องค์การแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้


ก้าวทัน ก้าวหน้า ก้าวไกล

องค์การแห่งการเรียนรู้และการจัดการความรู้ *

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  

                ลกได้ผ่านจากยุคเกษตรกรรม และยุคอุตสาหกรรม เข้าสู่ยุคคลื่นลูกที่สาม คือ ยุคข้อมูลข่าวสารเรียบร้อยแล้ว ในยุคนี้เครื่องมือขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ ไม่ใช่ที่ดิน แรงงาน วัตถุดิบ หรือทุน อีกต่อไป แต่เป็นปัญญาและความรู้ โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกแห่งปัญญาและความรู้ ที่เรียกว่า KBES (Knowledge-Based Economy and Society) 

                รูปแบบของการบริหารจัดการ และศาสตร์ว่าด้วยการจัดการ ก็มีการเคลื่อนตัว วิวัฒนาการไปตามยุคสมัย และมีความซับซ้อนมากขึ้น ใช้หลายทฤษฎีหรือหลักการประกอบกัน ศาสตร์ที่ทันสมัยที่สุดในด้านการจัดการเป็นเรื่องขององค์การแห่งการเรียนรู้ หรือองค์การแห่งความซับซ้อนและปรับตัว 

องค์การแห่งการเรียนรู้คืออะไร 

                องค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นองค์การที่ทำงานผลิตผลงานไปพร้อม ๆ กับเกิดการเรียนรู้ สั่งสมความรู้ และสร้างความรู้จากประสบการณ์ในการทำงาน พัฒนาวิธีทำงานและระบบงานขององค์การไปพร้อม ๆ กัน 

               ผลลัพธ์ (Output) ขององค์การแห่งการเรียนรู้ คือ ผลงานตามภารกิจที่กำหนด การสร้างศาสตร์หรือสร้างความรู้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจขององค์การนั้น รวมทั้งการสร้างคน อันได้แก่ ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์การ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับองค์การ จะเกิดการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ โดยอาศัยการทำงานเป็นฐาน 

               องค์การแห่งการเรียนรู้ จะมีลักษณะเป็นพลวัต (dynamic) มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของพัฒนาการด้านต่าง ๆ คล้ายมีชีวิต มีผลงานดีขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และการสร้างนวัตกรรม (innovation) รวมทั้งมีบุคลิกขององค์การ ในลักษณะที่เรียกว่า วัฒนธรรมองค์การ (Corporate Culture) ที่ผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์สามารถรู้สึกได้ การสร้างศาสตร์ หรือความรู้ ที่หลากหลาย ทั้งที่เกี่ยวกับงานที่เป็นเนื้องานขององค์การนั้น ศาสตร์ด้านการจัดการ ศาสตร์ด้านองค์การเรียนรู้ ศาสตร์เกี่ยวกับบุคคลเรียนรู้ เป็นต้น โดยอาจร่วมมือกับหน่วยงานวิชาการหรือองค์การเรียนรู้อื่น ๆ เพื่อการสร้างศาสตร์เหล่านี้บนฐานวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย 

                  การสร้างคน เพื่อให้มีความรู้และทักษะอันเกี่ยวกับงานขององค์การและมีเจตคติ โลกทัศน์ วิธีคิด ในลักษณะของ บุคคลเรียนรู้” (Learning Person) รวมทั้งมีทักษะของการเป็นบุคคลเรียนรู้ 

                 องค์การแห่งการเรียนรู้ เป็นองค์การที่ ประหยัดพลังงานเพราะมีความสามารถในการ รวมพลังภายใน” (องค์การ) และดึงดูดพลังจากภายนอก (องค์การ) เข้ามาใช้ในการสร้างผลลัพธ์ขององค์การท องค์การแห่งการเรียนรู้ พัฒนาสร้างสรรค์องค์การโดยการผลิตผลงาน สร้างศาสตร์ และสร้างคนท องค์การแห่งการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกองค์การอย่างชาญฉลาดท องค์การแห่งการเรียนรู้ มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันจากการกระทำ (interactive learning through action) ทั้งในหมู่บุคลากร และระหว่างองค์การกับภายนอก  

แม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน 

                ศาสตร์อันว่าด้วยองค์การแห่งการเรียนรู้ พัฒนามาจาก 2 ทาง คือ สายวิชาการ กับสายประสบการณ์ มาบรรจบกันเป็นศาสตร์ว่าด้วยองค์การแห่งการเรียนรู้ในปัจจุบัน 

               ในสายวิชาการ กล่าวได้ว่า Peter M. Senge ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Center for Organizational Learning แห่ง MIT Sloan School of Management เป็นผู้นำในศาสตร์ด้านนี้ Peter Senge ได้เขียนหนังสือ The Fifth Discipline : The Art and Practice of the Learning Organization ออกพิมพ์จำหน่ายในปี ค.ศ.1990 เป็นหนังสือติดอันดับขายดีในสหรัฐอเมริกา เป็นที่แพร่หลายทั่วโลก และมีการแปลเป็นฉบับภาษาอื่น ๆ มากมาย หลังจากนั้น Peter Senge และคณะได้ตีพิมพ์หนังสือออกมาอีก 2 เล่ม เพื่อช่วยแนะนำภาคปฏิบัติให้แก่องค์การที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ องค์การแห่งการเรียนรู้คือ The Fifth Discipline Fieldbook : Strategies and Tools for Building a Learning Organization, 1994. และ The Dance of Change : The Challenges of Sustaining Momentum in Learning Organization, 1999. เวลานี้ Peter Senge เป็นประธานของ Society for Organizational Learning 

               ในสายประสบการณ์ ผู้ประยุกต์หลักการขององค์การแห่งการเรียนรู้ โดยไม่มีทฤษฎีใด ๆ เลย จนประสบความสำเร็จสูงยิ่งในการก่อตั้งและสร้างความสำเร็จให้แก่บริษัท VISA International ผู้ให้บริการบัตรเครดิตวีซ่า คือ Dee Hock โดยทำงานในฐานะผู้บริหารสูงสุดอยู่ 16 ปี จึงลาออกในปี พ.ศ. 2527 กลับไปทำสวนเงียบ ๆ แต่ก็ครุ่นคิดถึงสิ่งที่ค้นพบจากการทำงานเรื่อยมา จนได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคนรุ่นหลังอีกหลายคน จึงเกิดแรงบันดาลใจเขียนหนังสือ Birth of the chaordic Age, 1999 ตั้งศัพท์ใหม่คือ คำว่า chaordic จากคำว่า chaos กับ order และตั้งองค์กร The Chaordic Commons (www.chaordic.org) ขึ้นมาจัดการฝึกอบรมเผยแพร่หลักการและให้บริการที่ปรึกษาการเปลี่ยนแปลงองค์การไปสู่องค์การเคออร์ดิก (อ่านว่า เค-ออ-ดิก)  

หลัก 5 ประการของ Peter Senge 

หลักสำคัญ 5 ประการของการเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ และบุคคลเรียนรู้ ได้แก่ 1. การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)
2. ความเชี่ยวชาญในการสร้างพลังแห่งตน (Personal Mastery)
3. แบบจำลองความคิด (Mental Models)
4. สร้างวิสัยทัศน์ร่วม (Building Shared Vision)
5. เรียนเป็นทีม (Team Learning)

**ความรู้ดีๆ มีอีกมากมายให้อ่าน ที่นี่เลยคะ**  

แหล่งอ้างอิง http://www.dtn.moc.go.th/web/km/doc/ko.doc

หมายเลขบันทึก: 60745เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท