คำอธิบาย: การตรวจสุขภาพครั้งแรกก่อนเข้าทำงาน



คำอธิบาย: การตรวจสุขภาพครั้งแรกก่อนเข้ามาทำงาน


กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

เจ้าหน้าที่บุคคล บริษัท ไดนามิค ลอจิสติกส์ จำกัด

นักศึกษาปริญญาโท รส.ม. ม.ธรรมศาสตร์

([email protected])


คำอธิบายข้างต้นนี้ เป็นการอธิบายถึงที่มาและความจำเป็นของการตรวจสุขภาพครั้งแรกก่อนเข้ามาทำงาน

เนื่องด้วย ในทางปฏิบัตินั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงานในสายงานทรัพยากรมนุษย์ บุคลากรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีความคลุมเครือและไม่สามารถตอบคำถามข้าพเจ้าได้ ทั้งกรมในสังกัดกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข

คำถามที่ปรากฎขึ้น คือ "ทำไมต้องตรวจร่างกาย และรายการตรวจร่างกายกำหนดจากอะไร" ที่สำคัญ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องตอบข้อคำถามจากหน่วยงานที่ควบคุมระบบคุณภาพภายในองค์การ จึงจำเป็นต้องสืบค้น เสาะหาข้อมูล และเขียนคำอธิบายดังกล่าวไว้ เพื่อตอบคำถามและสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้ ซึ่งการตอบคำถามนี้ ข้าพเจ้าได้หยิบยกตัวบททางกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตอบไว้ 5 คำถาม ดังที่จะกล่าวไปในลำดับต่อไปนี้


1. ลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ ต้องตรวจสุขภาพครั้งแรกก่อนเข้ามาทำงานหรือไม่ อย่างไร

ตอบ ตามที่กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพของลูกจ้าง และส่งผลการตรวจแก่พนักงานตรวจแรงงาน พ.ศ.2547 บัญญัติไว้ว่า ข้อ 2 การตรวจสุขภาพ เพื่อให้ทราบถึงความเหมาะสม และผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดจากการทำงาน โดยที่ “งานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” ข้อ (4) ได้กำหนดขอบเขตครอบคลุมความร้อน ความเย็น ความสั่นสะเทือน ความกดดันบรรยากาศ แสง เสียง หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ ดัวยเหตุนี้ ลักษณะงานของบริษัทฯ จึงครอบคลุมข้อ (4) ดังที่กล่าวไปนั้น โดยที่ลูกจ้างทุกคนที่เข้ามาทำงานต้องตรวจทั้งหมด ไม่มีการยกเว้น


2. งานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ข้อ (4) นั้น ทางบริษัทฯ ต้องดำเนินการอย่างไร

ตอบ บริษัทฯ ต้องให้ลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ ตรวจสุขภาพครั้งแรกให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และต้องจัดให้ตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งต่อไป อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (ข้อ3 วรรค1) ประกอบกับต้องจัดให้มีสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับความเสี่ยง และทำบันทึกไว้ โดยที่ค่าใช้จ่ายจากการตรวจสุขภาพจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะให้แก่ลูกจ้าง ในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 จึงบัญญัติไว้ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย


3. การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงของงาน มีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องและพิจารณาจากอะไร

ตอบ กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ.2549 จะบ่งบอก และชี้แนวทางให้บริษัทฯ พิจารณารายการตรวจสุขภาพครั้งแรกและการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น งานในสำนักงานมีการกำหนดเกณฑ์งานบันทึกข้อมูล ต้องมีค่าความเข้มของแสงสว่าง 600 ลักซ์ แสดงให้เห็นว่า งานในสำนักงานมีความจำเป็นต้องมีการตรวจความคมชัดของสายตาในรายการตรวจร่างกายครั้งแรกที่เข้ามาทำงานและตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งยังมีข้อดี คือ เป็นการประเมินความเสี่ยงในสุขภาพก่อนเข้าทำงานของลูกจ้าง และป้องกันข้อพิพาทแรงงานเกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการทำงาน


4. การจัดแบ่งลักษณะของงาน มีประโยชน์ต่อสวัสดิการด้านสุขอนามัยของลูกจ้างอย่างไร

ตอบ กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ.2549 จัดแบ่งลักษณะของงาน ไว้ 3 ประเภท (ข้อ2) โดยอธิบายตามบริบทของบริษัทฯ ได้ดังนี้

(1) งานเบา มีลักษณะงานบันทึกข้อมูล (ครอบคลุมงานในสำนักงานที่ประสบกับแสงสว่าง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ)

(2) งานปานกลาง มีลักษณะงานเคลื่อนย้ายสินค้าด้วยแรงปานกลาง และขับรถบรรทุก

(3) งานหนัก มีลักษณะงานยกหรือเคลื่อนย้ายของหนักหรือที่ลาดชัน

อย่างไรนั้น ในทางปฏิบัติใช้ตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นภารกิจหลัก แต่สามารถอ้างอิงการจัดแบ่งลักษณะงาน เพื่อใช้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยและผลกระทบจากการทำงานที่ความเสี่ยงต่อสุขภาพของลูกจ้าง และเป็นแนวทางการตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง


5. รายการตรวจสุขภาพ สามารถกำหนดได้จากแหล่งข้อมูลหรือกฎหมายอะไร

ตอบ การตรวจสุขภาพ จึงมีที่มาจากการพิจารณาถึง “งานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” โดยขึ้นอยู่กับบริษัทฯ พิจารณาจากการจัดแบ่งลักษณะงานของลูกจ้างและประเภทกิจการของบริษัทฯ ซึ่งไม่มีการบัญญัติไว้ทั้งในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 แต่รายการตรวจสุขภาพต้องครอบคลุม “งานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” และในกรณีที่มีเปลี่ยนลักษณะหรือสภาพของงานที่แตกต่างไปจากเดิมให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน เช่น พนักงานในส่วนงานคลังสินค้าที่มีสภาพแวดล้อมการทำงานมีแสงสว่าง และอากาศถ่ายเท แต่เปลี่ยนมาในส่วนงานผลิตอาหาร มีสารอันตราย และระดับความร้อนจากเครื่องจักร



ท้ายนี้ ข้าพเจ้าได้ไขข้อสงสัยและความอยากรู้บางประการได้แล้ว กล่าวคือ การตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรคที่สังคมรังเกียจมาจากแหล่งใด หรือมีในตัวบทกฎหมายฉบับใด หากข้าพเจ้ามีโอกาสจะเขียนเล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรนั้น ตามที่เข้าใจกันนั้น เป็นการปฏิบัติในระเบียบทางสังคมไปแล้ว กล่าวคือ ผู้ปฏิบัติงานมักไม่ทราบแหล่งที่มาของการตรวจสุขภาพเลยด้วยซ้ำไป จึงไม่ทราบอีกว่า การตรวจสุขภาพมีความจำเป็นอย่างไร




หมายเหตุ: กรณีตรวจสุขภาพประจำปี ลูกจ้างทุกคนต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพ เนื่องจาก หากมีอาการที่ผิดปกติ จำเป็นต้องส่งผลตรวจให้แก่พนักงานตรวจแรงงาน และอาจให้เปลี่ยนงานตามที่แพทย์เห็นควร โดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยเป็นความสำคัญ

หมายเลขบันทึก: 610327เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2016 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท