กิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุภาวะสมองเสื่อม ตอนที่ 2


จากบทความที่แล้วเราได้พูดถึงบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดในการมีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแลดีขึ้น จากการให้การฟื้นฟูด้านความรับรู้ความเข้าใจและพฤติกรรมร่วมกับการประเมินสภาพบ้านเพื่อปรับให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ป่วย

บทความนี้เราจะมาพูดถึง“การปรับสภาพบ้านให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม” กันค่ะ

โรคอัลไซเมอร์( Alzheimer's disease) เป็นภาวะสมองเสื่อมประเภทหนึ่งที่พบได้ถึง 60-80% ในกลุ่มภาวะสมองเสื่อมทั้งหมด ( Alzheimer's Association,2014) ซึ่งการปรับสภาพบ้านมีความสำคัญอย่างมากในการเพิ่มความปลอดภัย เพิ่มความสามารถของผู้ป่วยในการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน และมีส่วนช่วยลดความเครียดของผู้ดูแล

Occupational Therapy Practice Guidelines for Home Modifications (Siebert, Smallfield, & Stark,2014) ให้นิยามการปรับสภาพบ้าน หรือ Home Modifications ว่าคือการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการใช้งาน ความปลอดภัย การป้องกันอันตราย และเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง

งานวิจัย Home Modifications for People With Alzheimer’s Disease: A Scoping Review

มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการปรับสภาพบ้านสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์จากบทความวิชาการต่างๆ และเพื่อค้นหาหัวข้อความรู้ที่ขาดหายไปนำมาต่อยอดทำงานวิจัยค่ะ

ซึ่งงานวิจัยได้สรุปองค์ความรู้ที่ได้เป็น 3 หัวข้อใหญ่ด้วยกัน ดังนี้

  • บทบาทของผู้ดูแล และการฝึกผู้ดูแล
  • ความสำคัญของ Client-centered หรือการมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการประเมินและให้การรักษา
  • ความสำคัญของการปรับสภาพแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งด้าน physical, cognitive, social modification เพื่อความปลอดภัยและเพิ่มความสามารถในการใช้งาน

บทบาทของผู้ดูแล และการฝึกผู้ดูแล

ผู้ดูแลมีบทบาทและความสำคัญอย่างมากในกระบวนการปรับสภาพบ้าน ซึ่งผู้ดูแลถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมทางสังคม(social environment)ของผู้ป่วย การปรับสภาพบ้านเพื่อดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ เช่น การออกแบบให้ผู้ดูแลและผู้ป่วยสามารถมองเห็นกันและกันได้ตลอดเวลาขณะทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตภายในบ้าน

จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าปัจจัยภายในตัวของผู้ดูแลส่งผลต่อประสิทธิภาพของการปรับสภาพบ้าน โดยเฉพาะด้านสุขภาพร่างกาย พบว่าผู้ดูแลที่มีสุขภาพไม่ดีมักจะไม่ได้รับประโยชน์จากการฝึกทักษะการจัดการสิ่งแวดล้อม และมักไม่ทำตามคำแนะนำของผู้บำบัด รวมทั้งการขาดความรู้เกี่ยวกับการดำเนินโรคของผู้ดูแลด้วย

ดังนั้นการให้ความรู้และฝึกฝนผู้ดูแลจนเกิด self- efficacy จะช่วยให้การปรับสภาพได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง

Client-centered Approach

ความสำคัญของ Client-centered หรือการมองผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการประเมินและให้การรักษา ในการปรับสภาพบ้านจะต้องสอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้ป่วยและผู้ดูแล โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มภาวะสมองเสื่อมซึ่งมีการดำเนินโรคถดถอยลงเรื่อยๆ

การปรับสภาพบ้านเพื่อความปลอดภัยและการใช้งาน

การปรับสภาพแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งด้าน Physical, Cognitive, Social modification เพื่อความปลอดภัยและเพิ่มความสามารถในการใช้งานให้แก่ผู้ป่วย

PHYSICAL

สิ่งแวดล้อมทางกายภาพเป็นปัญหาที่ผู้ดูแลให้ความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการล้ม มีอาการเตือนตัวเอง ช่วงความสนใจต่ำ ความสามารถในการตัดสินใจต่ำ มีความยากลำบากในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดการยา การทำอาหาร การใช้ของมีคม

หลักการปรับสภาพบ้านด้านกายภาพ(Physical home modifications) เช่น เอาพรมออก, การเก็บของใช้ในครัวให้มิดชิด เช่น ของมีคม, เตาไฟ การเพิ่มกลอนล็อคประตูและแสงสว่าง ในห้องน้ำ อาจปรับโดยการเพิ่มราวจับ แผ่นกันลื่น เก้าอี้อาบน้ำ รวมถึงการให้อุปกรณ์ช่วยด้วย

หรือปรับตามระยะการดำเนินโรค เช่น

ระยะแรก : การเพิ่มราวจับ เน้นสนับสนุนให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองได้อย่างปลอดภัย

ระยะกลาง : การติดตั้งกลอนล็อคประตู การปิดทางออกนอกบ้าน

ระยะสุดท้าย : เป็นการปรับสภาพบ้านที่ช่วยส่งเสริมผู้ดูแล เช่น การทำทางลาด การติดตั้งลิฟท์

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า มีการนำอุปกรณ์ช่วยเข้ามาช่วยในการดูแลผู้ป่วยและส่งเสริมความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตด้วย เช่น การติดตั้งกระดานเตือนความจำ หรือเทคโนโลยีระดับสูงอย่างAutomatic night light path ซึ่งเป็นแผ่นวางบนพื้นเมื่อเท้าของผู้ป่วยสัมผัสจะเกิดไฟสว่างขึ้น ทำให้ผู้ดูแลรู้ตำแหน่งของผู้ป่วย ป้องกันการหนีออกจากบ้านหรือการเกิดอุบัติเหตุนอกบ้าน

COGNITIVE AND SOCIAL

วิธีการส่งเสริมให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ระดับความคิดความเข้าใจถดถอยลง คือการปรับระดับขั้นตอนการทำงานให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้ป่วย เช่น การปรับขั้นตอนให้ง่ายขึ้น ลดความซับซ้อน ในกิจกรรมทำอาหาร อาจเริ่มจากการทำเมนูง่ายๆ อย่างการเตรียมขนมปังหรือชงกาแฟ และปรับให้เป็นกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย

ด้านสังคม คือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล รวมทั้งการได้รับการพูดแนะนำ การช่วยเหลือและดูแลความปลอดภัย

ซึ่งสามารถนำมาสรุปโดยใช้ PEOP model ได้ดังนี้ค่ะ

สรุป : การปรับสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับสภาพบ้าน การฝึกทักษะผู้ดูแล ร่วมกับการปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง อย่างปลอดภัย และลดความช่วยเหลือจากผู้ดูแล


Linda R. Struckmeyer,Noralyn Davel Pickens. Home Modifications for People With Alzheimer’s Disease: A Scoping Review. American Journal of Occupational Therapy2015;70: -

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://ajot.aota.org/article.aspx?articleid=247425...

หมายเลขบันทึก: 602412เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท