หัวข้อที่1 ประวัติความเป็นมาจาก GATT สู่WTO


              1.   ประวัติความเป็นมาและหลักการพื้นฐานขององค์การการค้าโลก               

                  1.1  ประวัติความเป็นมาจาก GATT  สู่WTO

                 ในการประชุมรอบสุดท้ายของ GATT ที่เรียกว่า การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย  ที่ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1994  ที่เมืองมาราเกซ  ประเทศโมรอคโค  รัฐมนตรีประเทศภาคี GATT 124 ประเทศ  มีมติเอกฉันท์รับรองร่างกรรมสารสุดท้าย ( Final Act)  ซึ่งเป็นระเบียบทางด้านการค้าที่เป็นผลมาจากการเจรจารอบอุรุกวัยและยอมรับให้มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก(World Trade Organizatıon)  หรือ WTOให้เป็นสถาบันหลักทางการค้าระหว่างประเทศขึ้นมาทำหน้าที่แทน GATT  ภายในวันที่ 1 มกราคม  1955  ซึ่งรวมความตกลงต่างๆของ  GATT ทั้งหมด  และความตกลงใหม่ซึ่งเพิ่มขึ้นประกอบเป็นความตกลงองค์การการค้าโลก  แม้ GATT จะถูกแทนที่ด้วย WTO  แล้วก็ตาม  แต่วัตถุประสงค์  บทบาท  และหน้าที่ของ WTO ก็ยังเป็นเช่นเดียวกันกับ GATT  คือ  ต้องการให้การค้าระหว่างประเทศเป็นไปอย่างเสรี  มีการแข่งขันที่เป็นธรรม  ทุกๆประเทศอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ปราศจากอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า  เพื่อให้การใช้ทรัพยากรซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยวางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการค้าสินค้า  บริการ ทรัพย์สินทางปัญญา  มาตรการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า ตลอดจนกระบวนการระงับข้อพิพาท[1]ประเด็นการจัดตั้งองค์การการค้าโลกมิใช่เป็นประเด็นที่มีมาตั้งแต่เริ่มเปิดการประชุมรอบอุรุกวัย  แต่เนื่องจากเมื่อมีความบกพร่องของการดำเนินงานของ  GATT เพิ่มมากขึ้น  จึงทำให้ประเทศภาคีมีความต้องการจัดตั้งองค์การเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของ GATT ความบกพร่องของ GATT ได้แก่

                        1. GATT ไม่สามารถระงับข้อขัดแย้งระหว่างประเทศภาคีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อบกพร่องประการนี้ส่งผลให้ประเทศภาคีใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนและมาตรการทางการค้าที่ไม่เหมาะสมต่อประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอกว่าเพิ่มมากขึ้น  และส่งผลให้ประเทศภาคีหันไปใช้การเจรจาการค้าระดับภูมิภาคแทนการเจรจาการค้าระดับพหุภาคี  เช่นกลุ่ม MERCOSUR และข้อตกลง NAFTA ก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางการค้า

                       2. GATT ไม่สามารถเชื่อมโยงการเปิดเสรีการค้ากับการเปิดเสรีทางการเงินและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบสังคมเศรษฐกิจโลก  ทำให้ประเทศภาคีเห็นความสำคัญที่จะต้องมีองค์กรที่ทำงานร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกในการเชื่อมโยงการเปิดเสรีการค้ากับการเปิดเสรีการเงิน[2]แม้ว่าการเจรจา  GATT รอบอุรุกวัย  มิได้มีข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมและการค้าเป็นการเฉพาะ[3]  แต่จากการประชุมGATT  ที่เมืองมาราเกซ  ประเทศโมรอคโค ปี ค.ศ. 1994  และได้มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลกขึ้นนั้นประเทศที่เข้าร่วมได้ประกาศร่วมกันว่าจะต้องไม่มี  หรือไม่มีความจำเป็นในการใช้นโยบายใดๆที่ขัดต่อระบบการค้าพหุภาคีที่มุ่งสู่การเปิดตลาด  การไม่เลือกปฏิบัติ  หรือขัดต่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม  หรือการส่งเสริมการพัฒนาแบบยั่งยืนนอกจากนี้  ได้จัดตั้งคณะกรรมการการค้าและสิ่งแวดล้อม(CTE)   เพื่อสร้างหลักประกันว่าระบบการค้าระหว่างประเทศจะให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกันและประกันว่า  กฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ  ทั้งนี้  มีหลักการพื้นฐานทางกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยกัน ประการ ได้แก่หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนหลักความจำเป็นเพื่อปกป้องชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์  สัตว์ และพืช[4]หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ[5]



[1] องค์การการค้าโลกมิใช่เพียงองค์การที่จัดตั้งขึ้นมาแทนที่สำนักงานเลขาธิการของ GATT เท่านั้น  หากแต่การจักตั้งองค์การการค้าโลกยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน  และขยายขอบเขตการทำงานมากขึ้นกว่าเดิม  โดยเฉพาะการปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดระยะเวลาที่ใช้ในแต่ละขั้นตอน  การจัดตั้งองค์การอุทธรณ์(Appellate Body) เพื่อทบทวนคำวินิจฉัยของคณะพิจารณา(Panel)  และยกเลิกวิธีการรับรองข้อวินิจฉัยของคณะพิจารณา  โดยระบบฉันทามติของที่ประชุม  ซึ่งทำให้ประเทศที่ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยคัดค้านได้ 
            [2] สิทธิกร  นิพภยะ, การเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย, บก.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ , (กรุงเทพมหานคร :โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2548) ,น.8. 
[3] ประเด็นในเรื่องมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เป็นประเด็นหลักที่ประเทศต่างๆคำนึงถึงเมื่อตอนที่ก่อตั้งGATT  General Agreement on Tariff and Trade  หรืออาจกล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่า  GATT มิได้คำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยตรง  ประเด็นสิ่งแวดล้อมนั้นเริ่มปรากฏในการเจรจาของGATT    อย่างจริงจังในช่วงต้นคริสตศักราช 1970s  และมีการพัฒนาเรื่อยมาโดยการผลักดันของคณะกรรมการด้านมาตรการสิ่งแวดล้อมและการค้า(Environmental Measures and International Trade Group : EMIT)  และประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาเรื่อยมาก็คือ  มาตรการสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ  ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่า  เพื่อมิให้ประเทศต่างๆนำเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยกขึ้นบังหน้าเพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและเป็นการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ 
[4] Article XX (b) GATT
[5] Article XX (g) GATT
หมายเลขบันทึก: 60584เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

 ในปัจจุบันความขัดแย้งก็ยังคงมีอยู่ การประชุมของ WTO ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก หลายๆประเทศจึงหันไปใช้การเจรจาระหว่างกันเองมากขึ้น เช่น FTA  

    

 

                             

หลายๆประเทศที่เป็นสมาชิกของWTOโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจกลับใช้กำลังทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าบีบประเทศเล็กๆ   รวมไปถึงเรื่องFTA  ที่ประเทศเล็กๆก็ต้องยอมทำตามในบางเรื่อง  ทั้งๆที่ตนเองยังไม่พร้อมให้เสรี  แต่ก็เพื่ออยากดึงเม็ดเงินจากประเทศมหาอำนาจเข้ามาและอยากให้เปิดตลาดให้ตนเช่นกัน

คือหนูกำลังทำรายงานอยู่อ่ะค่ะแล้วหนูหาข้อมูลไม่ได้ว่าสมาชิกผู้ก่อตั้ง WTO มีใคร ประเทศอะไรบ้าง หนูขอรบกวนถามต่อถึง OAU และ NAM คืออะไรมีวัตถุประสงค์และรายละเอียดอย่างไรบ้าง ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ทำไมผู้บริหารถึงควรทราบถึงหลักทฤษฎีข้อตกลงทางการค้าและทฤษฎีว่าด้วยการเข้าสู่ตลาดด้วยคะ

ทำไมองค์การค้าโลกWTO จึงถูกต่อต้านจากประเทศยากจนล่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท