รัฐชาติกับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย



รัฐชาติกับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย


กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

(บทความนี้ ผู้ศึกษาได้เขียนขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.2558

ปริญญาโท สาขาพัฒนาแรงงานและสวัสดิการ

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)


1.บทนำ

คำที่ใช้เรียกแรงงานสัญชาติอื่นที่มิใช่สัญชาติไทย สามารถเรียกได้หลายลักษณะ อาทิ แรงงานที่ไม่ใช่แรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ แรงงานจากประเทศลาว แรงงานพลัดถิ่น แรงงานต่างด้าว แรงงานเพื่อนบ้าน แรงงานข้ามแดน แรงงานอพยพ เป็นต้น หากจัดแบ่งแบบคร่าวๆแล้ว ย่อมแบ่งได้สองชุดความคิดหลัก คือ ด้านหนึ่งมองว่าจะเรียกแรงงานอย่างไรนั้น ผลลัพธ์ถือเป็นแรงงานเช่นกัน เพียงทำให้เข้าใจแรงงานในแต่ละประเภทได้ง่ายขึ้นทั้งในการปฏิบัติงานภาครัฐและเอกชน ส่วนอีกด้านหนึ่งเห็นว่า การใช้คำที่แตกต่างกันเป็นเรื่องของภาษา ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการรับรู้และความรู้สึก บ้างสามารถตีความได้ว่าเป็นการเหยียดหยามเชื้อชาติและกดทับความเป็นมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ในทัศนะของผู้เขียนจึงขอใช้คำว่า “แรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย” เพื่อเป็นการเลือกที่จะเป็นมิตรกับแรงงานต่างประเทศ และเลี่ยงการเป็นปฏิปักษ์โดยสื่อความหมายให้ชัดเจน

หากพิจารณาถอยกลับไปในประวัติศาสตร์แรงงาน Ali Farazmand ได้อธิบายถึง[1] การบริหารคนในงานสาธารณะ (Public Personnel Administration) ในประวัติศาสตร์ของการสร้างพีระมิดและการสร้างกำแพงเมืองจีนในอารยธรรมโบราณ ซึ่งการเกณฑ์แรงงานล้วนแล้วมีการคัดเลือก การสั่งการ การบังคับ และการจัดการให้แผนการบรรลุตามเป้าหมาย โดยแผนงานจะเกี่ยวข้องกิจการสาธารณะ จึงกล่าวได้ว่า คนไม่สามารถปฏิเสธงาน (Work) เหตุนี้เมื่อมีงานในฐานะคนจึงมีสถานะของการใช้แรงงาน และก่อนที่จะสถาปนารัฐสมัยใหม่ตามกรอบสนธิเวสฟาเลียส์ แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้เสรีมากกว่า เนื่องจาก เส้นเขตแดน (Border) เป็นข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายโดยความเป็นรัฐชาติ (Nation-State) ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญและถือเป็นดุลอำนาจของผู้นำแห่งรัฐ

จากการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ (International Migration) ถูกเชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆบนโลก อาทิ การพัฒนา ความยากจน และสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งในทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้ายแรงงาน (Migration Labour) มีผลมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างชาติ และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ซึ่งการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ คือ การขนส่งทาสจากแอฟริกาสู่อเมริกาหรือโลกใหม่ (New World)[2] จึงสะท้อนถึงแรงงานในโลกที่สามได้ปรากฏการแบ่งแยกประเภทแรงงาน จัดเป็นแรงงานที่มีฝีมือ กึ่งฝีมือ และไร้ฝีมือ โดยบริบทโลกจะช่วยผลักดันกลุ่มของแรงงานทั้งองค์กรไม่ได้แสวงหากำไร และสหภาพแรงงานเข้ามาสนับสนุนในการสร้างเสถียรภาพให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[3]

ในการเคลื่อนย้ายในภาพของผู้อพยพและผู้ลี้ภัย ได้กลายเป็นความสำคัญตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมในระบบโลก ซึ่งเป็นที่มาของการเข้าสู่รัฐอื่นที่ไม่ชอบธรรมตามกฏหมายของรัฐ หรือเรียกว่าแรงงานที่ผิดกฎหมาย (Illegal Labour) หรือแรงงานที่ไม่เป็นทางการ (Irregular Labour) แต่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่า แรงงานที่ไม่เป็นทางการไม่ใช่อาชญากร จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้คำที่เหยียดความเป็นมนุษย์ (Humanity) เพียงแต่ไม่มีเอกสารแสดงตนหรือการทำงาน (Undocumented: Passports / Work Permit) จึงกลายเป็นบุคคลที่ผิดกฎหมายต่อรัฐ ทั้งนี้ไม่ว่าจะรัฐใดก็ตามที่มีระเบียบสังคมย่อมแนวทางการปฏิบัติต่อชาวต่างชาติ (Foreigners) ทั้งการเปิดรับและการปิดกั้นในการเข้าสู่รัฐ[4]


2.การสถาปนารัฐสมัยใหม่กับการเคลื่อนย้ายแรงงาน

ประวัติศาสตร์ของคนในสถานะที่เป็นกรรมกรหรือผู้ใช้แรงงาน (Laborer) เป็นภาพลักษณ์ (Images) ที่สะท้อนถึง การใช้แรงงานในลักษณะที่เรียกได้ว่า ชนชั้นล่าง (Working-Class) แต่ในช่วงเวลาของการสถาปนารัฐสมัยใหม่ในลักษณะของรัฐชาติ (Nation-State) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งการตั้งข้อสังเกตไว้เช่นนี้ เนื่องจาก การเข้ามาแทรกแซงโดยลัทธิจักรวรรดิ (Imperialism) ของประเทศในซีกโลกตะวันตก โดยปรากฏหลักฐานเชิงประจักษ์ คือ การทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งระหว่างสยามกับอังกฤษ ใน พ.ศ.2398 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด[1] ได้ตั้งข้อสังเกตต่อปรากฏการณ์ของโลกาภิวัตน์พลังของทุนนิยม (Power of Capitalism) เป็นกลไกหลักในการผลักดันโดยเห็นว่าระบบทุนนิยมได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เกิดการค้าทางเรือตามลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism) ซึ่งโลกาภิวัตน์มีมาเนิ่นนานแล้วแต่ขาดเทคโนโลยีและสารสนเทศในการผลักดันระบบทุนนิยมให้ขยายไปทั่วโลกและเพิกเฉยต่อบทบาทของโลกาภิวัตน์มากกว่าการอธิบายถึงพลวัตที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบมาสู่รัฐนอกจากนี้ยังได้ขยายความว่ารัฐและสังคมไทยได้ละเลยบทบาทของระบบทุนนิยมทั้งโดยระบบทุนนิยมได้เข้ามาสู่สังคมไทยอย่างชัดเจนมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและได้ทำการปฏิรูปจากระบบศักดินาเป็นรัฐรวมศูนย์ (Centralized State) และเป็นการสร้างรัฐชาติ (Nation-Building) ในรูปแบบของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy)

ผลที่ร้ายแรงของการพัฒนาให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ 5 คือ การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง (Centralization) โดยไม่ได้ศึกษาในลักษณะทางสังคมอย่างถ่องแท้ และมองเพียงผลระยะสั้นเพียงเลี่ยงการสูญเสียอธิปไตย ซึ่งชนชั้นนำ (Elite) ในช่วงเวลานั้นต่างได้รับการศึกษาจากประเทศในแถบยุโรป แต่การสร้างรัฐชาติ (Nation-Building) ไม่เป็นไปตามกรอบของความเป็นรัฐชาติ (Nation-State) ด้วยเหตุของสภาวะสมัยใหม่จากการที่ยุโรปได้พัฒนาความเป็นสมัยใหม่ในแทบทุกด้าน จึงส่งผลให้สยามต้องพัฒนาความเป็นสมัยใหม่ (Modernization) ด้วยเช่นกัน แต่ความเป็นสมัยใหม่ไม่ได้มุ่งสลายความแตกต่างระหว่างความเป็นจารีตกับความเป็นสมัยใหม่ ยุโรปกับพื้นเมือง และตะวันตกกับตะวันออก[2]

กรอบของความเป็นรัฐชาติ (Nation-State)[3] จึงเป็นการสร้างรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมุ่งเน้นที่อำนาจอธิปไตย มีรัฐบาล ประชาชนมีเป้าหมายร่วมกัน และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ได้เข้าเป็นหนึ่งเดียว ทั้งนี้ความเป็นรัฐชาติจะประกอบไปด้วย ประวัติศาสตร์ ภาษา ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา และค่านิยมที่มีลักษณะร่วมกัน แต่ความเป็นรัฐชาติของสยาม กลับไม่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งปัจจุบัน

ด้วยเหตุที่รัฐที่เกิดขึ้นมีฐานะเป็นรัฐ (The State)[4] ซึ่งมีองค์ประกอบทั้ง 4 คือ เขตแดน (Territory) ประชาชน (People) รัฐบาล (Government) และอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) โดยรัชกาลที่ 5 ได้สถาปนารัฐขึ้นมา แต่ไม่ได้สร้างความเป็นรัฐชาติ (The Nation-State) ขึ้นมาแต่อย่างใด จึงเสมือนว่าความเป็นเอกภาพของรัฐ (Unitary States) ไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจาก การขาดองค์ประกอบของความเป็นรัฐชาติ และชนชั้นนำทุกยุคสมัยต่างใช้เครื่องมือและกลไกทางการเมืองเข้าบีบบังคับและกดทับความแตกต่าง ความขัดแย้ง และกลุ่มทางเชื้อชาติ

จากการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแล้ว เป็นผลให้อำนาจการสั่งการในกิจการสาธารณะ (Public Service) มาจากส่วนกลางแทบทั้งสิ้น เหตุข้างต้นนี้จึงมีผลให้ความเป็นทาส (Slavery) ได้เปลี่ยนรูปไปสู่กรรมกร (Laborer) ในฐานะผู้ใช้แรงงานเช่นเดิม จากการปฏิรูประบบการจัดการแรงงาน ซึ่งสยามประเทศในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ริเริ่มปรับมโนทัศน์ของชนชั้นนำหัวโบราณ (Conservative) คือ ตระกูลบุนนาค โดยออกกฎหมายลดจำนวนทาส รวมถึงเงื่อนไขของการซื้อขายทาส การทำลายระบบการเกณฑ์แรงงานและฐานทางเศรษฐกิจของเหล่าขุนนาง เพื่อให้กษัตริย์มีอำนาจโดยสมบูรณ์ โดยทำการรวมศูนย์อำนาจได้สำเร็จ และพยายามสร้างความเป็นรัฐสมัยใหม่ได้อย่างประเทศในภาคพื้นยุโรป[5]

จากระบบการเกณฑ์แรงงานที่ชายตั้งแต่กำเนิดต้องเข้าเกณฑ์แรงงานให้แก่ระบบศักดินาโดยยึดโยงในเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ทางสังคม ซึ่งการยกเลิกทาสจึงเป็นการลดปริมาณและสัดส่วนของแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงาน โดยแรงงานปฏิเสธจะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่ไหลเลื่อนรัฐ แรงงานไทยส่วนใหญ่จะพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคที่ไม่เป็นทางการ หรือทำงานรับจ้างในกิจการขนาดย่อมของนายทุนชาวจีนที่ได้ทำการอพยพเข้ามาหาชีวิตที่ดีและการได้คุ้มครองทางสังคม

ดังที่ สมเกียรติ วันทะนะ ได้จัดแบ่งแรงงานหรือกรรมกรในฐานะผู้ใช้แรงงาน ภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นสองจำพวก คือ แรงงานอิสระ (Free Labour) และแรงงานรับจ้าง (Wage Labour)[6] โดยแรงงานอิสระเป็นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยใช้แรงทางกายภาพเพื่อให้ได้มาซึ่งทุนทางเศรษฐกิจ (Economic Capital) ส่วนแรงงานรับจ้างเปรียบได้กับมนุษย์เงินเดือน (Salary-Man) ในปัจจุบันที่มุ่งเน้นที่ค่าจ้างเป็นสำคัญ เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าครองชีพและคุณภาพีชีวิตที่ดี

ภาพสะท้อนด้านแรงงานในช่วงเวลานั้น ในทางประวัติศาสตร์มักกล่าวถึงแรงงานอพยพชาวจีนเป็นสำคัญ และละเลยแรงงานอพยพและแรงงานที่เชลยศึกสงครามจากอาณาบริเวณใกล้เคียง ด้วยเหตุที่แรงงานอพยพชาวจีนได้เข้ามามีผลกระทบต่อชนชั้นนำสยามทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง จนปรากฏเป็นค่านิยมที่ถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรมทางศิลปะทั้งด้านจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 1-3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เว้นแม้แต่วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร ยังได้จัดพิพิธภัณฑ์แสดงถึงการค้าทางเศรษฐกิจของชาวจีนอพยพ ทั้งเข้ามาเป็นพ่อค้า แรงงานก่อสร้าง และทิ้งซากวัฒนธรรมทางการค้าให้เห็นกระทั่งปัจจุบัน คือ เรือสำเภาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 และย่านชุมชนเศรษฐกิจเยาวราชในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5[7]

ทั้งนี้การเข้ามาของชาวจีนมักอาศัยในบริเวณกรุงเทพฯ และบริเวณปากอ่าวสยาม โดยในภาคเอกชนมักจ้างงานเป็นแรงงานรับจ้างในท่าเรือ โรงสีข้าว และเกษตรกรในไร่อ้อย กรรมกรขนสินค้าตามท่าเรือ หรือการผลิตสินค้าปฐมภูมิ แต่ในภาครัฐได้จ้างงานในกิจการสาธารณูปการ อาทิ การขุดคลอง การสร้างสะพาน เป็นต้น เพราะเป็นงานที่แรงงานไทยมักปฏิเสธ ซึ่งการเข้ามาในที่นี่มิใช่การเข้ามาแบบผู้ลี้ภัย (Refugee) แต่ได้เข้ามาตั้งรกราก และในเวลาต่อมาได้ขยับชนชั้นทางสังคม (Social Mobility) โดยแนบชิดกับกลุ่มทุนไทยและตะวันตกที่เข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจ[8]

ความสำคัญข้างต้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว มักปฏิเสธความเป็นอื่นแก่แรงงานในอาณาบริเวณใกล้เคียง ละเว้นแต่แรงงานที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อชนชั้นนำ ซึ่งการพึ่งพิงในลักษณะเช่นนี้จึงไม่ประหลาดใจใดๆ ที่ทฤษฎีระบบโลก (World-System Theory) หรือทฤษฎีรัฐศูนย์กลาง (State-Centered Theories) จะสามารถการพึ่งพิงของระบบโลกได้เพียงปัจจุบันเท่านั้น แต่กลับอธิบายได้กระทั่งประวัติศาสตร์ที่ทุนนิยมได้แพร่กระจายไปตามลัทธิจักรวรรดิ (Imperialism) ดังที่ต้องตระหนัก คือ ตำแหน่งทางภูมิรัฐศาสตร์ พลวัตของการทหารและสงคราม บทบาทของรัฐที่มีผลต่อปัจจัยต่างๆ ผู้นำของรัฐ และระบบการเมืองของรัฐ[9] เพราะจะเป็นแหล่งที่มาของอำนาจทางการเศรษฐกิจการเมือง และการเคลื่อนย้ายเข้ามาของแรงงาน

ภาพประจักษ์ชัด คือ ทุนนิยมโลกได้ผลักดันให้ภาคการเกษตรต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบโลก และเป็นไปตามที่กุลลดา เกษบุญชู ได้ตั้งข้อสันนิษฐานถึงการเพิกเฉยของรัฐไทยต่อโลกาภิวัตน์ อันที่จริงนี่โลกาภิวัตน์ได้ดำเนินกระบวนการสร้างให้เกิดการผลิตเพื่อตอบสนองส่วนที่ขาดในระบบโลก ในฐานะรัฐชาติ แม้จะสถาปนาขึ้นมาหลังจากการแทรกแซงของกลุ่มประเทศจักรวรรดินิยมโดยมีผลผลิตสำคัญ คือ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง มีผลให้สยามได้เข้าสู่ระบบโลกก่อนที่รัฐชาติที่สถาปนาขึ้น และอธิปไตยของรัฐได้ถูกลดทอน หรือสยามต้องสูญเสียเอกราชทางการศาลก่อนหน้านี้แล้วย่อมแน่นอนว่า ความเป็นรัฐชาติขาดความสมบูรณ์ไปแต่เริ่มแรกแล้ว

ทั้งนี้การนิยามถึงแรงงานหรือกรรมกร จึงเป็นวาทกรรมของชนชั้นนำที่เรียกตามความหมายของคำและภาษา ซึ่งแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย ซึ่งในช่วงเวลานั้นกลับไม่ปรากฏเรื่องการจัดแบ่งตามสัญชาติ (Nationality) แต่ยึดโยงกับแรงงานที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเสียมากกว่า ซึ่งแรงงานอพยพชาวจีนจึงเป็นกลุ่มที่สำคัญในช่วงต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แตกต่างจากแรงงานชาติอื่นอย่างพม่า ลาว ขะแมร์ ที่ผลักให้กลายเป็นอื่น และมักเป็นเชลยจากสงคราม ซึ่งความสำคัญจึงเป็นการตอบสนองเพียงเศรษฐกิจในโครงสร้างระดับล่าง และไม่มีผลกระทบมากเท่ากับแรงงานอพยพชาวจีนนั้นเอง จึงกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์เป็นการเปิดกว้างของการเข้ามาของชาวต่างชาติ (Foreigners) แต่มีการจัดแบ่งชนชั้นทางสังคม (Social Class) การปฏิบัติจากภาครัฐย่อมแตกต่างกัน

การปฏิบัติที่แตกต่างกันจึงนำมาซึ่งความไม่เทียม (Inequality) และสะท้อนถึงความเห็นแก่ตัวของรัฐในฐานะตัวแสดงระหว่างประเทศ ดังตัวอย่างที่เห็นได้จาก สองศตวรรษที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยังปรากฏการแบ่งแยกและจัดประเภทชาวต่างชาติเป็นสิ่งแปลกประหลาด (illegal Alien) โดยในศตวรรษที่ 18 อังกฤษได้นิยาม Aliens เป็นบุคคลภายนอก (Outsider) หรือชาวต่างชาติ (Foreigners) และในสหรัฐอเมริกายังมีการใช้แรงงานชาวแอฟริกาในลักษณะของความเป็นทาส (Slavery) และมองว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นบุคคลอันตราย (Dangerous) ซึ่งในต้นศตวรรษที่ 20 ยังได้มีการต่อต้านการอพยพของแรงงาน ต่อมาหลังสงครามเย็นเองก็ยังปรากฏการกีดกันในประเด็นรัฐชาติและเชื้อชาติ จนกระทั่ง Barack Obama ได้เสนอนโยบายการอพยพ (Immigrant Policy) โดย "illegal alien"ควรใช้อธิบายที่การกระทำ ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือแรงงาน[10]

ในทางตรงข้าม มีข้อโต้แย้ง เรื่องการใช้คำหรือภาษา ซึ่งการเลือกใช้ "Alien" กับคนในฐานะ "Person" จึงเป็นการเหยียดหยามและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยควรเลือกใช้คำและนิยามคำที่ให้ความเคารพ เนื่องจาก Alien ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรืออันตราย แต่เป็นการอพยพหรือเคลื่อนย้ายเข้ามาในรัฐในแบบที่ไม่ชอบธรรมตามกฎหมาย (illegal Migrant)[11]

จึงประจักษ์ว่า ความเป็นรัฐชาติเป็นอุปสรรคที่เป็นการขวางกั้นไม่ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี และเป็นไปตามกรอบแนวคิดสัจนิยม (Realism) ที่อธิบายถึงรัฐในฐานะตัวแสดงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) ซึ่งรัฐสยาม ณ เวลานั้น พึงให้ความสำคัญที่ความอยู่รอดของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) โดยก้าวตามระเบียบโลกที่จัดวางโดยประเทศในภาคพื้นยุโรป และรวมไปถึงนานาประเทศในระบบโลกต้องปรับตัวและก้าวตาม จนกระทั่งทุกรัฐมุ่งเพียงแต่ผลประโยชน์และเกียรติภูมิของรัฐ โดยรวมไปถึงนโยบายการต่างประเทศที่เน้นการแข่งขันเรื่องของดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power)


3.รัฐชาติกับระเบียบสังคมในการปฏิบัติต่อแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย

รัฐชาติ (Nation-State) เป็นข้อจำกัดต่อการเข้ามาของแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยตามกรอบแนวคิดของสัจนิยม แม้ว่าปัจจุบันโลกาภิวัตน์จะเป็นกลไกที่ใช้ในการผสานให้ระบบโลกกลายเป็นแนวราบ และเกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียว โดยที่ตัวแสดงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระดับโลกนั้น คือ องค์กรสหประชาชาติ (United Nation) ได้มีปณิธานมุ่งให้รัฐทุกส่วนในระบบโลกกลายเป็นรัฐเหนือชาติ (Supranational) ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นเรื่องตลกขบขัน เพราะท้ายที่สุด รัฐย่อมเห็นแก่อำนาจ ผลประโยชน์ และเกียรติภูมิแห่งรัฐ จึงเป็นที่มาของการสั่งสมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางการทหาร เพื่อใช้ในการแข่งขันกับรัฐหรือภูมิภาคอื่นๆ

เหตุข้างต้นนี้ รัฐจึงกำหนดระเบียบสังคม (Social Order) เป็นกติกาเพื่อใช้ในทางปฏิบัติ โดยมีสถาบันทางการเมือง (Political Institutions) ประกอบด้วย รัฐบาล (Government) และภาคส่วนราชการ (Public Sector) เป็นตัวแสดงหลักภายในที่เป็นผู้กำหนดและนำไปปฏิบัติในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยภาคส่วนราชการที่มีบทบาทและหน้าที่โดยตรง คือ กระทรวงแรงงาน (Ministry of Labour) และกระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs)

ความสำคัญของแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย จึงจำเป็นต้องมีเอกสารทางราชการ (Documented) ภายใต้ระเบียบสังคมนั้นๆ ทั้งการเข้ามาประกอบอาชีพ การเข้ามาเป็นเจ้าของธุรกิจ การเข้ามาศึกษาเล่าเรียน การเข้ามาพักพิงอาศัยชั่วคราวหรือถาวร ซึ่งรัฐจะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขผ่านระเบียบสังคม เพื่อขัดขวางและกีดกันแรงงานที่ไม่ถือสัญชาติไทย เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่รัฐไทย ด้วยข้ออ้างต่างๆนานา อาทิ การเข้ามาของแรงงานชนชั้นล่างนำมาซึ่งภัยอันตราย เช่น อาชญากรรม ยาเสพติด การแย่งงานไร้ทักษะ เป็นต้น

การแบ่งแยกและกีดกันสัญชาติอื่นที่ไม่ใช่ไทย ยังปรากฏให้เห็นในตัวบทกฎหมายของรัฐไทย โดยจะยกอ้างตามตัวอย่างต่อไปนี้ โดยนิยามถึง "คนต่างด้าว (Aliens)"

"พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 นิยามว่า ผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย"[12]

"พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 นิยามว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย"[13]

"พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 นิยามว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย"[14]

จากตัวอย่างในตัวบทกฎหมายของรัฐไทย สะท้อนให้เห็นว่า การที่แรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยเข้ามาในรัฐไทย กลับถูกปฏิเสธ ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงแรงงานในฐานะหน่วยราชการได้ปรากฏใช้คำว่า คนต่างด้าว (Aliens) จึงมีความหมายถึงชาวต่างชาติ (Foreigners) คือ ผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย[15] ทั้งนี้การขอสัญชาติไทยสำหรับคุณสมบัติของคนต่างด้าว สามารถกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามตัวบทกฎหมาย คือ[16] (1) บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ (2) มีความประพฤติดี (3) มีอาชีพเป็นหลักฐาน (4) มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทยเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี (5) มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (6) กระทำความดีความชอบต่อประเทศไทยหรือทำคุณประโยชน์แก่ราชการซึ่งรัฐมนตรีเห็นสมควร (7) เป็นบุตร ภริยา หรือสามีของผู้ซึ่งได้แปลงสัญชาติไทย หรือของผู้ได้กลับคืนสัญชาติไทย (8) เป็นผู้เคยมีสัญชาติไทยมาก่อน และ (9) เป็นสามีของผู้มีสัญชาติไทย

การเปลี่ยนสัญชาติจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้ได้มาซึ่งสิทธิที่สมบูรณ์ตามพลเมือง (Thai Citizen) ตามการถือสัญชาติไทย (Thai Nationality) แน่นอนว่าการถือสัญชาตินั้น ย่อมได้รับการดูแลและคุ้มครองในฐานะพลเมืองของรัฐมากกว่าคนอื่น โดยการได้รับสวัสดิการสังคมในการดูแลและคุ้มครองทางสังคม อันเป็นการให้ได้มาซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ

ในทางปฏิบัติแล้วนั้น แรงงานที่จัดเป็นแรงงานต่างด้าวประเภทสามสัญชาติ คือ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา กลับถูกเลือกปฏิบัติ พิจารณาได้จากระหว่างการรอดำเนินส่งตัวกลับประเทศ อนุญาตให้ทำงานได้สองงาน คือ งานกรรมกรและคนรับใช้ในบ้าน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 ในพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ และเริ่มมีการขึ้นทะเบียนใน พ.ศ.2547 โดยใบอนุญาตจะสามารถทำงานได้ปีต่อปี ซึ่งการดำเนินการถือเป็นการผ่อนปรนต่อการอพยพที่ไม่เคารพต่อกรอบของรัฐชาติ[17]

ทั้งนี้เอง องค์กรสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญถึงเรื่องคุณภาพชีวิตในการทำงาน ไม่เว้นแม้แต่ภาคที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ[18] ซึ่งแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย มักจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทั้งที่เป็นชาวต่างชาติเหมือนกัน แต่กลับถูกจัดประเภทโดยเกียรติภูมิของรัฐ ส่งผลให้แรงงานนำเข้าจากเมียนมาร์ กัมพูชา และลาวมีฐานะทางชนชั้นในสังคมไทยแตกต่างไปจากแรงงานนำเข้าจากญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และประเทศภาคพื้นยุโรป ซึ่งสามารถสังเกตได้ว่ามีการจำกัดขอบเขตของแรงงานเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว ในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ

เอกสารทางราชการ (Documented) อาทิ หนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือการทำงาน (Work Permit) และเอกสารอนุมัติการเดินทาง (Visa) ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายแรงงานยังไม่ใช่การเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้าสู่รัฐไทยได้อย่างสมบูรณ์ แต่กลับเป็นการจัดแบ่งคนอื่น (Outsider) ให้เป็นไปในสองแนวทาง คือ ด้านบวกเป็นการให้ได้มาซึ่งคนเก่งทั้งมีความรู้และทักษะเฉพาะด้านเข้ามาจัดการภายในรัฐ และป้องกันการเข้ามาของแรงงานไร้ทักษะที่ล้นเกินในตลาดแรงงาน ส่วนด้านลบเป็นการจำกัดและปฏิเสธแรงงานจากรัฐอื่น โดยอาจสูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพ แรงงานในด้านที่ขาดแคลน รวมไปถึงแรงงานที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า

จากข้อมูลสถิติจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหารงาน กระทรวงแรงงาน ระบุในปี พ.ศ.2555 ที่ทำงานในไทย ประมาณ 1.13 ล้านคน โดยแบ่งตามลักษณะของการเข้าเมืองและแบ่งตามทักษะฝีมือ ดังนี้[19]

"การจำแนกตามลักษณะของการเข้าเมืองของแรงงาน โดยแบ่งเป็น (1) การเข้าเมืองมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แบ่งเป็นสี่กลุ่มย่อย ดังนี้ คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตประเภทตลอดชีพ คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตประเภทข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานกับประเทศคู่ภาคี คนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตประเภททั่วไป และคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายพิเศษ (2) การหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แบ่งเป็นสองกลุ่มย่อย ดังนี้ แรงงานต่างด้าวที่เป็นชนกลุ่มน้อยของไทย และแรงงานต่างด้าวประเภทสามสัญชาติ คือ สัญชาติเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว"

"การจำแนกตามทักษะของแรงงาน โดยแบ่งเป็น (1) แรงงานต่างด้าวที่มีทักษะ (Skilled Labor) เป็นแรงงานต่างด้าวประเภททั่วไป และประเภทที่ได้รับใบอนุญาตพิเศษ (2) แรงงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor)"

ฉะนั้น ปัญหาสำคัญ คือ มาตรฐานการเคลื่อนย้ายหรือการเข้าไปทำงานในประเทศอื่น ตามแต่ละประเทศต่างมีเนื้อหาสาระทางกฎหมายที่แตกต่างกัน ทำให้การเคลื่อนย้ายไปในประเทศอื่นต้องศึกษากฎหมายของประเทศนั้น สะท้อนถึง การตีกรอบการเคลื่อนย้ายแรงงาน ถูกจำกัดโดยรัฐผ่านระเบียบสังคม สามารถพิจารณาได้จาก พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มีจุดประสงค์สำคัญ คือ การจำกัดบางอาชีพของแรงงานที่ไม่ใช่แรงงานไทย รวมถึงการเข้ามาทำงานต้องขอใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยมีการจำกัดใบอนุญาตตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อป้องกันการตั้งถิ่นฐาน

ในทางตรงกันข้าม การถือสัญชาติเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว จะได้มาซึ่งสัญชาติไทยย่อมเป็นการยาก เว้นแต่ในปรากฏการณ์ทางสงครามที่ต้องใช้กำลังพลทหาร จึงเกิดการดูดกลืนคนทุกกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในทางเศรษฐกิจ การเปิดรับชนชาติอื่นย่อมนำเข้าเพื่อการผลิตทั้งในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐไทยในปัจจุบันกลับเลือกปฏิเสธ ทั้งที่แรงงานไร้ฝีมือเกิดการขาดแคลน แต่รัฐปิดกั้นการเข้ามาแทนที่การเปิดรับเพื่อทดแทนในส่วนที่ขาด และพัฒนาแรงงานที่ถือสัญชาติไทยให้ยกระดับสู่แรงงานกึ่งฝีมือและแรงงานมีฝีมือ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงาน และเศรษฐกิจในภูมิภาคได้

อย่างไรนั้น เมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์แรงงานแล้ว แรงงานชาวจีนที่เข้ามาพักพิงในสยาม รัชสมัยของรัชกาลที่ 1-5 ได้ถูกให้ความสำคัญมาก เนื่องจาก เป็นกลุ่มชนที่มีอิทธิพลต่อสยาม แตกต่างจากกลุ่มชนทั้งสามที่อยู่ในอาณาบริเวณใกล้เคียงกลับถูกเพิกเฉย และเป็นภาพลักษณ์ ในประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายระหว่างกัน จึงทำให้ประวัติศาสตร์จดจำเพียงแต่แรงงานชาวจีน และหลักฐานทางประวัติศาสตร์มักสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามกับจีน จนกระทั่งในเวลาต่อมา รัฐได้เปิดกว้างให้ชาวจีนแปลงสัญชาติจีนเป็นไทย เพื่อหลุดพ้นสถานะต่างด้าว (Aliens) สู่สัญชาติไทย (Thai Nationality) และได้มีการแต่งงานระหว่างชาวไทยกับชาวจีน จนได้กลายมาสู่ชาวไทยเชื้อชาติจีนได้เปลี่ยนสถานะเป็นสัญชาติไทยโดยสมบูรณ์ ซึ่งต่างจากชนชาติอื่นได้กลายสู่เพียงคนชายขอบหรือความเป็นอื่นในสังคม

จากการแปลงสัญชาติ ในปัจจุบันมักไม่ปรากฏให้เห็นมากนัก เว้นแต่เป็นชนชั้นนำที่เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ และนักนิยมในหมู่มวลชน จะได้รับเงื่อนไขพิเศษจากรัฐชาติด้วยระเบียบสังคมที่เอื้อต่อการให้สิทธิพิเศษ เพราะการให้สิทธิพิเศษทางสัญชาตินั้น ย่อมเป็นการเปิดช่องว่างของรัฐให้บุคคลพิเศษของรัฐอื่นที่เอื้อผลประโยชน์ร่วมได้ จึงไม่แปลกที่การเลือกปฏิบัติเช่นนี้จะปรากฏให้เห็นระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นแรงงานที่แรงงานหมู่มากกับไม่ได้รับสิทธิ ทั้งยังถูกกัดกันการแสวงหาโลกใหม่หรือชีวิตที่ดี ดังเช่น ประวัติศาสตร์การอพยพสู่อเมริกาเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดี


4.แรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ภาพของการรวมกลุ่มประเทศอาเซียน ตั้งแต่ พ.ศ.2510 ดูเหมือนจะเป็นทิศทางและนิมิตรหมายที่ดีเสมือนกับสหภาพยุโรป แต่การก้าวตามอาจประสบความล้มเหลวได้เฉกเช่นกัน เนื่องจาก ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงประวัติศาสตร์การสถาปนารัฐชาติ ซึ่งรัฐไทยในปัจจุบันมีคติฐานที่ว่า เพื่อนบ้านเป็นผู้ร้ายและชาติไทยมีอายุยาวนาน ทั้งที่ควรตั้งคำถามย้อนกลับว่า อาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาใช่ความเป็นไทยหรือไม่ และสยามกับรัฐไทยปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร แน่นอนว่า ข้อจำกัดหรืออุปสรรคของการสร้างสัมพันธไมตรีในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศที่เขตแดนติดต่อกัน จึงติดกับดักของประวัติศาสตร์ไว้

ความจริงทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงเป็นไปตามกรอบแนวคิดสัจนิยมที่มีจุดศูนย์กลาง คือ รัฐ โดยรัฐจะเป็นผู้ใช้อำนาจทั้งในด้านความร่วมมือและความขัดแย้ง ทั้งนี้ความขัดแย้งกับปรากฏขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กรณีหมู่เกาะสแปรตลี่ (Spratly Islands) เป็นต้น จึงสะท้อนให้เห็นว่า ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อรัฐในอาณาบริเวณยังเห็นถึงผลประโยชน์แห่งชาติ โดยละเลยการสร้างให้พื้นที่แห่งการช่วงชิงและตักตวงให้กลายเป็นสมบัติส่วนรวมของรัฐในอาณาบริเวณนั้น

กรอบของรัฐชาติเป็นผลมาจากความคิดในแบบสัจนิยม ซึ่งเป็นการปฏิเสธการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีเอกสารการเคลื่อนย้าย (Undocumented) ซึ่งมีผลต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แม้ว่าจะมีการเปิดเสรีของการเคลื่อนย้ายในกลุ่มประเทศทั้ง 10 ก็ตามแต่ ซึ่งได้กำหนดไว้เจ็ดสาขาวิชาชีพ และหนึงกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ วิศวกรรม พยาบาล สถาปนิก นักสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ นักบัญชี และการท่องเที่ยว ซึ่งได้ทำเป็นข้อตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วม (MRA) ในสาขาวิชาชีพของอาเซียนแล้ว

ข้อตกลง MRA นี้เอง มองผิวเผินแล้วเสมือนการให้รัฐใดรัฐหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ได้รับแรงงานที่มีความรู้และทักษะเข้าสู่ประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แรงงานจะย้ายถิ่นไปได้ติดเงื่อนไขต่างๆนานาอยู่หลายประการ อาทิ วุฒิการศึกษาที่ได้รับการยอมรับ ประสบการณ์ที่ระบุเฉพาะและมีความสัมพันธ์กับจำนวนปี การทดสอบความรู้เฉพาะด้าน เป็นต้น[20] ซึ่งข้อจำกัดข้างต้นนี้จึงมีผลให้แรงงานที่เข้าสู่กำลังแรงงาน (Labour Force) ในระยะแรก ยังติดเงื่อนไขต่างๆ และจะเกิดการเคลื่อนย้ายได้ต้องเป็นแรงงานที่เชี่ยวชาญ มีต้นทุนชีวิตที่ดี และเป็นช่วงกลางของการทำงานเสียมากกว่า (Middle-Working Time)

ความสำคัญของการแข่งขันในตลาดแรงงานระหว่างประเทศ แรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย โดยเฉพาะเมียนมาร์ กัมพูชา และลาวจะอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เนื่องจาก มีนโยบายค่าจ้างที่เป็นปัจจัยดึงเข้ามา ซึ่งเข้ามาทำงานในระดับล่างเป็นแรงงานไร้ฝีมือเสียมากกว่า ประกอบกับการมีระบบสวัสดิการทางสังคมที่จัดดีกว่าประเทศต้นทาง ทั้งนี้การเข้ามาของแรงงานกลุ่มนี้ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้รัฐไทยลดการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ เนื่องจาก กำลังแรงงานของรัฐไทยถูกกำหนดกรอบในระบบการศึกษาภาคบังคับ 15 ปี ประกอบกับการเข้าสู่ระดับการศึกษาอุดมศึกษา จนเป็นเหตุให้ตลาดแรงงานขาดแคลนแรงงานช่วงอายุ 18-23 ปี ที่เข้ามาทำงานในระดับกึ่งฝีมือ


5.วิกฤตเศรษฐกิจเอเชียกับการลดอัตราพึ่งแรงงานต่างด้าว

เมื่อระบบโลกเข้าสู่ช่วงเวลาหลังสงครามเย็น (Post-Cold War) เทคโนโลยีได้ขยายตัวและพัฒนาไปมากขึ้น ประกอบกับโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เป็นพลังสำคัญในการผลักดันและหลอมหลวมไปทั่วทั้งโลก จนเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบไปในทุกด้านไม่เว้นแม้แต่แรงงาน ซึ่งผลทางตรง คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานมีอัตราที่เพิ่มมากขึ้น โดยแรงงานอพยพเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้นผ่านระบบอินเทอร์เนตและสารสนเทศต่างๆ ทำให้เกิดการไหลเลื่อนของแรงงานในแบบรวมหมู่และกระจัดกระจาย

อิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ระบบการเงิน (Financial System) เกิดการสั่นคลอน เนื่องด้วย การผลักสู่ความเป็นเสรี (Liberalization) ทั้งด้านการค้า การลงทุน และแรงงาน จนเป็นการทำลายขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐลง หรือเข้าใจได้ว่า รัฐมีอำนาจทางการเมืองน้อยลง แต่ภาคเอกชนในฐานะผู้ลงทุนและหุ้นส่วนสำคัญกลับกลายเป็นผู้ใช้อำนาจแทน นั้นเองวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ปี ค.ศ.1997 ได้เกิดขึ้นศูนย์กลางที่ประเทศไทย และขยายตัวไปทั่วภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในด้านของแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะกล่าวต่อไปนี้

จากวิกฤตการณ์ทางการเงินนี้เอง ได้นำไปสู่การผลักดันแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย กลับไปสู่ประเทศต้นทางโดยแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย เหตุนี้ รัฐบาลในเวลานั้น คือ นายชวน หลีกภัย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายส่งแรงงานต่างชาติ โดยไม่ให้มีการต่ออายุใบอนุญาตการทำงาน เพื่อลดการใช้แรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย และเพิ่มอัตราการจ้างงานแรงงานที่ถือสัญชาติไทยให้มากขึ้น[1] กล่าวได้ว่า ในเวลาต่อมาประเด็นของแรงงานต่างด้าว (Aliens Labour) จึงเป็นความสำคัญของการจัดภาครัฐ (Public Management) แทนที่การปล่อยเข้าพึ่งพิงโดยไม่มีมาตรการควบคุม และในทางเดียวกันเป็นการลดทอนอำนาจรัฐในทางสัจนิยม โดยแรงงานต่างด้าวมักถูกให้ภาพในลักษณะของสิ่งมีชีวิตทิ่อันตรายและปัญหาทางสังคม

ไม่เว้นแต่ประเทศไทย ในฐานะการถือความเป็นรัฐชาติได้เกิดความสั่นคลอน คือ การให้ตัวแสดงระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือประเทศทั้งธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยยอมรับข้อเสนอต่างๆ ตามลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) อาทิ การลดระเบียบข้อบังคับ (Deregulated) และการทำให้เป็นเสรี (Liberalization) ทั้งการค้า การแลกเปลี่ยน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน และยังมีผลให้ประเทศไทยต้องปรับเปลี่ยนภายในโดยมีแนวทางมุ่งสู่ธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยความท้าทายที่เกิดขึ้น คือ การนำไปนโยบายไปปฏิบัติในการส่งมอบบริการสาธารณะ (Public Service) การกระจายอำนาจ (Decentralization) การต่อสู้กับการคอรัปชั่น (Battle to Corruption) และการลดอิทธิพลของระบบราชการ การทหาร และกลุ่มธุรกิจ[2]

ดังนั้น แรงงานในฐานะปัจเจกบุคคลจึงไม่มีผลกระทบต่อรัฐได้ แต่ในทางมหภาค คือ ตลาดแรงงาน ที่มุ่งให้รัฐต้องปรับตัว รวมทั้งให้ความยืดหยุ่นต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานแก่แรงงานที่มีสัญชาติ (Nationality) เทียบเคียงหรือมีอาณาบริเวณใกล้เคียง โดยความเป็นจริงแล้ว รัฐใกล้เคียงต่างมีการสร้างวาทกรรมและการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์คู่ขัดแย้งกันเสมอมา ทั้งที่อดีตกับปัจจุบันต่างมีช่องว่างของพื้นที่และกาลเวลาที่จัดแบ่งระหว่างเขากับเราแล้ว จึงเป็นเพียงร่องรอยแห่งความทรงจำ


6. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับกรอบการเคลื่อนย้ายเสรีเข้าสู่รัฐไทย: กรณีของแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว

จากความร่วมมือภายใต้ประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ อาเซียน (ASEAN) ได้มุ่งและยึดหลักการพัฒนาที่บูรณาการภายใต้ความท้าทายของภูมิภาคในกลุ่มประเทศสมาชิก ทั้งที่ภูมิภาคประสบกับปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานร่วมกัน ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้เสนอแนวคิดของงานที่มีคุณค่า (Decent Work) จะช่วยในการสร้างความเป็นธรรมของโลกาภิวัตน์ และบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางสังคม[3] แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาเซียนไม่ได้มุ่งพัฒนาตามกรอบของหน่วยงานหรือองค์กรภายใต้สหประชาชาติ โดยปรากฏให้เห็นถึงวิธีคิดแบบสัจนิยม ทั้งในตัวแสดงที่เป็นรัฐและพลเมืองของรัฐ เพราะ การพัฒนาที่ได้นำมาปฏิบัติมุ่งแต่เพียงบทบาทของรัฐ โดยละเลยปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการจ้างแรงงาน สิทธิคุ้มครองแรงงาน รวมไปถึงช่องว่างของเพศสภาพ และการขยายตัวของเศรษฐกิจนอกระบบอย่างต่อเนื่อง

เมื่อกล่าวถึงเมียนมาร์ กัมพูชา และลาว ในฐานะรัฐในอาณาบริเวณหรือประเทศเพื่อนบ้าน ในทางเขตแดนแล้ว ควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่าความขัดแย้งทางการเมือง เพราะเป็นประเด็นด้านความมั่นคงเป็นพื้นฐานของการนำมาซึ่งการปะทะทางการทหารและยุทโธปกรณ์ได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นการเสียดสีทางประวัติศาสตร์เสียมากกว่า โดยการใช้ศิลปะเข้ามาสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ อาทิ ภาพยนตร์เรื่องบางระจัน ได้ปลุกความเป็นชาตินิยม และสวมบทบาทของรัฐชาติในฐานะตัวแสดงที่สำคัญเป็นผู้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศทั้งรัฐต่อรัฐกับรัฐต่อภูมิภาค หรือการเขียนประวัติศาสตร์ตัดแปะถึงพระยาละแวกของกัมพูชา โดยกล่าวเหยียดหยามถึงการนำโลหิตล้างพระบาทของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในทางปฏิบัติ จึงกล่าวได้ว่า รัฐบาลไทยได้เห็นความสำคัญการเข้ามาของแรงงานทั้งสามสัญชาติตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา เนื่องจาก การพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดตั้งแต่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 ในปี พ.ศ.2504 เป็นต้นมา ซึ่งความสำคัญของการเปิดรับแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย คือ การใช้นโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ของรัฐบาลภายใต้การบริหารโดย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ตั้งปณิธานการจะขึ้นเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย แต่ท้ายที่สุดไม่สามารถก้าวขึ้นไปได้ เนื่องจาก ปัจจัยภายในรัฐเองที่เป็นการขวางกั้นความใฝ่ฝันของผู้นำทางการเมืองและธุรกิจ

รัฐบาลตั้งแต่สมัยของนายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มุ่งให้ความสำคัญ โดยตระหนักกว่าประเทศทั้งสามนั้น มีเขตแดนที่ติดต่อกับรัฐไทย แน่นอนว่าผู้นำของรัฐทุกสมัยต่างเห็นพ้องกันว่า ไม่มีทางปิดกั้นการเข้ามาอย่างผิดกฎหมายได้ ยิ่งเป็นการปราบปรามโดยใช้ความรุนแรงด้วยอำนาจรัฐ ย่อมเป็นการทำลายภาพลักษณ์ในความสัมพันธ์แบบเสรีนิยม ยิ่งแล้วนั้น ปัจจุบันได้มุ่งสู่การพัฒนาแรงงานตามทิศทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ การปฏิเสธกระแสหลักในฐานะตัวแสดงที่ก่อร่างสร้างตัวจากมหาอำนาจโลกย่อมเป็นการโดดเดี่ยวในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงกับการค้าและการลงทุน รวมถึงการยอมรับจากนานาประเทศ

ทางออกของรัฐไทยในการกระทำแบบเสรีนิยมตามกระแสหลัก คือ การเปิดให้เสรีและเปิดกว้างทางมนุษยธรรม โดยลดความเป็นรัฐชาติที่เห็นแก่ผลประโยชน์แห่งชาติลง ซึ่งแน่นอนเสรีนิยมย่อมนำมาซึ่งการลดทอนอำนาจของรัฐในการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งนี้การนำนโยบายไปปฏิบัติจึงมีการจัดการแรงงานทั้งสามสัญชาติในกรณีที่หลบหนีเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารทางราชการ (Undocumented) ได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2535 โดยให้ขึ้นทะเบียนผ่อนผันอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวแบบปีต่อปี และใน พ.ศ.2539 ได้ให้นายจ้างนำแรงงานสัญชาติทั้งสามมาขึ้นทะเบียนได้ โดยประกอบอาชีพได้เพียงในภาคเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้าง เหมืองแร่ ถ่านหิน การขนส่ง และอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งสัญญาณที่ดีในเวลาต่อมา คือ การประชุมและปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการขจัดการเมืองผิดกฎหมาย พ.ศ.2542 โดยพยายามปรับให้แรงงานทั้งสามสัญชาติสามารถปรับเป็นแรงงานที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถทำงานได้สองประเภท คือ กรรมกรและคนรับใช้ในบ้าน ต่อมา พ.ศ.2548 ได้แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยการเปิดให้นำเข้าแรงงานทั้งสามสัญชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และได้มีการออกพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวใหม่ในปี พ.ศ.2551และยังได้มีการดำเนินการต่อมา คือ การขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผัน การจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงาน การเข้าระบบประกันสังคม[4]

อย่างไรก็ตาม หากรัฐไทยไม่ปฏิบัติตามในทิศทางเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบในเชิงมหภาค และเศรษฐกิจระหว่างประเทศถือเป็นความสำคัญ เพราะระบบปิดไม่สามารถนำพาให้รัฐยืนอยู่บนระบบโลกอีกต่อไป พิจารณาได้จาก แรงงานประมงของไทย ปรากฏให้เห็นถึงการใช้แรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยเยี่ยงไร้มนุษยธรรม ซึ่งประเทศในภาคพื้นยุโรปและอเมริกา เรียกเปรียบว่า ความเป็นทาสสมัยใหม่ (Modern Slavery) ซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆจากรัฐ ซึ่งบกพร่องทั้งในเรื่องมาตรฐานแรงงาน การจ้างแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม และสวัสดิการสังคมที่แรงงานนอกระบบไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังที่เห็นจาก ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การบังคับข่มขู่แรงงาน ไม่เว้นแม้แต่การค้ามนุษย์ส่งแรงงานข้ามชาติในลักษณะของทาสสมัยใหม่ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะกลายสู่แรงงานนอกระบบ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐที่แรงงานเข้าไปพึ่งพิงใดๆ จนเป็นเหตุให้เกิดการปฏิบัติที่มีมากกว่าหนึ่งมาตรฐาน ซึ่งการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานจึงกระทำเป็นขบวนการ โดยที่แรงงานที่เข้ามามักแสวงหาโอกาสทางสังคมที่ดีกว่า แต่กรอบของรัฐชาตินี้เองกลับกลายเป็นอุปสรรคที่กำหนดเงื่อนไขของปัจจัยการเคลื่อนย้ายเข้าสู่รัฐอื่น แทนที่รัฐในยุคโลกากิวัฒน์จะเปิดกว้างให้เชื่อมโยงระหว่างกัน

การเชื่อมโยงโลกให้เป็นแนวราบนี้เอง ได้เกิดอิทธิพลที่ส่งผ่านจากรอบความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกในอาเซียน โดยแท้จริงแล้ว คือ การรอมชอมในความขัดแย้งให้แต่ประเทศสมาชิกดำเนินนโยบายอำนาจอ่อน (Soft Power) เพื่อเลี่ยงการปะทะกันระหว่างประเทศ ประกอบกับระเบียบโลก ได้มุ่งส่งเสริมสันติภาพและมนุษยธรรมภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศ คือ สหประชาชาติ ซึ่งการที่ประเทศใดไม่ปฏิบัติตามจึงเป็นการขัดกับระเบียบโลกโดยมีตำรวจโลก คือ สหรัฐอเมริกา ในฐานะอภิมหาอำนาจของระบบโลก จะส่งผลต่อประเทศที่มีสถานะการพึ่งพาให้ปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ได้ เพราะการทำเช่นนั้นอาจนำไปสู่การสูญเสียสถานะของอธิปไตยและเขตแดนแห่งรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อย่างไรนั้น แม้จะมีการผ่อนผันการเข้ามาให้แก่แรงงานที่มีอาณาบริเวณติดกับรัฐไทย คือ เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว โดยที่ในทางปฏิบัติย่อมทราบดีแล้วว่า ไม่สามารถปฏิเสธหรือห้ามการลักลอบเข้ามาได้ เนื่องจาก มีพรมแดนของรัฐที่ติดกัน ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ประเทศปลายทางต้องเปิดรับกลุ่มแรงงานเหล่านี้ โดยรัฐไทยเลือกที่รอมชอมโดยการผ่อนผันในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติและนำส่งกลับรัฐ จึงเห็นได้ว่า หลังจากเปิดประชาคมอาเซียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2510 ไม่ได้มีผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2558 นั้นเอง ไม่ได้มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเสรีเช่นกัน เนื่องจาก การเคลื่อนย้ายมุ่งสนับสนุนแรงงานมีฝีมือ ส่วนแรงงานไร้ฝีมือ กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาคมในลักษณะความสัมพันธ์แบบร่วมมือของประเทศสมาชิก

การปล่อยเข้ามาของแรงงานไร้ฝีมือ ท้ายที่สุดย่อมประสบปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาโรคเอดส์หรือเชื้อเอชไอวี (AID/HIV) ปัญหาอาชญากรรม และการเข้าถึงบริการสาธารณะ ซึ่งกลายเป็นหน้าที่ของรัฐปลายทางต้องรับผิดชอบ แทนที่คุณภาพชีวิตที่ไม่ได้รับการดูแลนี้ ควรเป็นประเทศต้นทางที่ต้องรับผิดชอบก่อนที่จะผลักแรงงานกลุ่มนี้ออกไปสู่ระบบโลก เพราะการเคลื่อนแรงงานที่ผิดกฎหมาย ย่อมนำมาซึ่งการไม่ได้สิทธิและสวัสดิการสังคมในรัฐที่เคลื่อนย้าย ดังปรากฏให้เห็น อาทิ การเข้ารับบริการประกันสังคม ซึ่งนายจ้างจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนกันตนให้กับลูกจ้าง ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายขอบเขตคุ้มครองแรงงานสามสัญชาติแล้ว แต่ลูกจ้างที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยนี้เอง มักไม่ได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวแรงงานที่ถือสัญชาติไทย เพราะสังคมไทยได้ให้ภาพแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยมีความเป็นอื่น และแรงงานชาติที่มีสถานะต่ำกว่า ย่อมกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคม (Xenophobia)

เมื่อพิจารณาจากประเด็นและปัญหา จึงไม่ใช่เพียงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการรักษาเกียรติภูมิทางการเมืองของรัฐเสียมากกว่า ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดรับกับปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกสร้างและครอบงำจากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต ดังที่ ปรากฏในรัฐไทยพยายามสร้างประวัติศาสตร์และเพิ่มเติมเรื่องราว ผ่านการปลุกระดมความเป็นชาตินิยมผ่านสื่อทุกรูปแบบ ดังคำกล่าวจาก สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ให้ความเห็นต่อ การสนับสนุนและคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละรัฐ โดยไม่มีความรู้สึกกีดกัน เบียดเบียน และขัดขวางของการธำรงรักษาไว้ แต่ต้องยอมรับความหลากหลายทางความคิด วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา และอื่นๆ โดยเชื่อว่าความหลากหลายนี้ต้องมีอยู่ และนำออกไปสู่ภายนอกด้วยวัฒนธรรมไทย[5] ซึ่งการสะท้อนถึงชาติเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งที่ความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้ รัฐนั้นต้องลดบทบาทและให้อยู่ภายใต้กรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งแรงงานที่ไม่ได้ถือสัญชาติย่อมได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากแรงงานที่ถือสัญชาติไทย ประกอบกับการที่แรงงานไม่สามารถรับรู้ถึงสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่รัฐเองยังขาดความรู้ ความเข้าใจกับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิแรงงานเช่นกัน[6]

ท้ายนี้การให้ภาพของความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิกของอาเซียนนั้น จะพิจารณาอย่างไรให้เข้าถึงการพัฒนาร่วมกันภายใต้ภูมิภาค เนื่องจาก ประเทศภายในต่างมีการแข่งขันทั้งในทางการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน และที่สำคัญดุลแห่งอำนาจของรัฐในอาณาบริเวณนี้จึงเป็นการสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมของรัฐในระบบโลก ซึ่งความขัดแย้งในที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีประสาทเขาพระวิหาร อุดมการณ์การเมืองของเมียนมาร์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบบโลก การสร้างภาพยนตร์หรือละครถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น และล่าสุดนี้เองยังประสบกับชาวโรฮิงญาที่เป็นแรงงานนอกระบบและไม่มีที่ปักหลักในหลักแหล่ง ซึ่งประเทศสมาชิกต่างไม่ต้อนรับและขับไล่ให้ออกไปเขตแดนอำนาจของรัฐอื่น ซึ่งเป็นความเสี่ยงของการมีชีวิตและชีวิตของแรงงาน



[1] Chantavanich, S. and Makcharoen, P. (2008). Thailand In Asian and Paciffic Migration Journal. 17(3/4). pp. 391-411.

[2] Brewer, B. (2005). Thailand In Encyclopedia of Public Administration and Public Policy. Broken Sound Pkwy NW, Boca Raton: Taylor & Francis Group. pp. 285-289.

[3] International Labour Office Regional Office for Asia and the Pacific. Labour and Social Trends in ASEAN 2007: Integration, Challenges and Opportunities. Retrieved July 14, 2015, from http://www.ilo.org/wcmsp5/groups/public/---asia/--... bangkok/documents/publication/wcms_bk_pb_139_en.pdf

[4] กิริยา กุลกลการ. (2557). การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ ในประเทศไทยและต่างประเทศ. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. น. 13-69.

[5] สุรินทร์ พิศสุวรรณ. วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรม. ศรัณย์ วงศ์ขจิตร (บรรณาธิการ). (2557). อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). น. 15-38.

[6] ศรีประภา เพชรมีศรี. สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และความสัมพันธ์ทางอำนาจ. ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา และ ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร (บรรณาธิการ). (2555). อาเซียนภาควัฒนธรรม:ทัศนะต่อประชาคมในกระแสความขัดแย้งและความหวัง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน). น. 154-182.


[7] กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด. (มกราคม-มิถุนายน 2551). รัฐไทยในกระแสโลกภิวัตน์.. วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 39(1). 1-32.

[8] ทวีศักดิ์ เผือกสม และ ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล. (กรกฎาคม-ธันวาคม 2554). สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย. วารสารวิชาการด้านเอเชียศึกษา รุไบยาต, 2(3). 5-13.

[9] Robert F. Gorman. (1996). The Nation-State In International Encyclopedia of Government and Politics. East Walton Street : Chicago, Salem Press Inc. pp. 853-857.

[10] Robert F. Gorman. (1996). The State. International Encyclopedia of Government and Politics. East Walton Street : Chicago, Salem Press Inc. pp.1292-1296.

[11] เดวิด เค วัยอาจ. กาญจนี ละอองศรี (บรรณาธิการ). (2556). ประวัติศาสตร์ไทย ฉบับสังเขป. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. น. 308-391.

[12] สมเกียรติ วันทะนะ. (2525), วิวัฒนาการชนชั้นแรงงานไทย. เค้าโครงประวัติศาสตร์แรงงานครบรอบสองร้อยปี. เอกสารวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันไทยคดีศึกษา: หมายเลข 23. น.140-165.

[13]พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช, เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2558.

[14] อ้างแล้ว. เดวิด เค วัยอาจ. กาญจนี ละอองศรี (บรรณาธิการ). (2556). น. 308-391.

[15] Bob Jessop. (2006). The State and State-Building In The Oxford Handbooks of Political Science. Oxford: Oxford University Press. pp. 117-119.

[16] Scobey-Thal, J. (2014, September/October). illegal Alien In Foreign Policy. pp. 22-23.

[17] Stein, D. (2014, November/December). Needless Euphemisms In Foreign Policy. p. 11.

[18] พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555

[19] พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

[20] พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551

[21] Chantavanich, S. and Makcharoen, P. (2008). Thailand. Asian and Pacific Migration Journal. 17(3-4). pp. 391-411.

[22] มาตรา 10 และ 11 พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 (ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551)

[23] ดนุพล อริยสัจจากร และ สมประวิณ มันประเสริฐ. (2558). สถานการณ์แรงงานและผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในภูมิภาคอาเซียน, กรุงเทพฯ : คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. น. 31-32, 38-40.

[24] International Labour Organization. The ILO: What it is. What it does. เข้าถึง http://www.ilo.org/wcmsp/groups/public/---dgreport... เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 เวลา 4.22 น.

[25] อ้างแล้ว, ดนุพล อริยสัจจากร และ สมประวิณ มันประเสริฐ. (2558). น. 26-39.

[26] อ้างแล้ว, ดนุพล อริยสัจจากร และ สมประวิณ มันประเสริฐ. (2558). น. 47-65.


[27] Farazmand, A. (2007). Strategic Public Personnel Administration: A Conceptual Framework for Building and Managing Human Capital in the 21st Century. In Strategic Public Personnel Administration Building and Managing Human Capital for the 21st Century. Post Road West, Westport : Greenwood Publishing Group. pp. 3-4.

[28] Koser, K. (2007). International Migration: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press. pp.1-15.?

[29] Martin, N. and Brooy, D. (June, 2007). Workers of the less Developed World Unite? A Multilevel of Unionization in Less Developed Countries. American Sociological Renews. 72. pp. 562-584.

[30] ibid. pp.1-15, 54-56.

หมายเลขบันทึก: 605909เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2016 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2017 21:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท