Procambarus


rayfish

"เครย์ฟิช หรือ ครอว์ฟิช"

เป็นกุ้งน้ำจืดจำพวกหนึ่ง มีรูปร่างโดยรวมลำตัวใหญ่ เปลือกหนา ก้ามใหญ่แลดูแข็งแรง มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ, ทวีปยุโรป, โอเชียเนียและบริเวณใกล้เคียง เช่น อีเรียนจายา และเอเชียตะวันออก ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานเครย์ฟิชไปแล้วกว่า 500 ชนิด ซึ่งกว่าครึ่งนั้นเป็นเครย์ฟิชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ก็ยังมีอีกหลายร้อยชนิดที่ยังไม่ได้รับการอนุกรมวิธาน อีกทั้งหลายชนิดยังมีความหลากหลายทางสีสันมากอีกด้วย

สำหรับในประเทศไทยไม่มีกุ้งในลักษณะเครย์ฟิช ซึ่งกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่สุดที่พบในประเทศไทย คือ กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) ซึ่งในลักษณะกุ้งก้ามกรามนี้ ไม่จัดว่าเป็นเครย์ฟิช

โครงสร้างของร่างกาย

ร่างกายเครย์ฟิชนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนกลาง หรือ ทอแร็ก คือส่วนที่มีขาใช้สำหรับเดิน ส่วนสุดท้ายคือ ส่วนท้องซึ่งเป็นส่วนที่มีเนื้อเยอะมากที่สุด ซึ่งส่วนหัวกับส่วนกลางนั้นเชื่อมติดรวมกันเป็นชิ้นเดียว เรียกว่า เซฟาโลทอแร็ก (ข้อมูลบางแหล่งอาจระบุว่าเครย์ฟิชนั้นมีลำตัวเพียง 2 ส่วนก็ได้) ทั้งตัวนั้นจะถูกหุ้มด้วยเปลือก หรือ คาราเพซ ซึ่งทำหน้าที่ 2 อย่าง คือ ใช้สำหรับปกป้องลำตัว และเป็นที่ตั้งของอวัยวะหายใจ คือ เหงือกที่มีลักษณะคล้ายขนนกอยู่ใกล้บริเวณปาก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในระบบหายใจ คือเป็นทางผ่างของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านช่องเหงือกนั่นเอง

ในส่วนของขานั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ขาเดิน ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 5 คู่ โดยคู่แรกนั้นถูกพัฒนาจนกลายเป็นก้าม ใช้สำหรับหยิบจับอาหารและใช้ต่อสู้ และ ขาว่ายน้ำ จะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ มีไว้สำหรับโบกน้ำที่มีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพื่อหายใจ รวมทั้งโบกพัดแพลงก์ตอนเข้าหาตัวเพื่อกินเป็นอาหารอีก ในเครย์ฟิชตัวเมีย ขาว่ายน้ำยังใช้เป็นที่อุ้มไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิอีกแล้วต่างหาก

การแบ่งวงศ์และสกุล

เครย์ฟิชนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ใหญ่ ๆ คือ Astacoidea ซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปยุโรป สามารถแบ่งเป็นวงศ์ย่อยได้อีก 2 วงศ์คือ Astacidae และ Cambaridae โดยเครย์ฟิชชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงศ์นี้คือ Procambarus clarkii โดยรวมแล้วเครย์ฟิชในวงศ์นี้ มีรูปร่างใหญ่ ไม่มีกรี มีลักษณะเด่นคือ ก้ามมีหนาม ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20 เซนติเมตร และวงศ์ใหญ่ Parastacoidea ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคโอเชียเนียและอีเรียน จายา เครย์ฟิชในวงศ์นี้ก้ามจะไม่มีหนาม และลักษณะของก้ามจะป่องออกต่างไปจากวงศ์ Astacoidea แต่มีที่หนีบสั้นและเล็กกว่า ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 30-40 เซนติเมตร ชนิดของเครย์ฟิชในวงศ์นี้ที่เป็นที่รู้จัก คือ Cherax quadricarinatus

การแบ่งเพศและวงจรชีวิต

เครย์ฟิชนั้นในธรรมชาติจะอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำที่มีลักษณะน้ำใสสะอาด มีออกซิเจนสูง โดยจะซ่อนตัวอยู่ตามขอนไม้หรือหินใต้น้ำ เป็นสัตว์ที่กินอาหารได้หลากหลายทั้งพืชและสัตว์ รวมทั้งซากพืชซากสัตว์ด้วย ออกหากินในเวลากลางคืน โดยจะไม่หากินทุกวัน แต่จะเว้นระยะไปราว 1-2 วัน จึงออกหากินอีกครั้ง มีอาณาเขตของตัวเองประมาณ 40 เซนติเมตร

เครย์ฟิชในวัยเล็กจะมีระยะการลอกคราบบ่อยกว่าตัวที่โตแล้ว โดยจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่หนึ่งครั้งต่อหนึ่งเดือน เมื่ออายุได้ 1 ปี การลอกคราบจะเหลือเพียงปีละครั้งเท่านั้น การลอกคราบแต่ละครั้งใช้เวลานานราว 2-3 วัน กว่าเปลือกใหม่ที่ได้นั้นจะแข็งแรงเท่าเดิม ในบางครั้งอาจมีพฤติกรรมกินเปลือกตัวเองที่ลอกออกหรือของตัวอื่นก็ได้ เพราะร่างกายของเครย์ฟิชในช่วงลอกคราบต้องการแคลเซี่ยมเพื่อสร้างเปลือกใหม่ให้แข็งแรง

การจำแนกเพศนั้น ในวงศ์ Astacoidea เครย์ฟิชตัวผู้จะมีอวัยวะคล้ายตะขออยู่บริเวณขาเดินคู่ที่ 2 และ 3 ใช้สำหรับเกาะเกี่ยวตัวเมียในการผสมพันธุ์ และจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า ปาปิลเล บริเวณโคนขาคู่สุดท้าย ส่วนตัวเมียจะมีอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า แอนนูลลัส เวนทราลิส ลักษณะเป็นแผ่นวงรีสีขาว ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร บริเวณขาเดินคู่ที่ 3 นอกจากนี้แล้วในตัวผู้ขาว่ายน้ำคู่แรกและคู่ที่ 2 จะถูกพัฒนาเป็นแขนเล็ก ๆ เรียกว่า เพทาสมา สำหรับผ่านน้ำเชื้อไปยังตัวเมียอีกด้วย แต่ร่างกายโดยรวมแล้ว เครย์ฟิชตัวผู้จะใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งก้ามที่ใหญ่และแข็งแรงกว่าส่วนในวงศ์ Parastacoidea นั้น ตัวผู้จะมีอวัยวะเป็นรูปวงรีบริเวณโคนขาคู่ที่ 3 ซึ่งตัวเมียไม่มี และอวัยวะส่วนนี้จะแตกต่างไปจากในวงศ์ Astacoidea

การผสมพันธุ์นั้น เครย์ฟิชตัวผู้จะประกบตัวเมียจากด้านหลัง และพลิกท้องตัวเมียให้หงายแล้วตัวผู้จะเข้าประกบโดยใช้อวัยวะที่คล้ายตะขอนั้นจับตัวเมียในลักษณะท้องชนท้อง หันหัวไปในทางเดียวกัน ตัวผู้จะส่งผ่านถุงน้ำเชื้อไปปะติดไว้กับท้องของตัวเมีย ซึ่งพฤติกรรมนี้เครย์ฟิชในวงศ์ Astacoidea จะใช้เวลานานราว 10 นาที ขณะที่ในสกุล Cherax ในวงศ์ Parastacidae กินเวลาเพียง 1-2 นาที เท่านั้น หลังจากนั้นเมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิจากน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลาราว 3-4 สัปดาห์ โดยตัวเมียจะอุ้มไข่ไว้ในช่องท้อง ไข่มีลักษณะวงกลมสีดำคล้ายเมล็ดพริกไทยดำ ในการผสมพันธุ์แต่ละครั้งอาจได้ลูกเครย์ฟิชมากถึง 300 ตัว ซึ่งเครย์ฟิชในวัยเล็กจะยังอาศัยอยู่กับแม่ โดยกินเศษอาหารที่แม่กินเหลือ เมื่อโตขึ้นจึงค่อยแยกจากไป


คำสำคัญ (Tags): #กุุ้้งสวยงาม
หมายเลขบันทึก: 605527เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2016 10:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2016 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท