารับการตรวจเลือกไม่น้อยกว่า 48 ชั่วโมง สำหรับข้าราชการที่ได้รับหมายเรียกเข้ารับการเตรียมพล ให้รายงานลาต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลารับหมายเรียกและให้ไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ตามวันเวลาในหมายเรียกนั้น โดยไม่ต้องรอรับคำสั่งอนุญาต
2. เมื่อพ้นจากการเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพลแล้วให้รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการ ต่อผู้บังคับบัญชาภายใน 7 วัน กรณีจำเป็น ผู้มีอำนาจอาจขยายเวลาให้ได้ แต่รวมแล้วไม่เกิน 15 วัน

การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย

การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย เป็นการลาหยุดราชการเพื่อไปศึกษา ฝึก อบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย
คำ "ศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย" มีความหมายตามที่ปรากฏในระเบียบว่าด้วยการให้ข้าราชการไปศึกษา ฝึกอบรม และดูงาน ณ ต่างประเทศ พ.ศ.2512 ดังนี้

"ศึกษา" หมายความถึงการเพิ่มพูนความรู้ว่าด้วยการเรียนหรือการวิจัยตามหลักสูตรของสถาบันการศึกษา หรือสถาบันวิชาชีพ เพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการนั้น และหมายความรวมตลอดถึงการฝึกฝนภาษาและการรับคำแนะนำก่อนเข้าศึกษา และการฝึก อบรม หรือดูงาน ที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหรือต่อจากการศึกษานั้นด้วย

"ฝึกอบรม" หมายความถึงการเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญ หรือประสบการณ์ด้วยการเรียน การวิจัย การอบรมสัมมนา หรือการทำงาน โดยไม่มีการรับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการนั้น และหมายความรวมตลอดถึงการฝึกฝนภาษา และการรับคำแนะนำก่อนการเข้าฝึกอบรมหรือการดูงานที่เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม หรือต่อจากการฝึกอบรมนั้นด้วย

"ดูงาน" หมายความรวมถึงการเพิ่มพูนความรู้หรือประสบการณ์ด้วยการสังเกตการณ์

"การปฏิบัติการวิจัย" หมายความถึงการทำงานวิจัยเพื่อนำผลที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ของสถาบันหรือหน่วยงานโดยตรง และไม่รวมถึงการวิจัยตามลักษณะของการศึกษาหรือฝึกอบรม

การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัยนั้น มีระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เป็นพิเศษอีกหลายฉบับ ซึ่งผู้ลาจะต้องปฏิบัติตามระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ตามนัยข้อ 7 ของระเบียบว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.2535 ที่บัญญัติว่า "การลาทุกประเภทตามระเบียบนี้ ถ้ามีกฎหมายระเบียบหรือมติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้เกี่ยวกับการลาประเภทใดไว้เป็นพิเศษ ผู้ลาและผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตการลานั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบหรือมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการลาประเภทนั้นด้วย

ข้าราชการที่มีความประสงค์จะลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัยจะต้องดำเนินการดังนี้
1. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ จะต้องส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงปลัดกระทรวง หรือหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรง แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาอนุญาต
2. การลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัยภายในประเทศ ให้ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงหัวหน้าส่วนราชการเพื่อพิจารณาอนุญาต

การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ

ข้าราชการที่มีความประสงค์ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ จะต้องดำเนินการดังนี้
1. ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณา
2. การไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศมี 2 ประเภท คือ
- ประเภทที่ 1 ได้แก่ การไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกและเป็นวาระที่จะต้อง ส่งไปปฏิบัติงานในองค์การนั้น หรือรัฐบาลไทยมีข้อผูกพันที่จะต้องส่งไปปฏิบัติงานตามความตกลงระหว่างประเทศ หรือประเทศไทยต้องส่งไปปฏิบัติงานเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศตามความต้องการของรัฐบาลไทย
- ประเภทที่ 2 ได้แก่ การไปปฏิบัติงานนอกเหนือจากประเภทที่ 1
3. คุณสมบัติของผู้ที่จะไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ
- ต้องรับราชการติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ยกเว้นผู้ที่ไปปฏิบัติงานในองค์การสหประชาชาติกำหนด ระยะเวลารับราชการลดเหลือ 2 ปี
- ผู้ที่เคยไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ 2 จะต้องมีเวลาปฏิบัติราชการในส่วนราชการ ไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันเริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่ราชการภายหลังจากการไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศประเภทที่ 2 ครั้งสุดท้าย
- ผู้ที่ไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ 2 ต้องมีอายุไม่เกิน 52 ปีบริบูรณ์
- มีความรู้ ความสามารถเหมาะสม มีความประพฤติเรียบร้อย และไม่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนว่ากระทำความผิดทางวินัย
4. กำหนดเวลา การลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ 1 มีกำหนดเวลาไม่เกิน 4 ปี และประเภทที่ 2 มีกำหนดเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยให้นับเวลาที่ไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศเหมือนเต็มเวลาราชการ
5. ไม่ให้ข้าราชการได้รับเงินเดือนในระหว่างลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ เว้นแต่เงินเดือนที่ได้รับจากองค์การระหว่างประเทศต่ำกว่าเงินเดือนที่ได้รับจากทางราชการ โดยทางราชการจะจ่ายเงินสมทบให้ แต่เมื่อรวมแล้วจะต้องไม่เกินเงินเดือนที่ได้รับจากทางราชการ
6. ข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ถ้าต้องการจะอยู่ ปฏิบัติงานต่อให้ยื่นเรื่องราวพร้อมเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับ ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อพิจารณาอนุญาต และมีคำสั่งให้ข้าราชการผู้นั้นไปปฏิบัติงานโดยให้นับเวลาระหว่างนั้น เต็มเวลาราชการ ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้น เหมือนเต็มเวลาราชการได้อีกรวมแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี
สำหรับการอนุญาตให้ข้าราชการผู้ใดไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ 2 เกิน 1 ปีให้ผู้บังคับบัญชา สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการในช่วงเวลาที่ไปปฏิบัติงานเกิน 1 ปีด้วย
7. ข้าราชการที่ลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ ประเภทที่ 2 จะต้องทำสัญญากับส่วนราชการ เจ้าสังกัดว่าจะกลับมารับราชการในส่วนราชการเป็นเวลา 1 เท่าของระยะเวลาที่ไปฏิบัติงาน หากผิดสัญญาจะต้องชดใช้เป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือน เดือนสุดท้ายคูณด้วยระยะเวลาที่ไปปฏิบัติงาน (คิดเป็นเดือน เศษของเดือนถ้าเกิน 15 วัน คิดเป็น 1 เดือน) และหากกลับมารับราชการไม่ครบกำหนดสัญญา ให้ชดใช้เบี้ยปรับลดลงตามส่วน
8. เมื่อการลาไปปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศแล้วเสร็จ ให้รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการภายใน 10 วัน นับแต่วันถัดจากวันเสร็จสิ้นการปฏิบัติงาน และให้รายงานผลการปฏิบัติงานต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการ

การลาติดตามคู่สมรส

การลาติดตามคู่สมรส หมายถึง การติดตามคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ หรือทางราชการสั่งให้ไปปฏิบัติงานในต่างประเทศตามความต้องการของราชการ ตามกฎหมายว่าด้วย การกำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่รวมถึงกรณีที่คู่สมรสลาไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงานหรือปฏิบัติการวิจัย ณ ต่างประเทศ

ข้าราชการที่มีความประสงค์ลาติดตามคู่สมรส จะต้องดำเนินการดังนี้
1. ส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับ จนถึงปลัดกระทรวงหรือหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรง แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณา อนุญาตให้ลาได้ไม่เกิน 2 ปี และในกรณีจำเป็นอาจอนุญาตให้ลาต่อได้อีก 2 ปี รวมแล้วไม่เกิน 4 ปี ถ้าเกิน 4 ปี ให้ข้าราชการ ผู้นั้นลาออกจากราชการ
2. ผู้มีอำนาจอนุญาตจะอนุญาตให้ลาครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ โดยมิให้เสียหายแก่ราชการ แต่รวมแล้วต้อง ไม่เกิน 4 ปี และจะต้องเป็นกรณีที่คู่สมรสอยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือปฏิบัติงานในต่างประเทศเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่ว่าจะเป็นประเทศเดียวกันหรือไม่
3. ข้าราชการที่ลาติดตามคู่สมรสครบกำหนด 4 ปี ในช่วงเวลาที่คู่สมรสอยู่ปฏิบัติหน้าที่ราชการในต่างประเทศติดต่อกัน คราวหนึ่งแล้ว ไม่มีสิทธิขอลาติดตามคู่สมรสอีกเว้นแต่คู่สมรสได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการในประเทศไทย และต่อมาได้รับคำสั่ง ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศอีกในช่วงเวลาใหม่ จึงมีสิทธิลาติดตามคู่สมรสใหม่ได้

การนับวันลา

1. การนับวันลาให้นับตามปีงบประมาณ
2. เพื่อประโยชน์ในการส่งใบลา การอนุญาตให้ลาและคำนวณวันลา ให้นับต่อเนื่องกันโดยนับวันหยุดราชการที่ อยู่ในระหว่างวันลาประเภทเดียวกันรวมเป็นวันลาด้วย ยกเว้นวันลาป่วยที่มิใช่วันลาป่วยตามกฎหมายว่าด้วย การสงเคราะห์ ข้าราชการผู้ได้รับอันตราย หรือการเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติราชการ วันลากิจส่วนตัวและวันลาพักผ่อน ให้นับเฉพาะวันทำการ
3. การลาป่วยหรือลากิจส่วนตัว ซึ่งมีระยะเวลาต่อเนื่องกัน จะเป็นในปีเดียวกันหรือไม่ก็ตามให้นับเป็นการลาครั้งหนึ่ง ถ้าจำนวนวันลาครั้งหนึ่งรวมกันเกินอำนาจของผู้มีอำนาจอนุญาตระดับใด ให้นำใบลาเสนอขึ้นไปตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต
4. ข้าราชการที่ถูกเรียกกลับมาปฏิบัติราชการระหว่างการลา ให้ถือว่าการลาเป็นวันหมดเขตเพียงก่อนวันเดินทางกลับและวันราชการเริ่มต้นตั้งแต่วันออกเดินทางกลับเป็นต้นไป
5. การลาครึ่งวันในตอนเช้าหรือตอนบ่าย ให้นับเป็นการลาครึ่งวันตามประเภทของการลานั้น ๆ
6.ข้าราชการซึ่งได้รับอนุญาตให้ลา หากประสงค์จะยกเลิกวันลาที่ยังไม่ได้หยุดราชการ ให้เสนอถอนวันลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตให้ลา และให้ถือว่าการลาเป็นอันหมดเขตเพียงวันที่ ขอถอนวันลานั้น

กรณีพฤติการณ์พิเศษ

ข้าราชการผู้ใดไม่สามารถมาปฏิบัติราชการได้ อันเนื่องมาจากพฤติการณ์พิเศษ ซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไปในท้องถิ่นนั้น หรือพฤติการณ์พิเศษซึ่งเกิดขึ้นกับข้าราชการผู้นั้น โดยมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือความผิดของข้าราชการผู้นั้นเอง ซึ่งพฤติการณ์พิเศษดังกล่าวร้ายแรงจนเป็นเหตุขัดขวางทำให้ไม่สามารถมาปฏิบัติราชการ ณ สถานที่ตั้งตามปกติให้ข้าราชการ ผู้นั้นดำเนินการดังนี้
1. รายงานพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นรวมทั้งอุปสรรคขัดขวางที่ทำให้มาปฏิบัติราชการไม่ได้ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงหัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงทันทีในวันแรกที่สามารถมาปฏิบัติราชการได้
2. ในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรง พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ข้าราชการ ผู้นั้นมาปฏิบัติ ราชการไม่ได้ เนื่องมาจาก
- เป็นเพราะพฤติการณ์นั้นจริง ให้สั่งให้การหยุดราชการของผู้นั้นไม่นับเป็นวันลา
- ไม่สมควรถือเป็นพฤติการณ์พิเศษให้ถือว่าวันที่ข้าราชการผู้นั้นไม่มาปฏิบัติราชการเป็นวันลากิจส่วนตัว

การรับเงินเดือนระหว่างลา

ในปีงบประมาณหนึ่งๆ (1 ตุลาคม - 30 กันยายน ของปีถัดไป) ข้าราชการมีสิทธิลาโดยได้รับเงินเดือนได้ตามที่กำหนดไว้ ในพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 ดังต่อไปนี้
1. ข้าราชการที่ลาป่วยให้ได้รับเงินเดือนในระหว่างลาปีหนึ่งไม่เกิน 60 วันทำการ แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ตำแหน่ง อธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป เห็นสมควรจะให้จ่ายเงินเดือนต่อไปอีกก็ได้แต่ไม่เกิน 60 วันทำการ
2. ข้าราชการที่ลาคลอดบุตรให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน 90 วัน
3. ข้าราชการที่ลากิจส่วนตัว ให้ได้รับเงินเดือนในระหว่างลาได้ปีละไม่เกิน 45 วันทำการ แต่ในปีที่เริ่มรับราชการ (ปีแรกที่บรรจุเข้ารับราชการ) ให้ได้รับเงินเดือนในระหว่างลาได้ไม่เกิน 15 วันทำการ
4. ข้าราชการที่ลาพักผ่อนประจำปี ให้ได้รับเงินเดือนในระหว่างลาได้ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบ ว่าด้วยการลาของข้าราชการ
5. ข้าราชการที่ยังไม่เคยอุปสมบทในพุทธศาสนา หรือยังไม่เคยเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองเมกกะ ให้ลาโดยได้รับเงินเดือนระหว่างลาได้ไม่เกิน 120 วัน และต้องรับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
6. ข้าราชการซึ่งลาเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพล ให้ได้รับเงินเดือนในระหว่างนั้นได้ แต่ถ้าพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ไม่รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการภายใน 7 วัน ให้งดจ่ายเงินเดือน ยกเว้นมีเหตุจำเป็น ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่อธิบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป จะจ่ายเงินเดือนระหว่างนั้นต่อไปอีกก็ได้ แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 15 วัน
7. ข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน หรือปฏิบัติการวิจัย ให้ได้รับเงินเดือนระหว่างลาสูงสุดไม่เกิน 6 ปี
8. ข้าราชการที่ลาไปปฏิบัติงานในองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างลา เว้นแต่อัตราเงินเดือนที่ได้รับจากองค์กรระหว่างประเทศ ต่ำกว่าอัตราเงินเดือนของทางราชการ ให้ได้รับเงินเดือนจากทางราชการสมทบ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินเดือนจากองค์กรระหว่างประเทศแล้ว ไม่เกินอัตราเงินเดือนของทางราชการได้รับอยู่ในขณะนั้น
9. ข้าราชการที่ลาติดตามคู่สมรส ไม่ได้รับเงินเดือนระหว่างลา

การลาไปรับราชการทหาร

เมื่อข้าราชการลาเข้ารับการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหาร ผลปรากฏว่าได้รับการคัดเลือกเข้ารับราชการทหาร จะต้องรายงานต่อผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะสั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการเพื่อไปรับราชการทหาร และส่วนราชการ เจ้าสังกัดจะต้องสงวนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไว้ เมื่อข้าราชการผู้นั้นพ้นจากราชการทหารโดยไม่มีความเสียหาย และได้แสดงความประสงค์ขอบรรจุกลับเข้ารับราชการในส่วนราชการเดิมภายใน 180 วัน หลังจากพ้นราชการทหารแล้ว ก็ให้บรรจุข้าราชการผู้นั้นกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งระดับเดิมและอาจให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าเดิมได้ไม่เกินปีละ 1 ขั้น

การลาไปฝึกอบรมรักษาดินแดน

ข้าราชการมีสิทธิลาไปฝึกอบรมรักษาดินแดนได้ตามระยะเวลาการฝึก โดยให้ได้รับเงินเดือนในระหว่างลา ได้ไม่เกิน 2 เดือน

การลาไปฝึกวิชาทหารเพื่อแต่งตั้งยศว่าที่ร้อยตรี

ให้ถือว่าเป็นการลาไปปฏิบัติราชการตามมติคณะรัฐมนตรี และให้ข้าราชการผู้นั้นได้รับเงินเดือนเต็มในระหว่างลา พร้อมทั้งให้มีสิทธิเบิกเงินค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักด้วย

การลาไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรี

ข้าราชการที่ลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรี ให้นับเวลาในระหว่างลานั้น เพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญด้วย ถ้ากลับเข้ารับราชการภายในกำหนดเวลา 4 ปี นับแต่วันที่ออกจากราชการ ให้บรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งระดับเดิมและอาจให้ได้รับเงินเดือนสูงกว่าเดิมได้ไม่เกินปีละ 1 ขั้น

สิทธิการลาตามกฎหมายอื่น ๆ และตามมติคณะรัฐมนตรี

ข้าราชการมีสิทธิลาตามกฎหมายอื่น ๆ และตามมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
- การลาตามพระราชบัญญัติสงเคราะห์ข้าราชการผู้ได้รับอันตราย หรือการเจ็บป่วยเพราะเหตุปฏิบัติราชการ พ.ศ.2498
ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีเจ้าสังกัด พิจารณาอนุญาตให้ข้าราชการที่ได้รับอันตรายหรือการเจ็บป่วย เพราะเหตุปฏิบัติราชการใน หน้าที่ เนื่องจากต้องไปปฏิบัติราชการนอกที่ตั้งสำนักงาน หรือถูกประทุษร้าย เพราะเหตุทำตามหน้าที่ ลาหยุดเพื่อรักษาได้เกินกว่า เวลาที่กำหนดไว้ในระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลาของข้าราชการก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าตามระยะเวลา 1 ปีไม่เพียงพอ คณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้ลาต่ออีกก็ได้ ให้ข้าราชการนั้นได้รับเงินเดือนเต็มในระหว่างที่รับอนุญาตลาด้วย

คำสำคัญ (Tags): #วันลา
หมายเลขบันทึก: 612466เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2016 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2016 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท