แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจจีนและแนวทางตัวของธุรกิจไทย


ภาวะเศรษฐกิจจีนและการปรับตัวของธุรกิจไทย

จีนมีการประกาศลดค่าเงินหยวนลงก็ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปทันทีกว่า 4.6% เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับได้ว่าเป็นการประกาศลดค่าเงินครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของจีนในรอบกว่า 20 ก่อนหน้านี้จีนพยายามที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินหลายชนิดในการช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังถดถอยอย่างหนัก ซึ่งหลัก ๆ จะเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายการเงิน อาทิ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น ในขณะที่นโยบายการคลังที่ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสำคัญ ก็จำเป็นต้องลดบทบาทลง เนื่องจากเป็นการสร้างภาระทางการคลังให้รัฐบาลมากเกินไป แต่เป็นที่สังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมา นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางจีนเริ่มไม่ได้ผล ในการเป็นเครื่องปั๊มหัวใจให้ภาคเศรษฐกิจของจีนกลับมาหายใจได้อีกครั้ง เห็นได้จากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปี 58

ประสิทธิภาพของเครื่องมือทางการเงินการคลังที่มีอยู่ในมือของรัฐบาลจีนในตอนนี้เริ่มอ่อนแรงลงเต็มที ประกอบกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้รัฐบาลจีนตัดสินใจใช้มาตรการลดค่าเงินหยวนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศจีนก็คือ "การส่งออก" ดังนั้นยาแรงที่จีนนำมาใช้คือ "การปรับวิธีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงเงินหยวน" หลังจากเปลี่ยนวิธีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ก็มีผลทำให้ "อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงสอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด" มากขึ้น

การอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินหยวนเป็นประเด็นที่น่าจับตามองในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 12 ของการส่งออกทั้งหมด และหากพิจารณาโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีน พบว่า การส่งออกกระจุกตัวอยู่ในสินค้าโภคภัณฑ์กว่าร้อยละ 50 เป็นสินค้าชั้นกลางอีกร้อยละ 10 สินค้าส่งออกหลักที่ไทยส่งไปจีนไม่ว่าจะเป็นยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารา เม็ดพลาสติก ตลอดจนเคมีภัณฑ์ ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ก็มีแนวโน้มไม่สดใส จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ติดลบร้อยละ 7 จึง มองว่า การส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนอาจติดลบได้อีก เพราะว่าราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินหยวนจะเพิ่มสูงขึ้นจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากประเทศไทยอาจลดลง ถึงอย่างไรก็ตาม ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันของไทยอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกัน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างสูสีกันอยู่ในช่วงนี้

ทางด้านภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนถือได้ว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเท่าใดนัก เพราะการตัดสินใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยดูจากในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 4.78 ล้านคน เติบโตประมาณร้อยละ 113.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 (ที่หดตัวลงร้อยละ 20.6) และสูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยตลอดทั้งปี 2557 ที่มีจำนวน 4.62 ล้านคน

ส่วนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น มองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีก ตามทิศทางค่าเงินหยวน โดยเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวบวกกับการส่งออกที่ยังไม่กระเตื้อง อีกทั้งภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นภายในปีนี้

(ที่มา : http://money.kapook.com/view126727.html)

หมายเลขบันทึก: 605734เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท