เรียนรู้วิถีธรรมชาติด้วย “การปลูกผัก” ตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่


หตุนี้-สวนผักกับเด็ก น่าจะเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนที่บ่มเพาะประสบการณ์ต่างๆ การเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องต่อกันซึ่งหาไม่ได้ในห้องเรียน อันช่วยให้เด็กนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม

ที่ผ่านมานั้น ระบบการศึกษาของไทย เน้นการเรียนรู้ในห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่คำนึงถึงว่านอกห้องเรียนนั้น คือแหล่งเรียนรู้ที่มีค่ามหาศาลของเด็กๆ

ข้อสมมติฐานที่ว่า “การเรียนรู้ในห้องเรียนสร้างคนเก่ง” อาจจะมีส่วนจริง แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น เชื่อเหลือเกินว่า จะช่วยสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ และดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณค่า ใส่ใจกับสิ่งต่างๆ รอบตัว

เหตุนี้-โครงการสวนผักคนเมือง : ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต ซึ่งได้รับทุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงนำแนวคิดกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยวิถีธรรมชาติและการปลูกผักมาใช้กับเด็กๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ

สุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปลูกผักสามารถบูรณาการในชีวิตและการเรียนได้ ซึ่งโรงเรียนที่สนใจสามารถนำเรื่องการปลูกผักไปบูรณาการในความรู้ชุดต่างๆ ที่เด็กเรียนได้ และสนับสนุนการปลูกผักเป็นเป็นอาหารกลางวันให้เด็กได้อีกด้วย ซึ่งโรงเรียนต้องมีความพร้อมสามารถนำองค์ความรู้ที่มีนี้ไปประยุกต์ใช้แล้วมีมิติบูรณการได้ ไม่ใช่แค่การปลูกแล้วกินแต่จะต้องทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในมิติต่างๆ หรือรายวิชาได้ เพราะเมื่อคุณครูสามารถประยุกต์ใช้กิจกรรมปลูกผักเหล่านี้กับการสอนรายวิชาแล้วเด็กก็จะเข้าใจง่ายขึ้น

การเชื่อมโยงเรื่องสวนผักกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของเด็กได้ เพราะเด็กจะได้เรียนรู้ทุกกระบวนการ ตั้งแต่เมล็ดและเริ่มผลิดอกออกใบและผล จนเกิดความผูกพัน และยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ

การปลูกผักช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้อย่างไร และการเรียนรู้ในห้องเรียนยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้หรืออย่างไร ทำไมจึงต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน

พอทิพย์ เพชรโปรี แห่งบ้านสวนเรียนรู้ (Organic Way) ผู้เชี่ยวชาญการจัดกระบวนการเรียนรู้เรื่องสวนผักกับเด็ก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ธรรมชาติของเด็กจะช่างคิด ช่างสงสัยต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่แล้ว เพียงแค่เราร้อยเรื่องราวที่จะสอนให้น่าสนใจ เมื่อเด็กมีความสุขเขาก็พร้อมที่จะรับการเรียนรู้อะไรได้เต็มที่อย่างเต็มใจ

พอทิพย์ ยกตัวอย่างในเชิงเปรียบเทียบว่า การสอนวิธีการแบบเดิมๆ คือการสอนตามตำรา แค่จำแล้วนำไปสอบ เด็กจะจำได้ไม่หมด แต่ถ้าสอนให้เด็กได้ลงมือปลูกผักด้วยตัวเอง และนำกระบวนการเรียนรู้นั้นมาประยุกต์กับการสอนรายวิชาต่างๆ เด็กก็จะสนุกกับการเรียนรู้และจดจำได้ง่าย เพราะการปลูกผักแฝงด้วยหลายศาสตร์ ช่วยฝึกทักษะและการสังเกตได้เป็นอย่างดี

“กระบวนการเรียนรู้เด็กต้องทำให้เขามีความสุขจากข้างใจ ให้เด็กกล้าที่จะเปิด ซึ่งจะส่งผลให้เด็กได้ภูมิใจ รักสิ่งแวดล้อม รักสุขภาพ ได้เล่น ได้จับ ได้ขุดดิน ได้เปื้อน เหมือนการเล่น แต่มันมีอะไรมากกว่านั้น เป็นการเรียนรู้ที่ซึมซับแบบไม่รู้ตัว” พอทิพย์ อธิบาย

แน่นอก ว่าถ้าเด็กได้เรียนรู้ด้วยกระบวนการที่ดี ทักษะความรู้จะอยู่ติดตัวเด็กไปจนโต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ และการปลูกผัก คือการตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ดี เพราะจะเป็นการเรียนรู้ที่สนุกสนาน เป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว แต่พ่อแม่บางคนกลับห้าม กลัวสกปรก ซึ่งถือว่าเป็นการหยุดยั้งการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นจึงควรปล่อยให้เด็กได้เรียนรู้ในพื้นที่ปลอดภัยจะดีกว่า

เช่นเดียวกับ ชรินา ง่วนสำอาง จากศูนย์อบรมบ้านเรียนรู้ใส่ใจ ที่บอกกล่าวในฐานะคนเป็นแม่ ว่า พ่อแม่บางคนไม่เชื่อเลยว่าลูกจะอยู่นอกห้องแอร์ได้ โดยเฉพาะเด็กในเมือง ซึ่งเราสร้างความมั่นใจให้พ่อแม่ได้ว่า การเรียนรู้จากธรรมชาติใกล้ตัว เป็นสิ่งที่เด็กสนใจกว่าสิ่งที่พ่อแม่คาดคิด และต้องไม่ลืมว่าคนสำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็ก คือ พ่อแม่ ถ้าไม่นำไปใช้ประโยชน์ต่อและต่อเนื่องสิ่งนั้นก็จะหายไป

“จุดอ่อนของเด็กในยุคนี้ คือคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะถ้าเขาเรียนรู้ความเป็นไปธรรมชาติ เขาจะรู้ว่าเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในโลกนี้ เขาเคยไม่ชอบแมลงวัน วันหนึ่งเขาอาจจะรู้ว่าแมลงวันมีผลระบบนิเวศอย่างไร อาจจะไม่ชอบไส้เดือน แต่ในสวนผักไส้เดือนเป็นมิตรที่ดีของดิน เขาก็เปลี่ยนทัศนคติเช่นกัน เด็กก็จะคิดถึงคนอื่นมากขึ้น” ชรินา กล่าว

อย่างไรก็ตามสิ่งเร้าต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาสู่เด็กอย่างรวดเร็ว โจทย์เดิมๆ คงแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะทุกวันนี้นอกจากสิ่งเดิมๆ ที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว โจทย์และปัญหาใหม่ๆ มีมากมายผุดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ทันสมัยช่วยได้

วิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือโรงเรียนนอกกะลา กล่าวถึงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กรูปแบบใหม่ ว่า กระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กต้องทำแบบองค์รวม คือทำให้คนๆ หนึ่งเกิดการเรียนรู้แบบเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ เห็นความเป็นมนุษย์โลกและทรัพยากรต่างๆ ผู้ใหญ่ต้องพัฒนาหลักสูตรด้วยการบูรณการเต็มรูปแบบ ใช้ปัญหาเป็นตัวตั้งเร้าเด็กให้คิดและค้นหานวัตกรรมเกิดการเรียนรู้อย่างก้าวหน้า สามารถเอาชนะปัญหา เกิดทักษะกระบวนการใหม่ๆ เกิดปัญหาใหม่ ชุดทักษะใหม่ๆ นี้จะสร้างกระบวนการรู้ต่อเนื่องให้กับเด็กๆ และเด็กสามารถเผชิญปัญหาทุกอย่างได้ สามารถเข้าใจตัวเองได้ และสิ่งสำคัญคือผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ต้องคำนึงถึงการรับรู้ของเด็กด้วย เพราะเด็กแต่ละคนแต่ละวัยการรับรู้แตกต่างกัน

เหตุนี้-สวนผักกับเด็ก น่าจะเป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เป็นกิจกรรมนอกห้องเรียนที่บ่มเพาะประสบการณ์ต่างๆ การเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องต่อกันซึ่งหาไม่ได้ในห้องเรียน อันช่วยให้เด็กนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณค่าต่อตนเองและสังคม


หมายเลขบันทึก: 601724เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2016 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2016 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท