ประวัติเมืองสงขลา (33) คลองรำ


คลองรำ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก โดยเฉพาะคนต่างถิ่น

ขบวนรถไฟระหว่างประเทศขบวนแรก เปิดเดินระหว่างสถานีธนบุรีกับมลายาเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2462 หลังจากสร้างทางรถไฟสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์เสร็จในวันที่ 1 กรกฎาคม 2461

ถึงวันนี้ เส้นทางรถไฟสายนี้ก็มีอายุถึง 90 ปีแล้ว หากไม่นับทางรถไฟไทย-ลาวที่เชื่อมระหว่างสถานีหนองคายกับสถานีท่านาแล้ง และมีโครงการจะสร้างต่อไปถึงเวียงจันทน์ในอนาคต เส้นทางรถไฟสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์นี้ก็เป็นเพียงสายเดียวของไทยที่ยังมีรถไฟข้ามแดนให้บริการอยู่ประจำทุกวัน

ขณะที่รถไฟไทย-กัมพูชาที่อรัญประเทศ ไทย-พม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์ ต่างก็ยุบเลิกไปตามกาลเวลาและสถานการณ์บ้านเมือง แม้แต่เส้นทางช่วงสุไหงโก-ลกไปยังตุมปัตที่ยังมีทางรถไฟเหลืออยู่ ก็ไม่มีการเดินรถข้ามแดนอีกแล้ว

คลองรำ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก โดยเฉพาะคนต่างถิ่น ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นภูเขา น้ำตกหรือวัดวาอาราม โบราณสถาน

เดิมที บริเวณคลองรำ ซึ่งอยู่ในตำบลทุ่งหมอ มีสภาพเป็นป่า ราษฎรรุ่นแรก ๆ ที่อพยพมาอยู่ที่นี่ส่วนมากมาจากหาดใหญ่ ชื่อทุ่งหมอนี้ ว่ากันว่า พื้นที่ที่เป็นหมู่ที่ 1 เดิมเรียกบ้านคุ้งหมอ เนื่องจากมีพ่อค้าชาวจีนได้ล่องเรือมาตามคลองรำเพื่อขายหม้อและไหดินเผา เมื่อถึงบริเวณดังกล่าวซึ่งมีสภาพคลองคดโค้ง จึงทำให้เรือล่ม หม้อและไหที่ขนมาจมน้ำหมด ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนั้นว่าคุ้งหมอ และเรียกเพี้ยนมาเป็นทุ่งหมอในปัจจุบัน

คลองรำที่ว่านี้ คือคลองธรรมชาติสายเล็ก ๆ 2 สาย เรียกว่า คลองรำใหญ่กับคลองรำนุ้ย (คลองหลำนุ้ย) ต้นน้ำเกิดจากเขารูปช้าง และเขาบรรทัด (ผาดำ) ไหลไปรวมกับคลองอู่ตะเภาที่บ้านคลองแงะ กลายเป็นลำคลองสายใหญ่ไหลลงทะเลสาบสงขลา

คลองรำจึงสร้างความชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่แถบนี้ ซึ่งเป็นโคก เหมาะอย่างยิ่งต่อการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะสวนยางพารา

ก่อนหน้าที่ทางรถไฟจะมาถึงคลองรำ เคยมีราษฎรอาศัยอยู่มากน้อยเพียงใด ยังค้นหาหลักฐานแน่ชัดไม่พบ แต่ฟังดูจากเรื่องเล่ากำเนิดชื่อทุ่งหมอแล้ว น่าจะเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ และเคยอาศัยการคมนาคมทางน้ำมาก่อน

ชุมชนคงค่อย ๆ ขยายตัวมากขึ้น เมื่อตั้งสถานีรถไฟคลองรำ แม้เป็นสถานีเล็ก ๆ ใช้ประโยชน์เพื่อการสับหลีกขบวนรถเป็นหลัก แต่ชาวบ้านก็ได้อาศัยรถไฟเป็นช่องทางคมนาคมที่สำคัญในการติดต่อกับโลกภายนอก

คือหาดใหญ่ คลองแงะและปาดังเบซาร์

จากหลักฐานที่พบในรายงานประจำปี 2469 ของกรมรถไฟหลวง สมัยนั้นขายตั๋วรถไฟที่สถานีคลองรำทั้งปีได้สองพันบาทเศษ อาจเทียบไม่ได้กับสถานีหลักอย่างชุมทางหาดใหญ่หรือแม้แต่คลองแงะ แต่ก็มากกว่าสถานีศาลาทุ่งลุ่งเสียอีก

ทั้งนี้คงเป็นเพราะชาวบ้านคลองรำได้อาศัยรถไฟเป็นยานพาหนะหลัก ส่วนชาวบ้านที่ทุ่งลุงมีทางเลือกเป็นถนนสงขลา-ไทรบุรีหรือถนนกาญจนวนิชได้สะดวกอยู่แล้ว

สถานีคลองรำยุบเลิกไปราว พ.ศ. 2525 เมื่อยกเลิกขบวนรถไฟธรรมดาหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ด้วยปัญหากองทัพมดและสินค้าหนีภาษี ชาวบ้านหันไปใช้ทางหลวงชนบท สข.1027 คลองแงะ- คลองรำ-ปาดังเบซาร์

วันนี้ อดีตสถานีรถไฟคลองรำจึงเป็นเพียงทางผ่านของรถด่วนพิเศษระหว่างประเทศและรถสินค้าเท่านั้น เหลือเพียงซากปูนชานชาลา รางหลีกและป้ายสถานีเก่าคร่ำคร่าไว้ให้ระลึกถึง

คำสำคัญ (Tags): #สงขลา#สะเดา#รถไฟ
หมายเลขบันทึก: 607821เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2016 19:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 06:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท