แหล่งเรียนรู้


แหล่งเรียนรู้

นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา แหล่งการเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้ ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาของชาติในยุคการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยส่งเสริมให้มีการดำเนินงานเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ไว้อย่างชัดเจนโดยกำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2545 มาตรา 25 และ 68 ได้ระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬาและนันทนาการ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อการพัฒนาคนและสังคมอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพนอกจากนี้ มาตรา 63และ66 ซึ่งระบุว่า รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานอื่นที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสารในรูปอื่น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษา และเด็กไทยมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในโอกาสแรกที่ทำได้เพื่อให้มีทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแหล่งเรียนรู้และเครือข่ายการเรียนรู้มีความสำคัญยิ่งที่จะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติอย่างแท้จริง

1. ความหมายของแหล่งการเรียนรู้

นักวิชาการและผู้รู้ได้ให้ความหมายของแหล่งการเรียนรู้ไว้ใกล้เคียงกันพอประมวลสรุปได้ดังนี้

หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา (2544, หน้า 6) ได้ให้ความหมายของแหล่งการเรียนรู้ไว้ว่า หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ แหล่งความรู้ทางวิทยาการ และประสบการณ์ที่สนับสนุน ส่งเสริมให้ผู้เรียนใฝ่เรียน ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัยอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องจากแหล่งต่างๆ เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2545, หน้า 144) ได้สรุปความหมายของแหล่งการเรียนรู้ ว่าหมายถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ และประสบการณ์ที่สนับสนุนให้ผู้เรียนใฝ่เรียน ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัยอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

ศิริพร ขีปนวัฒนา (2548, หน้า 178) กล่าวว่าแหล่งการเรียนรู้ หมายถึงแหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ หรือแหล่งประสบการณ์ต่างๆ ทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียน ใฝ่เรียน ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้ด้วยตนเองอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

ดังนั้นจึงสรุปความหมายของแหล่งการเรียนรู้ได้ว่า หมายถึงแหล่งหรือศูนย์รวมของข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ประสบการณ์ สารสนเทศ และเทคโนโลยี ที่เสริมสร้างให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เอื้อประโยชน์ต่อการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยอย่างกว้างขวางและส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

2. คุณค่าและความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารมณ์ และสังคมรวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย เพื่อสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม และปลูกจิตสำนึกของเยาวชนด้านการอนุรักษ์ สร้างเสริมให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงความเป็นไทยและซาบซึ้งในเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีคุณค่าควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกไทย จึงได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ใน หมวด 4 มาตรา 25 ระบุไว้ว่า รัฐต้องส่งเสริม การดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานและเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬา และนันทนาการ แหล่งข้อมูล และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ แหล่งการเรียนรู้ดังกล่าวมุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ด้วยความสำคัญจำเป็นที่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้กรมศิลปากร จัดทำโครงการท่องเที่ยวทัศนศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนขึ้น และให้มีการดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นก้าวใหม่ของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยสร้างเสริม ให้เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เป็นการเปิดโลกของการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนให้กว้างไกล เกิดความทรงจำที่ประทับใจ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และ มีแรงบันดาลใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้เข้มแข็ง (กรมศิลปกร, 2545, หน้าคำนำ)

นอกจากนี้ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2544, หน้า 144) ได้ให้แนวทางในการจัดแหล่งการเรียนรู้สำหรับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามสาระและมาตรฐานของหลักสูตร ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยให้มีการจัดแหล่งการเรียนรู้เพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนในการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างสะดวกรวดเร็วและถูกต้องเหมาะสม ในการจัดแหล่งการเรียนรู้จึงเป็นการจัดในลักษณะที่เป็นแหล่งรวมวิทยาการ และให้เป็นที่ยอมรับของสังคมว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้และการศึกษาค้นคว้าของประชาชน

แหล่งการเรียนรู้จึงมีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติในวงกว้างซึ่งสรุปได้ดังนี้

1. เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ให้บุคคลได้ศึกษาตามอัธยาศัยและเรียนรู้อย่างอิสระไม่มีขีดจำกัด

2. เป็นแหล่งการเรียนรู้ให้บุคคลได้เรียนรู้ตลอดชีวิต

3. เป็นแหล่งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่าน ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน การศึกษาค้นคว้า และการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

4. เป็นแหล่งเสริมสร้างประสบการณ์จริงและส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำให้แก่ผู้เรียน

5. เป็นแหล่งเสริมสร้างให้บุคคลเกิดความรู้ ความคิด และการปฏิบัติเป็นองค์รวมในเวลาเดียวกัน

6. เป็นแหล่งการศึกษาค้นคว้า และการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ ตามความถนัดและความสนใจ

7. ช่วยสร้างเสริมให้เด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ และได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

8. ช่วยสร้างเสริมให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงความเป็นไทย และซาบซึ้งในเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

9. ช่วยเสริมสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม

รักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน

10. ช่วยปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติ

11. เป็นแหล่งรวมวิทยาการและสะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ

3. ประเภทของแหล่งการเรียนรู้

ประเภทของแหล่งการเรียนรู้สามารถจัดแบ่งได้หลายลักษณะตามจุดมุ่งหมายของหน่วยงาน หรือองค์กร และเป้าหมายในการจัดทำหรือสร้างขึ้น ซึ่งสรุปได้ดังนี้

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2547, หน้า 3-4) ได้แบ่งแหล่งการเรียนรู้ ไว้เป็น 2 กลุ่มดังนี้

1. แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน เช่น ห้องเรียน ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องจริยธรรม ห้องศิลปะ ตลอดจนการใช้อาคารสถานที่บริเวณและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเช่น ห้องอาหาร สนาม ห้องน้ำ สวนดอกไม้ สวนสมุนไพร แหล่งน้ำในโรงเรียนฯลฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้

1.1 เพื่อพัฒนาโรงเรียนให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ มีแหล่งข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ วิทยาการ และสร้างเสริมประสบการณ์ ที่กว้างขวางหลากหลาย

1.2 เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ในโรงเรียน โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.3 เพื่อจัดระบบและพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศ และแหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน

1.4 เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ เป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น

2. แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน ครอบคลุมทั้งด้านสถานที่และบุคคล ซึ่งอาจอยู่ในชุมชนที่ใกล้เคียงโรงเรียนที่พานักเรียนไปศึกษาหาความรู้ เช่นแม่น้ำ ภูเขา ชายทะเล วัด ตลาด ห้องสมุดประชาชน สถานีตำรวจ สถานีอนามัย สวนสาธารณะ สวนสัตว์ ทุ่งนา สวนผัก สวนผลไม้ แหล่งทอผ้า ร้านอาหาร คนตรีพื้นบ้าน การละเล่นพื้นเมือง เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน แหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ฯลฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้

2.1 เป็นแหล่งการศึกษาตลอดชีวิตที่ประชาชนสามารถหาความรู้ต่างๆได้ด้วยตนเองตลอดเวลา

2.2 เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนและสังคม มีแหล่งการเรียนรู้เพื่อการศึกษาที่หลากหลาย สามารถเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย

2.3 เพื่อเป็นเครื่องมือที่สำคัญของบุคคลแห่งการเรียนรู้ ในการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง

การเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการใช้สื่อต่างๆให้ควบคู่กันไป เพื่อการพัฒนาการเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิผล ผู้เรียนจะได้มีความรู้ที่กว้างขวางยิ่งขึ้น รู้ลึก รู้จริง และนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน การนำเสนองานในรูปแบบต่างๆ

อ้างอิง

ยุพิน อินทะยะ. (2557). แหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการเรียนการสอน. เชียงใหม่: สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่.

สำเนา หมื่นแจ่ม. (2558).คู่มือแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นโรงเรียนชลประทานผาแตก. เชียงใหม่: ส.การพิมพ์.

คำสำคัญ (Tags): #แหล่งเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 604305เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2016 10:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มีนาคม 2016 11:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท