มาตรการ QE สหรัฐฯ กับเศรษฐกิจไทยปี 2557


มาตรการ QE คืออะไร

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า QE คือมาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน ย่อมาจากคำว่า Quantitative Easing เป็นนโยบายด้านการเงินที่ไม่เป็นแบบแผน ที่ดำเนินการโดยธนาคารกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเกิดเหตุการณ์ในกรณีที่นโยบายทางการเงินที่เป็นแบบแผนตามปกตินั้นเริ่มไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจได้ โดยการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ฯลฯ จากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินของเอกชนทั้งในและนอกประเทศ มาตรการ QE เป็นที่รู้จักว่าเป็นการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติม (Printing Money) ซึ่งก็คือเม็ดเงินใหม่ๆ ที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั่นเอง สามารถใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันการเงินสามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้นอีกด้วย QE ถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็คือการเพิ่มเพดานหนี้นั่นเอง

ทั้งนี้ในช่วงต้นปีที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงต่อคณะกรรมการธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรส เมื่อ 22 พฤษภาคม 2556 ได้ส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก จากการคาดการณ์ว่าเฟดจะมีการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสรุปได้ว่า

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดกำลังช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวขึ้น แต่จะชะลอมาตรการก็ต่อเมื่อเฟดได้เห็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแรงหนุนมากกว่านี้

2. เฟดอาจตัดสินใจปรับลดวงเงินในมาตรการเข้าซื้อตราสารหนี้ในอัตรา 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะรักษาแรงผลักดันได้ต่อไป

3. เฟดได้เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดประจำวันที่ 30 เมษายน 2556 – 1 พฤษภาคม 2556 ระบุว่า “ผู้เข้าร่วมการประชุมหลายคนระบุว่า ความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในตลาดแรงงาน,ความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นต่อแนวโน้มในอนาคตหรือความเสี่ยงในช่วงขาลงที่เบาบางลงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนที่เฟดจะชะลออัตราการเข้าซื้อตราสารหนี้” แสดงให้เห็นว่าเฟดยังคงตั้งเงื่อนไขไว้สูงในการชะลอมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย

เมื่อมีการพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมาก จะทำให้เงินเหล่านั้นทะลักเข้าไปลงทุนเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมันและอาหาร ทำให้สินค้าปรับตัวขึ้น กำลังซื้อของประชาชนลดลง อาจมีการไหลเข้าของเงินทุนของต่างชาติอย่างมหาศาล จะส่งผลต่อค่าเงินของประเทศที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ทำให้มีการเก็งกำไรค่าเงินที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงิน การส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ช่วงนี้เราจึงได้เห็นข่าวผู้ที่มีส่วนรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ อย่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) เฝ้ามองและเตรียมออกมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน เพราะถ้าหาก GDP ของประเทศไทยเราซึ่งส่วนใหญ่มาจากการส่งออก (Export) ซึ่งมีทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตร เงินบาทแข็ง 1 บาท GDP จะหายไปประมาณ 0.7% ส่วนจะมีมาตรการอะไรออกมาบ้างนั้นก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไป ปรับตัวกันไปตามอัตถภาพ

นาย เกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการประเมินผลเฟดลดคิวอี เบื้องต้น 3 ด้าน ด้านแรกคือส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่ภาคส่งออกก็จะได้รับผลดี แต่สำหรับผู้นำเข้าอาจได้รับผลกระทบบ้าง ด้านที่ 2 คือ ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง แต่เชื่อว่านักลงทุนจะสามารถบริหารความเสี่ยงได้ สุดท้ายคือจะส่งผลให้ความต้องการพันธบัตรลดน้อยลง

นอกจากนี้ ธปท.ได้พิจารณาปรับลดคาดการณ์การส่งออกไทยปี 2557 ว่า น่าจะต่ำกว่า 7% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกของไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ และโครงสร้างสินค้าที่ไทยผลิตได้ไม่รองรับความต้องการของตลาด

เงินออกเร็ว-ช้าขึ้นกับเชื่อมั่น
นาย บัณฑิต นิจถาวร ประธานคณะกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากการถอนมาตรการคิวอีของเฟดมี 3 เรื่อง คือ 1.กดดันเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในเกณฑ์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งเงินทุนจะไหลออกเร็วหรือช้าขึ้นกับความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อ สถานการณ์การเมืองไทยและการเติบโตของเศรษฐกิจ 2.สภาพคล่องในตลาดโลกที่ลดลง ประเทศไทยจะบริหารสภาพคล่องที่ลดลงนี้อย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการ เติบโตของเศรษฐกิจและ 3.อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวที่ปรับตัวสูงขึ้น จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเพื่อลงทุนสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน

นาย ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตัดสินใจลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สู่ระดับ 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2557 และหากเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง เฟดจะลดทอนคิวอีเดือนละหมื่นล้านเหรียญสหรัฐทุกเดือน ซึ่งจะทำให้ประมาณเดือน ก.ย. หรือ ต.ค. 2557 น่าจะจบพอดี อย่างไรก็ตามการลดคิวอีจะหยุดในช่วงใดก็ได้ โดยระหว่างทางหากตัวเลขเศรษฐกิจไม่ดี ก็อาจหยุดการลดทอนได้


การลดคิว อีมีผลกระทบใน 3 ด้าน คือ 1.ราคาหุ้นไทยจะลดลง 2.ต้นทุนการลงทุนของรัฐและเอกชนจะเพิ่มขึ้น และ 3.เงินจะไหลออก และเงินบาทจะอ่อนค่าลงอีก ซึ่งเงินน่าจะไหลออกจากตลาดพันธบัตรมากกว่า เพราะเป็นตลาดที่เกี่ยวพันกับส่วนต่างดอกเบี้ย ปัจจุบันต่างชาติถือครองบอนด์ไทยสัดส่วน 12% ของยอดคงค้างพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีอยู่ 8 ล้านล้านบาท

"ปีหน้ามี โอกาสเงินไหลออกทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ส่วนไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนิดหน่อย ก็อาจได้รับผลกระทบบ้าง เพราะต่างชาติคิดว่าถ้าเงินอ่อน ราคาบอนด์ตก ก็ไม่น่าเสี่ยงจะถือบอนด์ไทย หรือบอนด์ของชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไป"

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า มุมมองต่อการลดทอนคิวอีแตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเมื่อเฟดประกาศลดคิวอี จะทำให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินมากขึ้นในปี 2557 กับอีกฝ่ายที่มองว่า ขณะนี้ราคาสินทรัพย์ได้ปรับตัว (Price in) กับเรื่องนี้ไปมากแล้ว

"สถานการณ์ จะเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือเงินจะไหลออก ซึ่งต้องดูว่าแต่ละประเทศจะมีกระบวนการปรับตัวแบบไหน จะเป็นแบบทุกคนเร่งหนีออกไป แล้วเหยียบกันตาย หรือจะเป็นแบบค่อย ๆ ทยอยออก สำหรับประเทศไทยตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นการค่อย ๆ ทยอยออกไป ส่งผลให้ตลาดหุ้นซึม ๆ อย่างที่เห็น"

ขณะที่ปีหน้าจะเป็นปีแห่งความ ผันผวนอีกครั้ง เพราะสหรัฐจะเริ่มกระบวนการปรับตัวจากการถอนคิวอี ด้วยการดูดสภาพคล่องที่ปล่อยมาเมื่อ 3 ปีก่อนคืน ดังนั้นปี 2557-2558 สหรัฐก็จะเริ่มจากการปิดก๊อก พอถึงปลายปี 2557 ก็จะต้องปิดให้สุด หลังจากนั้นก็จะเป็นการเริ่มดูดสภาพคล่องกลับ โดยที่ปลายปี 2558 ก็จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิง"

นายกรภัทร วรเชษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน วิเคราะห์ว่า ในระยะสั้นเม็ดเงินต่างชาติคงจะไหลออกอย่างต่อเนื่อง แม้นักลงทุนต่างชาติจะปรับพอร์ตไปตั้งแต่เดือน พ.ย.แล้ว แต่ก็ยังมีเงินเหลือที่ไหลออกได้อีก ทิศทางข้างหน้าต่างชาติยังจะขายต่อไป แต่การขายอาจจะเบาบางลงกว่าที่ผ่านมา เพราะมูลค่าพอร์ตเหลือน้อยแล้ว

"ปัจจัยเรื่องลดมาตรการ QE ส่งผลให้สภาพคล่องไหลกลับตลาดสหรัฐและยุโรปจำนวนมาก ในภูมิภาคนี้จะไหลออกจากกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ หรือ TIP คือ ไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สวนทางกับตลาดไต้หวันและเกาหลีที่มีเงินไหลเข้า"

ย้อนอดีตมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ

QE1 ปี 2552-2555 เกิดการล่มสลายของระบบการเงินในยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาได้ครอบครองพันธบัตรคงคลังระหว่าง 700-800 พันล้านเหรียญ ก่อนเกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ ช่วงปลายปี 2551 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เริ่มเข้าซื้อตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง มูลค่ารวม 600 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ปี 2552 ระดับหนี้ตราสารทางการเงินและพันธบัตรคงคลังเพิ่มขึ้น 1.75 ล้านล้านเหรียญ เดือนมิถุนายน 2553 เพิ่มเป็น 2.1 ล้านล้านเหรียญ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลางแห่งเอเชียได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เข้าไปดูแลและแทรกแซงค่าเงิน

QE2 เดือนพฤศจิกายน 2553 ธนาคารกลางสหรัฐฯ เข้าซื้อพันธบัตรคงคลังมูลค่า 600 พันล้านเหรียญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

QE3 เดือนกันยายน 2555 วางแผนเข้าซื้อตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง(Mortgage-backed securities : MBS) มูลค่า 40 พันล้านเหรียญต่อเดือน คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน Federal Open Market Committee (FOMC) ได้ประกาศที่จะคงระดับอัตราดอกเบี้ยได้ที่ระดับใกล้ศูนย์ต่อไปจนถึงปี 2558

QE4 13 ธันวาคม 2555 เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรกระทรวงการคลังเพิ่มเติมอีก 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน จากเดิมใน QE3 เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ในตลาดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ในวงเงิน 40,000 ล้านเหรียญฯต่อเดือน ส่งผลให้ “เฟด” ปล่อยเงินเข้าระบบต่อเดือนเพิ่มจากเดิมรวมเป็น 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหตุผลคือต้องการขยายผลการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องนอกจากนโยบายการเงินและเสถียรภาพด้านราคา “เฟด” ถูกกำหนดไว้ให้ดูแลการจ้างงานของประเทศด้วย เนื่องจากประเทศมีการจ้างงานต่ำมาก “เฟด” จึงออกมาตรการเพิ่มการจ้างงาน เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศ

อ้างอิงจาก : http://www.oknation.net/blog/akom/2014/01/12/entry...

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603127เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2016 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2016 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท