เห็น (ตัวเลข) เหมือนกัน แต่ตีความต่างกัน (2) - อย่าเปลี่ยนความแตกต่างเป็นความแตกแยก


เรื่องการเห็นตัวเลข/ข้อมูล เดียวกัน (และไม่โต้เถียงว่า ตัวเลข/ข้อมูล ถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่) แต่ตีความต่างกัน ควรมองให้เหมือนเรื่องความแตกต่างของ ความจำเป็น (needs) และความต้องการ (demand) ที่ได้เคยเขียนไปก่อนหน้านี้ https://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/600230

การที่คนส่วนใหญ่จะมองเห็นแต่ความต้องการ ไม่เห็นถึงความจำเป็น เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ความผิด หรือความถูก ความฉลาด หรือความโง่

เป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละคน ที่ยังมีอวิชชา

แต่ที่แน่ๆ คือ ต้องพยายามทำให้ ส่วนที่เรียกว่า ความต้องการ กับ ความจำเป็น ทับซ้อนกันให้มากที่สุด เพื่อทำให้ความพยายามในการแก้ปัญหา ตรงปัญหา(ในมุมของคนเห็นปัญหา) และตรงรู้สึก (ในมุมของคนทั่วไป) พร้อมกัน

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะการจัดการกับความแตกต่างสารพัดแบบ เป็นทักษะ ที่ยังฝึกกันน้อย ไม่ว่าจะใน ครอบครัว ในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษาชั้นสูง ในองค์กร ในชุมชน และที่เห็นชัดมากคือในระดับประเทศ

เมื่อเห็นต่าง ไม่ว่าจะเห็นปัญหาต่าง หรือตีความข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่มีคนนำเสนอแตกต่างกัน หรือได้ยินคนอื่นพูดอะไรที่ตัวเองเห็นต่าง

สิ่งที่ตามมาคือปฎิบัติการ "สร้างพวก" เพื่อให้ สิ่งที่ตัวเองเห็น ตัวเองเชื่อ ตัวเองตีความ เป็นฝ่ายถูก

ถ้าในครอบครัวก็หาลูกหลาน ญาติมิตร

ถ้าในโรงเรียน ในที่ทำงาน ก็เป็นเพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งครู หรือเจ้านาย

ในระดับประเทศคงไม่ต้องพูดถึง

เกิดความขัดแย้ง และความรุนแรง (โดยเฉพาะความรุนแรงทางวาจา_วจีไม่สุจริต และทางใจ_โกรธ เกลียด คนเห็นต่าง)

ทั้งที่หาก ฟัง และแยกแยะ ไตร่ตรอง อาจเห็นอย่างที่เขียนไว้ในครั้งก่อน https://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/600... ว่า ปนกันระหว่าง การเห็นต่างในข้อเท็จจริง/ข้อมูล กับ การตีความ

ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีใครผิดหรือถูกโดยสิ้นเชิง (ไม่ว่าจะเห็นต่างในส่วนใดของ 2 ส่วนนั้น) โดยเฉพาะในเรื่องส่วนรวม/สังคม ที่ซับซ้อน มองและแก้ได้หลายแบบ

แต่เป็นความจริงที่น่าเศร้า ที่ความเห็นที่แตกต่าง ความเชื่อที่แตกต่าง นำไปสู่ ทั้งการบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง การตีความตามใจชอบ และไม่สนใจที่จะฟังมุมมองที่แตกต่าง

การขยายความคิด ความเชื่อ ที่เกิดจากความแตกต่าง จึงกลายเป็นการสื่อสารที่มุ่งทำให้คนอื่นเชื่อ แทนที่จะเป็นการสื่อสารให้คนอื่นได้คิด ได้ช่วยกันหาคำตอบด้วยตัวเอง หรือมาหาคำตอบร่วมกัน

เกิดการยัดเยียด ข้อเท็จ(จริง)และข้อสรุปของตนเอง และเชื่ออย่างไม่มีความสงสัย ว่า สิ่งที่พูด สิ่งที่เห็น คือสิ่งที่ถูกที่สุด ดีที่สุด

ปรากฏการณ์ ข้อมูลเหมือนกัน แต่ตีความต่างกัน อย่างที่กล่าวมา อาจเกิดได้ทั้งจากความไม่รู้ หรือ ผลประโยชน์

ผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการสร้างและการใช้ข้อมูล เพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในการกำหนดนโยบาย จึงต้องตั้งสติ มองให้เห็นถึงธรรมชาติของเรื่องนี้ และรับมือให้เหมาะสม

ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการที่เป็นผู้นำข้อมูล/ข้อเท็จจริงมานำเสนอ

นักวิชาการ ที่มาตีความที่แตกต่าง

ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ที่จะพิจารณาใช้ข้อมูล ภายใต้การตีความที่แตกต่าง

โดยเฉพาะ ผู้คนทั่วไปที่ใส่ใจ หรือให้ความสนใจ อยากเห็นการตัดสินใจที่มีคุณภาพ อยู่บนข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีการทำความเข้าใจและตีความโดยรอบคอบ ไม่ใช่เชื่อง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการตีความที่แตกต่าง

สังคมรู้ทัน จะช่วยให้คนที่ใช้ความแตกต่างไปสร้างความแตกแยก หมดที่ยืน

มาช่วยกันสร้าง สังคมที่ความแตกต่างถูกใช้อย่างสร้างสรรค์

หมายเลขบันทึก: 600575เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2016 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท