วิกฤตการณ์ทางการเงินของสหรัฐอเมริกา


ปัจจุบันประเด็นที่ส่งผลต่อการลงทุนทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกคงจะหนีไม่พ้นเรื่องวิกฤตการณ์ทางการเงินภายในสหรัฐอเมริกา ที่ยังแบ่งออกเป็นประเด็นปัญหาย่อยๆ อีก 2-3 อย่าง คือ ปัญหาหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling Crisis) และปัญหาจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (Quantitative Easing : QE) ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกดดันให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย และในวันนี้เราจะมาลองติดตามกันดูว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ขณะนี้มีทิศทางและแนวโน้มเป็นอย่างไร รวมถึงจะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นของประเทศไทยเราอย่างไรบ้าง

เริ่มจากปัญหาหน้าผาทางการคลัง หรือภาวะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจต้องหยุดชะงักจากการหมดอายุของมาตรการลดหย่อนทางภาษีหลายๆ มาตรการที่รัฐบาลเคยนำมาใช้ในช่วงก่อนหน้านี้ บวกกับการตัดรายจ่ายของภาครัฐฯ ให้น้อยลงโดยอัตโนมัติตามกฎหมาย หลังจากที่รัฐบาลไม่สามารถหาทางลดรายจ่ายลงได้ภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นจะมีผลทำให้ปริมาณเงินที่เคยหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หายออกไปทันทีประมาณ 6.5 แสนล้านดอลลาร์ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในทันที ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ Fiscal Cliff เกิดขึ้น โดยจะเห็นได้จากการพยายามต่อรองและหาทางออกร่วมกันระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐฯ

โดยความคืบหน้าล่าสุดนั้น รัฐสภาของสหรัฐฯ มีมติให้ต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีบางมาตรการออกไป พร้อมๆ กับการยืดระยะเวลาการตัดลดรายจ่ายของภาครัฐฯ โดยอัตโนมัติออกไปอีก 2 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะมีการหาแนวทางร่วมกันสำหรับการแก้ไขปัญหาต่อไป อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวโน้มในเรื่องของ Fiscal Cliff ดูเหมือนว่าน่าจะได้รับการแก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างแล้วในระดับหนึ่ง แต่นักลงทุนยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ว่าในช่วงระยะเวลาอีก 2 เดือนข้างหน้านี้จะมีความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวทางแก้ไข Fiscal Cliff อย่างไรอีกบ้าง และจะส่งผลต่อการลงทุนของบ้านเราอย่างไรต่อไป

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับเพดานหนี้สาธารณะนั้น ก่อนอื่นเราลองมาทำความรู้จักกับหนี้สาธารณะกันก่อนว่าคืออะไร หนี้สาธารณะ (Public Debt) คือหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล (มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ) รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินมาเพื่อใช้จ่ายในส่วนที่เกินไปกว่ารายรับที่รัฐฯ จัดหาได้ และโดยทั่วไปแล้วกฎหมายของแต่ละประเทศจะกำหนดไว้ว่ารัฐบาลของตนจะสามารถก่อหนี้ได้สูงสุดเป็นจำนวนเท่าใด (เพดานหนี้สาธารณะ : Debt Ceiling) เนื่องจากหากปล่อยให้มีหนี้สาธารณะในจำนวนที่สูงเกินไปอาจกระทบต่อสถานะทางการคลังของประเทศ ดังกรณีของหลายๆ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปที่กำลังมีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะอยู่ในขณะนี้

และสำหรับสหรัฐฯ เพดานหนี้สาธารณะในปัจจุบันถูกกำหนดไว้ที่ระดับ 16.4 ล้านล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะที่สหรัฐฯ มีอยู่ ณ ปัจจุบัน (มกราคม 2556) ก็ชนเพดานหนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ จะไม่สามารถก่อหนี้ใหม่ได้อีกต่อไปหากไม่มีการขยายเพดานหนี้ให้สูงขึ้นกว่าเดิม และสหรัฐฯ จะมีความเสี่ยงที่อาจจะต้องผิดนัดชำระหนี้ (Default) สำหรับเงินกู้ที่รัฐบาลเคยก่อไว้ในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากในปัจจุบันรัฐบาลไม่สามารถก่อหนี้ก้อนใหม่เพื่อนำเงินไปชำระเจ้าหนี้ก้อนเดิมได้อีกแล้วนั่นเอง อย่างไรก็ตาม รัฐสภาสหรัฐฯ จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการขยายเพดานหนี้ในช่วงอีก 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งสุดท้ายแล้วคาดว่าจะมีการขยายเพดานหนี้ให้สูงขึ้นไปอีกค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ถือเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุดที่ไม่มีใครต้องการให้เกิด แต่การขยายเพดานหนี้ในรอบนี้จะต้องแลกมาด้วยข้อตกลงหรือมาตรการรัดเข็มขัดอย่างไรในอนาคตบ้างนั้นถือเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เนื่องจากล้วนแล้วแต่มีผลต่อการลงทุนอย่างแน่นอน

นอกจากนี้แล้ว ประเด็นความกังวลที่เกี่ยวกับการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของสหรัฐฯ (Quantitative Easing : QE) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 รวมทั้งสิ้น 4 โครงการ (QE1 - QE4) โดยมีผลทำให้เกิดเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไปแล้วกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์ และจะยังมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบต่อเนื่องไปอีกเรื่อยๆ เดือนละประมาณ 85,000 ล้านดอลลาร์ จากมาตรการ QE3 และ QE4 ที่ไม่มีการกำหนดอายุของโครงการ โดยสหรัฐฯ จะดำเนินการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบไปจนกว่าตัวเลขการว่างงานจะลดลงจนต่ำกว่าระดับ 6.5% จากอัตราการว่างงานปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.8% ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าวสร้างความกังวลเกี่ยวกับขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และอาจทำให้สภาพคล่องของเม็ดเงินในระบบมีมากเกินไปจนอาจนำมาสู่ปัญหาเงินเฟ้อในอนาคตได้

โดยประเด็นดังกล่าวทำให้หลายๆ ฝ่ายเริ่มออกมาคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะยกเลิกมาตรการ QE3 และ QE4 ในอนาคต ซึ่งทำให้เกิดความกังวลต่อเนื่องว่า หากมีการยกเลิกมาตรการ QE3 และ QE4 แล้วอาจส่งผลต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เคยไหลเข้าสู่ประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทยมีปริมาณลดน้อยลงไปได้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินของประเทศไทยได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้แล้วเราคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งหมดนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป พร้อมๆ กับปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนในเหมาะสมกับสถานการณ์อยู่เสมอ

http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx...

คำสำคัญ (Tags): #usa
หมายเลขบันทึก: 605878เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2016 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2016 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท