ประสบการณ์พิเศษของฉัน กับกิจกรรมบำบัด ณ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ (โรงพยาบาลกรุงเทพ) และโรงพยาบาลมนารมณ์


เมื่อวันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ฉันและเพื่อนๆนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน “กิจกรรมบำบัด” ที่โรงพยาบาล 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ (โรงพยาบาลกรุงเทพ) และโรงพยาบาลมนารมณ์ ซึ่งฉันได้ไปดูงานที่แผนกกิจกรรมบำบัดในฝ่ายจิตเวช ซึ่งสอดคล้องกับรายวิชา กภกก 335 กิจกรรมบำบัดจิตสังคม

จุดหมายแรกของพวกเรา คือ “ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ (โรงพยาบาลกรุงเทพ)”

ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ หรือ Bangkok Mental Health Rehabilitation and Recovery Center (BMRC) เป็นศูนย์ฯ บำบัดฟื้นฟูจิตใจผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ ผู้ที่ต้องการเลิกสารเสพติด หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีปัญหาทุกข์ใจและต้องการทางออกของปัญหานั้น

พอมาถึงฉันก็ได้พบกับ “พี่โบว์” นักกิจกรรมบำบัดรุ่นพี่ พี่โบว์ถือเป็นผู้บุกเบิกในการเปิดแผนกกิจกรรมบำบัดฝ่ายจิตในศูนย์ฯ แห่งนี้ พี่โบว์แนะนำเกี่ยวกับการทำงานให้ฟังมากมาย โดยบทบาทหลักของนักกิจกรรมบำบัด คือ การบำบัดฟื้นฟูแบบเดี่ยวและการจัดกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการจัดกิจกรรมในโปรแกรมการบำบัดฟื้นฟู 3 สัปดาห์ ร่วมกับสหวิชาชีพต่างๆ เช่น นักจิตบำบัด นักดนตรีบำบัด นักศิลปะบำบัด นักละครบำบัด นักายภาพบำบัด เป็นต้น โดยกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ กิจกรรมทำอาหาร การทำอาหารนี้ แม้ดูเป็นกิจกรรมธรรมดา แต่เมื่อผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์กิจกรรมทางกิจกรรมบำบัดแล้ว กิจกรรมทำอาหารก็จะไม่ธรรมดาอีกต่อไป เพราะกิจกรรมทำอาหารนี้สามารถเพิ่มทักษะให้แก่ “ผู้รับบริการทุกคน” ได้ โดยการทำกิจกรรมมเดียวกัน และบรรลุเป้าหมายในการบำบัดที่แตกต่างกันของแต่ละคนไปพร้อมๆกันได้ รวมทั้งสร้างความสุข สนุกสนาน และผ่อนคลายอีกด้วย

นอกจากนี้ฉันยังได้พบกับ “พี่อิ๋ว” พี่พยาบาล พาชมศูนย์ฯ และอธิบายเรื่องราวต่างๆให้ได้ฟัง โดยศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพนี้มีการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมือนกับอยู่บ้าน มีสวน และมีห้องนอนสำหรับผู้ป่วยใน ทั้งหมด 7 เตียงที่ จัดอย่างสะดวกสบายคล้ายบ้าน เพื่อให้ผู้รับบริการผ่อนคลายและไม่รู้สึกอึดอัด แต่ภายในห้องจะมีเพียงเตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โซฟา และห้องน้ำเท่านั้น เพื่อให้ผู้รับบริการได้มีโอกาสออกมานอกห้อง พบปะพูดคุยกับผู้อื่นมากขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมทักษะทางสังคมไปด้วย และในทุกๆส่วนของศูนย์ฯ นี้ มีการส้รางโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและป้องกันเหตุการ์ไม่คาดฝันต่างๆด้วย

การได้พูดคุยกับพี่โบว์และพี่อิ๋วในวันนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ นักวิชาชีพต่างๆในศูนย์ฯ ต่างมีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับบริการอย่างมาก ทุกคนจะช่วยเหลือผู้รับบริการอย่างเต็มที่ และให้ความเป็นกันเอง เช่น ผู้รับบริการสามารถเดินออกมาพูดคุยกับพยาบาลหน้าเคาน์เตอร์ได้ เป็นต้น เพราะทัศนคตินี้ของทุกๆคนเอง ทำให้เกิดสโลแกนสำคัญคือ “สุขภาพดี เริ่มต้นที่สุขภาพใจ” และความเชื่อที่ว่า “คนทุกคนล้วนมีศักยภาพ และควรได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการความทุกข์ทางใจ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีความสุข” สิ่งนี้เองทำให้ฉันได้รู้ว่า นักวิชาชีพทุกคนในศูนย์ฯ แห่งนี้ มีความเห็นอกเห็นใจและมีแรงจูงใจจากภายใน ในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้รับบริการอย่างเต็มที่

จุดหมายอีกแห่งหนึ่งที่พวกเราไปก็คือ "โรงพยาบาลมนารมณ์"

ร.พ.มนารมณ์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางสุขภาพจิตและจิตเวชแห่งแรกๆของไทย มุ่งเน้นการบริการด้านสุขภาพจิตการส่งเสริม ป้องกัน การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพจิต ทั้งในผู้รับบริการที่มีปัญหาจิตเวช หรือผู้รับบริการทางกายที่มีปัญหาจิตเวชร่วมด้วย สามารถบำบัดฟื้นฟูได้ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ จนถึงผู้สูงอายุ

ฉันได้พบกับรุ่นพี่นักกิจกรรมบำบัด 2 คน ที่แนะนำโรงพยาบาลและแผนกกิจกรรมบำบัด ให้ฟัง โดย ร.พ. มนารามณ์นี้มีเตียงนอนสำหรับผู้ป่วยในทั้งหมด 30 เตียง ในแต่ละห้องมีการจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้รับบริการผ่อนคลาย โดยการออกแบบให้เหมือนกับอยู่บ้าน เตียงนอนเป็นเตียงทั่วไปที่ไม่เหมือนเตียงโรงพยาบาล ซึ่งให้ความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย และยังปลอดภัยอีกด้วย นอกจากนี้ภายนอกตัวอาคารยังมีสวนกลางแจ้ง ต้นไม้ที่ร่มรื่นและบรรยากาศที่สงบเงียบ ให้ได้ผ่อนคลายในอีกรูปแบบหนึ่ง

พี่นักกิจกรรมบำบัด ได้พาไปดูแผนกบำบัดฟื้นฟูร.พ.มานารมณ์ ที่เป็นการรวมตัวกันของนักวิชาชีพมากมาย เช่น กิจกรรมบำบัด กายภาพบำบัด ศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด เล่นบำบัด ครูการศึกษาพิเศษ เป็นต้น โดยกิจกรรมบำบัดมีแนวคิดสำคัญในการบำบัดฟื้นฟูให้ผู้รับบริการสามารถช่วยเหลือตนเองได้และอยู่กับครอบครัวหรือผู้ดูแลได้อย่างมีความสุข โดยพี่นักกิจกรรมบำบัดได้บอกเล่าถึงความพิเศษของร.พ.มนารมณ์ อีกอย่างหนึ่งก็คือ “กิจกรรมกลางวัน (Day program)”

กิจกรรมกลางวัน (Day program) คือ การจัดกิจกรรมกลุ่มผู้รับบริการ โดยจะผู้รับบริการส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ การจัดกิจกรรมกลุ่มนั้นจะจัดโดยนักวิชาชีพต่างๆ ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดก็เป็นหนึ่งในนั้น กิจกรรมกลุ่มที่จัดโดยนักกิจกรรมบำบัดมีหลายอย่าง เช่น การให้คำปรึกษาในการทำกิจวัตรประจำวัน, การจัดการความเครียด, การฝึกทักษะสังคม, การเตรียมพร้อมสู่วัยเกษียณของผู้สูงอายุ เป็นต้น โดยนักกิจกรรมบำบัดจะบำบัดฟื้นฟูเรื่องเหล่านั้น ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำสิ่งประดิษฐ์ การทำอาหาร เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้รับบริการบรรลุเป้าหมายของการบำบัดฟื้นฟูได้และมีความสุข


หากนำเรื่องราวทั้งหมดมาสรุป และวิเคราะห์ตามหลักการ SMART TREES สั้นๆ จะได้ดังนี้

Self: ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ (โรงพยาบาลกรุงเทพ), โรงพยาบาลมนารมณ์

Motivation: แนวคิดสำคัญ, แรงจูงใจจากภายในของนักวิชาชีพต่างๆ ในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้รับบริการอย่างเต็มความสามารถ

Ability: ความสามารถของสหวิชาชีพ รวมทั้งกิจกรรมบำบัดในการบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการ ให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติที่สุด ทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว

Role: บทบาทของโรงพยาบาลและศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ในการมุ่งเน้นบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการทางสุขภาพจิต

Transformation: มีความยืดหยุ่นในปรับเปลี่ยนกิจกรรมเพื่อบำบัดฟื้นฟูผู้รับบริการ

Therapeutic relationships: สัมพันธภาพระหว่างนักวิชาชีพและผู้รับบริการ ที่เป็นกันเอง ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกผ่อนคลาย

Therapeutic environment: มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน ห้องผู้ป่วยในมีความสะดวกสบาย เตียงเหมือนเตียงทั่วไป และมีความปลอดภัยต่อป้องกันต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง รวมถึงมีสถานที่พักผ่อนอย่างอื่น เช่น สวน เป็นต้น ทำให้บรรยากาศร่มรื่นและสงบ

Therapeutic empathy: นักวิชาชีพมีความเห็นอกเห็นใจผู้รับบริการ ด้วยทัศนคติและแนวคิดที่ดีต่อผู้รับบริการ

Therapeutic skills: ใช้ทักษะของวิชาชีพต่างๆในการบำบัดผื้นฟูผู้รับบริการ เช่น นักกิจกรรมบำบัด ใช้การวิเคราะห์กิจกรรมและสังเคราะห์กิจกรรมในการจัดกิจกรรมกลุ่ม เพื่อให้ผู้รับบริการแต่ละคนบรรลุเป้าประสงค์ของตนเอง เป็นต้น


ขอขอบคุณ
ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ (โรงพยาบาลกรุงเทพ): http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/center...
โรงพยาบาลมานารมณ์: http://www.manarom.com/index.html

หมายเลขบันทึก: 602487เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2016 12:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท