วิกฤตการณ์ Subprime


วิกฤตการณ์ Subprime

Subprime lending หมายถึง สินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ลูกหนี้คุณภาพต่ำที่ไม่สามารถกู้ยืมผ่านตลาดสินเชื่อปกติได้เพราะมีประวัติการกู้ยืมไม่ดีพอ เป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเพราะมีโอกาสที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนสูง ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่ให้กู้ยืมจะสูงกว่าปกติ Subprime lending ในสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ลูกค้า Subprime คิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของประชากรสหรัฐฯ

ในภาพรวม ผู้ที่เกี่ยวข้องและก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ Subprime แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ผู้กู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินต่างๆ ตลาดเงิน รัฐบาลและธนาคารกลาง สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ Subprime ได้แก่ ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยแตกต่างไปจากเดิม โดยธนาคารสามารถขายตราสารหนี้เพื่อนำเงินมาปล่อยสินเชื่อได้ จึงมีการนำตราสารหนี้ Subprime ไปขายแก่สถาบันการเงินและกองทุนต่างๆ และนำเงินมาปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ที่มีประวัติการกู้ไม่ดีเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้ผลตอบแทนสูง นอกจากนี้ การให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยบางประเภทกำหนดให้ชำระเงินคงที่ 2 ปีแรก หลังจากนั้น อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น (Balloon mortgages) ทำให้ผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินหลังจากปีที่สองได้ ทำให้เกิดหนี้เสียขึ้นเป็นจำนวนมาก Subprime lending ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ ในปี 2005 1ใน 5 ของที่อยู่อาศัยเป็นลูกค้า Subprime และ ในปี 2550 Subprime mortgage มีมูลค่าประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

ปัญหาการไม่สามารถชำระเงินได้ของลูกหนี้ Subprime ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ Subprime และมีผลต่อราคาที่อยู่อาศัย ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ต่ำลง เกิดการถดถอยในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินเกิดการขาดทุน จากการที่ราคาตราสารที่มี Subprime เป็น underlying asset ลดลง ทำให้สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อเพิ่ม เนื่องจากกังวลต่อความเสี่ยงของหนี้เสียที่เกิดจาก Subprime ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯโดยรวม และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ คาดว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเหลือเพียงประมาณร้อยละ 1-1.5 ต่อปี

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักประมาณร้อยละ 70 ของGDP โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯได้มีแนวโน้มลดลงจาก 16% ในปี 2547 เหลือ 12.6% ในปี 2550 โดยตลาดส่งออกของไทยได้กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น อาเซียน ยุโรป หรือตะวันออกกลาง นอกจากนั้น ประเทศในเอเชียได้มีการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งแสดงว่าประเทศในเอเชียรวมทั้งไทยได้ค่อยๆ แยกตัวออกจากการพึ่งพาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ (decouple) มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยมีระบบภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยมีหลายปัจจัยสนับสนุน เช่น การขยายตัวมากขึ้นของภาคการเงินอื่นนอกเหนือจากสถาบันการเงินเช่น ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ระบบการกำกับดูแลภาคการเงินที่มีมาตรฐานสากลมากขึ้นแม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงคาดว่าจะไม่มากนัก

ที่มา : http://www.fpo.go.th/FPO/index2.php?mod=Content&fi...

คำสำคัญ (Tags): #วิกฤตการณ์ Subprime
หมายเลขบันทึก: 602101เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2016 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2016 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท