วรภัค ธันยาวงษ์ ผู้ที่ครองตำแหน่ง "นักการเงินแห่งปี 2558"


วารสารการเงินธนาคาร ได้มอบ รางวัล “นักการเงินแห่งปี” “Financier of the Year” มาตั้งแต่ปี 2525 ต่อเนื่องติดต่อกัน เพื่อยกย่องผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน รวมทั้งสถาบันการเงินประเภทอื่น ที่มีผลงานโดดเด่นในตลาดเงินตลาดทุนไทย ขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวหน้า มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ และคำนึงถึงสังคมส่วนรวม

วรภัค ธันยาวงษ์ นับเป็นนักการเงินคนที่ 23 และเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ของรัฐรายแรกที่ได้รับรางวัล “นักการเงินแห่งปี” ในรอบ 34 ปี ด้วยการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากการติดตามผลงานและการพัฒนาที่เกิดขึ้นในวงการธนาคารและการเงิน โดยยึดหลักเกณฑ์การพิจารณานักการเงินแห่งปี ใน 4 ด้านที่ วารสารการเงินธนาคาร กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักการเงินแห่งปี โดย วรภัค มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก นักการเงินแห่งปี ทั้ง 4 ข้อ คือ

1.เป็นนักการเงินที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัย

วรภัคได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ธนาคารให้เป็น “KTB Growing Together” หรือ “กรุงไทย ก้าวไกล ไปกับคุณ” มุ่งมั่นเป็นธนาคารที่เติบโตไปพร้อมกับลูกค้า พนักงาน สังคม และผู้ถือหุ้น อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการปรับตำแหน่ง (Position) ของธนาคาร จาก “Bank of Government” เป็น “Government Bank of Choice” คือ เป็นแบงก์ที่รัฐบาลเลือก พร้อมกับการสร้างความแข็งแกร่งให้กรุงไทย ด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนผ่านสายงานที่เป็นรากฐานของธนาคาร เสริมทัพผู้บริหารให้เข้มแข็งและสร้าง 2 สายงานใหม่ คือ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน (Global Market) และสายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ (Global Transaction Banking) เพื่อเตรียมความพร้อมที่บุกตลาดในทุกด้าน

2.เป็นนักการเงินมืออาชีพ ที่มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ

วรภัคได้วางฐานรากทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน เพิ่มศักยภาพการบริหารความเสี่ยงให้กับธนาคารกรุงไทย และปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้รวดเร็วและเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น โดยได้ปรับตัวชี้วัดระดับความเสี่ยง (Risk Rating) ทำให้การพิจาณาความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ตั้งหน่วยงานทางด้านสินเชื่อโดยเฉพาะขึ้นมาเรียกว่า Loan Factory ศูนย์ปฏิบัติการด้านพิจารณาสินเชื่อที่รวบรวมพนักงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวการการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อมารวมไว้ในที่เดียวกัน และยึด Risk Ratingในการพิจารณาสินเชื่อ

3.เป็นนักการเงินที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร

ผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยเติบโตต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ปี นับตั้งแต่วรภัคได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการทำหน้าที่ผู้นำองค์กรได้ดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังและคำนึงถึงความมั่นคงขององค์กร ธนาคารกรุงไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิ 33,929.27 ล้านบาท และจากการจัดอันดับธนาคารแห่งปี Bank of The Year ของ วารสารการเงินธนาคาร ในปี 2557 และ 2558 ผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้นทุกด้าน ทั้งรายได้ กำไรสุทธิ สินทรัพย์ อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น มูลค่าทางบัญชี

ปี 2557 สินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้น 10.8% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 4.5% ในขณะที่เงินฝากของธนาคารเพิ่มขึ้น 14.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 6.6% ในขณะที่ GDP ปี 2557 ของไทยเติบโตเพียง 0.7% จากปีก่อน ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดด้านสินเชื่อและเงินฝากขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศตั้งแต่ ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

4.เป็นนักการเงินที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

วรภัคให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนการตอบแทนสังคม และใส่ใจในสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) โดยได้ดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมใน 3 ด้านได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

วรภัคได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่สามารถเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจ เช่น สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์สำหรับชุมชนและกลุ่มคนรากหญ้า โครงการเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมียังผลิตภัณฑ์และจุดบริการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ชาวต่างชาติ ซึ่งได้ขยายช่องทางการบริการลูกค้าในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนนำเสนอบริการทางการเงินที่ทันสมัยตอบสนองความต้องการประชาชนยุคดิจิตอล เช่น Digital Banking สำหรับกลุ่มลูกค้า Gen-Y และ Smart Affluent Segment และให้บริการ Corporate Banking ผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application)

นอกจากนี้ได้ริเริ่มการประกวดศิลปกรรมกรุงไทย “Krungthai Art Awards” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงานศิลปกรรม ที่แสดงออกถึงเรื่องราวและเนื้อหาของความเป็นไทย ที่พัฒนาก้าวสู่ระดับสากลตามพันธกิจของธนาคาร ในการส่งเสริมการสร้างทุนทางปัญญาภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเชื่อมั่นว่างานสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม เป็นทุนทางปัญญาที่มีประโยชน์ สามารถสร้างคุณภาพที่ดีขึ้นแก่สังคม


จากบทความที่ยกมาข้างต้นฉันรู้สึกประทับใจในคุณสมบัติที่ทำให้คุณวรภัค ธันยาวงษ์ ได้รับเลือกให้เป็น นักการเงินแห่งปี 2558 เพราะการจะเป็นนักการเงินที่ดีเราต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและทันสมัย ในการคิดหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับองค์กร ทำให้องค์กรเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การทำให้องค์กรประสบความสำเร็จถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำงานด้านการเงิน และคุณสมบัติด้านความซื่อสัตย์เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีในการทำงานให้กับผู้อื่นฉันคิดว่าข้อนี้สำคัญมากในการทำงานเกี่ยวกับการเงิน ส่วนคุณสมบัติข้อสุดท้าย มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม คือด้าน เศรษกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นการทำงานที่เห็นถึงความใส่ใจต่อประชาชนทุกฝ่ายเป็นอย่างดี และยังใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอีก ดิฉันจึงข้อยกย่องให้เป็นตัวอย่างของนักการเงินที่ดีค่ะ


แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.ktb.co.th/ktb/th/news-detail.aspx?nid=0...

แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.moneyandbanking.co.th/new/?p=1357

คำสำคัญ (Tags): #นักการเงิน
หมายเลขบันทึก: 601633เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2016 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2016 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท