เรียนภาษาเพื่อถ่ายทอดภาษา


สอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ




... ดิฉันได้มีโอกาสเข้าสังเกตการสอนและฝึกสอนให้กับนิสิตกัมพูชาที่ได้รับทุนในโครงการของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในการเข้าสังเกตการสอนและการฝึกประสบการณ์สอนเราไม่ได้เข้าไปทำสุ่มสี่สุ่มห้า ในรายวิชาเอกเลือกของสาขาวิชาภาษาไทยได้มีการเปิดการเรียนการสอนในรายวิชา การสอนภาษาไทยในฐานะภาษาต่างประเทศ มีนิสิตเอกภาษาไทยลงเรียนทั้งหมด 20 คน ในรายวิชานี้เราเรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติแต่จะเน้นปฏิบัติซะส่วนมาก เพื่อในอนาคตจะเอาประสบการณ์ตรงนี้ไปใช้ได้จริง ในช่วงแรกๆที่เข้าสังเกตการณ์สอนนั้นเราจะทำความรู้จักกับเพื่อนชาวกัมพูชาเสียก่อน ชั่วโมงแรกอาจารย์ให้เราสลับกันถามชื่อและเมืองที่มากับนิสิตกัมพูชาคล้ายๆกับกิจกรรมรู้จักฉันรู้จักเธอในรายวิชาพัฒนานิสิต

หลังจากที่เรารู้จักกันแล้วก็เริ่มพูดคุย ถามไถ่กันแบบคำถามง่ายๆในชีวิตประจำวัน เช่น คุณกินข้าวหรือยัง? คุณจะไปที่ไหน? คุณทำอะไรอยู่? เป็นต้น พอเริ่มถามก็เริ่มสนิทเริ่มจำชื่อได้ จำหน้าได้ นิสิตกัมพูชาที่มาเรียนมีทั้งหมด 6 กลุ่ม จะเรียงตามความรู้พื้นฐานของแต่ละคนตามลำดับโดยมีการทดสอบก่อนเรียนเพื่อแบ่งห้อง ส่วนมากอาจารย์จะให้เข้าสังเกตการณ์สอนห้องที่พื้นฐานเขายังไม่ค่อยดีเพื่อให้เราได้เข้าไปช่วยอธิบายคำศัพท์บางคำที่ไม่เข้าใจ นิสิตชาวกัมพูชาส่วนมากที่มาเรียนเขาจะมาศึกษาต่อในระดับชั้นปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกที่ประเทศไทย จึงต้องมาฝึกความรู้พื้นฐานภาษาไทยก่อนที่จะเข้าไปเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยจริงๆ ทั้งนี้ต้องฝึกให้ฟัง พูด อ่าน เขียนได้




ดิฉันเข้าสังเกตการณ์สอนไปได้สักระยะหนึ่ง อาจารย์ก็เริ่มให้ฝึกสอนเองโดยอาจารย์จะมอบหมายหัวข้อและงานมาให้ ให้เราเขียนแผนการสอนขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางว่าเราจะสอนเขาเรื่องอะไร มีกิจกรรมใดบ้าง มีแบบฝึกหัดให้ทำเพื่อฝึกทักษะและทบทวนความรู้ที่ได้เรียนมาในแต่ละคาบเรียน ในการเข้าฝึกสอนครั้งแรกนั้นก็รู้สึกตื่นเต้น ประหม่านิดหน่อยแต่ก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี นิสิตกัมพูชาเขาให้ความสนใจในการเรียนมาก ตักตวงเอาความรู้สุดๆ ไม่เข้าใจเราให้ถามได้เลยเขาก็ถามอย่างไม่เขินอาย พูดผิดเพื่อนๆในห้องก็หัวเราะกันเองแต่ก็ไม่มีใครรู้สึกที่จะอายเวลาพูดผิดกลับเป็นเรื่องสนุก เรื่องตลกด้วยซ้ำ ในแต่ละวันดิฉันก็ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ที่คณะอยู่กับนิสิตชาวกัมพูชามาได้เกือบจะสองเดือนแล้ว ความสนิทก็มีมากขึ้นบางครั้งก็ไปกินข้าว ไปกินเนื้อย่าง ไปเที่ยวด้วยกันบ้าง เขาจะชอบเข้ามาทักทายพูดคุยเพราะเขาอยากฝึกพูดมากๆ




พอได้เริ่มฝึกสอนบ่อยๆเราก็เริ่มรู้แล้วว่าควรจะสอนยังไง วิธีสอนเขาให้เข้าใจง่ายๆทำอย่างไร เราต้องเตรียมตัวและต้องมีความรู้พื้นฐานที่แน่นพอสมควรเพื่อที่จะอธิบายสิ่งที่เขาไม่รู้ให้เข้าใจได้ชัดเจน ดิฉันคิดว่าถ้าเรียนจบรายวิชานี้ไปได้การออกไปยืนพูดหน้าชั้นเรียนเป็นเรื่องที่ง่ายมากและก็เป็นเรื่องปกติไปแล้ว เมื่อก่อนเป็นคนไม่ค่อยกล้าออกไปพูดหน้าชั้นเรียน ให้ออกไปก็พูดได้แต่อาจจะพูดได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับปัจจุบันแล้วมีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะเหมือนกัน มีเพื่อนชาวต่างชาติดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีเขามาเรียนรู้ภาษาของเรา เราก็เรียนรู้ภาษาของเขาแถมยังจะได้ภาษาที่สามเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อฝึกสอนเขาเสร็จดิฉันคิดเสมอว่าทุกครั้งที่เราสอนเขา เรามักจะได้อะไรกลับมาเสมอ ...

ขอบคุณมิตรภาพดีๆที่มีให้กันค่ะ (อาจารย์น้อยอยากเขียนให้นิสิตกัมพูชาทุกคน)




หมายเลขบันทึก: 610452เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2016 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2016 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท