หาดอ่าวน้อยเฝ้าคอยความหวัง


เขตถอยร่นคือหัวใจของการอยู่กับชายหาดอย่างยั่งยืน

หาดอ่าวน้อยเฝ้าคอยความหวัง

โดย รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์

และเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด



1. บทนำ

ชายฝั่งทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีความยาวรวม 246.8 กิโลเมตร (รูปที่ 1) ลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งทะเลเป็นโขดหินและหาดทรายที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทรายเป็นเวลายาวนาน ส่วนของอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ชายฝั่งมีความยาว 68.7 กิโลเมตร ชายหาดที่มีชื่อเสียงได้แก่ หาดอ่าวมะนาว หาดประจวบฯ หาดอ่าวน้อย เป็นต้น ซึ่งเป็นทั้งสถานที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ที่ทำให้ครอบครัวอบอุ่น เป็นสถานที่ใช้จอดเรือประมงพื้นบ้าน และซ่อมแซมเครื่องมือประมง และเป็นแหล่งรายได้สำหรับคนในท้องถิ่นจากธุรกิจการค้าขายริมหาดทราย


รูปที่ 1 ชายฝั่งทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีความยาว 246.8 กิโลเมตร


ปัจจุบันชายหาดประจวบคีรีขันธ์ที่เคยมีเสถียรภาพมายาวนาน กำลังถูกคุกคามด้วยสิ่งก่อสร้างชายฝั่งหลากหลายรูปแบบ เช่น เขื่อนกันทรายและคลื่น เขื่อนกันคลื่น และกำแพงชายฝั่ง ซึ่งล้วนส่งผลให้แนวชายหาดเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อชายหาดส่วนอื่นๆทั้งระบบ การศึกษานี้จึงทำการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแนวชายหาดอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ในรอบ 12 ปี รวมทั้งทำการประเมินผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างชายฝั่งตลอดแนวชายฝั่ง ตามหลักวิชาวิศวกรรมชายฝั่งทะเล


2. กระบวนการของหาดทรายชายฝั่งทะเล

ลักษณะทั่วไปของชายหาด (รูปที 2) ประกอบด้วยส่วนที่เรียกว่า หลังหาด (Backshore) จะมีลักษณะเป็นสันทราย (Berm) ส่วนที่สองเรียกว่า หน้าหาด (Foreshore) หรือชายหาด (Beach) ซึ่งเป็นบริเวณที่คลื่นไถลขึ้นไปถึง และส่วนที่สามเป็นพื้นทะเลบริเวณชายฝั่ง (Nearshore) โดยที่อาจมีสันดอนใต้น้ำ (Sand Bar) ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คลื่นเริ่มแตกเป็นฟอง (Breaker)

สำหรับชายหาดที่วางตัวเป็นอ่าวรูปโค้ง (Pocket Beach) แสดงถึงกระแสน้ำชายฝั่งจะมีอิทธิพลน้อย หาดทรายมีเสถียรภาพและสมดุลเชิงพลวัต (Dynamic equilibrium) ซึ่งอธิบายได้จากปรากฏการณ์การเกิดสันดอนทรายชายฝั่ง (Longshore bar) ในช่วงฤดูมรสุม ทีทรายจากหาดจะถูกคลื่นพาไปทับถมเป็นสันดอนใต้น้ำ และเมื่อฤดูคลื่นลมสงบ ทรายจากสันดอนจะถูกพัดพากลับคืนสู่หาดโดยคลื่นเดิ่ง (Swell) วนเวียนเช่นนี้เป็นวัฏจักร (ดูรูปที่ 1 ประกอบ)


รูปที่ 2 รูปทรงและองค์ประกอบทั่วไปของชายหาดทราย

(ที่มา http://www.geographylwc.org.uk/GCSE/Year5/5coast/beaches.html)


3. ระบบกลุ่มหาด (Littoral Cell)

ความเข้าใจการเคลื่อนที่ของทรายชายหาดจากแหล่งกำเนิดหรือให้ทราย (Source) ไปยังแหล่งรับหรีอสะสมตะกอน (Sink) ของชายหาดหนึ่ง เรียกว่า ระบบกลุ่มหาด (Littoral Cell หรือ Physiographic Unit) (รูปที่ 3) เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการวางแผนใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน การเคลื่อนที่ของเม็ดทรายชายหาดเป็นไปตามสภาวะคลื่นลมที่มากระทำ ด้วยกระบวนการหักเห (Refraction) การเลี้ยวเบน (Diffraction) และการสะท้อน (Reflection) ของคลื่น ลักษณะโค้งเว้าของหาดแสดงถึงความมีเสถียรภาพของชายหาดที่ไม่ก่อให้เกิดการกัดเซาะ

รูปที่ 3 ระบบกลุ่มหาดและการเคลื่อนที่ของทรายชายหาด

(ที่มา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 2557)


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จำแนกระบบกลุ่มหาดของชายฝั่งประเทศไทยออกเป็น 64 กลุ่มหาด โดยชายฝั่งอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหาด คือ S2, S3 และ S4 ดังแสดงในตารางที่ 1 และรูปที่ 4

ตารางที่ 1 ระบบกลุ่มหาด ชายฝั่งอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ความยาวชายฝั่ง 68.7 กิโลเมตร


รูปที่ 4 รูปทรงและองค์ประกอบทั่วไปของชายหาดทราย

(ที่มา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 2557)


4. กำแพงกันคลื่นและผลกระทบต่อหาดทราย

กำแพงกันคลื่น ซึ่งมีทั้งแบบแนวดิ่งและแบบเอียง (รูปที่ 5) เมื่อคลื่นเข้าปะทะกำแพงจะเกิดการสะท้อนของคลื่นที่หน้ากำแพงฯซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบทำให้หาดทรายด้านหน้ากำแพงถูกพัดพาออกนอกชายฝั่งแล้ว ยังทำให้หาดทรายที่อยู่ข้างเคียงถูกกัดเซาะรุนแรงเป็นลูกโซ่ อันเนื่องมาจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปลายกำแพงนั้น (รูปที่ 6)


รูปที่ 5 ผลของการสะท้อนของคลื่นที่กำแพงทำให้คลื่นยกตัวสูงขึ้นที่ชายฝั่งบ้านหน้าศาล อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช



รูปที่ 6 ผลกระทบจากการเลี้ยวเบนของคลื่นที่ปลายกำแพงชายฝั่ง ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา


5. สิ่งก่อสร้างชายฝั่ง อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์

จากการสำรวจชายฝั่งอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ความยาวหาดทรายประมาณ 50 กิโลเมตร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่าสิ่งก่อสร้างชายฝั่งมีทั้งเขื่อนกันทรายและคลื่น เขื่อนกันคลื่น และส่วนใหญ่เป็นกำแพงคอนกรีตแนวดิ่ง ทำให้เกิดการสะท้อนของคลื่นอย่างรุนแรง ส่งผลให้หาดทรายด้านหน้ากำแพงหายไปอย่างถาวรและพื้นทะเลหน้ากำแพงลึกลง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

5.1 ชายหาดคลองวาฬ

เขื่อนชายฝั่งหาดคลองวาฬบริเวณหมู่บ้านชาวประมง ส่งผลกระทบต่อชายหาดทางทิศใต้ของเขื่อนกันทรายและคลื่น ขณะที่ชายหาดทางทิศใต้มีการสะสมตัวและยังคงสภาพไม่เปลี่ยนแปลง (รูปที่ 7)

รูปที่ 7 การกัดเซาะรุนแรงที่ชายหาดอ่าวคลองวาฬจากสิ่งก่อสร้างชายฝั่งทะเล


5.2 ชายหาดอ่าวมะนาว

บริเวณตอนกลางของอ่าวมีกำแพงชายฝั่งยาวประมาณ 680 เมตร โดยภาพรวมชายหาดยังคงมีสภาพปกติ

5.3 อ่าวประจวบฯ

ชายฝั่งถูกสร้างเป็นกำแพงคอนกรีตแนวดิ่งมาตั้งแต่ก่อนปี 2546 และมีการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2558 บริเวณชายฝั่งทิศเหนือติดกับเขาตาม่องล่ายถูกสร้างเป็นกำแพงคอนกรีตเอียง (รูปที่ 8) และไม่มีหาดทรายเหลืออยู่

รูปที่ 8 กำแพงชายฝั่งอ่าวประจวบฯทำให้สูญเสียหาดทรายที่หน้ากำแพง


5.4 ชายหาดอ่าวน้อย

โดยรวมมีสภาพหาดทรายที่สมบูรณ์ ยกเว้นบริเวณหมู่บ้านชาวประมงที่มีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตแนวดิ่งยาว 200 เมตร (รูปที่ 9) ซึ่งส่งผลกระทบให้หาดทรายถูกกัดเซาะหายไป และทางกรมโยาฯมีโครงการสร้างกำแพงคอนกรีตชายฝั่งแบบเอียงตลอดแนวชายหาด (รูปที่ 10) ซึ่งจะทำให้หาดทรายธรรมชาติสูญเสียไปทั้งหมด จึงมีการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการรักษาหาดอ่าวน้อยไว้

ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงความกว้างของหาดทราย หาดอ่าวน้อย จากภาพถ่าย Google Earth และเปรียบเทียบกับผลสำรวจภาคสนามเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2559 เวลา 16:30-18:00 โดยเครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด ถูกแสดงไว้ในรูปที่ 11 พบว่าหาดทรายตามธรรมชาติของหาดอ่าวน้อยมีความกว้างอยู่ระหว่าง 20-30 เมตร เช่นเดียวกับหาดทรายที่พบโดยทั่วไป


รูปที่ 9 หมู่บ้านชาวประมงอ่าวน้อยและการกัดเซาะชายฝั่ง

(ภาพจาก เฟส Sor Rattanamanee Goergoraon)



รูปที่ 10 รูปแบบโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตรุกหาดอ่าวน้อย โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง



รูปที่ 11 การเปลี่ยนแปลงความกว้างหาดทรายอ่าวน้อยจาก Google Earth และการสำรวจภาคสนาม


5.5 ชายหาดอ่าวคั่นกระได

มีการก่อสร้างกำแพงไม้ยาวประมาณ 100 เมตร (รูปที่ 12) ที่บริเวณหมู่บ้านชาวประมง พบร่องรอยการกัดเซาะที่หน้ากำแพง และทางกรมโยธาฯได้เสนอให้มีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตยาว 300 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อหาดทรายทั้งระบบและลุกลามต่อไปทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นหาดทรายยาวตรงและอ่อนไหวต่อการถูกรบกวน ทำให้กลุ่มอนุรักษ์หาดคั่นกระไดคัดค้านโครงการนี้


รูปที่ 12 สภาพชายหาดอ่าวคั่นกระได อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ และแบบก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของกรมโยธาฯ


6. การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแนวชายหาดอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ในช่วง 12 ปีด้วยภาพทางอากาศ Google Earth

แนวชายหาดอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์พื้นที่ศึกษา (รูปที่ 13) ได้รับการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ Google Earth ปี 2546 ถึง 2558 (รูปที่ 14) ซึ่งสามารถจำแนกการเปลี่ยนแปลงแนวชายหาดได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ชายหาดที่ถูกกัดเซาะถาวร ชายหาดคงสภาพ และชายหาดงอกสะสม ดังแสดงในตารางที่ 2 ซึ่งพบว่า ชายหาดทีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีสิ่งก่อสร้างชายฝั่ง เช่น กำแพงชายฝั่งหาดอ่าวน้อย ทำให้ชายหาดบริเวณทิศใต้ของสิ่งก่อสร้างชายฝั่งมีการเพิ่มขึ้นของตะกอนทราย และชายหาดทางทิศเหนือถูกกัดเซาะ


รูปที่ 13 พื้นที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชายหาด อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์จาก Google Earth






รูปที่ 14 ผลวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแนวฝั่งและหาดทราย ด้วยภาพ Google Earth ปี 2546 และ 2558


ผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแนวฝั่งจากรูป 5.8 สรุปได้ว่าในรอบ 12 ปี แนวฝั่งหาดอ่าวน้อยตอนกลางเพิ่มเฉลี่ย 7 เมตร ส่วนตอนเหนือถดถอยประมาณ 10 เมตร ซึ่งแสดงถึงระยะถอยร่นตามธรรมชาติของชายหาดที่ขึ้นกับสภาพคลื่นลม ส่วนชายฝั่งอ่าวคั่นกระไดเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ยกเว้นบริเวณที่มีสิ่งก่อสร้างชายฝั่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน บางแห่งมีการกัดเซาะ 12-14 เมตร อันเป็นผลมาจากการเลี้ยวเบนและการสะท้อนของคลื่นที่บริเวณสิ่งก่อสร้างชายฝั่งนั้น

ารางที่ 2 แสดงภาพรวมการเปลี่ยนแปลงแนวฝั่งชายหาดอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จากการวิเคราะห์ด้วยภาพถ่ายทางอากาศ Google Earth ปี 2546 และ 2558 สรุปได้ว่า ชายหาดทรายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ซึ่งมีความยาวประมาณ 50 กิโลเมตร โดยภาพรวมบริเวณที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างรบกวนสมดุลการเคลื่อนที่ของทราย ชายหาดยังคงมีสภาพปกติ และสิ่งก่อสร้างชายฝั่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายหาดอย่างฉับพลันและเกิดการกัดเซาะรุนแรง

การวิเคราะห์แนวชายหาดจากภาพถ่ายทางอากาศ Google Earth ปี 2546 และ 2558 พบว่า ชายหาดส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง โดย 72% ของความยาวชายฝั่งอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ยังคงสภาพเดิม มีเพียงบริเวณที่มีสิ่งก่อสร้างชายฝั่งที่ทำให้แนวชายฝั่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรและฉับพลัน โดยแนวฝั่งหาดคั่นกระไดเกิดการกัดเซาะมากที่สุดเป็นระยะทางประมาณ 3,800 เมตร รองลงมาคือ คลองวาฬชายหาดเกิดการกัดเซาะประมาณ 2,000 เมตร ขณะที่อ่าวมะนาวมีสิ่งก่อสร้างชายฝั่งเล็กน้อยบริเวณตอนกลาง และชายหาดโดยทั่วไปยังคงสภาพเดิม

จากการใช้พื้นที่ชายฝั่งไม่เหมาะสมบริเวณชุมชนอ่าวน้อยและอ่าวคั่นกระได ทำให้หาดทรายถูกกัดเซาะเป็นระยะทางประมาณ 240 เมตร และ 160 เมตร ตามลำดับ

ตารางที่ 2 การเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จากภาพ Google Earth ปี 2546 และ 2558



เขื่อนกันทรายและคลื่นที่หาดคลองวาฬขัดขวางการเคลื่อนที่ของทรายชายหาด ทำให้ทรายสะสมตัวที่ทางทิศใต้ของตัวเขื่อนกันทรายฯเป็นระยะทางประมาณ 860 เมตร ผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างชายฝั่งที่กล่าวมาได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น หาดชลาทัศน์ อำเภอเมืองสงขลา หาดหน้าสตน อำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และที่หาดพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อหาดทรายในวงกว้าง


7. ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์

7.1 การกำหนดเขตแนวถอยร่น (Setbacks Zone) เป็นมาตรการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์หาดทรายอย่างยั่งยืน โดยที่แนวถอยร่นเป็นกันชนระหว่างารเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติกับการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมของมนุษย์บริเวณแนวชายหาด ดังแสดงในรูปที่ 15 ซึ่งในหลายประเทศมีการประกาศระยะแนวถอยร่นไว้เป็นกฎหมาย


รูปที่ 15 ความหมายของแนวถอยร่นชายฝั่งและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน


7.2 ความเข้าใจผิดที่พบเสมอ คือเข้าใจว่าการกัดเซาะชายหาดธรรมชาติเป็นปัญหาและจะต้องมีการป้องกัน ซึ่งแท้จริงแล้วการกัดเซาะชายหาดเป็นกระบวนการตามปกติของธรรมชาติ เนื่องจากชายหาดประกอบด้วยเม็ดทรายเคลื่อนที่ไปตามแรงพัดพาของคลื่นและลม เกิดเป็นความสมดุลของชายหาด ท่ามกลางการเคลื่อนไหว การกัดเซาะของชายหาดในช่วงฤดูมรสุมจะถูกทดแทนด้วยเม็ดทรายที่ถูกพัดคืนกลับมาทับถมกันตามเดิมในฤดูที่คลื่นลมสงบ ชายหาดนั้นจะได้รับการปกป้องอย่างสูงสุดถ้าเรายอมรับกระบวนการตามธรรมชาติของการกัดเซาะและการทับถมกลับคืน โดยไม่เข้าไปแทรกแซงสมดุลนี้

7.3 มาตรการที่ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายหาดและฟื้นฟูหาดทรายที่เสียหายให้กลับคืน มี่ดังนี้

- ทบทวนโครงการสิ่งก่อสร้างชายฝั่งที่ผ่านมาซึ่งส่งผลกระทบต่อสมดุลพลวัตของหาดทรายอย่างรุนแรง

- ฟื้นฟูชายหาดโดยการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างชายฝั่งที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อคืนสมดุลการเคลื่อนที่ของทรายชายหาด การเติมทรายให้กับหาดทรายจะช่วยให้ได้ผลที่ดี

- การถ่ายเททรายจากที่ถูกดักไว้ในบริเวณสิ่งก่อสร้างชายฝั่งไปสู่หาดที่ถูกกัดเซาะ จะลดปัญหาได้อย่างรวดเร็ว (รูปที่ 16) และยังช่วยเสริมความมั่นคงให้กับหาดทรายบริเวณอื่นๆ

- การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติของหาดทรายให้แก่สังคม จะทำให้เกิดความร่วมมือในการรักษาหาดทรายอย่างยั่งยืนตลอดไป

รูปที่ 16 การถ่ายเททรายจากที่ถูกดักไว้บริเวณสิ่งก่อสร้างชายฝั่งไปสู่หาดที่ถูกกัดเซาะ


========================

หมายเลขบันทึก: 611336เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2016 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2016 19:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท