ร่วมด้วยช่วยกันแต้มสีสื่อสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาการเด็กที่ “ศพด.พิทักษา”


สื่อสร้างสรรค์และเครื่องเล่นสนามที่ผลิตขึ้นภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนพิทักษา อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการ คือถ้าต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กด้านไหน ก็จะผลิตสื่อเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ และเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กทุกช่วงอายุ เพราะเด็กแต่ละช่วงอายุพัฒนาการจะแตกต่างกัน การผลิตสื่อจึงต้องเอื้อต่อศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กวัยนั้นๆ ด้วย


ภายในชุมชนวัดอมรทายิการาม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนพิทักษา เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 สอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 1- 3 มีเด็กจำนวน 450 คน และครู 38 คน

ด้วยการบริหารจัดการศูนย์ที่ดีส่งผลให้คุณภาพการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเป็นศูนย์นำร่องของกรุงเทพมหานครในการยกระดับศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนให้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้น และพัฒนาสู่มาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติต่อไป


การที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนแห่งนี้ได้รับการยอมรับ ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามแสวงหาความรู้ ความคิด และการสร้างสรรค์ใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาศูนย์ฯ อันจะส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการของเด็กๆ โดยในปี 2558-2559 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนพิทักษา ได้เข้าร่วมโครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็ก” จากการสนับสนุนของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และ ปัญญา ผ่านการจัดกระบวนการการเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชนในการร่วมพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นพื้นที่ในการการเรียนรู้ร่วมกันของเด็กและชุมชน ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต ภายใต้แนวคิด 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี


น.ส.วิภาดา ศิริโชคธาดี ครูประจำศูนย์ฯ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นศูนย์ขนาดใหญ่ ต่างพากันคิดว่าเรามีการพัฒนาที่เพียงพออยู่แล้ว ทำให้บางครั้งงบประมาณไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ยังมีอีหลายๆ อย่างที่ต้องพัฒนา เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการในทางที่ดี เช่น เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นที่มีไม่เพียงพอกับจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้นทุกปี และบางชิ้นไม่สามารถตอบโจทย์กับเด็กทุกช่วงวัยอายุได้ ครั้นจะทำเรื่องจัดซื้อก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

สื่อสร้างสรรค์และเครื่องเล่นสนามที่ผลิตขึ้นภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนพิทักษา อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการ คือถ้าต้องการให้เกิดประโยชน์ต่อพัฒนาการเด็กด้านไหน ก็จะผลิตสื่อเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ และเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กทุกช่วงอายุ เพราะเด็กแต่ละช่วงอายุพัฒนาการจะแตกต่างกัน การผลิตสื่อจึงต้องเอื้อต่อศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กวัยนั้นๆ ด้วย


ขณะเดียวกันทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนพิทักษา ยังได้สร้างการมีส่วนร่วมระหว่าศูนย์ฯกับผู้ปกครอง โดยชักชวนมาช่วยกันทำเครื่องเล่นและสื่อสร้างพัฒนาการ ทั้งสื่อที่อยู่ในห้องเรียน เช่น หนังสือผ้าหุ่นมือ โรงเล่านิทาน และสื่อนอกห้องเรียน สนามเด็กเล่นเพื่อสำหรับการเรียนรู้ หรือ BBL (Brain Based Learning) เช่น คานทรงตัว หลุมอากาศ ห่วงปีป่าย บาร์ห้อยโหน เป็นต้น รวมสื่อสร้างสรรค์ที่ผลิต 13 ประเภท หรือจะเป็นเครื่องดนตรีจากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งวัสดุที่นำมาผลิตนั้นบางส่วนเป็นวัสดุเหลือใช้และขอบริจาคจากคนในชุมชน เช่น ยางรถยนต์ ยางมอเตอร์ไซค์ เศษเชือก ฯลฯ


“หลังจากเข้าร่วมโครงการ และผลิตสื่อสร้างสรรค์แล้ว พบว่าเด็กมีพัฒนาการดีขึ้นทั้งร่างกายแข็งแรง อารมณ์ดีจิตใจแจ่มใส และด้านสังคม มีกาปรับตัวเข้ากับเพื่อนง่ายขึ้น รู้จักแบ่งปันของเล่นด้วยกัน ส่วนด้านปัญญานั้นช่วยส่งเสริมต่อผลการเรียนด้านการคิด การตัดสินใจ ซึ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกับระบบสมองและประสาททั้งหมด ซึ่งถ้าเราสอนเด็กให้นั่งฟังอย่างเดียว เด็กก็เบื่อ แต่ถ้าเราให้เขาได้เล่นด้วย สร้างแรงจูงใจให้เขาเขาก็จะสนุกกับการเรียนการเล่น เช่น ต้องเขียนหนังสือให้เสร็จก่อนแล้วครูจะพาไปเล่นที่สนามเครื่องเล่น เด็กก็จะรีบและสนใจเรียนเพื่อจะได้ไปเล่นอย่างมีความสุขควบคู่กัน แม้ว่าเหมือนจะเป็นการบังคับ แต่ก็เป็นวิธีการในการสร้างเงื่อนไขที่เขายอมรับได้” ชนัตญา ทองปลูก ครูประจำศูนย์ กล่าว



โครงการสื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากขาดความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาหน้าที่ครู เพื่อให้ลูกหลานของตัวเองได้มีสื่อ เครื่องเล่น โดยทุกคนยินดีที่มาช่วยกันคนละไม้คนละมือในการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ และลงมือเลื่อยไม้ แต่งแต้มเครื่องเล่นสีสันสดใส ทุกคนทำเพื่อให้ลูกและเกิดภูมิใจร่วมกัน ในวันที่มีการสอนการทำขนมก็จะเข้ามาช่วยสอนด้วยเช่นกัน และหากมีกิจกรรมหรือวันสำคัญทางศาสนาก็พร้อมที่จะนำลูกหลานมาทำบุญตักบาตรและร่วมกิจกรรมต่อเนื่อง


พรพิมล ปิยะนันท์ ผู้ปกครอง กล่าวว่า เวลาลูกเล่นเครื่องเล่นได้เห็นพัฒนาการตลอดเวลา อยู่บ้านกับโรงเรียนแทบจะเป็นคนละคน ลูกสามารถบอกได้ว่าอันไหนคืออะไร เล่าเรื่องที่โรงเรียนให้แม่ฟังได้ บางครั้งก็ยืมหุ่นมือมาเล่นที่บ้านกับลูก แล้วแม่ก็โพสต์ลงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ครูได้เห็นก็ดีใจที่ได้เห็นเรามีส่วนร่วมกับสิ่งที่ผลิตขึ้น

“แน่นอนว่าอยากให้มีพื้นที่สื่อสร้างสรรค์คับคู่กับการเรียนปกติไปด้วย ให้เขามีสภาพแวดล้อมที่ดี สอนวิชาในห้องเรียนแล้วก็อยากให้สอนประสบการณ์การใช้ชีวิต การช่วยเหลือตัวเองเสริมไปด้วย ไม่ใช่แต่จะมุ่งแต่การเรียนเพียงอย่างเดียว” พรพิมล บอก


นี่คือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบอีกแห่งหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นศูนย์ฯใหญ่ อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรท้องถิ่นขนาดยักษ์ แต่การที่ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง คือสิ่งสำคัญที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเด็กๆ ภายในศูนย์ฯ






หมายเลขบันทึก: 610443เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2016 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2016 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)


ช่ืนชม ในความคิดสร้างสรรค์จ้าา


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท