บันทึกครั้งที่๒ จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ


 ครั้งนี้อาจารย์ได้สั่งงานให้ไปค้นหาและพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ  จากเวปไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา http://www.krisdika.go.th   เพื่อนำไปวิเคราะห์หาความสัมพันธ์และสาระสำคัญในเนื้อหาของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง    เนื่องจากมีกฎหมายเยอะ เพื่อนๆ และผมจึงตกลงแบ่งงานกัน โดยผมนั้นรับผิดชอบในหมวดกฎหมายอักษร จ ช ด และ ต  ซึ่งเมื่อค้นหาและพิจารณาแล้ว พบว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙   และกฎกระทรวง (พ.ศ.๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙

เหตุผลที่ว่ามีความสัมพันธ์กับโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวคือ  มีคีย์เวิร์ดหลักที่สำคัญคือ ทรัพย์สินทางปัญญา  เนื่องจากงานวิจัย เครื่องมืออุปกรณ์ ทั้งหลายไม่ว่า ซึ่งรวมถึงด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย

สาระสำคัญในเนื้อหาของกฎหมาย กล่าวถึงจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลกลาง และศาลระดับภาค และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ โดยมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้

(๑)  คดีอาญาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร

(๒)  คดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๑ ถึงมาตรา ๒๗๕

(๓)  คดีแพ่งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และคดีพิพาทตามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ

(๔)  คดีแพ่งอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๑ ถึงมาตรา ๒๗๕

(๕) คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า หรือตราสารการเงินระหว่างประเทศ หรือการให้บริการระหว่างประเทศ การขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

(๖)  คดีแพ่งเกี่ยวกับเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมตาม (๕) การส่งเงินเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ทรัสต์รีซีท รวมทั้งการประกันเกี่ยวกับกิจการดังกล่าว

(๗)  คดีแพ่งเกี่ยวกับการกักเรือ

(๘)  คดีแพ่งเกี่ยวกับการทุ่มตลาด และการอุดหนุนสินค้าหรือการให้บริการจากต่างประเทศ

(๙)  คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่เกี่ยวกับข้อพิพาทในการออกแบบวงจรรวม การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ชื่อทางการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่แสดงถึงแหล่งกำเนิดของสินค้า ความลับทางการค้าและการคุ้มครองพันธุ์พืช

(๑๐)  คดีแพ่งหรือคดีอาญาที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

(๑๑)  คดีแพ่งเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทตาม (๓) ถึง (๑๐) 

นอกจากนี้ การได้มาซึ่งผู้พิพากษา และกำหนดคุณสมบัติผู้พิพากษาสมทบซึ่งต้องผ่านการอบรมในเรื่องความมุ่งหมายของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ,การอบรมเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาสมทบและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการอบรมเกี่ยวกับการดำรงตนในฐานะเป็นผู้พิพากษาสมทบ ก่อนและมีการทดสอบและพิจารณาคัดเลือก     สำหรับกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดตามมาตรา ๓๐ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลม  ทั้งนี้ มาตรา ๓๐  กล่าวว่า  เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม อธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใดๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐานใช้บังคับในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ แต่ข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยต้องลดน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย 

หมายเลขบันทึก: 60412เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 20:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 21:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท