บุหรี่ไฟฟ้า: ไร้ควันแต่ไม่ไร้ภัย


3 คำถามที่คนอยากรู้มากที่สุดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า 1) บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร? 2) บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา....จริงหรือไม่? 3) บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้เลิกบุหรี่....ได้หรือไม่?

บุหรี่ไฟฟ้า: ไร้ควันแต่ไม่ไร้ภัย

ดร. จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ

เผยแพร่ครั้งแรกใน http://nuph.health.nu.ac.th/phnu/article.php?id=32

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559

บุหรี่ฟ้า หรือ บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics cigarette หรือ E- cigarette) ถูกคิดค้นขึ้นโดยชาวจีนเมื่อ ปี ค.ศ. 2004 และได้รับการจดสิทธิบัตรการค้าเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2007 หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงสิบปีบุหรี่ไฟฟ้าก็เผยแพร่สู่นาๆ ประเทศส่งผลให้เกิดการทำการตลาดและการบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก ([1])

สำหรับประเทศไทย แม้จะมีประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องกำหนดให้ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 แต่กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกนำไปบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง จึงทำให้ยังสามารถพบเห็นการวางขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ไม่ยากนัก ทั้งในตลาดนัด งานวัด และดาษดื่นในสังคมออนไลน์

ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด นอกเหนือไปจากการใช้มาตรการทางกฎหมายแล้วก็คือ การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความรู้และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่นี้ให้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเองก็ต้องเท่าทันต่อสถานการณ์ ผลกระทบ และสามารถให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ที่อยู่ในขั้นลังเลสงสัยหรือคิดที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม บทความนี้จึงได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าผ่านคำถามที่ท้าทายและชวนคิดจำนวน 3 คำถาม คือ

1) บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร?

2) บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา....จริงหรือไม่?

3) บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้เลิกบุหรี่....ได้หรือไม่?


บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร?

บุหรี่ไฟฟ้า จัดเป็น อุปกรณ์นำส่งนิโคตินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Nicotine Delivery System: ENDS) ที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับบุหรี่จริง แต่ภายในบริเวณปากดูด (Mouth piece) จะมีหลอดขนาดเล็กที่บรรจุน้ำยาที่มีนิโคตินผสมอยู่ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นไอ (Vapour) ด้วยความร้อนจากตัวทำละออง (Atomizer) ที่อยู่ตรงส่วนกลางของบุหรี่โดยอาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ที่อยู่บริเวณตัวบุหรี่ และส่วนปลายของมวนบุหรี่จะมีไฟแอลอีดีแสดงสถานการณ์ทำงานและแจ้งเตือนระดับ แบตเตอรี่ ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าจึงจัดเป็น ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบไม่มีควัน (Smokeless tobacco) ซึ่งนับว่าเป็นจุดแตกต่างที่สำคัญเมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดาที่นำส่งนิโคตินเข้าสู่ร่างกายโดยอาศัยการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดควัน ([1])

บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา....จริงหรือไม่?

แม้ว่าในเบื้องต้น ผลการสุ่มตรวจละอองน้ำที่ได้จากบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อต่างๆ จะระบุว่า ยังไม่พบสารพิษหรือสารก่อมะเร็งเหมือนที่พบในควันบุหรี่ธรรมดา ทั้งนี้เนื่องจากบุหรี่ไฟฟ้าใช้ความร้อนในกระบวนการทำเป็นไอน้ำเพียง 50-60 °C ในขณะที่บุหรี่ธรรมดาต้องใช้ความร้อนในกระบวนการเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงถึง 950 °C ([2])

แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2014 Centers for Disease Control and Prevention ([3]) ได้รายงานจำนวนผู้ที่ได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไว้ว่ามีถึง 215 คน และยังมีรายงานที่ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความแปรปรวนของระดับนิโคตินในน้ำยาที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า ที่ทำให้ผู้สูบไม่รู้ตัวว่าตนเองจะได้รับนิโคตินเข้าไปในปริมาณเท่าใด ซึ่งสารนิโคตินจะมีอันตรายต่อสุขภาพของบุคคล ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ([4]) กล่าวคือ ผลกระทบระยะสั้น จะทำให้ หายใจไม่ออก ไอ จาม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ มึนงง สับสน ความดันโลหิตต่ำ ฯ และ ผลกระทบระยะยาว จะทำให้ เยื่อหุ้มฟันอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ต้อกระจก ซีด หัวใจเต้นผิดปกติ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ทำให้วิตกกังวล และซึมเศร้าฯ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าหลอดที่บรรจุน้ำยานิโคตินที่ใส่ไว้ในกับบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสรั่วไหลและแตกได้ ซึ่งหมายถึงมีโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับนิโคตินในปริมาณที่มากเกินไปจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ([5]) รวมถึงยังมีข้อกังวลใจเกี่ยวกับ การได้รับละอองไอน้ำจากบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง (Second-hand exposure) โดยเฉพาะประชากรกลุ่มเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์จากนิโคติน เช่น เด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยโรคหัวใจ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบดังกล่าวในระยะยาวต่อไป (2)

บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้เลิกบุหรี่....ได้หรือไม่?

จากผลการทบทวนวรรณกรรมที่เป็นระบบที่รวบรวมขึ้นจาก งานวิจัยที่เชื่อถือได้ในต่างประเทศจำนวน 13 งานวิจัย (2) ที่ยืนยันผลการศึกษาที่สอดคล้องกันว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเลิกบุหรี่ได้สำเร็จน้อยกว่าผู้ไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมีประสิทธิผลในการช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างไร เพียงแต่อาจช่วยปรับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้เท่านั้น ซึ่งผู้สูบส่วนใหญ่ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงได้ก็มักมีความเข้าใจผิดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวกับบุหรี่ลดลงแล้วจึงทำให้ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด

สรุปได้ว่า ด้วยรูปร่างหน้าตาและวิธีการใช้งานของบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่แตกต่างบุหรี่ธรรมดา กอปรกับกลยุทธ์ทางการตลาดที่ชูให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าไฮเทคโนโลยี ภาพลักษณ์ดี และเป็นนวัตกรรมไร้ควัน จึงทำให้มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มเยาวชนต้องติดกับดักในความเย้ายวนใจของบุหรี่ไฟฟ้า จนทำให้ไม่ได้ตระหนักเลยสักนิดว่าบุหรี่ที่ไม่มีควันเหล่านี้จะมีฤทธิ์ทำให้เสพติด เจ็บป่วย และเสียชีวิตได้ไม่แตกต่างไปจากบุหรี่ที่มีควัน นอกจากนี้ การเกิดการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีนโยบาย และมาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการนำเข้าและการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวดและจริงจัง รวมถึงควรมีมาตรการเพื่อรณรงค์และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในวงกว้างและต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ทั้งกลุ่มประชาชนทั่วไปและกลุ่มเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจ และเท่าทันต่อพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เพราะถึงแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไร้ควันแต่ก็ไม่ไร้ภัย



[1] ธีรพล ทิพย์พะยอม และปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์. (2557). บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์. วารสารสาธารณสุขศาสตร์. 44(3):

313-28.

[2] Caponnetto P., Campagna D,, Papale G,, Russo C,, Polosa R. (2012). The emerging phenomenon of electronic cigarettes. Expert Rev Respir Med. 6: 63-74

[3] Centers for Disease Control and Prevention. (2014). Notes from the field: Calls to poison centers for exposures

to electronic cigarettes United States. September 2010-February 2014 [Online] Available: http://www.cdc.gov/

mmwr/preview/mmwrhtml/ mm6313a4.htm (22 July 2014)

[4] Hau M., Alfi, M., & Talbot P. (2013). Health related effects reported by electronic cigarette users in online forums. Journal of Medical Internet Research. 15(4) [online] Available: http:// www.jmir.org/2013/4/e59/ (20 July 2014)

[5] Grana, R.A. (2013). “Electronic cigarettes: Anew nicotine gateway?”. Journal of Adolescent Health. 52(2) : 135-136.

หมายเลขบันทึก: 611063เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2016 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2016 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท