​อีกมุมมองของกิจกรรมบำบัดจิตสังคมในรพ.เอกชน


“สุขภาพดี เริ่มต้นที่สุขภาพใจ”

ดิฉันได้มีโอกาสที่ดีไปดูงานกิจกรรมบำบัด ณ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพและ โรงพยาบาลมนารมย์ ซึ่งทั้งสองแห่งนั้นล้วนเป็นกิจกรรมบำบัดด้านสุขภาพจิต

สถานที่แรก@ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ (Bangkok Mental Health Rehabilitation and Recovery Center : BMRC) โดยมีพี่โบว์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมบำบัดเพียงคนเดียวที่อยู่ในศูนย์แห่งนี้ เป็นผู้อำนวยความสะดวกทุกอย่างให้กับพวกเรา ต้องขอขอบคุณในที่นี้ด้วยนะคะ

เมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาลก็ได้ไปฟังบรรยายเล็กๆน้อยๆจากพี่โบว์เกี่ยวกับศูนย์ฯแห่งนี้ โดยจะเน้นการฟื้นฟูผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยมีหลักการหลักๆอยู่ 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ มองผู้รับบริการเป็นองค์รวม (Holistic) , มองจุดแข็งในตัวผู้รับบริการ (Strength based) และ ความหวัง (Hope)

โดยการบำบัดฟื้นฟูของศูนย์ฯแห่งนี้จะเน้นเป็นการทำกลุ่มกิจกรรมของผู้รับบริการร่วมกัน ซึ่งก็จะมีกิจกรรมต่างๆ ได้แก่

  • กระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Learning new skills) เช่น Anger management , Communication skills , Self-esteem , CBT , MI
  • Exercise and well-being เช่น Yoga ,Gym, Diet control consultation
  • Stress reduction เช่น Relaxation technique , Yoga ,Muscle relax ,Mindfulness
  • Art and creativity เช่น Drama therapy ,Cooking ,Art therapy ,painting

การบำบัดนั้นมีทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยผู้ป่วยในสามารถเข้ารับการบำบัดเต็มรูปแบบต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และผู้ป่วยนอกก็สามารถเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมตามความต้องการได้ โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญช่วยเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพสูงสุด

ในศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ มีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทางการแพทย์ ได้แก่ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลจิตเวช และเภสัชกร จึงทำให้ผู้ที่มาเข้ารับการบำบัดไม่ต้องห่วงและเป็นกังวล แต่ไม่เพียงแค่การมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลอย่างเดียวเท่านั้น ครอบครัวผู้ดูแลเป็นสิ่งสำคัญที่จะสนับสนุนผู้ป่วยจิตเวชสามารถฟื้นฟูได้เต็มศักยภาพได้มากที่สุด

เมื่อฟังบรรยายจบก็ได้เดินไปดูศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ทั้งในส่วนของคลินิกและส่วนของหอผู้ป่วยใน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน สลับกันดูทั้ง 2 ส่วน โดยดิฉันได้มีโอกาสไปดูในส่วนของคลินิกก่อน โดยมีหัวหน้าพยาบาลของศูนย์ฯเป็นวิทยากร การจัดสถานที่ในศูนย์แตกต่างกับโรงพยาบาลทั่วไป โดยหมอเบิร์ทได้เน้นการจัดสถานที่ให้รู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว ความผ่อนคลาย และการปรับความรู้สึกเดิมๆของโรงพยาบาลให้เหมือนอยู่ที่บ้าน เช่น ตามโรงพยาบาลทั่วๆไป การจัดเก้าอี้จะเป็นการจัดแบบหันหน้าไปทางเดียวกันทั้งหมดทำให้ดูเหมือนไม่สะดวกสบาย รู้สึกอึดอัด แต่ในส่วนของศูนย์ฯแห่งนี้จะเป็นเก้าที่นั่งสบายๆ อยู่ในหลายๆมุม ซึ่งสามารถประเมินผู้รับบริการได้ด้วย

บรรยากาศในคลินิก ที่มา : http://image.bangkokbiznews.com/kt/media/image/news/2014/08/24/600525/640x390_600525_1411730798.jpg

เมื่อเดินเข้าไปก็จะพบกับห้องตรวจ ซึ่งในห้องตรวจทุกห้องนั้นจะต้องมีประตูทางออกด้านหลัง เพื่อป้องกันผู้รับบริการที่อาจมีอาการคลุ้มคลั่งในระหว่างการตรวจ จากนั้นก็ได้เข้าไปดูในห้องที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น โยคะ ละครบำบัด เป็นลักษณะห้องที่ไม่ใหญ่มาก มีหน้าต่างซึ่งมองออกไปเห็นสิ่งแวดล้อมด้านนอกได้ แต่ไม่สามารถเปิดออกได้ ต่อมาก็ได้ไปดูห้องที่อยู่ตรงข้าม คือห้องเฝ้าระวังผู้ป่วยวิกฤต (Special care unit) สำหรับผู้ที่ต้องการดูแลอย่างใกล้ชิดหรือมีความเสี่ยง ซึ่งในห้องนี้ก็แบ่งออกเป็น 2 ห้องอีกด้วยกัน ห้องหนึ่งจะเป็นเหมือนเตียงผู้ป่วยทั่วไป และอีกห้องเป็นห้องที่บุด้วยเบาะทั้งหมด พี่พยาบาลบอกว่าเอาไว้ให้ผู้ป่วยสงบสติอารมณ์ ให้ได้อยู่กับตัวเอง โดยทั้งสองห้องนี้จะมีระบบรักษาความปลอดภัยคือที่ประตูจะต้องกดปุ่มก่อนออกจากห้อง และอาจารย์ก็ได้สอบถามถึงกล้องวงจรปิดที่อยู่ในศูนย์ฯ พี่พยาบาลก็ได้บอกว่าจะติดกล้องวงจรปิดเฉพาะที่หลักๆเท่านั้น เพื่อความเป็นส่วนตัวของผู้รับบริการ ต่อมาก็เข้าไปดูในส่วนของหอผู้ป่วยใน มีทั้งหมด 7 ห้องด้วยกัน โดยในห้องมีเพียงแค่เตียงและห้องน้ำเท่านั้น ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอื่นๆเช่น โทรทัศน์ , ไมโครเวฟ เพื่อเป็นกันป้องกันความปลอดภัยและส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมกับบุคคลอื่นๆอีกด้วย ในส่วนของห้องน้ำ ก็จะมีการออกแบบลักษณะอุปกรณ์เครื่องใช้ทุกอย่างที่จะป้องกันอันตรายต่างๆที่สามารถเกิดขึ้นได้

ห้องพักในหอผู้ป่วยใน ที่มา : http://www.naewna.com/lady/118410

ระบบความปลอดภัยของที่นี้ดีมาก เพราะบุคลากรของศูนย์นี้เท่านั้นที่สามารถเข้าไปในบริเวณของหอผู้ป่วยใน และกำหนดเวลาการเยี่ยมที่ชัดเจน ทำให้ไม่กระทบตารางการทำกิจกรรมที่ศูนย์ฯจัดอีกด้วย

จากนั้นก็ได้เข้าชมในส่วนของห้องครัวซึ่งพี่โบว์เป็นผู้นำกลุ่มในส่วนของกิจกรรมการทำครัวทั้งหมด โดยจะมีการดูผู้รับบริการแต่ละคนในสมาชิกกลุ่มว่าวันนี้ควรทำอะไรดี มีการปรับกิจกรรมต่างๆให้เข้ากับแต่ละคนได้อย่างไรบ้าง โดยในห้องครัวนี้จะมีอุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมมาก แต่จะมีการเก็บสิ่งของที่เป็นอันตรายไว้ในตู้และล๊อคเป็นอย่างดี การดำเนินกลุ่มในแต่ละครั้งนั้น ก็จะให้ผู้รับบริการทำเองทุกอย่างตั้งแต่หาสูตรเอง เตรียมอุปกรณ์ทุกอย่าง รวมไปถึงเมื่อทำเสร็จแล้วก็ให้เก็บของและล้างเองด้วย เพื่อเป็นการช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง ถึงแม้ว่าที่บ้านจะมีแม่บ้านคอยล้างให้ก็ตาม

วิเคราะห์ตาม SMART TREES

Self : ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

Motivation : ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงบุคลากรต่างๆที่อยู่ในศูนย์แห่งนี้ ล้วนมีแรงจูงใจที่อยากจะให้ผู้ที่เข้ามารับการบำบัดนั้นกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ ให้การบริการใส่ใจเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัว

Ability : ความรู้และประสบการณ์ที่มากของผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกิจกรรมบำบัด จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช

Role Transformation : นักกิจกรรมบำบัดต้องมีสามารถทำได้ในหลากหลายงาน เช่น การทำอาหาร และการเป็นผู้ช่วยในกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงผู้รับบริการที่ได้รับการบำบัดเสร็จแล้วก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามบทบาทเดิมได้

Therapeutic Relation : นักกิจกรรมบำบัดต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับผู้รับบริการและกับบุคลากรทางวิชาชีพอื่นด้วย

Therapeutic Environment : การจัดสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลอย่างมาก ที่ศูนย์แห่งนี้จึงให้ความสำคัญกับการจัดสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะอบอุ่นเหมือนบ้าน และ มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

Therapeutic Empathy : นักกิจกรรมบำบัดรวมถึงสหวิชาชีพอื่นๆก็จะต้องมีความเข้าใจถึงผู้รับบริการและให้การบริการต่างๆอย่างเต็มที่ให้เปรียบเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัวของเรา และคำนึงถึงสิทธิของผู้รับบริการในการได้รับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

Therapeutic Skills : นักกิจกรรมบำบัดจะต้องมีทักษะความสามารถในหลากหลายด้าน ต้องมีทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การตัดสินใจที่ดีและต้องมีทักษะการสื่อสารที่ดีด้วย ทั้งสื่อสารกับผู้รับบริการและสหวิชาชีพ


สถานที่ต่อมา @ โรงพยาบาลมนารมย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนทางจิตเวชแห่งแรก

บรรยากาศบริเวณโรงพยาบาลมนารมย์ ที่มา : http://www.manarom.com/images/about_02.jpg

ในช่วงแรกก็ได้เข้ารับฟังบรรยายจากพี่สันติ ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์

โดยที่โรงพยาบาลมนารมย์จะมีโปรแกรมด้วยกันทั้งหมด 3 โปรแกรมด้วยกัน

  • กิจกรรมกลางวัน (Day program)เป็นการให้กิจกรรมต่างๆตามตารางที่ได้ออกแบบไว้ โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดให้เน้นการแก้ไข ข้อบกพร่องของผู้รับบริการ เช่น ปัญหาบุคลิกภาพ การเข้าสังคม การสื่อสารและอยู่ร่วมกับผู้อื่น การปรับตัวกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง การใช้ชีวิตอย่างสมดุล มีคุณภาพและสอดคล้องกับเศรษฐกิจ ของบุคคลและครอบครัว ปัญหาการดูแลตนเองทั้งด้านความเป็นอยู่และสุขอนามัย ปัญหาทักษะในการเลี้ยงชีพ
  • Manarom Learning Development center (MLD) ศูนย์พัฒนาทักษะการเรียนรู้ โดยลักษณะของโปรแกรมการบำบัด ได้แก่ การพัฒนาการับรู้และการเคลื่อนไหว (Sensory Integration) , การส่งเสริมทักษะทางภาษา(เฉพาะบุคคล) และการฝึกทักษะทางสังคม
  • กิจกรรมบำบัดของผู้ป่วยใน ให้การบำบัดทั้งในรูปแบบเดี่ยวและจัดกิจกรรมกลุ่ม

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบำบัดในด้านต่างๆอีกด้วย

  • กิจกรรมบำบัดด้านสุขภาพจิต

1. การให้คำปรึกษาทางกิจกรรมบำบัด
2. การฝึกและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการทำกิจวัตรประจำวัน
3. การส่งเสริมด้าน cognition perception และการเคลื่อนไหว เช่น กิจกรรมช่วยส่งเสริมด้านความจำ การทำกิจกรรมตามขั้นตอน ฯลฯ
4. กิจกรรมส่งเสริมทักษะทางสังคม เช่น บทบาทของบิดา มารดา ทักษะการสื่อสารการรักษาสิทธิ์
5. ทักษะการจัดการกับความเครียด และ เทคนิคการผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกการหายใจ โยคะ เป็นต้น
6. การจัดการด้านเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิตประจำวัน
7. การจัดการด้านการใช้จ่ายเงิน รวมไปถึง การใช้จ่ายเงินในอนาคต
8. การวางแผนการทำงาน

  • กิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุ

1. การฝึกและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการทำกิจวัตรประจำวัน
2. ประเมินและให้การบำบัดในด้านการรับรู้ การรับสัมผัสและการเคลื่อนไหว
3. ประยุกต์และดัดแปลงอุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์ช่วย
4. ให้คำแนะนำและดัดแปลงสภาพบ้านหรือสภาพแวดล้อมรวมทั้งขจัดสิ่งกีดขวางทางสถาปัตยกรรม
5. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ การสงวนรักษาพลังงาน (energy conservation) ที่ถูกต้อง
6. การเสนอแนะให้ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุได้รู้จักการเตรียมตัว วางแผนเพื่อการยอมรับและเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุ
7. จัดตารางเวลา และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต ภายหลังเกษียณอายุจากงานประจำ
8. เสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจโดยผ่านทางกิจกรรม เช่น กิจกรรมนันทนาการ กิจกรรมออกกำลังกาย การพักผ่อน

  • กิจกรรมบำบัดในเด็ก

1. คัดกรองพัฒนาการแก่เด็กปกติและเด็กที่มีอัตราเสี่ยงสูงเพื่อให้ทราบถึงระดับพัฒนาการ รวมถึงการกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่แรกเริ่ม (early intervention) ในเด็ก กลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูงต่อการมีพัฒนาการล่าช้า
2. ให้การกระตุ้นบำบัดรักษาแก่เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัยเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย
3. พัฒนาระบบการรับรู้-เรียนรู้ในเด็ก ( perception and intellectual function)
4. พัฒนาการระบบประสาทการรับรู้ความรู้สึก (sensory integration system)
5. ให้การฝึกฝนในเรื่องกิจวัตรประจำวันแก่เด็กเพื่อให้สามารถช่วยเหลือดูแลตนเองได้ตามความสามารถ

ไม่เพียงแค่มีกิจกรรมบำบัดเท่านั้น ยังมี กายภาพบำบัด , ศิลปะบำบัด , ละครบำบัด , การเล่นบำบัด และดนตรีบำบัดอีกด้วย

วิเคราะห์ตาม SMART TREES

Self : โรงพยาบาลมนารมย์

Motivation : เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐไม่สามารถรับและดูแลผู้รับบริการด้านสุขภาพจิตได้หมดจึงต้องมีการรวมตัวและเปิดโรงพยาบาลเอกชนที่มีความเฉพาะด้านจิตเวช เพื่อเป็นการกระจายผู้ป่วยอีกด้วย

Ability : ความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักศิลปะบำบัด นักละครบำบัด รวมถึงทีมจิตแพทย์และพยาบาลด้วย

Role Transformation : นักกิจกรรมบำบัดต้องมีความยืดหยุ่นในการจัดกิจกรรม เพราะผู้รับบริการแต่ละท่านก็ลักษณะอาการไม่เหมือนกัน และการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลก็อาจจะแตกต่างกันไปตามบทบาท

Therapeutic Relation : นักกิจกรรมบำบัดต้องมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับผู้รับบริการและกับบุคลากรทางวิชาชีพอื่นด้วย มีความเอาใจใส่ในการดูแลความปลอดภัยและให้ผู้รับบริการได้รับประโยชน์มากที่สุด

Therapeutic Environment : การจัดสภาพแวดล้อมจะมีลักษณะคล้ายกับโรงพยาบาลกรุงเทพ แต่ด้วยที่ตั้งของโรงพยาบาลกรุงเทพนั้นตั้งอยู่ใจกลางเมือง จึงไม่ค่อยได้เห็นสิ่งแวดล้อมต่างๆ ต่างกับโรงพยาบาลมนารมย์ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองจะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า และโรงพยาบาลมนารมย์ก็ได้มีการนำนิเวศน์บำบัดเข้ามาร่วมช่วยฟื้นฟูอีกด้วย

Therapeutic Empathy : นักกิจกรรมบำบัดรวมถึงสหวิชาชีพอื่นๆก็จะต้องมีความเข้าใจถึงผู้รับบริการและให้การบริการต่างๆอย่างเต็มที่ให้เปรียบเสมือนเป็นบุคคลในครอบครัวของเรา และคำนึงถึงสิทธิของผู้รับบริการในการได้รับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

Therapeutic Skills : นักกิจกรรมบำบัดจะต้องมีทักษะความสามารถในหลากหลายด้าน ทั้งทักษะการสื่อสาร เพราะต้องสื่อสารกับผู้รับบริการและสหวิชาชีพ รวมถึงทักษาการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วย

ขอขอบพระคุณอาจารย์ป๊อป อาจารย์แอน และอาจารย์เดียร์ ที่ได้พาออกไปเปิดประสบการณ์นอกห้องเรียน ในการเรียนรู้นอกสถานที่ครั้งนี้ ได้ความรู้ที่มากมาย หลากหลาย และน้อยคนที่จะได้รับโอกาสดีๆแบบนี้ รวมถึงขอบคุณพี่ๆนักกิจกรรมบำบัดของศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ (พี่โบว์) และพี่นักกิจกรรมบำบัดโรงพยาบาลมนารมย์ด้วย (พี่สันติ และพี่อลิสรา) มา ณ ที่นี้ด้วย

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก

http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseas...

http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/center...

http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/diseas...

http://www.manarom.com/cure_thai.html

หมายเลขบันทึก: 602534เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 20:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท